Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนหรือฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) แถลงว่ารัฐบาลเปรูควรมีการไต่สวนกรณีที่ทีการปะทะกันระหว่างประชาชนชาวเปรูกับตำรวจในเขตชาลา อย่างปราศจากอคติ

เหตุปะทะดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2010 โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 200 นายพยายามสลายการชุมนุมของคนงานเหมือง 6,000 คน ซึ่งได้ทำการปิดถนนทางหลวงสายหลักของเขตชาลา ในจังหวัดคาราเวลี ในข่าวท้องถิ่นระบุอีกว่า ผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินและไม้ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธปืนยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุม และจากข้อมูลของสื่อท้องถิ่นและขององค์กรภาคประชาชน (NGOs) พบว่ามีผู้เสียชีวิต 5 รายจากการยิงปืนเข้าใส่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 30 ราย ขณะที่ผู้หญิงรายหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วยนั้นเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย

โฮเซ มิเกล วิวานโค ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การสืบสวนอย่างอิสระและปราศจากอคติเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้จะถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมกฏหมาย

การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้มาจากการที่ประธานาธิบดีเปรูออกมาตรการให้มีการควบคุมการทำเหมืองอย่างผิดกฏหมายใน มาเดร เดอ ดิออส ผู้ชุมนุมจึงต้องการให้มีการพิจารณามาตรการดังกล่าว

สื่อท้องถิ่นรายงานว่าในช่วงเย็นของวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมยอมให้มีการเปิดทางให้ยานพาหนะผ่านเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยแลกกับการปล่อยตัวผู้ชุมนุม 28 รายที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุปะทะ มีผู้ประท้วงเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวคือผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีระเบิด

เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนแถลงต่อสาธารณชนว่า ทางรัฐบาลเปรูได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และลดการใช้สิทธิบางอย่างของผู้ประท้วงเรื่องมาตรการเหมือง โดย วิกเตอร์ การ์เซีย โทมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเปรูกล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรทัศน์ว่า การประท้วงในชาลานั้นเป็น ‘การกระทำอันธพาล’ เป็นสิ่งที่ ‘ไม่มีเหตุผลโดนสิ้นเชิง’ และ ‘กฏหมายไม่สนับสนุน’

ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า หากมีการประท้วง รัฐบาลควรสั่งการเจ้าหน้าที่รักษาความสงบให้สลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ และการใช้กำลังรุนแรงในการสลายการชุมนุมนั้นไม่สามารถกระทำได้เพียงเพราะอ้างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น การจะใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมนั้นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมี 'ความจำเป็นอย่างยิ่ง' (absolutely necessary) และเคร่งครัดต่อการใช้กำลังด้วยความเหมาะสม (strictly proportionate) แม้จะอยู่ในภาวะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

จากมติข้อตกลงร่วมกันด้านสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The International Covenant on Civil and Political Rights) ที่เปรูร่วมให้สัตยาบันเมื่อเดือนกรกฎาคม 1978 ระบุว่า สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่จะไม่ถูกลดทอนลงแม้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลักการสหประชาชาติในเรื่องการป้องกันและการสืบสวนกรณีการวิสามัญฆาตกรรมที่เบ็ดเสร็จ (UN Principles on the Effective Prevention and Investigation of Extra-Legal, Arbitrary, and Summary Executions) ยังได้ระบุไว้อีกว่า สภาพการณ์พิเศษที่รวมถึงสภาวะสงครามหรือภัยสงคราม, การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายใน หรือภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ จะไม่ถือเป็นการทำให้การประหัตประหารมีความชอบธรรม

หลักการณ์พื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับกฏหมาย (The United Nation Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ระบุว่าผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่บังคับกฏหมายควรปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยหลักการที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนตัดสินใจใช้กำลังหรืออาวุธ เมื่อใดก็ตามที่มีการต้องใช้กำลังหรืออาวุธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บังคับกฏหมายควรควบคุมการใช้กำลังของตนและปฏิบัติอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตามความเข้มข้นของการจู่โจมจากผู้ชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net