เกษียร เตชะพีระ: ‘หน้าที่ทางการเมืองของแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมคิดว่าที่เรากำลังประสบอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันคือกระแสคลื่นการปฏิเสธอำนาจรัฐ (widespread dissent from state power) แสดงออกไม่เพียงในรูปการชุมนุมยืดเยื้อฝ่าฝืนประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง บุกค้นโรงพยาบาล วางยางรถยนต์ขวางชานชาลาและเส้นทางรถไฟฟ้ากลางกรุงเทพฯ หากแผ่กระจายกว้างออกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือ-อีสาน-กลางในรูปกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งด่าน ปิดถนน ตรวจค้น คุมตัวทหาร-ตำรวจ ฯลฯ

แก่นแท้ของมันคือการที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในทางการเมือง

นี่เป็นการฟาดตรงหัวใจของอำนาจรัฐ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วอำนาจรัฐจะทำงานได้ต้องตั้งอยู่บนการยินยอม-ยอมรับ (consent) ของผู้คน ไม่ใช่การใช้กำลังข่มขู่บังคับ (coercion)

ไม่มีรัฐที่ไหนกุมปืนจ่อหัวผู้คนพลเมืองทุกคนทั่วประเทศให้ทำตามคำสั่งได้ ส่วนใหญ่ที่สุดรัฐดำเนินงานต่อไปได้ก็เพราะคนส่วนข้างมากยอมรับอำนาจรัฐและยินยอมทำตามคำสั่งของรัฐเอง

รัฐที่อำนาจเข้มแข็งคือรัฐที่ผู้คนพลเมือง (รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเอง) ให้การยอมรับสูงและยินยอมทำตามคำสั่งรัฐโดยดุษณีไม่มีข้อแม้หรือกระทั่งทำตามอย่างแข็งขัน โดยรัฐมิพักต้องใช้กำลังข่มขู่บังคับหรือใช้ก็เพียงเล็กน้อย

ในทางตรงข้าม รัฐที่อำนาจอ่อนแอ คือรัฐที่ถูกผู้คนพลเมือง (รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ) ปฏิเสธ ไม่ยอมนับถือว่าเป็นรัฐของตัว และดิ้นรนขัดขืนเฉื่อยเนือยเกียร์ว่างต่อคำสั่งของรัฐทุกวิถีทาง

ตามความหมายนี้ ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา อำนาจรัฐกำลังอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและถูกท้าทายหนักขึ้นทุกที

%%%%%
 

รัฐบาลอภิสิทธิ์สูญเสียการยินยอม-ยอมรับของสังคมไปอย่างมากหลังเกิดเหตุเมษาฯวิปโยคเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน ศกนี้

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกตั้งคำถามท้าทายเรื่องความชอบธรรมของที่มาแห่งอำนาจอยู่บ้าง เพราะถึงแม้มันจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการรัฐสภา แต่ก็ดูไม่ชอบมาพากลที่บรรดาตัวแทนพรรคร่วมไปประชุมก่อตั้งรัฐบาลกันขึ้นในค่ายทหารและอาศัยกลุ่มการเมืองที่แปรพักตร์เป็นฐานพลิกคะแนนเสียงในสภา

แต่จุดด่างพร้อยนี้เทียบไม่ได้เลยกับความผิดพลาดสาหัสร้ายแรงที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจสั่งการใช้กำลังทหารเข้า “ขอยึดพื้นที่คืน” จากที่ชุมนุมของ นปช. บนถนนราชดำเนินในเวลากลางคืน จนส่งผลให้มีประชาชนผู้ชุมนุมและทหารรวมทั้งผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตรวม 25 คนและบาดเจ็บกว่า 800 คน

โดยที่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสนับร้อยและหลายคนอาจต้องพิการหรือทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ขณะที่การสอบสวนสืบหาผู้ใช้อาวุธสังหารในคืนนั้นต้องดำเนินต่อไปเพื่อหาคนผิดมารับโทษตามกฎหมาย รัฐบาลเองจักต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนอย่างเต็มที่ไม่ว่าใครเป็นคนยิงก็ตาม – ไม่วันนี้ก็วันใดวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

ถ้าก่อนหน้านั้นความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ดูคลุมเครือไม่ชัดเจน หลังคืนนองเลือดวันที่ 10 เมษายนฯ มันก็พังพินาศแหลกลาญไม่มีชิ้นดีต่อหน้าต่อตาคนทั้งประเทศและทั่วโลก

สำหรับผู้ชุมนุมเรือนพันเรือนหมื่นและญาติมิตรครอบครัว จะให้พวกเขายอมรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าเป็นรัฐบาลของพวกเขา และยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาอดรู้สึกไม่ได้ว่ากลางดึกชุ่มเลือดคืนนั้น รัฐบาลดูจะมุ่งเอาชีวิตของเขาและคนที่เขารัก และก็ได้เอาชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมกับเขาไปนับสิบๆ คน?

%%%%%
 

หลังเมษาฯวิปโยค รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สูญเสียสิทธิอำนาจทางศีลธรรมหรือสิทธิธรรมที่จะปกครอง (the moral authority to rule) ไปแล้ว

สำหรับรัฐ ๆ หนึ่ง นี่เป็นวิกฤตอย่างยิ่งและยากมากที่จะธำรงรักษาการยอมรับ-ยินยอมของผู้คนพลเมืองรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองไว้ต่อไป

นี่คือที่มาสำคัญที่สุดของกระแสคลื่นการปฏิเสธอำนาจรัฐปัจจุบัน

ทางออกก็คือต้องหาทางประกอบสร้างสิทธิอำนาจทางศีลธรรมหรือสิทธิธรรมที่จะปกครองขึ้นมาใหม่ (reconstitution of the moral authority to rule) เพื่อให้ผู้คนพลเมืองกลับมายอมรับใหม่ว่านี่เป็นรัฐบาลของพวกเขา และยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลอีกครั้ง

เพื่อการนี้ ที่ผ่านมา หนทางที่การเมืองไทยเลือกเดินคือนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลทั้งชุดลาออก ฟอร์มรัฐบาลใหม่ ดังหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาคม พ.ศ.2535

จากนั้นสิทธิธรรมในการปกครองจึงค่อยๆ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาโดยรัฐบาลใหม่ของนายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ และ อานันท์ ปันยารชุน (2)

แต่นายกฯอภิสิทธิ์กลับไม่ยอมสละอำนาจอย่างที่นายกฯ จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกสุจินดา คราประยูรได้ยอมเสียสละมาแล้วในสถานการณ์คล้ายๆ กัน

ตรงกันข้าม ดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเลือกวิธีการอื่นในการซ่อมแซมค้ำยันสิทธิธรรมในการปกครองของรัฐบาลไว้

%%%%%

 

แผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้าของ ศอฉ.

หากดูจากคำกล่าวของนายกฯอภิสิทธิ์ในรายการทีวีเอ็นบีที “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันที่ 25 เมษายน ศกนี้ที่ว่า "ชื่อต่างๆ ที่ปรากฎออกมา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ต่างคนต่างทำ ทั้ง เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ) หรือแกนนำผู้ชุมนุม" ตามมาด้วยคำแถลงของ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ประกอบแผนผังเครือข่าย

ขบวนการล้มเจ้า (ดูภาพข้างบน) วันถัดมา ก็พอเห็นได้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกวิธีการใดในการพยายามฟื้นฟูสิทธิธรรมในการปกครองที่ย่อยยับลงไปขึ้นมาใหม่

ชื่อบุคคล-กลุ่ม-องค์กรที่ปรากฏในแผนผังดังกล่าว มีทั้งผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯหรือทุจริตไปแล้ว, ผู้ที่ถูกตำรวจกล่าวหาหรือกำลังถูกดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม, ผู้ที่ยังไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ถูกประณามโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าไม่จงรักภักดี ฯลฯ

ทรรศนะที่ปรากฏต่อสาธารณะของบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้มีหลากหลายคละกันทั้งต่อต้านสถาบันกษัตริย์, คัดค้านการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายป้ายสีกันทางการเมือง, ต่อต้านรัฐประหาร, ต้องการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ปลอดพ้นการแทรกแซงทางการเมืองโดยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

เท่าที่ปรากฏ สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาทั้งหมดทุกคนเข้าด้วยกันก็คือลูกศรและคำบรรยายในแผนผังของ ศอฉ.กับรัฐบาลเอง

โดยอาศัยคำกล่าวหาและแผนผังที่ร่างเอง-โยงเอง-อ้างเองเช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศจึงตั้งคำถามโดยสามัญสำนึกถึงรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณในเรื่องนี้ว่า: ‐

“คำถามเรื่องหลักฐานเป็นประเด็นหลักในกรณีนี้ เหมือนที่บ่อยครั้งมันมักเป็นในกรณีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯต่าง ๆ ในช่วงหลายปีหลัง หลักฐานชนิดไหนที่คุณสุเทพจะถือว่าเพียงพอแก่การออกหมายจับ? แล้วจะหาหลักฐานที่ว่านี้มาอย่างไร? จะเปิดเผยมันต่อสาธารณะไหม? หรือจะเก็บงำมันไว้ลับหูลับตาผู้คนที่อาจตั้งคำถามถึงความจริงแท้ของมัน?” (Elizabeth Fitzgerald, 27 April 2010, เว็บไซต์ New Mandala)

แต่ไม่ว่าเครือข่ายดังกล่าวมีจริงหรือไม่? หรือแผนผังดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ? มันล้วนเป็นประเด็นต่างหากออกไปจากหน้าที่ทางการเมืองที่แท้จริงของแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า นั่นคือการส่งสารถึงคนไทยว่า: ‐

หากท่านไม่ยอมรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าเป็นของท่านและไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาล เพราะท่านเห็นว่ารัฐบาลนี้ฟอร์มขึ้นในค่ายทหารร่วมกับกลุ่มการเมืองยี้ก็ดี หรือเพราะรัฐบาลนี้ปราบม็อบผิดพลาดจนทำคนตายกว่ายี่สิบและบาดเจ็บหลายร้อยก็ดี

ไม่เป็นไร เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน ขอให้ท่านหันมายอมรับรัฐบาลนี้เป็นของท่านและทำตามคำสั่งของรัฐบาลเสียใหม่ในฐานะที่รัฐบาลนี้เป็นผู้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้จากเครือข่ายล้มเจ้าตามแผนผังของรัฐบาลที่ยังรอหลักฐานการพิสูจน์เทอญ!

และแล้วต้นทุนการเมืองวัฒนธรรมก้อนสุดท้ายของรัฐชาติไทยก็ถูกล้วงหยิบฉวยใช้มาชะลอความเสื่อมทรุดผิดพลาดเฉพาะหน้าของรัฐบาลอย่างนั้นเอง.....

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท