Skip to main content
sharethis

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เห็นแย้งกรณีศาลแพ่งยกฟ้องกรณีขอเปิดพีเพิลชาแนล ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีปัญหาคลุมเครือ เอื้อรัฐบาลใช้อำนาจลิดรอนสิทธิกว้างขวาง ศาลและกลไกต่างๆ ในสังคมมีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ สมัย ปชป.เป็นฝ่ายค้านก็ค้านพ.ร.ก.นี้ พร้อมระบุก่อนหน้านี้ศาลเคยตีความ “ผู้เสียหาย” กว้างถึงผู้บริโภค

21 เม.ย.53 - กรณีที่ศาลแพ่งยกคำร้องกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยขอให้ยกเลิกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล โดยศาลระบุว่าเป็นคำสั่งของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลมิอาจก้าวล่าวงไปพิจารณา นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง (อ่านย้อนหลัง)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องคิด คือ หนึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือค่อนข้างมาก ให้อำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางแก่รัฐในกาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงควรกำหนดเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากดูเจตนารมณ์ในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็พอจะเห็นได้ว่าต้องเป็นสถานการณ์ที่คับขัน ร้ายแรง เช่น ภาวะสงคราม แต่ตัวกฎหมายเองมีปัญหาของการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ เช่น สถานการณ์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อมีความคลุมเครือเช่นนี้ก็จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก ไม่เปิดโอกาสให้ตีความได้กว้างขวาง ไม่ใช่เอะอะก็อ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ จึงจะประกาศใช้ได้

“ปัญหาคือใครจะมีบทบาทในการตรวจสอบ เพราะรัฐก็มักอ้างเหตุเพื่อใช้กฎหมายนี้ได้เสมอ ผมคิดว่าศาลมีบทบาทเข้ามาควบคุม ตรวจสอบว่ารัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ฉุกเฉินจริงหรือไม่ ถ้าศาลปฏิเสธไม่เข้ามาควบคุมตรวจสอบ ก็หมายความว่ากฎหมายนี้อาจทำให้รัฐ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล สามารถใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เมื่อไรต้องการใช้อำนาจจัดการก็สามารถประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ทันที” สมชายกล่าว

สมชายกล่าวต่อว่า เรื่องที่สองในส่วนของสื่อนั้น มีสื่อหลายแห่งถูกปิดโดยใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำถามคือ พ.ร.ก.ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้กว้างขนาดนั้น หากจะปิดก็ต้องพบว่ามีการนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน และในอีกด้านหนึ่งคือการเสนอข่าวที่บิดเบือน ถ้าสื่อไหนไม่ได้กระทำการอย่างนั้น การใช้อำนาจปิดสื่อก็เป็นการใช้อำนาจนอกกรอบที่กฎหมายกำหนดให้

เขาระบุด้วยว่า จะเห็นได้ว่าขณะนี้รัฐใช้อำนาจหว่านแหมากเกินไป เพราะสื่อหลายแห่งที่ถูกปิดก็ไม่ได้เข้าข่ายของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงคำวินิจฉัยของศาลที่ระบุว่าโฆษกพรรคเพื่อไทยผู้ยื่นฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง สมชายระบุว่า เรื่องนี้อาจอยู่ในชั้นดุลยพินิจของศาล แต่ที่ผ่านมาก็ศาลก็เคยมีการตีความคำว่า ผู้เสียหายที่กว้างขวางพอสมควรและให้ผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีได้ เช่น คดีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้

สมชายกล่าวทิ้งท้ายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ากฎหมายนี้จะเป็นการติดหนวดให้รัฐบาลใช้อำนาจได้กว้างขวาง หลายฝ่ายเคยออกมาคัดค้านว่าจะทำให้รัฐมีอำนาจมากขึ้นโดยไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งก็รวมถึงพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลกฎหมายนี้จะเป็นปัญหาอย่างมาก เรพาะความคลุมเครือ การไม่ต้องรับผิด และการมีอำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้นกลไกต่างๆ ในสังคม องค์กรชี้ขาดต่างๆ ต้องช่วยกันทำให้การใช้กฎหมายนี้ไม่เป็นการใช้ตามอำเภอใจ และอยู่ในขอบข่ายที่เป็นธรรมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนในอนาคตจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net