Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับแต่เกิดสถานการณ์การชุมนุมของนปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง (ที่ตอนนี้เปลี่ยนสีไปเสียแล้ว) ข่าวล้อมกรอบเล็กๆ ที่ปรากฏตามสื่อก็คือ ข่าวการร่วมชุมนุมของแรงงานต่างชาติ ยกตัวอย่างดังนี้

“สัณฐานสั่งเช็กโรงงานหาข่าว ย้ำต่างด้าวไม่มีสิทธิร่วมชุมนุมม็อบแดง!" 
                                                                                (www.manager.co.th , 23 พฤศจิกายน 2552)

"เทพไท ท้าจับเสื้อแดงร้องเพลงชาติ ควานหาต่างด้าว" 
                                                                                (Mthai, 24 พฤศจิกายน 2552)

"กรมการจัดหางานเตือนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศร่วมชุมนุมเกินสิทธิจะถูกถอนใบอนุญาตทำงานทันที"
                                                                                (www.doe.go.th, 23 พฤศจิกายน 2552)

"รมว.แรงงานปัดไม่มีต่างด้าวร่วมชุมนุมเสื้อแดง ตามการให้ข่าวของ ศอ.รส." 
                                                                                (แนวหน้า, 4 เมษายน 2553)

 

แรงงานต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยส่วนหนึ่งเปรียบเสมือนผู้ร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคงของสยามประเทศตลอดมา รัฐต้องคอยจำกัดควบคุมตลอดเวลา ต่างกับนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจต่างชาติในอีกย่านหนึ่งคือสี่แยกราชประสงค์และถนนสีลมที่จัดอยู่ในวรรณะสูง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดกำลังดูแลอารักขาคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ ด้วยอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และบรรยากาศการลงทุนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย 

อารมณ์ที่เห่อฝรั่ง คลั่งของนอก แต่ดูถูกประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง นี่พอจะเรียกว่าเป็นสองมาตรฐานก็คงไม่ผิด

ผู้เขียนมีโอกาสไปในพื้นที่การชุมนุมทั้งม็อบเสื้อเหลืองและเสื้อแดงอยู่บ้าง ทุกครั้งจะพยายามสำรวจว่า มีแรงงานต่างชาติย่างกรายเข้ามาหรือไม่ เพราะพอจะคุ้นเคยบุคลิกลักษณะท่าทาง หรือสำเนียงการพูดของชาวมอญ พม่า กะเหรี่ยงที่ต่างจากคนไทยอยู่พอสมควร แต่กลับไม่พบทั้งตัวเป็นๆ หรือไม่มีที่พอจะเผลอคุยโทรศัพท์ให้ได้ยินแต่อย่างใด อีกทั้งสอบถามจากเพื่อนฝูงทั้งสองสีก็ยังไม่เคยพบแรงงานต่างชาติตามที่อ้างกัน

แรงงานต่างชาติบางส่วนเปิดเผยว่า เคยมีแรงงานต่างชาติจากอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานครถูกขนมาร่วมชุมนุมเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งยอมรับว่า มาด้วยอิทธิพลของกระสุนดินดำเป็นเงินหัวละ 400-500 บาท และบางส่วนก็ไปร่วมทั้งสองสีแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เนื่องจากผู้นำท้องถิ่นกะเกณฑ์กันมา และถูกหักค่าหัวคิวตามระเบียบ

ขณะที่ทุกวันนี้ แรงงานต่างชาติสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเจ้าของประเทศต่อสถานการณ์ความขัดแย้งได้ไม่ยากผ่านภาพข่าว เพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโทรทัศน์กันแทบทุกหลังคาเรือน สื่อหนังสือพิมพ์ภาษาพม่าบริเวณชายแดนก็ตีพิมพ์ข่าวสารจากเมืองไทยอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลกาภิวัฒน์

ส่วนในพื้นที่ชุมนุมเองก็มีการ์ด นปช.คุมเข้ม อีกฝั่งก็มีทหารตำรวจคอยตรวจตราบัตรประจำตัวคนเข้าออก ดังนั้นโอกาสที่แรงงานจะจำแลงกายเข้าไปร่วมด้วยช่วยกันหรือถึงขั้นเป็นผู้ก่อการร้ายแทบจะเป็นไปได้น้อยมาก

ดังนั้น หากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมและถูกจับกุม คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้างจากคนไทยที่รักชาติ นอกเหนือจากนั้น ตามกฎหมายไทยยังมีโทษจำคุกแรงงานและส่งกลับประเทศ รวมถึงอาจถูกเพิกถอนสิทธิอาศัยและทำงานในประเทศไทยต่อไป ส่วนนายจ้างที่มีส่วนรู้เห็นนำแรงงานออกนอกพื้นที่โดยไม่ขออนุญาตอาจต้องถูกปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาทตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว

สู้เอาเวลาไปตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินส่งให้ครอบครัวดูจะมีหัวคิดกว่า

การให้สัมภาษณ์หรือนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวก็เท่ากับตอกย้ำอคติต่อแรงงานต่างชาติว่าเป็นศัตรูของชาติให้มากขึ้น และเป็นการทำลายคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงอย่างน่าเสียดาย โดยปราศจากพยานหลักฐานอันประจักษ์ชัดเจนเช่นผู้ต้องหาหรือภาพถ่ายมาพิสูจน์   ทั้งที่หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง แรงงานต่างชาติมีส่วนเกื้อกูลพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง แต่สังคมไทยเลือกที่จะมองข้ามประเด็นนี้ไปอย่างไม่ไยดี

ในกระทู้บางเว็บไซต์ถึงขั้นกล่าวว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนที่ก่อเหตุร้ายใช้อาวุธสงครามน่าจะเป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่คนไทย ดูจะเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยและเจือด้วย "อคติ" แต่นิยมใช้กันมากเพื่อโยนความผิดให้ผู้อื่น เพราะศาสนาพุทธนั้นสอนให้คนรู้จักใช้เหตุผลหรือปัญญาพิจารณา แยกแยะ มากกว่าใช้ "ความเชื่อ" เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ คุณลักษณะของชาวพุทธย่อมจะพึงเมตตาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามสมควร มิใช่คอยเหยียบย่ำคนที่ต่ำต้อยด้อยกว่าเพียงเพื่อความสะใจ 

ส่วนการสัมภาษณ์ให้ข่าวของรัฐในลักษณะป้องปรามตามบทบาทหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมทั้งการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในลักษณะที่สร้างความหวาดระแวงหรือความรู้สึกเกลียดชังขึ้นในสังคมไทย ควรอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ที่นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ สร้างสรรค์และเป็นธรรม

แม้ผู้เขียนเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่คนไทยฆ่ากันกลางเมือง เพราะนักศึกษาประชาชนที่เสียชีวิตถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทย แต่บรรยากาศปัจจุบันก็พอสัมผัสได้ว่า สายตาที่มองคนที่แตกต่าง คิดต่างจากเราว่าเป็นคนอื่น เป็นต่างชาติ ต่างสี ต่างลัทธิ ย่อมนำไปสู่การเข่นฆ่าทำลายกันอย่างไร้ปรานี ตราบที่สังคมไทยไม่รู้จักนำบทเรียนในอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

 

 

                                   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net