ลูกเรือประมง : ความท้าทาย ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
อุตสาหกรรมประมงทะเลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย วงจรของธุรกิจนี้ก่อให้เกิดงานสำหรับประชากรประมาณ 1,000,000 คน ด้วยความที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำประมงมาตั้งแต่อดีต จึงทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลรายใหญ่ของโลก ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้จะลดลงเนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง สวนทางกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แต่กระนั้นก็ตามความต้องการแรงงานเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีอัตราที่สูง แต่ด้วยสภาพการทำงานที่หนักและต้องออกทะเลเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้แรงงานส่วนใหญ่ปฏิเสธงานประมง โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมภาคประมงทะเลกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประเภทลูกเรือประมงถึง 10,000 อัตรา
 
ปัจจุบันมีลูกเรือใช้แรงงานอยู่ในเรือประมงสัญชาติไทยกลางทะเลประมาณ 300,000 คน โดยมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสัดส่วนในปัจจุบันมีแนวโน้มของแรงงานข้ามชาติสูงกว่าแรงงานไทยหลายเท่าตัว เนื่องจากเหตุการณ์พายุเกย์ เมื่อปี พ.ศ.2532 มีเรือประมงล่มกลางทะเลมากกว่า 300 ลำ ทำให้แรงงานไทย โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกำลังหลักของแรงงานประมงทะเลในขณะนั้นมีทัศนะคติเชิงลบต่องานดังกล่าว จึงหันเหเข้าสู่การทำงานรับจ้างบนบกตามโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานประมงทะเลนับตั้งแต่นั้นมา
 
นอกจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลแล้ว ปัญหาที่สำคัญของแรงงานประมงทะเล คือ ลักษณะงานที่เสี่ยงอันตรายและต้องอยู่กลางทะเลเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้เข้าฝั่ง โดยเฉพาะปัจจุบันเรือประมงสัญชาติไทยออกไปหาปลาในน่านน้ำต่างประเทศ อาทิ มาเลเชีย อินโดนีเชีย อินเดีย กัมพูชา เมียนม่าร์ เวียดนาม รัสเชีย ติมอร์ ออสเตรเลีย และโซมาเลีย เป็นต้น จึงทำให้ต้องออกเรือไปจับปลากลางทะเลตั้งแต่ 1-5 ปีโดยไม่กลับเข้าฝั่ง ซึ่งในระหว่างอยู่กลางทะเล จะมีเรือเข้าไปถ่ายปลาเพื่อมาขาย จากลักษณะการทำงานดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิแรงงานไปโดยสภาพ
 
นอกจากนี้ จากการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งติดตามประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงานภาคประมงทะเล ได้ประมวลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ดังต่อไปนี้
 
  
• การบังคับใช้แรงงานเด็ก
อุตสาหกรรมประมงทะเลยังมีปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ทั้งแรงงานเด็กไทยและแรงงานเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน มีเด็กชายอายุต่ำกว่า 16 ปี หลายคนที่ถูกล่อลวง และนำพามาทำงานบนเรือประมง หรือในกรณีของแรงงานข้ามชาติ แรงงานเด็กเป็นผู้ติดตามครอบครัวหรือญาติที่เป็นลูกเรือประมงมาทำงานบนเรือประมงด้วย ปัญหาสำคัญสำหรับแรงงานเด็กบนเรือประมง คือ ในตำแหน่งลูกเรือประมง เป็นงานใช้แรงงานที่ทุกคนต้องทำงานหนักเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กตกอยู่ในสภาพการถูกบังคับใช้แรงงานเหมือนแรงงานผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทุกคนจะมีหน้าที่เหมือนกัน ทำงานในเวลาเดียวกัน พักผ่อนเท่ากัน และได้รับการปฏิบัติจากผู้ควบคุมเรือเสมือนแรงงานผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะในเรือมีอัตราลูกเรือจำกัด ดังนั้น แรงงานจึงจะต้องทำงานเท่ากันและคุ้มค่าที่สุด ในขณะเดียวกันสภาพการทำงานที่หนัก พักผ่อนไม่เป็นเวลา และเสี่ยงอันตรายต่ออุบัติเหตุตลอดจนคลื่นลมรวมถึงภัยธรรมชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้แรงงานเด็กบนเรือประมง ถือว่า การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดประเภทหนึ่ง
 
ปัญหาการค้ามนุษย์
ปัญหาการค้ามนุษย์นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอุตสาหกรรมประมงทะเล ด้วยสภาวะการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก จึงทำให้เกิดขบวนการนายหน้าค้าแรงงานประมง เพื่อจัดหาแรงงานประมงป้อนเข้าสู่ตลาดที่ขาดแคลน ทว่า ด้วยความที่แรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานบนบก มากกว่างานในทะเล จึงทำให้วิธีการของนายหน้า จึงต้องใช้การล่อลวง การใช้ยาสลบ และ การบังคับให้ชำระหนี้ เป็นเครื่องมือในการนำพาแรงงานลงเรือประมง โดยปัจจุบันค่าหัวแรงงานที่นายหน้าขายให้กับเรือประมง มีราคาตั้งแต่ 6,000-30,000 บาท นั่นหมายถึง แรงงานที่ถูกล่อลวงไปทำงาน ต้องทำงานใช้หนี้ในสภาพที่ไม่เต็มใจในการทำงาน โดยไม่สามารถขัดขืนหรือหนีเพื่อให้พ้นสภาพนั้นได้ เนื่องจากเรืออยู่กลางทะเลตลอด
 
ค่าตอบแทนในการทำงาน
สภาพการจ้างงานประมงทะเล ซึ่งเป็นงานที่หนักและเสี่ยงอันตราย มีอัตราค่าตอบแทนที่ต่ำมาก โดยลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานของประมงทะเล มีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.แบบเป็นเงินเดือน 2.แบบแบ่งเปอร์เซ็นต์ในการขายปลาแต่ละรอบ 3.แบบเป็นเงินเดือนและแบ่งเปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบันอัตราค่าตอบแทนแบบรายเดือนในพื้นที่ท่าเรือประมง เช่น สงขลา สมุทรสาคร สมุทรปราการและตรัง อยู่ที่อัตราประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ประกอบการมักอ้างว่า ลักษณะการทำงานบนเรือประมงเป็นงานที่กิน-อยู่พร้อม ลูกเรือไม่ต้องซื้ออาหารและเช่าที่พักอาศัย ดังนั้นอัตราค่าจ้างแรงงานจึงอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะอาหารและสถานที่พักผ่อนมักไม่ถูกสุขอนามัย ตลอดจนเจ้าของเรือประมงจะให้ลูกเรือสามารถสั่งอาหารหรือของใช้ที่ต้องการได้ โดยจะฝากสินค้าที่ลูกเรือสั่งซื้อมากับเรือขนถ่ายปลากลางทะเล ซึ่งอัตราค่าสินค้าดังกล่าวมีราคาแพงเกินจริง เพราะบวกค่าขนส่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท ของลูกเรือประมงหลายคนจึงเหลือเดือนละไม่ถึง 1,000 บาท ซึ่งตัวอย่างของแรงงานประมงหลายคนที่ทำงานบนเรือมาเป็นปี เมื่อขึ้นฝั่งตัดบัญชีค่าจ้างแรงงาน จึงเหลือเงินคนละไม่กี่พันบาทเท่านั้น ส่วนกรณีแบ่งค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ในการขายปลานั้น ก็มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะลูกเรือไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า ในความเป็นจริงขายปลาได้เงินจำนวนเท่าใด และหักลบกันกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อัตราค่าจ้างแรงงานทั้งสองแบบ จึงไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
 
สัญญาการจ้างงาน
ระบบการจ้างแรงงานของอุตสาหกรรมประมงทะเล ส่วนใหญ่เป้นการมอบหมายการดูแลและจัดหาลูกเรือประมงให้กับผู้ควบคุมเรือ(ไต้ก๋ง) ดังนั้น ระบบการจัดการเรื่องเอกสารจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แรงงานประมงจำนวนมาก ออกเรือโดยไม่เคยมีการเซ็นสัญญาการจ้างงาน ลูกเรือไม่ทราบค่าจ้างแรงงานที่ตนเองจะได้รับ และระยะเวลาที่ต้องออกเรือ ยิ่งเป็นแรงงานเด็ก หรือแรงงานที่ถูกนำพามาโดยขบวนการค้ามนุษย์จะไม่ทราบแม้กระทั่งว่าตนเองจะไปออกเรือที่ไหนและจะได้กลับเข้าฝั่งเมื่อใด
 
ชั่วโมงในการทำงาน
งานประมงเป็นงานในลักษณะพิเศษ มีช่วงเวลาในการทำงานไม่เหมือนงานปกติทั่วไป กล่าวคือ มีการทำงานเป็นช่วงเวลาไม่ต่อเนื่องกัน ลูกเรือประมงจะมีหน้าที่ปล่อยอวน เมื่อลากปลาขึ้นมาได้ก็จะทำการคัดแยกปลา และซ่อมอวน แล้วจึงปล่อยอวนอีกครั้ง เรียกว่า 1 ลอย ใช้เวลาประมาณลอยละ 2-4 ชั่วโมงจากนั้นจะนอนพักผ่อน 2-4 ชั่วโมง ก็จะทำการลากอวนขึ้นเรือและคัดแยกปลารอบใหม่ วนเวียนกันอยู่แบบนี้ ดังนั้นการพักผ่อนจึงไม่ต่อเนื่อง ตลอดจนไม่มีเวลาหยุดงานที่ชัดเจน จึงทำให้แรงงานประมงอาจจะทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยพักผ่อนไม่เพียง ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเกิดอันตรายในการทำงาน และอาจเจ็บป่วยได้ง่าย
 
การรักษาพยาบาล
การทำงานในฐานะลูกเรือประมงโดยเฉพาะเรือประมงที่ออกไปจับปลานอกน่านน้ำ เป็นเวลานานกว่า 1-5 ปี กว่าจะกลับเข้าฝั่ง ลูกเรือต้องอยู่ในภาวะตากแดดตากฝนและโต้คลื่นลม จึงทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ประกอบกับลักษณะการทำงานที่ต้องใช้แรงในการลากอวนและยกของ ตลอดจนต้องใช้ของมีคมในการทำงาน อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุบนเรือประมงได้ ซึ่ง จากการทำงานช่วยเหลือลูกเรือประมงของมูลนิธิกระจกเงา พบว่า มีลูกเรือที่ประสบอุบัติเหตุบนเรือประมงจำนวนมาก เช่น การถูกของมีคมบาด ถังดองปลาในเรือหล่นทับ เชือกที่ใช้ลากอวนบาดมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งการเจ็บป่วยจากสภาพร่างกายที่อ่อนล้า และการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ บนเรือประมงไม่สามารถทำการรักษาพยาบาลได้มากนัก นอกจากการทำแผลเบื้องต้น หรือการให้ยาบรรเทาปวดเท่านั้น การให้หยุดงานบนเรือประมงก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากบนเรือมีแรงงานจำนวนจำกัด ทุกคนมีหน้าที่จะต้องช่วยกันทำงาน ถ้าขาดแรงงานไปสัก 1-2 คนจะทำให้ระบบการทำงานล่าช้า ดังนั้นลูกเรือที่เจ็บป่วยมักจะทนทำงานต่อ โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลและการพักฟื้น
 
 
เมื่อพิจารณาถึงมาตรการในการคุ้มครองแรงงานภาคประมงทะเลในเรือประมงสัญชาติไทยที่มีแรงงานมากกว่า 300,000 อัตรานั้น ก็มีเพียงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฏกระทรวงแรงงานฉบับที่ 10 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงานในกิจการประมงทะเลเป็นการเฉพาะเท่านั้น โดยกฎกระทรวงดังกล่าวให้เหตุผลในการออกกฎสำหรับเรื่องคุ้มครองแรงงานประมงโดยเฉพาะว่า เนื่องจากงานประมงทะเลมีสภาพการจ้างและการทำงานที่แตกต่างไปจากการจ้างงานทั่วไป ซึ่งสมควรกำหนด การคุ้มครองแรงงานในงานดังกล่าวไว้เป็นพิเศษให้แตกต่างไปจากการคุ้มครองแรงงานตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 และโดยที่มาตรา 22 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดการคุ้มครองแรงงานในกรณีต่าง ๆ ให้แตกต่างไปจาก พรบ.ดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง
 
 
กฎกระทรวงฉบับที่ 10
ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 ข้อ 1 การคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามที่นายจ้างและ ลูกจ้างตกลงกัน เว้นแต่การคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติหมวด 1 บททั่วไป ตั้งแต่มาตรา 7 ถึงมาตรา 21 หมวด 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตั้งแต่มาตรา 100 ถึงมาตรา 107 หมวด 12 การยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง ตั้งแต่มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 หมวด 13 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เฉพาะมาตรา 134 และมาตรา 135 หมวด 14 พนักงานตรวจแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 139 ถึงมาตรา 142 และหมวด 15 การส่งหนังสือ มาตรา 143 ให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่
 (1) งานประมงทะเลที่มีจำนวนลูกจ้างน้อยกว่ายี่สิบคน เว้นแต่ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างตามข้อ 7 และข้อ 8 ให้ใช้บังคับแก่งานประมงทะเลที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป
 (2) เรือประมงที่ไปดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
 ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้
 "งานประมงทะเล" หมายความว่า งานหรือการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทำประมงในทะเลโดยใช้เรือประมง
 "เรือประมง" หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการทำประมงในทะเล
 "นายจ้าง" หมายความรวมถึง เจ้าของเรือประมงซึ่งใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้เรือประมงนั้นทำงานประมงทะเล เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าของเรือประมง ซึ่งให้ผู้อื่นเช่าเรือประมงเพื่อประกอบกิจการ โดยตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
 "ค่าจ้าง" หมายความรวมถึง ส่วนแบ่งที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้
 ข้อ 4 ห้ามมิให้นายจ้างรับเด็กอายุต่ำกว่าสิบหกปีทำงานในเรือประมง เว้นแต่เด็กนั้นอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี และบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย หรือบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองของเด็กนั้น ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
 ข้อ 5 ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทยและเก็บไว้ ณ สถานที่ทำงานของนายจ้าง เพื่อให้พนักงานตรวจ แรงงานตรวจได้ และให้ส่งสำเนาทะเบียนลูกจ้างให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ เริ่มจ้าง ลูกจ้างเข้าทำงาน
 ข้อ 6 ให้นายจ้างจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทย และเก็บไว้ ณ สถานที่ทำงานของนายจ้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
 (1) ชื่อตัวและชื่อสกุล
 (2) ตำแหน่งหน้าที่ในงานประมงทะเล
 (3) อัตราและจำนวนค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้าง ตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
 เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน
 ข้อ 7 ...........................................
 ข้อ 8 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้....
 ข้อ 9 ในกรณีที่นายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่าง ผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีถ้านายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนด เวลาเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่าย นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวัน
 ข้อ 10 ให้นายจ้างจัดวันหยุดประจำปีให้ลูกจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามสิบวันโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ ให้นายจ้างเป็น ผู้กำหนดล่วงหน้า
 ข้อ 11 ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้าง ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน
 ข้อ 12.....................................................
 ข้อ 13 ....................................................
 ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2541
 
 
เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาจ้างงานบนเรือประมงข้างต้นกับเนื้อหาของบทบัญญัติในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 จะเห็นได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิแรงงานประมงที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย โดยกฏกระทรวงได้ระบุเนื้อหาในการคุ้มครองแรงงานประมงไว้จริง แต่จะไม่บังคับใช้กับเรือประมงที่ออกเรือนอกประเทศไทยเกินกว่า 1 ปี ซึ่งในข้อเท็จจริงเรือประมงที่ส่วนใหญ่ต้องออกไปหาปลานอกราชอาณาจักรไทยเกินกว่า 1 ปีอยู่แล้ว ซึ่งลูกเรือจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ระบุให้รายละเอียดการจ้างงานเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างที่จะตกลงกันเอง ถึงแม้ว่าสภาพและลักษณะการจ้างงานของประมงทะเลจะแตกต่างจากงานโดยทั่วไป แต่แรงงานก็ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เพราะการผลักให้เป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง และทำให้แรงงานภาคประมงทะเลไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
นอกจากนี้รายละเอียดในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ซึ่งบังคับใช้แก่การคุ้มครองแรงงานประมงทะเลนั้น ยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักกฎหมายสากล และมาตรฐานการจ้างงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
 
1.การคุ้มครองการใช้แรงงานประมงทะเลก่อนที่จะออกทำการประมงทะเล
·         อายุขั้นต่ำของลูกเรือประมง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างรับเด็กอายุต่ำกว่าสิบหกปีทำงานในเรือประมง เว้นแต่เด็กนั้นอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี และบิดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย หรือบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ซึ่งสภาพการทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นงานที่หนักและเสี่ยงอันตราย ประกอบกับการทำประมงในปัจจุบันเป็นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ออกทะเลเป็นระยะเวลานนานมิใช่กิจการระดับชายฝั่งในครอบครัว ดังนั้น อายุขั้นต่ำในการทำงานของลูกเรือประมงทะเล ควรมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
  • การตรวจสุขภาพก่อนลงเรือ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าก่อนที่ลูกจ้างจะทำงานบนเรือประมงจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่ามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถที่จะทำงานบนเรือประมงได้ ซึ่งในสภาพงานที่หนักและอันตราย ลูกจ้างควรจะได้รับการตรวจสุขภาพและสมรรถภาพก่อนลงเรือประมง
  • การฝึกอบรมลูกเรือประมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบด้วยกฎกระทรวง (ฉบับที่ 10) ไม่ได้มีการกำหนดให้มีการฝึกอาชีพหรือฝึกงานให้แก่แรงงานประมงก่อนที่จะเริ่มทำงานบนเรือประมง แต่เนื่องจากงานประมงทะเลเป็นงานในลักษณะพิเศษที่ต้องมีทักษะและความเข้าใจในสภาพการจ้างงานก่อนลงเรือประมงจริง ดังนั้น การอบรมให้ความรู้แก่ลูกเรือประมง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกเรือรู้สภาพการทำงานจริง และเป็นการตัดสินใจก่อนทำงานในเรือประมงจริง
 
2.สภาพการทำงาน
  • สัญญาจ้างหรือข้อตกลงในการจ้างงาน การตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานในกิจการประมงทะเล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 ไม่ได้บังคับว่านายจ้างจะต้องจัดทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือ ซึ่งเมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ การจ้างแรงงานส่วนใหญ่ ลูกเรือมักไม่ทราบถึงข้อตกลงในการจ้างงาน และค่าตอบแทน ตลอดจนรายละเอียดสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้ลูกเรือมักถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่มีสถานะแสดงความเป็นลูกจ้างและนายจ้างยืนยันเมื่อเกิดข้อพิพาท ยิ่งเมื่อเป็นแรงงานข้ามชาติมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบโดยเมื่อเรือเข้าฝั่งผู้ประกอบการบางรายจะเรียกตำรวจมาจับลูกเรือที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานที่ติดค้าง
  • ชั่วโมงการทำงาน การกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานของลูกจ้างในกิจการประมงทะเลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 ไม่ได้กำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานไว้เหมือนกับการใช้แรงงานทั่วไป
  • ค่าจ้างขั้นต่ำ ตามกฎหมายไทยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่นำมาใช้บังคับกับแรงในงานประมง ดังนั้นลูกจ้างในกิจการประมงทะเลจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย
  • วันหยุดประจำปี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จัดวันหยุดประจำปีให้ลูกจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งในความเป็นจริง ลูกจ้างไม่ได้หยุดประจำปีตามกฎหมายกำหนด หรือได้หยุด ก็มิได้รับค่าจ้างแรงงาน
 
3.สวัสดิการ
 
·         ที่พักอาศัย การคุ้มครองแรงงานด้านที่พักอาศัยในเรือของลูกเรือชาวประมง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลของไทย มิได้กำหนดเกี่ยวกับสวัสดิการในเรื่องของที่พักที่นายจ้างควรจะต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง
  • อาหารและน้ำ การคุ้มครองแรงงานด้านอาหารและน้ำในเรือของลูกเรือชาวประมง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลของไทย มิได้กำหนดเกี่ยวกับสวัสดิการในเรื่องของอาหารและน้ำที่นายจ้างควรจะต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง
  • การรักษาพยาบาล การคุ้มครองแรงงานด้านการรักษาพยาบาลของลูกเรือชาวประมง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลของไทย มิได้กำหนดเกี่ยวกับสวัสดิการในเรื่องของการรักษาพยาบาลที่นายจ้างควรจะต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง
  • ความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองแรงงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของลูกเรือชาวประมง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลของไทย กำหนดว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานทุกประเภทว่า สถานที่ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ลูกจ้างใช้จะต้องปลอดภัย ถ้าก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างหยุดการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์บางส่วนได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วยังไม่มีรูปธรรมเรื่องความปลอดภัยในการทำงานบนเรือประมง เช่น อุปกรณ์กันของมีคมหรือครีบปลาบาด หรือเสื้อชูชีพเมื่อต้องเผชิญกับพายุ เป็นต้น
  
จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบกฎกระทรวง (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2541 ยังไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองแรงงานตามหลักการคุ้มครองแรงงานสากล ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรที่ติดตามปัญหาการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิในแรงงานประมงทะเล จึงขอเสนอให้มีการออกกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลในรูปแบบของพระราชบัญญัติเพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลเป็นการเฉพาะ เพราะการทำงานในงานประมงทะเลมีลักษณะที่แตกต่างจากการทำงานอื่นๆ เพื่อให้แรงงานประมงทะเลได้รับการคุ้มครองในการใช้แรงงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ห้ามมิให้นายจ้างรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมงทะเล กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างก่อนเริ่มทำงานบนเรือประมงทะเล กำหนดให้มีการดำเนินการอบรมแรงงานประมงทุกคนที่ทำงานบนเรือประมงก่อนออกทะเล กำหนดให้มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนาจ้างกับลูกจ้างแรงงานประมงทะเล กำหนดให้มีอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายจากการทำงาน กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์การปฐมพยาบาลไว้ประจำเรือ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าลูกจ้างในอุตสาหกรรมประมงทะเลจะได้รับการปฎิบัติที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่มีอยู่กว่า 300,000 ขีวิต ให้ได้รับสิทธิเสมือนแรงงานในภาคอื่นๆ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท