Skip to main content
sharethis

3 พ.ค. 53 - นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจมีพฤติการณ์กระทำฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 103 จากการตรวจสอบแบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นายสุเทพแจ้งไว้ที่ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พบข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษีว่าอาจมีการรับทรัพย์สินที่เป็นเงินหรือผลประโยชน์จากบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด เพื่อนำเงินมาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกิดจากเงินได้พึงประเมิน ประเภท สวนยาง เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ที่แจ้งว่ามีภาษีต้องชำระตามการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2550 (ภ.ง.ด. 90) เป็นเงิน 544,830 บาท จากยอดภาษีที่คำนวณได้ทั้งสิ้น 2,248,671.29 บาท หักด้วยภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นจำนวน 1,514,733 บาท และหักด้วยภาษีที่ได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด. 94 จำนวน 189,108.18 บาท

ทั้งนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 544,830 บาท มีการแจ้งว่าจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยสหกรณ์สุราษฎร์ธานี เป็นเช็คของบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด เลขที่ 0028256 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2551 จึงมีประเด็นที่ชวนสงสัยว่ามีลักษณะเข้าข่ายที่ควรถือเป็นการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่กฎหมายห้ามหรือไม่ เพราะนายสุเทพควรต้องชำระภาษีด้วยตนเอง ในฐานะบุคคลธรรมดา แต่จากหลักฐานที่แสดงไว้ทำให้เข้าใจว่าได้รับเช็คมาจากบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์มฯ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และจากข้อมูลที่ได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าใจว่านายสุเทพลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์มฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2550 โดยได้โอนหุ้นทั้งหมดให้ลูก 3 คน จึงไม่ควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทอีก ได้เข้ามาเป็น ส.ส.เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แม้ต่อมานายสุเทพ จะลาออกจากส.ส. แต่มิได้ทำให้การรับประโยชน์จากบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์มฯ ต้องพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 103 ไปตามการลาออก จึงขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายสุเทพดังกล่าว

นอกจากนี้นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ได้ทำหนังสือไปยังประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากการส่งข้อความเอสเอ็มเอส จำนวน 17,200,000 เบอร์ ของ 3 บริษัท มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับถือว่าต้องห้ามตามมาตรา 103 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบกับประกาศป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ดังนั้นจึงโปรดตรวจสอบ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลตามคำร้อง ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ด้วยการเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไปด้วย

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ได้ดำเนินการร้องเรียนมาแล้วเมื่อวันที่ 20 เม.ย.52 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้ตอบกระทู้สดในที่ประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยสรุปว่า การส่งเอสเอ็มเอสเป็นความตั้งใจของนายอภิสิทธิ์ ผ่านทั้ง 3 บริษัท แต่นายกฯไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการแต่อย่างใด ในทางกลับกันทั้ง 3 บริษัทก็ไม่มีรายได้แต่อย่างใด ทั้งนี้ นายกรณ์ ระบุว่า ผู้รับเองจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะถือเป็นรายได้ของบริษัทก็ต่อเมื่อต้องการฟังข้อความในวอยซ์ เพจ ที่อัดเสียงนายกฯอภิสิทธิ์ไว้ จึงจะเสียค่าบริการครั้งละ 3 บาท

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์แนวหน้า, เว็บไซต์ไทยรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net