Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเองเคยใส่เสื้อเหลืองไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ อยู่หนึ่งครั้ง ตอนที่มีการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเคยเขียนบทความหลายชิ้นสนับสนุนแนวทางการต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลคอร์รัปชัน จนเมื่อแรกเกิดรัฐประหารก็ได้แต่รู้สึกเสียใจ แต่ไม่ได้แสดงออกถึงการต่อต้านอย่างเป็นกิจจะลักษณะ (นี่อาจเป็นความโง่ หรือความผิดของผมเอง)

ต่อมาเมื่อความขัดแย้งแบ่งขั้วเป็นเหลือง-แดง อย่างชัดเจน ที่แต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าตนเองถูกต้อง และเรียกร้องให้คนในสังคมเลือกข้าง “ความถูกต้อง” ผู้เขียนก็ยังเลือกที่จะไม่เลือกข้างใด เพราะเห็นว่าทุกฝ่ายก็มีถูกมีผิด

ผมเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ในเรื่องการตรวจสอบและต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ก็เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงในเรื่องการต้านรัฐประหาร การมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำของระบบอำมาตย์ หรือพูดให้ตรง คือ “อุดมการณ์ประชาธิปไตยสากล”

แต่ยิ่งวันเวลาผ่านไปๆ ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า ฝ่ายพันธมิตรฯนั้นสนับสนุนการคงอยู่ของระรอบประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของระบบอำมาตย์ นับแต่ที่เรียกร้องให้ใช้วิธีรัฐประหารแก้ปัญหาคอร์รัปชัน สนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลที่สืบทอดแนวทางรัฐประหาร การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเงื่อนไขสร้างการแบ่งแยกผู้คนในสังคม และรวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “ล้มสถาบัน” ควบคู่กับการเรียกร้องให้รัฐบาลและทหารสลายการชุมนุม กระทั่งใช้กฎอัยการศึกจัดการกับคนเสื้อแดงอยู่ในเวลานี้

จึงทำให้ผมตั้งคำถามจริงจังขึ้นว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอะไรกันที่เรียกร้องอำนาจรัฐ อำนาจทหารอยู่ตลอดเวลา ให้จัดการขั้นเด็ดขาดกับประชาชนจำนวนมากที่ออกมาชุมนุม (ต่อให้มี “ผู้ก่อการร้าย”อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจริง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยย่อมมีมนุษยธรรมคำนึงถึงชีวิตของประชาชนมากกว่า)

ฉะนั้น ยิ่งนานวันเข้า ถ้าเอาหลักการ/อุดมการณ์ประชาธิปไตยมาจับ จะยิ่งพบว่าความถูกต้องของพันธมิตรฯ นับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ หรือแทบไม่เหลืออยู่เลย เพราะเราไม่อาจเข้าใจได้ หรืออธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทำไมจึงไม่อยู่ข้างประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ แต่กลับไปค้ำจุนสถานะที่ได้เปรียบของคนส่วนน้อยในสังคม

ผมจึงเห็นว่า ในสภาวะความเป็นจริงของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่นี้ แทนที่เราจะให้วาทกรรม “เลือกข้างความถูกต้อง” ซึ่งเป็นนามธรรมมากมาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการเลือกข้าง เราควรใช้เกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมกว่า คือ “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ”

จากเกณฑ์นี้เราจะเห็นได้ชัดว่า คนเสื้อแดงคือคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ แม้จะเป็นไปได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอไป แต่เราก็ไม่อาจจินตนาการได้ว่า การต่อสู้ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ จะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร

คนเสื้อแดง (บางคน,บางกลุ่ม) อาจกระทำในสิ่งที่ (สังคมมองว่า) เป็นความผิดหลายอย่าง เช่น การชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯ การละเมิดสิทธิ์คนอื่น การนิยมความรุนแรง การตั้งคำถามต่อสถาบัน ฯลฯ แต่นั่นก็เกิดจากความคับแค้นที่เขาถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากกว่า คือการใช้กำลังทหารทำรัฐประหารปล้นสิทธิการเลือกตั้งของพวกเขาไป (ไม่ใช่อ้างความเลวเพื่อสนับสนุนการทำเลวเหมือนกันหรือมากกว่า แต่อ้างเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของปัญหา)

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาว่าคนเสื้อแดงคือคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง (โดยโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองที่ไม่เป็นธรรม) ถูกปล้นสิทธิ์ ถูกเลือกปฏิบัติในหลายๆเรื่อง (ใช้สองมาตรฐาน) และเขาจึงออกมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ ทวงความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ทวงเสรีภาพในการพูดความจริง หรือทวงประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำของระบบอำมาตย์ การต่อสู้ที่เรียกว่า “เพื่อประชาธิปไตย” จึงจำเป็นต้องอยู่ข้าง หรือสนับสนุน “ประเด็นหลัก” ของคนเสื้อแดง

ผมเองไม่ใช่คนเสื้อแดง (เพราะไม่มีคุณสมบัติพอ เป็นเพียงผู้ไปสังเกตการชุมนุมที่ไม่ได้ใส่เสื้อแดง เทียบกับชาวบ้านที่มาชุมนุมแล้วเขามีความทรหดและกล้าหาญจนทำให้ผมรู้สึกละอายตัวเอง) เคยวิจารณ์คุณทักษิณและแกนนำเสื้อแดงหลายเรื่องบนจุดยืน “สองไม่เอา” แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน 2553 และยิ่งเห็นท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลและพันธมิตรฯ ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนความคิดของตนเองอย่างจริงจัง และผมไม่อาจมองเห็นเหตุผลใดๆที่จะไม่เลือกข้างคนเสื้อแดง หรือสนับสนุน “ประเด็นหลัก” ของคนเสื้อแดง

คือ ประเด็นการต่อสู้เพื่อให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพื่อนำไปสู่การออกแบบกติกาประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำของระบบอำมาตย์ (ไม่ใช่ล้มสถาบัน แต่การมีอยู่ของสถาบันต้องไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริง ไม่ทำลายความเสมอในความเป็นมนุษย์ ไม่ละเมิดอำนาจการตัดสินใจของประชาชน และต้องโปร่งใสตรวจสอบได้) และการออกกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

ผมอาจเคยเขียนบทความหลายชิ้นสนับสนุน “ประเด็นหลัก” ดังกล่าวของคนเสื้อแดง แต่ไม่ใช่บนความชัดเจนว่าผมตัดสินใจเลือกข้างคนเสื้อแดง วันนี้ผมชัดเจนว่าผมเลือกข้างคนเสื้อแดง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าผมเลือกข้าง “ความถูกต้อง” แต่ด้วยเหตุผลว่า “การอยู่ข้างประชาธิปไตย ต้องอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ”

เพราะไม่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่จริงบนจุดยืนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอาเปรียบ หรือบนจุดยืนที่มุ่งปกป้องเชิดชูสถานะที่ได้เปรียบของคนส่วนน้อยให้พวกเขาเอาเปรียบคนส่วนใหญ่อยู่ตลอดไป

ฉะนั้น ไม่เลือกสู้ข้างผู้ถูกเอาเปรียบ จึงไม่ใช่สู้เพื่อประชาธิปไตย!     
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net