Skip to main content
sharethis

43 เอ็นจีโอเอเชีย ประณามเหตุรุนแรง วอนไทยเลี่ยงปะทะ "กษิต" ไล่ไปศึกษาการเมืองไทย เสียงแข็งไม่ให้ยูเอ็นส่งกองกำลังเข้าไทย เผยรัฐบาลจ้างเอกชนแจงต่างชาติแก้เกมการเมือง ด้านฮิวแมนไรท์วอท์ชวอนยุติการต่อสู้บนถนน ดำเนินคดีกับทุกฝ่ายที่ก่อความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อยุติความขัดแย้ง ซัดรัฐบาลลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ

 
3 พ.ค.53 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้รับมอบแถลงการณ์ของตัวแทนกลุ่มเอ็นจีโอ ด้านสิทธิมนุษยชน 43 องค์กรในภูมิภาคเอเชีย นำโดย นาย เย็บ สวี เซ็ง (Yup Swee Seng) ตัวแทนกลุ่มเอเชีย ฟอรัม จากมาเลเซีย (Asian Forum for Human Rights and Development) โดยในแถลงการณ์ระบุว่า เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วเอเชีย รู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความวุ่นวายในการเมืองไทย พร้อมกับประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงแล้วหันหน้ากลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการสลายการชุมนุมภายใต้ มาตรการสากล และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อหาสาเหตุในการหาคนผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังรู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งที่มีการปิดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและ เว็บไซต์ มากกว่า 10 แห่ง ซึ่งเห็นว่าจะส่งผลร้ายมากว่าผลดีต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศ แม้จะมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะทำให้สิทธิบางอย่างได้รับผลกระทบ แต่สิ่งต่างๆ ที่ดำเนินการนั้น ควรต้องสอดคล้องกับพันธกรณีต่างๆ ที่ไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน รวมถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนจะต้องเป็นไปตามมาตรการและหลักสากล

ด้านนายกษิต กล่าวว่า รัฐบาลไทยเคารพและยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และตามหลักประชาธิปไตยกับทุกฝ่าย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด แม้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการควบคุมการชุมนุมได้ แต่เป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้คิดใช้ แม้เราทราบดีว่าผู้ชุมนุมมีการติดอาวุธ แต่เราได้พยายามแยกแยะคนที่ไม่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมชุมนุม ส่วนสื่อมวลชนนั้น รัฐบาลไม่ได้มีการปิดกั้นหรือบั่นทอนสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องยอมรับว่ามีสื่อที่สร้างความรุนแรงและก่อให้เกิดการยั่วยุ

“อยากขอให้เอ็นจีโอได้ศึกษาข้อเท็จจริงและวิวัฒนาการของการเมืองไทยให้ ถ่องแท้ก่อนนำเสนอข้อห่วงใย และต้องรู้เท่าทันทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้เอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง"

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้ยูเอ็นส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในไทย นายกษิต กล่าวว่า เป็นข้อเรียกร้องที่เลอะเทอะ และขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะให้อนุญาตให้ยูเอ็นส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ เข้ามาในไทย เพราะเรามีรัฐบาลที่ยังคงบริหารราชการ และสังคมไทยเป็นสังคมที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม ตนได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นประจำประเทศไทย ขณะที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น สำนักงานใหญ่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ชี้แจงกับยูเอ็นที่นิวยอร์ก อีกทั้ง ตนได้ทำความเข้าใจกับทางอินโดนีเซียแล้ว และจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย รวมถึงเวียดนามตามลำดับ เพื่อบอกกับมิตรประเทศทั้งหลายได้เข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังสั่งการไปยังเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยในทั่วโลก ให้ข้อมูลกับต่างชาติอย่างครบถ้วน แม้วันนี้มีกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือแทรกแซงในสื่อต่างประเทศ โดยบริษัทที่ปรึกษาและเอ็นจีโอบางแห่งที่ร่วมมือกันเป็นขบวนการเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมไทย

เมื่อถามว่ากระทรวงการต่างประเทศจะแก้เกมอย่างไร ต่อการที่กลุ่มคนเสื้อแดงใช้ยุทธการโลกล้อมประเทศ นายกษิต กล่าวว่า เราก็สู้และได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาส่งคนออกไปพูดชี้แจง ทั้งนี้ การสร้างบ่อนทำลายหรือโกหกนั้นง่ายกว่าการเอาความจริงไปพูด เพราะสื่อมวลชนอยากได้พาดหัวข่าวที่ขายได้ จึงเป็นเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ควรนำความจริงไปพูดให้ประชาชนฟัง.

 
ฮิวแมนไรท์วอท์ชวอน "นปช.-กลุ่มหนุนรบ."หยุดใช้ความรุนแรง ซัดรบ.บั่นทอนเสรีภาพสื่อ
 
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้รัฐบาล, เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง, กลุ่มเสื้อแดงในเครือข่ายของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาล และ กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งรวมถึงเครือข่ายคนเสื้อเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยุติการใช้ความรุนแรงในทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น

แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า "ประเทศไทยกำลังถลำลึกลงไปในความรุนแรง เพราะผู้ชุมนุมประท้วงฝ่ายต่างๆ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยั่วยุ และใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไม่มาอย่างต่อเนื่อง" "ทุกฝ่ายจะต้องออกคำสั่งให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดยุติการใช้ความรุนแรง และจะต้องดำเนินให้มีการปฏิบัติตามนั้นในทันที รวมทั้งยังจะต้องเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกด้วยมาตรการทางการเมือง ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามไปมากกว่านี้"

ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. รวมทั้งการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. กับกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ได้แก่ เหตุการณ์ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน, เหตุการณ์ที่บริเวณถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน และเหตุการณ์ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดี-รังสิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน ทั้งนี้ ในระยะหลัง ทหาร และตำรวจมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นที่จะละทิ้งความอดกลั้นที่เคยยึดถือมาเกี่ยวกับการใช้กำลัง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิต เมื่อเผชิญกับการยั่วยุจากผู้ชุมนุม ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น ผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. กลุ่มต่างๆ ก็ได้กระทำการที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทั่วไปหลายครั้ง 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยับยั้งการตัดสินใจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังสลายการชุมนุมของ นปช. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งมีการตั้งเวที และปิดกั้นการจราจรมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน เนื่องจากเกรงว่า ปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งได้รับการผลักดันจากผู้สนับสนุนรัฐบาลบางกลุ่มนั้น จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิต และความเสียหายของทรัพย์สินอย่างมาก ในระดับที่ร้ายแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการเมื่อครั้งที่รับบาลพยายามสลายการชุมนุมของ นปช. ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ใช้วิธีการระดมกำลังทหาร และตำรวจจำนวนมากมาตั้งด่านสกัดตามเส้นทางหลัก ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นใน และเขตรอบนอกของกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามายังบริเวณแยกราชประสงค์ 

ปัญหาการปกป้องเจ้าหน้าที่ไม่ให้ต้องรับผิด และความกังวลเกี่ยวกับการจับกุมโดยพลการ และการควบคุมตัวในสถานที่ที่ปิดลับ

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวันที่ 7 เมษายน ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) จับกุมผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. ไปแล้วหลายคน พรก. ฉุกเฉิน ให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมบุคคลไว้ในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการ โดยไม่มีการตั้งข้อหา และไม่มีหลักประกันเกี่ยวกับการควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีการปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวสามารถแต่งตั้งทนายความในการให้ความช่วยเหลือด้ากฏหมาย และปิดกั้นไม่ให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมผู้ที่ถูกควบคุมตัว จนถึงขณะนี้ ศอฉ. ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดว่า มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจของ พรก. ฉุกเฉิน กี่คน และคนเหล่านนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ซึ่งนำไปสู่ความกังวลว่า จะเกิดการทำให้บุคคลเหล่านั้น "สูญหาย" ไป

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจของ พรก. ฉุกเฉิน อย่างมีมนุษยธรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งจะต้องแจ้งให้ครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นรู้ว่า พวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน และจะต้องเปิดช่องทางให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฏหมายได้ด้วย 

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "การที่รัฐบาลใช้อำนาจของ พรก. ฉุกเฉิน ได้สร้างความกังวลอย่างมาก"

มาตรา 17 มาตรา 17 ของ พรก. ฉุกเฉิน กำหนดว่า ผู้ที่ใช้อำนาจฉุกเฉินไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, ทางอาญา และทางวินัย ถ้าหากได้ดำเนินการดังกล่าวไปโดยสุจริต และเหมาะสมต่อสถานการณ์ บทบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินการทุกอย่างของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการดำเนินการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วย ดังนั้น มาตรา 17 ของ พรก. ฉุกเฉิน จึงขัดต่อพันธะของ ประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้น และจะต้องนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ศอฉ. มีคำสั่งให้ใช้ค่ายทหารสามแห่งในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดกาญจนบุรีสำหรับควบคุมตัวบุคคลที่ถูกจับกุมภายใต้อำนาจของ พรก. ฉุกเฉิน องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชรู้สึกกังวลใจต่อการที่ ศอฉ. ใช้อำนาจตามมาตรา 12 ของ พรก. ฉุกเฉินในการควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการ (นอกเหนือไปจากสถานีตำรวจ และเรือนจำ) เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า มีความเสี่ยงที่มีการบังคับให้บุคคล "สูญหาย", การซ้อมทรมาน และการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ควบคุมตัวถูกนำตัวไปไว้ยังสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการ และอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ซึ่งไม่ได้รับการอบรม และขาดประสบการณ์ในการบังคับใช้กฏหมายของพลเรือน

ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นมา ศอฉ. ได้เรียกตัวนักการเมือง, อดีตข้าราชการ, นักธุรกิจ, นักกิจกรรม, นักวิชาการ และผู้จัดรายการวิทยุชุมชน จำนวนมากกว่า 100 คน ให้มารายงานตัว และชี้แจงข้อกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และกิจกรรมอื่นๆ ของ นปช. ทั้งนี้ ศอฉ. มีอำนาจภายใต้ พรก. ฉุกเฉิน ที่จะจับกุมตัวผู้ที่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า การใช้สถานที่ที่ปิดลับเป็นที่ควบคุมตัว และการที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำของตนนั้นเป็นที่มาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน" "ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะต้องถูกนำตัวมาแสดงต่อศาล และจะต้องมีการตั้งข้อหาโดยเร็ว มิฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้นเป็นอิสระ"

ความรุนแรงจากการต่อสู้บนถนน เมื่อวันที่ 28 เมษายน

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ขวัญชัย ไพรพนา ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 2,000 คนเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ และรถบรรทุกจากบริเวณแยกราชประสงค์มุ่งหน้าไปยังบริเวณตลาดไท จังหวัดปทุมธานี โดยประกาศจะสลายด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ทุกด่านที่ตั้งอยู่บนเส้นทางถนนวิภาวดี-รังสิต เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้แผงกั้น, ลวดหนาม, แก๊สน้ำตา และกระสุนยางเพื่อหยุดยั้งผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหิน, ยิงหนังสติ๊ก และยิงบั้งไฟ-ตะไลเข้าใส่ทหาร และตำรวจ นอกจากนี้ ภาพวิดีโอ และภาพถ่ายจากรายงานของผู้สื่อข่าวต่างชาติ รวมทั้งปากคำของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชได้สัมภาษณ์ยังยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางคนใช้ปืน และระเบิดปิงปองโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เมื่อเวลาประมาณ 13.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่เริ่มใช้กระสุนจริงในการปะทะกับผู้ชุมนุม และเหตุการณ์ได้ลุกลามกลายเป็นการต่อสู้บนถนนที่เต็มไปด้วยความชุลมุนสับสนนานมากกว่า 3 ชั่วโมง รายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ ระบุว่า มีผู้ชุมนุม 18 คน และทหาร 2 คนได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้เสียชีวิต 1 คนที่เป็นทหารนั้น เชื่อได้ว่า น่าจะถูกยิงจากพวกเดียวกันระหว่างที่เกิดความชุลมุนระหว่างการปะทะกันกับผู้ชุมนุม

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายนว่า ทหารได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงใน 2 กรณี คือ การยิงปืนขึ้นฟ้า และการยิงปืนเพื่อป้องกันตัวขณะที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย

หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลัง และอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย (United Nations Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการ ที่ไม่รุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะหันไปใช้กำลัง และอาวุธปืน ทั้งนี้ เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และอาวุธปืนไม่ได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ และกระทำการไปอย่างได้สัดส่วน เหมาะสมต่อความร้ายแรงของการละเมิดกฏหมายที่เกิดขึ้น อนึ่ง การใช้กำลังในระดับที่ทำให้เสียชีวิตจะสามารถใช้ได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการปกป้องรักษาชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการรายงาน และตรวจสอบการใช้กำลัง และอาวุธปืนที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ, โปร่งใส และเป็นกลางเกี่ยวกับความรุนแรง และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยจะต้องรวมถึงการตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงกระสุนจริง และการยิงปืนด้วยกระสุนจริงนั้นเกิดขึ้นภายในสถานการณ์แบบใด ทั้งนี้ ในการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ และการปกป้องรักษาชีวิตนั้น เจ้าหน้าที่มีพันธะที่จะต้องใช้กำลังอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมกันกับระดับของภัยคุกคาม หรือวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรม

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนอย่างมากเกี่ยวกับกฏการใช้กำลัง และจะต้องทำให้ ทหาร และตำรวจปฏิบัติตามกฏเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด" "รัฐบาลควรที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใคร ทั้งในฝ่ายบริหาร และในฝ่ายความมั่นคง ที่จะสามารถปฏิเสธรับผิดต่อการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของ นปช. และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล

ทั้ง นปช. และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างว่า นปช. เป็นขบวนการที่ยึดแนวทางสันติวิธี และไม่ใช้ความรุนแรง ภาพถ่าย, ภาพวิดีโอ และปากคำของพยานผู้เห็นเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า การ์ดของ นปช. และผู้ชุมนุมจำนวนมากมีอาวุธ เช่น ปืน, วัตถุระเบิด, ระเบิดเพลิง, หนังสติ๊ก, ท่อนเหล็ก, มีด และไม้ไผ่ปลายแหลม เป็นต้น 

การ์ดของ นปช. และผู้ชุมนุมใช้อาวุธดังกล่าวโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง, กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล และประชาชนทั่วไปหลายครั้ง เมธี อมรวุฒิกุล นักแสดง และผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน โดยตำรวจพบว่า เมธีมีอาวุธซ่อนอยู่ในรถ รวมทั้งปืนทาวอร์ ทีเออาร์ 21 และมีรายงานว่า เขายอมรับสารภาพว่ามีส่วนร่วมในการยิงปืนเข้าใส่ทหารระหว่างที่เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่บริเวณถนนราชดำเนิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจ และทหารที่ตั้งจุดตรวจอยู่รอบๆ บริเวณแยกราชประสงค์ และพื้นที่อื่นๆ สามารถจับกุมผู้ที่ถือบัตรของ นปช. ที่พกพาอาวุธปืน และอาวุธอื่นๆ ได้หลายคน นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังยิงบั้งไฟ-ตะไลเข้าใส่เฮลิคอปเตอร์ของทหารที่บินอยู่เหนือแยกราชประสงค์หลายครั้ง 

นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน การ์ด นปช. และผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีไม้ไผ่ปลายแหลมเป็นอาวุธได้บุกเข้าไปในโรงพยาบาล และหอผู้ป่วย เพื่อค้นหาว่า มีทหาร หรือกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลหลบซ่อนอยู่หรือไม่ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนทำให้ต้องระงับการให้บริการส่วนใหญ่ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมากออกไปยังโรงพยาบาลอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน จตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. ได้สั่งให้ พายัพ ปั้นเกตุ นำการ์ด นปช. และผู้ชุมนุมมากกว่า 300 คน ซึ่งบางคนมีไม้ไผ่ปลายแหลม และค้อนเป็นอาวุธ บุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยังได้มีการจับตัวคนงานก่อสร้าง 2 คน (ซีงถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ) จากโรงพยาบาลไปสอบสวนที่ด้านหลังเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. กล่าวหลายครั้งในลักษณะที่ข่มขู่ว่า จะตรวจค้น และยึดรถพยาบาลของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ โดยอ้างว่า ทหารอาจนำอาวุธมาซ่อนในรถพยาบาลเหล่านั้น

นปช. สร้างเครื่องกีดขวางด้วยไม่ไผ่ และยางรถยนต์ปิดกั้นการจราจรบริเวณรอบแยกราชประสงค์ โดยการ์ด นปช. ตรวจค้นประชาชน และยานพาหนะที่เดินทางผ่านเส้นทางเหล่านั้น องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชได้รับคำร้องเรียนจากบุคคลจำนวนมากที่ถูกการ์ด นปช. ทำร้ายร่างกาย เช่น เมื่อวันที่ 25 เมษายน จักรกฤษณ์ มงคลรัตนสิทธิ์ ถูกการ์ด นปช. 5 คน บังคับตรวจค้นกระเป๋า และทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ขณะเดินออกจากที่ทำงานไปขึ้นสะพานลอยรถไฟฟ้าบริเวณแยกชิดลม หลังจากนั้น เขาถูกการ์ด นปช. บังคับนำไปสอบสวนที่ด้านหลังเวทีปราศรัยแยกราชประสงค์ ในวันเดียวกัน เดช ฮาดทักษ์วงศ์ ถูกการ์ด นปช. และผู้ชุมนุมมากกว่า 20 คน ทำร้ายร่างกายระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณใกล้แยกราชประสงค์

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. ประกาศบนเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์หลายครั้ง ในลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้ประท้วงบุกเข้าไปฉกชิงสินค้า และทำลายห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ถ้าหากมีการสลายการชุมนุมประท้วง เช่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน เขากล่าวว่า "พวกเราเป็นคนจน เป็นคนบ้านนอก พวกเราตกใจง่าย เวลาที่เห็นทหารบุกเข้ามา พอพวกเราตกใจ ก็จะวิ่งไปคว้าก้อนหินมาทุบกระจกหน้าห้าง และพากันวิ่งเข้าไปข้างใน ... พอพวกเราวิ่งเข้าไปข้างใน พวกเราก็จะมองหาของติดมืออย่างพวกกระเป๋าแพงๆ ... ตอนนี้พวกเราน่าจะเริ่มคิดกันแล้วว่า อยากจะได้อะไรจากในห้างแถวๆ นี้มาเป็นของฝากให้ตัวเองกับเพื่อนๆ"

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายประชาชน และความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. ปิดกั้นการจราจร และตรวจค้นพาหนะตามถนน โดยอ้างว่า ทำไปเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการเสริมกำลังทหาร และตำรวจเข้ามาที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. (กลุ่มชักธงรบ) มากกว่า 300 คนในจังหวัดอุบลราชธานี บุกเข้าไปในราชธานีอโศก ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นแกนนำของ พธม. ตำรวจที่มาถึงจุดเกิดเหตุไม่ได้ป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินภายในราชธานีอโศก และจับสมาชิกของชุมชนจำนวน 7 คนไปควบคุมตัวไว้นานหลายชั่วโมง

กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเริ่มออกมาเผชิญหน้ากับ นปช. มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมี พธม. เป็นแกนนำ (ทั้งนี้ พธม. ใช้การชุมนุมอย่างยืดเยื้อ และรุนแรงสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 และสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาลที่เป็นหุ่นเชิดของทักษิณ 2 คณะ เมื่อปี 2551) กลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และกองทัพใช้มาตรการทางกฏหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ และปราบปราม นปช. ในพื้นที่อื่นๆ 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลปะทะกับ นปช. ที่บริเวณใกล้กับแยกศาลาแดง โดยทั้ง 2 ฝ่ายโจมตีกันด้วยก้อนหิน, ขวดแก้ว, ระเบิดปิงปอง, ระเบิดขวด และหนังสติ๊ก ต่อมาเมื่อตำรวจปราบจราจลมาถึงจุดเกิดเหตุก็ได้บุกเข้าทุบตี และไล่จับกุมกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล จนทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลวิ่งหลบหนีเข้าไปหลังแนวของทหารที่บริเวณถนนสีลม เมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกา คนร้ายไม่ทราบกลุ่มได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่บริเวณแยกศาลาแดงง และถนนสีลม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 และบาดเจ็บอย่างน้อย 85 คน

อนึ่ง นับตั้งแต่ที่ นปช. เริ่มการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในกรุงเทพฯ 70 ครั้ง

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "คำอ้างของ นปช. ที่บอกว่า พวกตนเป็นกลุ่มการเมืองสันติวิธีนั้นกลายเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะบรรดาแกนนำใช้ความรุนแรง และมีส่วนสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง" "แต่ถึงกระนั้น พธม. และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลจะต้องปฏิเสธการใช้ความรุนแรง"

การโจมตีสื่อมวลชน และการปิดกั้นสื่อมวลชน

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชยังคงมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว และการที่รัฐบาลปิดกั้นสื่อมวลชน

นปช. ยังคงแสดงความก้าวร้าวต่อผู้สื่อข่าวชาวไทยที่วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วง หรือเปิดโปงการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวในสังกัดของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เมื่อวันที่ 27 และ 30 เมษายน ผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. หลายร้อยคนได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จังหวัดขอนแก่น และกดดันให้ยุติการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาโจมตี นปช.

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชระบุว่า รัฐบาลได้บั่นทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างมาก เมื่อรองนายกรัฐมนตรีสุเทพใช้อำนาจฉุกเฉินสั่งปิดเว็บไซต์มากกว่า 400 เว็บไซต์ และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมทั้งยังมีการปิดกั้นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตด้วย โดยมีการกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ ทั้งนี้ เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่ถูกปิด, สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ นปช. องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้อำนาจฉุกเฉินปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกในทันที รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลหันมาใช้กฏหมายอาญาที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงแทนการใช้อำนาจฉุกเฉิน

แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "รัฐบาลบ่อนทำลายคำความเป็นประชาธิปไตยของประเทสไทย ด้วยการปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง" "การแก้ไขวิกฤติทางงการเมืองในประเทศไทยจำเป็นจะต้องพึ่งพาเสรีภาพในการนำเสนอ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งยังจะต้องมีการแสวงหาจุดยืนร่วมกัน และการทำให้มีการรับผิดต่อความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย"
 
 
 
ที่มาเว็บไซต์ไทยรัฐ เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net