เรื่องเล่าอีกมุมมองของการ ‘บุก’ โรงพยาบาลจุฬาฯ

 

แผนผังที่ตั้งโรงพยาบาลตำรวจ-จุฬา

นับตั้งแต่การย้ายพื้นที่ปักหลักการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจาก “ผ่านฟ้า” มายัง “แยกราชประสงค์” ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนนั้น กล่าวได้ว่ามีสถานพยาบาลและผู้มารับบริการได้รับผลกระทบจากเสียงและการจราจรที่ไม่สะดวกสบายจากกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่พอสมควร สถานพยาบาลที่อยู่ติดกับบริเวณที่ผู้ชุมนุม มี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ความเหมือน–ความต่าง จากการได้รับผลกระทบของโรงพยาบาลตำรวจ–จุฬาฯ
1 และถนนราชดำริ มีพื้นที่ติดกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตรง ได้รับเสียงจาการปราศรัยบ้าง แต่เมื่อเข้าไปยังอาคารต่างๆ พบว่าเสียงไม่ได้เล็ดลอดเข้าไปมากนัก ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกล่าวว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากเสียงบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับไม่สามารถทนได้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเช่นทุกวัน มีการเปิดรับการรักษาทุกแผนก คนไข้ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างหนาแน่นเป็นปกติ แม้จะมีการย้ายผู้ป่วยบางส่วนออกไปบ้างตั้งแต่ในช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่ดูไม่มีความรู้สึกกลัวหรือหวาดระแวงกลุ่มคนเสื้อแดงแต่อย่างใด การดูแลรักษาความปลอดภัยยังคงมีแค่พนักงานรักษาความปลอดภัยเช่นปกติเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าใช้ห้องน้ำและพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลในการพักผ่อนอาศัยหลับนอนอีกด้วย

โรงพยาบาลจุฬาตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 4 และ ถนนราชดำริ ถ้าเปรียบเทียบความใกล้ไกลกับที่ชุมนุมและความหน้าแน่นของผู้ชุมนุมนั้น กล่าวได้ว่าบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีจำนวนผู้ชุมนุมเบาบางกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ข้อน่าสังเกตคือ โรงพยาบาลตำรวจซึ่งมีพื้นที่อยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมราวไข่แดงกลับไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือมีการงดให้บริการการรักษา ทั้งๆ ที่พื้นที่บริเวณนั้นน่าจะมีความเสี่ยงมากกว่า น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีการย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลจำนวนมากหลายระลอกเนื่องจากกังวลถึงความไม่ปลอดภัยจากกลุ่มผู้ชุมนุม

สำหรับเหตุการณ์การบุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อตรวจหากำลังทหารที่พวกเขาเชื่อว่าซ่อนตัวอยู่นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสมและความไม่เคารพในสถานพยาบาล ภาพที่ปรากฏตามสื่ออาจทำให้คนรู้สึกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไประรานผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่อย่างไร้มนุษยธรรม แต่ในข้อเท็จจริงของวันเกิดเหตุ(29โรงพยาบาลตำรวจตั้งอยู่บนถนนถนนพระรามที่ เม.ย.) ตึกที่ถูกสำรวจไม่มีคนไข้อยู่ ส่วนตึกที่มีคนอยู่ไม่มีการขอสำรวจ เรื่องนี้ดูเหมือนพูดถึงกันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังมีแพทย์บางคนถึงกับออกมากล่าวว่า “คนที่ poor hygiene เดินพล่านทั่ว รพ. พาเชื้อโรคกระจายทั่วรพ. มันลำบาก การติดเชื้อซ้ำใน รพ. เป็นอะไรที่ลำบาก เชื้อดื้อยา รักษายาก ประสบการณ์ผมถ้าติดเชื้อ a.baumanii ในกระแสเลือดเรียกว่าตาย 90%”

แม้ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวดูจะไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนัก ทั้งยังอาจทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า ความผิดของกรณีนี้อยู่ที่การบุกเข้าไปในโรงพยาบาล หรือการที่คนบุกเข้าไปนั้นเป็นคนประเภท “poor hygiene” ?

ลำดับเหตุการณ์เย็นวันที่ 29 เมษายน 2553
แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้สำหรับสังคม แต่การพูดถึงมัน หรือวิพากษ์วิจารณ์มันก็ควรอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผู้เสพข่าวทั่วไปกับผู้อยู่ในเหตุการณ์อาจมองเห็นความร้ายแรงในระดับที่แตกต่างกันพอสมควร 

เย็นวันที่ 29 เมษายน ที่ด้านหลังเวที แกนนำ นปช.อันประกอบด้วย เหวง โตจิราการ,จตุพร พรหมพันธ์ และพายัพ ปั้นเกตุ เริ่มการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเช่นทุกๆ วัน โดยพายัพกล่าวว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาเขาและการ์ดจำนวนหนึ่งได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณโรงพยาบาลจุฬาฯ เนื่องจากหวาดระแวงสงสัยว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปประจำบนตึกสูงของโรงพยาบาล เพราะก่อนหน้านั้นมีการย้ายผู้ป่วยออกไปแล้ว ส่งผลให้ตึกสูง 2 ตึกของโรงพยาบาลว่างเปล่า ประตูต่างๆ ถูกปิดล็อกและทั่วทั้งอาคารปิดไฟมืด

พายัพยืนยันกับสื่อมวลชนว่า เขาเห็นบุคคลต้องสงสัยจำนวนหนึ่งอยู่บนอาคารชั้น 3 จริง แต่ไม่สามารถขึ้นไปตรวจสอบได้เนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่อนุญาต ผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งจึงถามว่ามีรูปถ่ายหรือหลักฐานอะไรมายืนยันข้อเท็จจริง พายัพตอบว่าเขาไม่สามารถถ่ายภาพในระยะของตึกสูงได้ จตุพร จึงกล่าวว่าถ้าอย่างนั้นก็ไปดูกันตอนนี้เลยว่ามีจริงหรือไม่ โดยให้พายัพเป็นผู้นำไป

ด้วยการตัดสินใจที่ “ปัจจุบันทันด่วน” ทำให้แกนนำบางคน เช่น ฌอน บุญประคอง มีสีหน้าตึงเครียด แต่เมื่อสื่อมวลชนต้องการความจริง แกนนำก็ฉวยตอบสนองความต้องการด้วยการพาไปพบ “ความจริง” ด้วยกัน พายัพจึงได้นำทีมการ์ดและผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบรพ.จุฬาฯ ในทันทีทันใด

ระหว่างทางไป กองทัพสื่อมวลชนประมาณ 40-50 คน เดินบ้าง วิ่งบ้าง ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์บ้าง จากเวทีใหญ่มุ่งหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ผู้สื่อข่าวหญิงคนดังกล่าวได้ขอขึ้นรถมอเตอร์ไซค์คันเดียวกับพายัพด้วย เห็นได้ชัดว่ามีท่าทีเป็นมิตรกันอย่างมาก เมื่อไปถึงก็มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่ได้รับการยืนยันว่าไม่อนุญาตให้ขึ้นไปตรวจสอบ

สักครู่หนึ่งมีแพทย์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้อนุญาตให้กลุ่มการ์ดและสื่อมวลชนประมาณ 100 คน เข้าไปตรวจสอบยังอาคารดังกล่าว โดยตึกที่ขอไปตรวจสอบนั้นเรียกได้ว่าเป็น “ตึกเปล่า” เนื่องจากได้มีการย้ายคนไข้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ไม่เหลือคนไข้อยู่เลย เว้นแต่เพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพยาบาลบางส่วน การผ่านประตูต่างๆ มีการไขกุญแจเปิดให้โดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เอง ไม่มีการงัดแงะ ทุบทำลายสิ่งของของโรงพยาบาล ทุกอย่างดูเหมือนผ่านไปด้วยดี จะมีบ้างก็เพียงบริเวณลานจอดรถที่มีการ์ดกลุ่มหนึ่งพยายามใช้กุญแจของตัวเองไขเข้าไปแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

การเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ได้รับความกรุณาจากแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้นำทางไปด้วยตนเองตามหลังด้วยการ์ดและขบวนสื่อมวลชนที่ได้แยกย้ายกันไปดูตามบริเวณต่างๆ แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ

จนกระทั่งมีผู้พบเห็นชาย 2 คนมีท่าทางลับๆ ล่อๆ อยู่บนตึกที่ติดกับสถานที่ที่มีการดำเนินการก่อสร้างอยู่ การ์ดจึงได้ขึ้นไปตรวจสอบ และนำตัวลงมาด้านล่าง หลังการตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่ทหาร เป็นแต่เพียงคนงานก่อสร้างที่ทำงานอยู่บริเวณนั้นเท่านั้น พวกเขากล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.เขาพบเห็นทหารประมาณ 150 คน อยู่ด้านหลังตึกสก.ของโรงพยาบาลจริง แต่เมื่อมีการแถลงข่าวของแกนนำว่าจะมีการตรวจค้นโรงพยาบาล กลุ่มทหารเหล่านั้นก็หายไป

หากจะกล่าวถึงกรณีการคุกคามสื่อดังที่มีประเด็นปรากฏนั้น เท่าที่สังเกตดูตลอดทั้งเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบก็ไม่พบเห็นพฤติกรรมอันเรียกได้ว่าคุกคามสื่อ จะมีก็แต่เพียงการร้องเรียกให้สื่อทำหน้าที่ในการไปร่วมตรวจโรงพยาบาลร่วมกันว่ามีทหารอยู่จริงหรือไม่ โดยเรียกด้วยสรรพนามที่ออกจะน่ารักด้วยซ้ำ อาทิ “น้องคนสวย” – “น้องนักข่าวตัวเล็กๆ” แม้ในภายหลังจะมีข่าวออกมาว่าการพาสื่อบุกโรงพยาบาลครั้งนี้ทำให้“นักข่าวสาววัย 25 ขวบคนหนึ่งก็ต้องตกอยู่ในอาการจิตตกอย่างถึงที่สุด” เรื่องนี้สร้างความงุนงงในคนร่วมเหตุการณ์พอสมควร หากจำไม่ผิดนักข่าวคนดังกล่าวนั้นเองที่ซักถามความจริงว่ามีทหารอยู่จริงหรือไม่อย่างเอาเป็นเอาตาย และขอนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปกับพายัพ ปั้นเกตุ เพื่อไปร่วม “ค้นหาความจริง” แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวิธีการจนแกนนำจำนวนหนึ่งต้องออกมาขอโทษสังคม แต่มันก็คงไม่ใช่ความผิดของคนตั้งคำถาม หากแต่เพราะความจริงกลายเป็นหยดน้ำในทะเลทรายสำหรับประชาชนไทยผู้หิวกระหาย โดยเฉพาะบรรดาคนที่ poor hygine ซึ่งมักบ่นเสมอว่าสังคมนี้แห้งแล้งนัก

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท