หลักการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัย : การดูแลและส่งกลับ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ตั้งแต่สิ้นปี ๒๕๕๒ ถึงต้นปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยสองกลุ่ม คือ กลุ่มม้งลาว และกลุ่มกะเหรี่ยง ว่าไม่มีความเหมาะสมและอาจนำผู้ลี้ภัยไปสู่อันตราย
 
หลักการดูแลและส่งกลับผู้ลี้ภัยควรเป็นเช่นไร
 
ความหมายผู้ลี้ภัย
            ในกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้ความหมายและคำจำกัดความไว้ ดังนี้
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948
            ข้อ 14
            (1) “บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นๆเพื่อลี้ภัยการกดขี่ข่มเหง”
อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
มาตรา 1
            ก. ตามอนุสัญญาฉบับนี้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” หมายถึงผู้ใดที่
            (2) อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน อันเป็นผลจากเหตุการณ์ก่อนวันที่ 1 มกราคม 1951 และด้วยความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิดด้านการเมืองก็ตาม และในขณะเดียวกันบุคคลผู้นี้ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจ ที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติ เนื่องจากความหวาดกลัวดังกล่าว หรือนอกจากนี้เป็นบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตรัฐที่เดิมมีถิ่นฐานพำนักประจำแต่ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปเพื่อพำนักในรัฐดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวที่กล่าวมาข้างต้น
 
ผู้ลี้ภัยคือใคร
            ผู้ลี้ภัยที่หนีภัยอันตรายอาจถูกเรียกในหลายชื่อ อาทิ
ผู้ลี้ภัย Refugee
ผู้ย้ายถิ่น Migrants
ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น Displaced Person
ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า Displaced Person from Fighting
ผู้อพยพชาวอินโดจีน
นักศึกษาพม่า
ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า
ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า
ลาวอพยพ
ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา
ญวน (เวียตนาม) อพยพ
เนปาลอพยพ
โรฮิงยา
 
ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
  1. บุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Persons of Concern to UNHCR) คือบุคคลที่ UNHCR ดูแลในฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัยที่ระบุไว้ในตราสารระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีบุคคลอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือคำนิยามซึ่งสมัชชาใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และเลขาธิการใหญ่ได้มีคำสั่งให้ UNHCR เข้าไปดูแลโดยเฉพาะกรณี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าประชาชนบางกลุ่มได้พลัดถิ่นภายในประทศของตนเองด้วยปัญหาการสู้รบ การเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถึงแม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญา พวกเขาก็จำเป็นที่จะได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติ เช่น ชาวเคิร์ดในตอนเหนือของประเทศอีรัก เป็นต้น
  2. ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า (persons of fleeing fighting from Burma) เป็นคำที่รัฐบาลไทยใช้เรียกผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า แม้ว่าผู้ที่อพยพเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ในระยะแรกๆ บางส่วนจะมีลักษณะเป็นผู้ย้ายถิ่น (Migrants) ผู้อพยพ (Displaced Person) หรือบางส่วนเป็นผู้ลี้ภัย (Refugee)
บุคคลเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากมีสถานการณ์การสู้รบในพม่า หนีเข้ามาในประเทศไทยเพราะกลัวจะถูกประหัตประหาร ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา การเป็นสมาชิกหรือเป็นมวลชน เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยพม่าเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ปฏิปักษ์กับรัฐบาลพม่า เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่ได้ยอมรับว่ามีสัญชาติพม่า
 
หลักการไม่ผลักดันกลับ
            มีหลักและจารีตที่ปฏิบัติกันทั่วโลกในการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตรายในประเทศต้นทาง อาทิ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948
            ข้อ 14
            (1) “บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นๆเพื่อลี้ภัยการกดขี่ข่มเหง”
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือน และสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966
 ข้อ 7
            บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
            มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
มาตรา 33
ข้อห้ามการขับไล่หรือการส่งกลับ
  1. รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ(ผลักดัน)ผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่งณ ที่นั้น ชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพ ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิดด้านการเมือง
 
การไม่สมัครใจ
            การส่งกลับโดยไม่สมัครใจ อาจดูได้จากพฤติกรรมหลายประการ อาทิ
กดขี่ ข่มเหง คุกคาม
จำกัดสิทธิพื้นฐาน ลดหรือมีให้น้อยในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
สถานที่อยู่ไม่เหมาะสม
ยุให้ผู้ลี้ภัยแตกแยกกัน
ให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่ดีหรือต่อต้านผู้ลี้ภัย
ให้ข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้ลี้ภัย เช่น อยู่ในประเทศไม่ได้ จะถูกจับดำเนินคดี นโยบายรัฐไม่ให้อยู่อีกต่อไป
 
ผลของการส่งกลับโดยไม่สมัครใจ
            การส่งกลับโดยไม่สมัครใจมีผลต่อตัวผู้ลี้ภัยและประเทศที่ส่งผู้ลี้ภัยกลับ อาทิ
ผลต่อตัวผู้ลี้ภัย เช่น ถูกทำร้าย โดนกับระเบิด ไม่มีที่ทำกิน ถูกควบคุม
ผลต่อประเทศหรือผู้ส่งผู้ลี้ภัยกลับ เช่น ถูกตำหนิจากหน่วยงานต่างๆ
            โดนกีดกันทางการทูตหรือการค้า ต้องตอบคำถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบต่อสังคม เช่น ผู้ลี้ภัยอาจกลับเข้ามาใหม่อีก ในสภาพที่อาจไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เช่น เหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย คนเข้าเมืองผิดกฏหมายที่อาศัยกระจัดกระจายตามชุมชน
 
ข้อสังเกตทางกฎหมายในการส่งม้งลาวกลับประเทศลาว
เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ รัฐบาลไทยได้ส่งชาวม้งลาวจากบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ คน กลับประเทศลาว โดยนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายทหารที่ดำเนินการ ให้เหตุผลในการส่งกลับตรงกัน ๒ ข้อ คือ
๑.     ต้องส่งกลับภายในสิ้นปี ๒๕๕๒ นี้ มิฉะนั้นประเทศลาวจะไม่รับม้งลาวกลับ
ข้อเท็จจริงตามกฏหมาย ม้งลาวจะกลับประเทศลาวเมื่อไรก็ได้ รัฐบาลลาวไม่สามารถปฏิเสธการรับได้
ชาวม้งลาวประเทศลาวยอมรับว่ามีสัญชาติลาว และตามกฎหมายสัญชาติลาวมาตรา ๒๐ ยังถือว่าบุคคลเหล่านี้มีสัญชาติลาว ดังนั้นผู้มีสัญชาติตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศและกฏหมายรัฐธรรมนูญจะเดินทางกลับประเทศตนเองเมื่อไรก็ได้ รัฐหรือบุคคคลหนึ่งบุคคลใดจะมาห้ามการเกิดทางกลับประเทศไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรซึ่งมีสัญชาติไทยก็สามารถเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อใดก็ได้
 (กฎหมายสัญชาติลาว มาตรา ๒๐ การไปอยู่ต่างประเทศ
บุคคลไหนที่ไปอยู่ต่างประเทศเกินเจ็ดปี โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ไปอยู่ต่างประเทศได้รับอนุญาตแต่หากเกินกำหนด และ ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของสถานทูต หรือ กงศุลลาวประจำประเทศนั้น และ ขาดความพัวพันธ์ทางกฎหมายกับรัฐสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เกินสิบปีก็จะเสียสัญชาติลาว)
๒.    รัฐปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ในการส่งม้งลาวกลับ
ข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในกฎหมายคนเข้าเมืองให้อำนาจรัฐส่งกลับตามอำเภอใจ
            แม้จะมีหลักการลงโทษทางอาญาแก่บุคคลว่า ต้องผ่านกระบวนการทางยุติธรรม หากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่พ.ร.บ.คนเข้าเมืองได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถส่งผู้หลบหนีเข้าเมืองออกนอกประเทศได้โดยไม่ต้องส่งศาล เฉพาะผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ลาว และกัมพูชา
            การส่งกลับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ลาวและกัมพูชานั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดรับสารภาพเท่านั้น หากผู้ต้องหาไม่รับสารภาพ เจ้าหน้าที่ต้องฟ้องต่อศาล เพื่อให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสิน และผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายได้มีโอกาสในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
            กรณีม้งลาวไม่มีข้อเท็จจริงว่าม้งลาวเหล่านี้รับสารภาพในความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีอำนาจผลักดันม้งลาวได้  
 
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
1.     รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงควรกำหนดแนวทางแก่เจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในทางที่จะเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ
2.     หากผู้ลี้ภัยหรือหนีภัยการสู้รบจากพม่าตัดสินใจเดินทางกลับมาตุภูมิเดิมด้วยความสมัครใจ รัฐบาลไทยควรเชิญให้ UNHCR หรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าเป็นสักขีพยานในการเดินทางกลับ อีกทั้งองค์การที่เป็นสักขีพยานเหล่านั้นอาจพิสูจน์ความสมัครใจในการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น อย่างไรก็จะต้องคำนึงถึงประกันความปลอดภัยและการเดินทางกลับอย่างมีศักดิ์ศรีในดินแดนนั้น
3.     หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยหรือหนีภัยการสู้รบจะกลับไปอย่างรอบด้าน
4.     ในทางกลับกันหากไม่สามารถดำเนินการส่งกลับมาตุภูมิเดิมด้วยความสมัครใจได้ รัฐบาลไทยควรพิจารณาให้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรอการส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศต้นทางมีความปลอดภัยหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งสามารถกระทำได้ภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 17 กล่าวคือ ให้อำนาจของรัฐมนตรีโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องที่จะให้คนต่างด้าวผู้ใดอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายโดยยึดหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อคงไว้ซึ่งการเคารพหลักการไม่ผลักดัน และความมีผลของจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท