Skip to main content
sharethis

28 เม.ย. 53 ในการประชุมสภาองค์กรชุมชนของตำบลวังยาง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวานที่ศาลาวัดวังยาง เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.เป็นต้นไป มีชาวบ้านเข้าร่วมประชุมจากเจ็ดหมู่บ้านในตำบลวังยางกว่า ๕๐ คน จากการประชุมสภาพัฒนาองค์กรชุมชนวังยางได้สรุปปัญหาของชุมชนวังยาง คือ ปัญหาไม่มีน้ำใช้ น้ำมันแพง ปุ๋ยแพง ข้าวราคาถูก ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเหมืองทองคำ
 
โดยเห็นว่าปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน และการเข้ามาของเหมืองแร่ทองคำนั้นเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ  เพราะที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่นี้แทบทั้งหมดเป็นเพียง  “สิทธิครอบครองทำกิน” ไม่ใช่กรรมสิทธ์ ไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์จำพวก น.ส.๓ , น.ส.๓ก หรือ โฉนดที่ดิน มีเพียงหนังสือสำคัญแสดงการเสียภาษีดอกหญ้า (ภ.ทบ.๕) ซึ่งไม่สามารถใช้ยันกรรมสิทธิ์ได้แต่อย่างใด และปัจจุบันทางราชการยังยกเลิกการเก็บภาษีนี้อีกด้วย  ซึ่งชาวบ้านก็กลัวว่าจะเวนคืนที่ดินทำกินของพวกเขาให้นายทุนเข้ามาทำเหมืองหรือไม่
 
พื้นที่ตำบลวังยางซึ่งค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่าจะมีเหมืองทองคำเกิดขึ้น  “แหล่งโชคดี”  โครงการใหม่นี้จะใหญ่กว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือ” หรือรู้จักกันทั่วไปว่าเหมืองทองคำพิจิตรหรือเหมืองอัครากว่า ๒-๓ เท่า โครงการเดิมมีพื้นที่กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ แต่โครงการใหม่อาจจะมีพื้นที่ถึง ๑๕,๐๐๐ ไร่  ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการทำเหมืองกว่า ๕๐-๗๐ ปีก็เป็นได้
 
พื้นที่อำเภอเนินมะปรางนี้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเจาะสำรวจแร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เนื้อที่กว่า ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ และจะหมดอายุประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งก่อนจะหมดอายุอาชญาบัตรพิเศษทางบริษัท อัครา ไม่นิ่ง จำกัด จะต้องยื่นคำขอประทานบัตรอย่างแน่นอนภายในสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือต้นปี พ.ศ.๒๕๕๔ 
 
การเข้ามาของเหมืองทองคำได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลและเคยเห็นพื้นที่จริงของโครงการเหมืองทองคำบริเวณเขาหม้อมาบางแล้ว ชาวบ้านก็ไม่อยากได้พื้นที่แบบนั้น พื้นที่แห้งแล้ง มีผลกระทบมากมายทั้งฝุ่น เสียง น้ำซึ่งไม่กล้ากินหรือใช้ นาข้าวให้ผลผลิตน้อย สวนมะม่วงไม่ติดช่อผล เป็นต้น
 
สถานการณ์ตอนนี้ได้มีนายหน้าเข้ามาซื้อที่ดินจากบริษัท อัครา ไมนิ่งจำกัด ในเขต บ้านทุ่งนาดี และบ้านห้วยบ่อทอง ของตำบลวังยาง รวมแล้วกว่า ๔๐๐ ไร่ เป็นที่ดินซึ่งอยู่เลาะชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออกทั้งสิ้น
 
จากการพูดคุยสอบถามจาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาง นายปัญหา คำหล่อ ก็เห็นความคืบหน้าของการเตรียมการทำมวลชนสัมพันธ์ของบริษัท ฯ กับชาวบ้านพอสมควร เช่น การเข้ามาให้เงินในโอกาสหรือเทศกาลต่างๆ เช่นงานบุญ งานวัด งานโรงเรียนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ขอไปแต่ทางบริษัทฯ ทราบข่าวก็เข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย แรกๆก็เข้ามาประชาคม จัดประชุม แต่ปัจจุบันการเข้ามาก็เปลี่ยนไปเป็นการเข้ามาหาโดยส่วนตัวเสียมากกว่า
 
นายกฯ ยังบอกอีกว่า “การจะมีเหมืองหรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่ชาวบ้านและความเห็นของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขา แต่ใจจริงแล้วก็อยากให้อยู่เหมือนเดิม เพราะก็เห็นผลกระทบจากที่อื่น ไม่อยากให้มันเกิดที่บ้าน”
 
‘ขายแล้วไปอยู่ที่ไหน’  ยังเป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ทำให้รู้สึกว่า ยังมีคนรักและห่วงแหนบ้านเกิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net