Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากแกนหลักของสังคมประชาธิปไตย คือ “วัฒนธรรมการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน” ความรุนแรงนองเลือดเมื่อค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็คือภาพสะท้อนที่น่าหวาดหวั่นว่า “เหตุผลตายแล้ว!”

ไม่ได้หมายความว่าในความขัดแย้งทางความคิดกว่า 4 ปีมานี้ แต่ละฝ่ายไม่มีเหตุผลของตนเอง มีครับ แต่ไม่มีเวทีสาธารณะให้เหตุผลของแต่ละฝ่ายมาโต้แย้งถกเถียงกันอย่างตรงๆ และอย่างถึงที่สุดเสียที

การเจรจาสองครั้งระหว่างแกนนำ นปช.และฝ่ายรัฐบาลนั้น คือการเปิดเวทีสาธารณะให้เหตุผลของทั้งสองฝ่ายได้เผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก เป็นเวทีที่ยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย และยุติธรรมกับคนทั้งประเทศทั้งที่มีสีและไม่มีสี ให้ได้รับรู้ “ประเด็น” และเหตุผลแต่ละฝ่าย ได้พิจารณาว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใด

ที่สำคัญเป็นการเจรจาที่คนทั้งประเทศได้ร่วมเป็น “สักขีพยาน” ในข้อตกลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

แต่น่าเสียดายที่ประตูการเจรจาถูกปิดลง ทำให้การใช้เหตุผลเดินต่อไม่ได้ เมื่อเหตุผลเดินต่อไม่ได้ ประตูสันติวิธีจึงถูกปิด และเหตุการณ์นองเลือดที่ไม่น่าเกิดอย่างยิ่ง (หมายความว่าไม่ว่าจะพิจารณาด้วยเหตุผลจากแง่มุมใดๆ มันก็ไม่น่าจะเกิด มันจึงเป็นการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อที่ไร้เหตุผลสิ้นดี!) ก็เกิดขึ้น

และที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก คือ หลังเหตุการณ์นองเลือด แต่ละฝ่าย (ซึ่งมากกว่าสองฝ่าย) ก็เอาแต่ชี้หน้าด่ากัน ต่างโยนความผิดให้กันและกัน!

วัฒนธรรมการใช้เหตุผลนั้น คือ วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์คนอื่นและตนเองอย่างตรงไปตรงมา และเป็นการวิพากษ์เพื่อค้นหาความจริง ความถูกต้อง หรือฉันทามติร่วมกันเพื่อการมีชีวิตและสังคมที่ดียิ่งขึ้น

แต่สิ่งที่เราเห็นในความขัดแย้งทางความคิดของสังคมเราคือ เราเอาแต่วิพากษ์คนอื่นๆ ไม่เคยวิพากษ์ตนเอง/ฝ่ายตนเอง และการวิพากษ์นั้นก็อยู่บนจุดยืนของการยึด “ความถูกต้องอย่าง absolute” คือ “ฝ่ายฉันถูกอย่าง absolute ฝ่ายมันผิดอย่าง absolute”

แถมการวิพากษ์กันและกันดังกล่าวนี้ ยังดำเนินไปภายใต้เงาทะมึนของโครงสร้างอำนาจที่ absolute บางอย่าง ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการพูดความจริงได้อย่างถึงที่สุด!

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงไม่เกิดขึ้น การใช้เหตุผลซักไซ้ไล่เลียงอย่างถึงที่สุดเพื่อหา “ข้อสรุปร่วมกัน” จึงเป็นไปไม่ได้ ตราบที่สังคมยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันได้ ยังไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริงอย่างถึงที่สุด ความขัดแย้งก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ

สังคมไทยเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซึ่งทั้งสามศาสนาล้วนแต่สอนให้เราใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน และให้ใช้เหตุผลบนพื้นฐานของความเมตตา ความรัก ความปรารถนาสันติภาพในชีวิตและสังคม ประชาธิปไตยก็เรียกร้องการใช้เหตุผล และ “ภราดรภาพ”

แต่ทำไมตลอดระยะสามสี่ปีมานี้ เราจึงใช้เหตุผล (ของฝ่ายใครฝ่ายมัน) เพื่อสร้างความเกลียดชัง จนกระทั่งเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นแล้ว เรายังหลับหูหลับตาทำกันเช่นนั้นอยู่ต่อไป!

หากสังเกตโลกไซเบอร์ที่คนยุคเราใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น จะพบว่าการโพสต์ความเห็นที่มีเหตุมีผล หรือแสดงถึงการใช้เหตุผล ร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหานั้นมีเพียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นการใช้อารมณ์ แสดงความเกลียดชัง ดูถูกเหยียดหยามกันไปมา

หากเรายอมรับข้อเท็จจริงว่า คนที่เข้าถึงโลกไซเบอร์ เล่นอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะห่วงว่า การศึกษา หรือการมีการศึกษาตามแบบบ้านเรานั้นมันสร้างคนให้มีจิตสำนึก หรือมีความสามารถในการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันมากน้อยเพียงใด

ฉะนั้น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สื่อต่างๆ น่าจะห่วงคนชั้นกลางในเมือง (ที่คิดว่าตนเองฉลาดกว่า เสียงดังกว่า) มากกว่าที่จะเอาแต่ประกาศว่า จะต้องให้การศึกษาแก่คนชั้นล่าง คนชนบท ให้รู้ประชาธิปไตย รู้สิทธิ รู้ทันนักการเมือง เห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าเงินซื้อเสียงฯลฯ

คืออย่าทำให้คนชนบทเป็นเหยื่อหลายซับหลายซ้อนจนเกินไป หากเป็นไปได้ควร “ไต่บันไดความฉลาด” ลงไปรับฟังเขาบ้าง เรียนรู้จากเขาบ้าง ถามเหตุผลเขาบ้างว่า ทำไมเขาจึงมีจิตสำนึกต้านรัฐประหารสูงกว่าคนเมือง ทำไมเขาจึงมาเสี่ยงชีวิตต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความเป็นธรรม”

อย่าด่วนสรุปว่า คนต่างจังหวัด คนชนบทภาคอิสาน ภาคเหนือถูกหลอก ถูกมอมเมา โปรดมองให้เห็น “ความเป็นคน” ของเขาอย่างเสมอกับเราว่า เขาก็มีความสามารถในการรับฟังข้อมูลและมีวิจารณญาณอิสระที่จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดก็ได้

เมื่อคืนวันที่ 17 เม.ย.ผมเห็นแขกรับเชิญคนหนึ่งพูดในรายการทีวีช่อง 11 ว่า ตัวแทนคนเสื้อแดงไปชวนชาวบ้านมา “โค่นอำมาตย์” ชาวบ้านก็มากัน พอมาถึงกรุงเทพฯ ต่างก็ถามว่า “ต้นอำมาตย์อยู่ที่ไหน พวกเราจะช่วยกันโค่น” แล้วผู้ดำเนินรายการอีกสองคนก็หัวเราะชอบใจ (ผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งมีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนกาฬสินธุ์) นี่คือทัศนะที่ชอบมองว่าชาวบ้านโง่ เป็นตัวตลก เป็นการหยาบคายต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไม่รู้กาลเทศะ (เพราะไม่เพียงไม่ใช่รายการตลกบันเทิงเท่านั้น มันเป็นรายการที่ “ตั้งใจว่า” จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริงของปัญหาบ้านเมือง เข้าใจการทำงานของรัฐบาล คนไทยจะได้กลับมารักกันอะไรประมาณนั้น)

การด่วนสรุปว่า เขาถูกหลอกมา นอกจากไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราฉลาดกว่าเขาอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้เกิดการตัดสินใจปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เคารพในความเป็นคนของเขาเท่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย (อย่างเช่น การจัดกองกำลังทหารติดอาวุธ และรถถังสลายการชุมนุมของคนหลายหมื่นคนในเวลาทุ่มสองทุ่ม เป็นต้น)

กล่าวโดยสรุป มีแต่การเปิดประตูเหตุผล ให้แต่ละฝ่ายได้เจรจากันด้วยเหตุผลอย่างเต็มที่เท่านั้น ความรุนแรงยิ่งขึ้นจึงจะไม่เกิดซ้ำอีก แต่ประตูเหตุผลจะเปิดได้ เมื่อทุกฝ่ายเปิดใจที่จะรับฟังกันและกัน ฟังเพื่อให้เกิด “ความเข้าใจ” กันและกัน ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิด เพื่อโต้แย้งให้ชนะกันเท่านั้น

และหากเป็นไปได้ ขอให้ความรุนแรงนองเลือด “10 เมษา” เป็นบทเรียนสุดท้ายที่จะช่วยให้สังคมเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน ยึดการใช้เหตุผลที่ทั้งวิพากษ์คนอื่นและตนเองเป็นวิถีทางของการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย เพื่อการมีชีวิตและสังคมที่ดีกว่า

บนพื้นฐานของจิตวิญญาณที่รัก “ชีวิต” เพื่อนมนุษย์เหมือนรักชีวิตตนเอง และจิตวิญญาณที่มุ่งปกป้อง “ภราดรภาพ” ในความปรารถนาประชาธิปไตย!  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net