Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งยกฟ้อง กรณีเว็บไซต์ประชาไทเป็นโจทก์ฟ้อง นายก-สุเทพ-ไอซีที ที่ปิดกั้น www.prachatai.com หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวยกเลิกการปิดกั้น หลังรอ 5 ชั่วโมง ศาลพิพากษาโดยไม่มีการเบิกความพยาน ระบุจำเลยมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

23 เม.ย.53   ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เวลาประมาณ 10.00 น. นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2) , ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3), กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4)และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้นwww.prachatai.comและขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น www.prachatai.com

ต่อมาได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าจะมีการไต่สวนพยานในเวลา 13.30 น. ซึ่งพยานได้แก่ จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ , ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ในฐานะบรรณาธิการเว็บไซต์, สฤณี อาชวานันทกุล ในฐานะผู้อ่าน และ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยไม่มีการไต่สวน ระบุจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  

โดยรายละเอียดคำพิพากษาระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่1) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ และการที่นายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2) ก็อาศัยอำนาจแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำเลยที่ 2 ย่อมอำนาจตามพระราชกำหนดดังกล่าวที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 4 จะรับรองสิทธิการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงตามมาตรา 45 วรรคสองที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอันเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้อำนาจไว้ ตามพระราชกำหนดฯ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ พิพากษายกฟ้อง (อ่านฉบับเต็มในล้อมกรอบด้านล่าง)

ทั้งนี้ ในคำฟ้องโจทย์สรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1,2,3 ได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่อ้างว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง โดย www.prachatai.com อยู่ในรายชื่ออันดับที่ 8 ของรายชื่อเว็บไซต์ทั้งหมด 36 เว็บไซต์ โจทก์จึงไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ ส่งผลให้ให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ จากเว็บไซต์ของโจทก์ได้ การสั่งปิด www.prachatai.com เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 45 และมาตรา 29 รับรองไว้ และแม้จะมีกฎหมายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 คุ้มครองไว้ แต่รัฐต้องจำกัดเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ และไม่สามารถจำกัด ลิดรอน หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองคุ้มครองไว้ตามอำเภอใจ โดยไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลที่มีน้ำหนักสนับสนุน

ในการปิดกั้นดังกล่าว จำเลยที่ 1, ที่ 2 ,ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลและพยานหลักฐานใดๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ข่าวสาร เหตุการณ์ บทความ หรือความคิดเห็นที่นำเสนอผ่าน www.prachatai.com ของโจทก์ มีเรื่องใด ตอนใด ข้อความใด ที่เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นข้อความที่นำเสนอโดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่กลับใช้อำนาจและอาศัยดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อลิดรอน จำกัด หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชนของโจทก์อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีความสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมือง และการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อสารมวลชนซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีสมาชิกและต้องถือปฏิบัติ โดยค่าแห่งความเสียหายดังกล่าวไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจหรือใช้ดุลพินิจไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกต่อไป โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าเป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท เพื่อชดใช้ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

โจทก์ขอเรียนว่าตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองคือ องค์กรตุลาการ และในคดีนี้ศาลที่มีอำนาจ คือ ศาลยุติธรรม ซึ่งโดยหลักการแล้วศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำของจำเลยที่ 2 ว่าการใช้อำนาจหน้าที่ออกคำสั่งให้ปิด www.prachatai.com ของโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดฯ ให้ไว้หรือไม่ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ ในทางตรงกันข้ามหากศาลจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลไว้โดยไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่าการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ ฉุกเฉิน เป็นอำนาจและดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ และศาลไม่อาจเข้าไปทบทวนหรือตรวจสอบได้ ก็จะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนชาวไทย เพราะจะเป็นการยอมรับว่าหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้ว ฝ่ายบริหารสามารถอ้างอำนาจตามพระราชฯ กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ตามอำเภอใจ เท่ากับว่าประชาชนไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ ฝ่ายบริหารอยู่เหนือการควบคุมตรวจสอบ  

  

 

                                                                                                                            คดีหมายเลขดำที่ 1455/2553

 

23 เมษายน 2553

 

มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน                       โจทก์

นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน                   จำเลย

 

           พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรในบางเขตท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศ ตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือการกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาการรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตาม กฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยา ความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

            ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2 ) เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินก็ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสาม วรรคห้า และวรรคหก มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 45 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอันเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 45 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้

            ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก่จำเลยที่ 1 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่1) เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้อำนาจไว้ตามประกาศมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้

           พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

 

นางสาวณัชชา       น้อยเชื้อเวียง

นายชัยวัฒน์          ธนวัฒนตระกูล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net