Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อจัดการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อในวิกฤติการเมือง: คำสั่งปิดเว็บไซต์ประชาไท” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ 

วิทยากรวงเสวนา “เสรีภาพสื่อในวิกฤติการเมือง: คำสั่งปิดเว็บไซต์ประชาไท” (จากซ้ายไปขวา) ได้แก่ วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ รศ. ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นผู้ดำเนินรายการ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท

 

ปิดประชาไทครั้งแรก หลังดำเนินการมา 6 ปี

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า www.prachatai.com เข้าดูไม่ได้ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยหากเข้าผ่านทีโอทีจะเจอสัญลักษณ์พระอินทร์ของกระทรวงไอซีที แจ้งว่า เว็บไซต์ถูกปิดกั้น ให้ติดต่อกระทรวงไอซีที ขณะที่ถ้าใช้เน็ตทรูจะบอกว่าถูกปิดกั้นโดยกระทรวงไอซีทีเช่นกัน แต่เร็วๆ นี้ถ้าเข้าไป จะเจอหน้าสีเขียวของ ศอฉ.

การสั่งปิดเว็บประชาไทครั้งนี้เป็นการถูกสั่งปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากดำเนินการมาหกปี แม้แต่หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ก็ไม่ถูกปิด ก่อนหน้านี้ อาจมีบางครั้งที่เข้าไม่ได้เมื่อสอบถามกระทรวงไอซีทีก็ได้คำตอบว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค 

สำหรับคำสั่งปิดเว็บไซต์ประชาไทลงวันที่ 7 เม.ย. ลงนามโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอรส.) โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 9 ของ พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศในวันเดียวกัน เพื่อป้องกันข่าวสารที่บิดเบือน โดยให้ปิด 36 ยูอาร์แอล โดยเว็บประชาไทถูกบล็อคในส่วนข่าวและบทความ ซึ่งมีกองบรรณาธิการดูแลชัดเจน อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นครั้งนี้ไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการล่วงหน้า ว่าเนื้อหาใดที่เข้าข่ายบิดเบือน หรือก่อให้เกิดความหวาดกลัว 

จากการปิดกั้นนี้ทำให้เข้าเว็บไม่ได้ เพราะประชาไทเลือกวางเซิร์ฟเวอร์ในประเทศ เนื่องจากผู้อ่านจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย จึงคิดว่าเป็นเรื่องตลกที่ต้องให้คนในประเทศอ้อมไปต่างประเทศเพื่อเข้าถึงประชาไท อย่างไรก็ตาม เมื่อโดนปิดจึงย้ายข้อมูลไปไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ซึ่งกินเวลาหนึ่งวันเต็มๆ และได้ย้ายไปที่ www.prachatai.net โดยระหว่างหาช่องทางการสื่อสารได้ใช้แฟนเพจในเฟซบุ๊ค เพื่ออัพเดตข้อมูลข่าวสารไปก่อน ทำให้จากเดิมที่มีแฟนเจ็ดร้อยคน จนวันนี้เพิ่มเป็นหกพันคน และเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (29 เม.ย.) หน้าเฟซบุ๊คประชาไทก็ถูกปิดกั้นอีกโดย ศอฉ. 

การปิดกั้นนี้มาโดยคำสั่งที่อาจจะมิชอบ แต่ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้ เนื่องจากมาตรา 16 ของ พรก.ฉุกเฉิน ตัดอำนาจของศาลปกครองไว้ ประชาไทจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อ 23 เม.ย. โดยขอไต่สวนฉุกเฉินและขอคุ้มครองชั่วคราว โดยได้รับแจ้งว่าศาลรับไต่สวนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จน 17.30น. องค์คณะผู้พิพากษาก็อ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า พิเคราะห์แล้วว่านายกฯ ในฐานะ ผอ. ศอฉ. มีอำนาจดำเนินการ แต่ศาลไม่ได้ตอบคำถามที่โต้แย้งไปว่า รัฐบาลใช้ พรก. โดยมิชอบ ทั้งนี้ ประชาไทเตรียมจะอุทธรณ์ต่อไป

 

เนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง?

ทั้งนี้ เนื้อหาที่ประชาไทเสนอเป็นการรายงานความเคลื่อนไหวของกิจกรรมการชุมนุม เสียงของชาวบ้าน ในที่ชุมนุมว่ามาทำไม อะไรคือแรงบันดาลใจ บทความ รายงานจากประจักษ์พยานในเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการตั้งคำถามต่อการดำเนินงานแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้มีอำนาจรัฐอาจจะเยอะไป เลยถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ที่ยังไม่เข้าใจคือ ในที่ต่างๆ ยังมีการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ต้องอยู่ใต้ภาวะฉุกเฉิน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก เกลียดชัง ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ฟอร์เวิร์ดเมลว่า ใคร-สื่อใดบ้างเป็นเสื้อแดงและต้องบอยคอตต์ 

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาชื่อ ข้อมูลส่วนบุคคล เบอร์โทร มาประกาศประจาน เพื่อให้คนเข้าไปโจมตี เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อบุคคล ความเป็นส่วนตัว ชีวิตทรัพย์สิน อย่างกว้างขวางในสังคม อาทิ กลุ่ม Social Sanction ในเฟซบุ๊ค ปัจจุบันมีสมาชิกห้าพันกว่าคน ทำหน้าที่สืบค้น มอนิเตอร์ เอาบุคคลมาเสียบประจาน ส่งผลให้มีคนถูกไล่ออกจากงาน มีคนถูกจับ หลายคนถูกขู่ฆ่า นี่คือพฤติกรรมส่งเสริมและสร้างความเกลียดชังในสังคม และดูเหมือนว่า เป็นกลุ่มที่มีการประสานความร่วมมือกับดีเอสไอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานยุติธรรม ใต้การกำกับของอำนาจบริหาร 

 

ยิ่งปิดสื่อ ยิ่งรุนแรง

หลายที่เลือกเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะเชื่อว่าประเทศจะสงบ แต่ข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ปัจจุบัน ความรุนแรงของเหตุการณ์เพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการปิดกั้นสื่อ ยิ่งสถานการณ์ปิดกั้นสื่อที่รุนแรง การที่สื่อสารไม่รอบด้าน มวลชนมีภาวะกระหายข่าวสาร จะเกิดจิตวิทยามุมกลับ อะไรที่ปิดกั้นจะถูกมองว่าเป็นเรื่องจริง นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน

สำหรับสถานการณ์สื่อ มองว่า มีสองเรื่องใหญ่ คือ การพยายามล่ามโซ่สื่อใหม่ เพราะมีเข็มแหลม เล็ก แต่ไปจี้จุดบางประเด็นที่ทำให้รัฐบาลรู้สึกไม่มั่นคง

สอง สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก เผชิญกับการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกาารเมืองในความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งพยายามหยิบข่าวสารไปใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดภาวะเซ็นเซอร์ตัวเองบางระดับ และบางทีก็มีสื่อบางอันที่เต็มใจเป็นเครื่องมือในความขัดแย้งอยู่จริง

ทางออก จากสถานการณ์การถูกปิดกั้น มองว่า หนึ่ง ผู้รับสารต้องมีความเท่าทันต่อการรับสื่อ โดยรับจากสองฝั่ง ปัดอคติ น้ำเสียงของผู้นำเสนอ หรือสิ่งที่ชวนหงุดหงิด ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของรายงานออกไป เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์

สอง เรื่องราวที่เป็นประจักษ์พยานไม่ว่าจากฝ่ายไหน ไม่ว่าสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก หรือสื่อพลเมือง เป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำให้เกิดการสนทนาของคนหลายฝ่ายให้ได้มากที่สุด แกนนำกับนากยฯ อาจจะไม่คุยกัน แต่ประชาชนคุยกันได้ง่ายกว่าและอาจส่งผลให้อำนาจนำปรับตามประชาชนได้ด้วย 

 

ทำงานยากกว่ายุค 19 กันยา

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ ไทยทีวีสีช่อง 3  ในฐานะผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ยอมรับว่า ทีวีทุกวันนี้ ข้อมูลต่างๆ อาจไม่สามารถถ่ายทอดออกไปได้ทั้งหมด แม้ฟรีทีวีจะมีอิทธิพลสูงต่อประชาชน แต่ยุคนี้จะเห็นชัดว่าบทบาทของสื่อหลักไม่สามารถผลักดันได้มาก เนื่องจากเกิดสื่อของกลุ่มการเมือง ที่เกิดเพราะไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักให้เผยแพร่ข้อมูลออกไปสู่สังคม โดยนับแต่การเกิดของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือเสื้อแดง เหมือนมีโมเดลสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย คือกลุ่มการเมือง ต้องมีสื่อของตัวเองในการใช้ข้้อมูล พร็อพพากันดา หรือสร้างมวลชนของตัวเอง จึงไม่แปลกที่เอเอสทีวีจะประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสต้านทักษิณ ไม่แปลกที่กลุ่มเสื้อแดง มีพีทีวี เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ และเมื่อคนเลือกเสพสื่อกลุ่มการเมืองของตัวเอง บางคนอาจปิดกั้นสื่อกระแลหลักไปเลยก็ได้และเลือกรับข้อมูลด้านเดียว 

"โดยส่วนตัว ทำงานมา 10 ปี เริ่มจากสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ตามข่าวสมัชชาคนจนชุมนุมที่ทำเนียบ ข่าวสมัชชาคนจนก็ถูกปิดกั้น ไม่ได้ออกทีวี โดยเกิดจากปัญหาเดิมคือ สื่ออยู่ใต้โครงสร้างอำนาจรัฐและทุน ไม่มีสิทธิเผยแพร่ความจริงได้ทั้งหมด มาปัจจุบัน มีทั้งสื่อกลุ่มการเมือง นักข่าวเองก็ติดทั้งกรอบองค์กรและโครงสร้างอำนาจรัฐ อย่างช่องสาม แม้เป็นเอกชน แต่ก็อยู่ภายใต้ อสมท. และรัฐบาล รวมถึงถูกตีกรอบเรื่องของสัญญา ซึ่งเกินขอบเขตที่ตัวเองจะพูดได้ จึงเป็นเหตุให้ตัวเองใช้ทวิตเตอร์รายงานข้อเท็จจริง เพราะเราอยู่ใต้โครงสร้างของสื่อที่ปัจจุบันถูกกำหนดกรอบในการทำหน้าที่จนอาจพูดได้ว่ายิ่งกว่ายุค 19 ก.ย.2549"

ในยุค 19 ก.ย. 49 มีทหาร มีรถถังมาที่สถานี มีทหารมาเฝ้าทุกวัน ยุคนั้นยากลำบากในการทำงาน แต่ยุคนี้ มีอะไรยากกว่านั้น เพราะในภาวะที่มีคนสองกลุ่มคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่านี่คือความจริงจากฝั่งเสื้อแดง กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงก็จะมองว่าคุณคือเสื้อแดง ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะได้

ตั้งแต่ไอทีวีปิดลง ตนเองเป็นพนักงานคนเดียวที่ไม่ได้รับเลือกให้ทำงานในทีวีสาธารณะ ซึ่งตอนนั้นก็เสียใจที่ไม่ได้รับคัดเลือก แต่ก็เข้าใจเหตุผลว่า ตัวเองเป็นโลโก้ไอทีวี เขาก็ต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ในทีวีช่องใหม่ จึงเลือกทำงานในบริษัท ฉีกกรอบจากการเมืองไปทำแนวสืบสวนสอบสวนอยู่ 2-3 ปีไม่ได้ทำการเมืองเลย จนเมื่อเกิดสถานการณ์ก็เข้าไปทำ ก็กลายเป็นกลับมาทำการเมือง พอมีเรื่อง จึงถูกขุดคุ้ย ว่าเคยร้องไห้ตอนไอทีวีปิด เลยเป็นสื่อเสื้อแดง

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นั้น ตนเองเข้าไปทำข่าวระเบิดที่สีลมตั้งแต่หัวค่ำ ก็ไปเปิดหน้ารายงานสด หลังข่าวสามมิติจบ ช่องสามไม่มีรายการข่าวแล้ว เพราะมีการถ่ายทอดบอล แต่ตอนนั้นยังมีการเผชิญหน้าอยู่ เลยดูสถานการณ์ต่อที่แยกสีลม และรายงานผ่านทวิตเตอร์ซึ่งถือเป็นที่ทางส่วนตัว ซึ่งในช่วงหลังๆ นักข่าวที่ใช้ทวิตเตอร์จะใช้ทวิตเตอร์ส่งข่าวสารมากขึ้น โดยตัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พออยู่ในพื้นที่ก็อยากรายงานมุมต่างๆ ที่คนอื่นไม่เห็นหรือไม่สามารถรายงานในทีวีได้ผ่านทวิตเตอร์ บางครั้งก็ทวีตภาพโถฉี่ของเสื้อแดงก็มี วันนั้นก็เช่นกัน คิดว่าบางเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าไม่สามารถพูดออกทีวีได้ก็รายงานผ่านทวิตเตอร์ไป คิดแค่นั้น

ตอนนั้นมี พรก.ฉุกเฉิน สื่อทีวีก็ทำงานลำบาก มีการเรียกผู้บริหารสื่อไปขอความร่วมมือให้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ในการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสื่อก็รับทราบและรับได้ในสถานการณ์แบบนี้ แต่บางครั้งก็เกินขอบเขต เพราะสื่อทุกคนก็มีวิจารณญาณว่าจะรายงานอย่างไร แต่ไม่ใช่กำหนดว่าคำไหนห้ามใช้

ทั้งนี้ การรายงานนั้นอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่ได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด เพียงแต่รายงานข้อเท็จจริง แต่เมื่อออกไปแล้ว ก็มีการตอบรับที่แตกต่างกัน จึงยากมากในการทำข่าวในสถานการณ์แบบนี้ นอกจากนี้ เธอให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน ทีวีหลายช่องแทบไม่มีรถโอบีรายงานสดแล้ว เพราะนักข่าวในพื้นที่มีอิสระในการรายงานมาก ไม่สามารถสกรีนอยู่ในกรอบที่เขาเห็นว่าควรจะเป็นได้ ตรงนี้คงอธิบายได้แค่นี้

 

เผย 'ทวีตร้อน' จนถูก  'เว้นวรรค'

กรณีที่เธอทวีตข้อความว่า มีทหารเอาปืนจ่อศีรษะตำรวจในช่วงที่มีการปะทะกันที่ฝั่งสีลมว่า ยอมรับว่าไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง แต่เห็นจากภาพถ่ายและตำรวจ 10-20 คนเล่าให้ฟังอย่างละเอียด แต่ตอนนั้นตัวเองไม่มีกล้องทีวีที่จะสัมภาษณ์ได้ และคิดว่าข่าวนี้ออกทีวีไปเป็นเรื่องแน่ และไม่ได้รับอนุญาตจาก บก. แน่ จึงขออนุญาตตำรวจว่าจะรายงานผ่านทวิตเตอร์ เพราะมีมาตรฐานว่าถ้าให้ข่าว ผู้ให้ข่าวต้องกล้ารับผิดชอบ จึงตัดสินใจทวีตไป แต่อาจเพราะความที่ทวิตเตอร์มีเนื้อที่ 140 ตัวอักษร ไม่สามารถอธิบายข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ จากนั้นเพียงไม่ถึงชั่วโมง ข้อความถูกนำไปขยายต่อในพันทิป มีความเห็น มีคำถามจำนวนมาก 

จากเหตุการณ์เดียวถูกถ่ายทอดไปกลายเป็นปฐนีย์รายงานว่า ทหารสร้างสถานการณ์ระเบิดที่สีลม ทั้งที่ช่วงตีสองวันนั้น เธอก็ได้ทวีตย้ำว่า นี่เป็นเหตุการณ์หลังห้าทุ่ม ที่มีการปาระเบิดขวด ไม่ใช่ M79 แต่เมื่อข้อความถูกนำไปส่วนเดียว และขยายความต่อ ทำให้กลายเป็นประโยชน์ของฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เธอใช้ชื่อในทวิตเตอร์ด้วยชื่อเล่นว่า แยมสามมิติ (@yam3miti) แต่เพื่อแสดงความรับผิดชอบ พร้อมรับผิดชอบต่อคำพูดทุกคำที่รายงาน จึงเปลี่ยนไปใช้ชื่อจริง @thapanee3miti ตอนตีสี่ครึ่งวันเดียวกัน โดยชี้แจงแล้วด้วยว่าเปลี่ยนชื่อแล้ว แต่กลายเป็นว่า ถูกวิจารณ์ว่า บิดเบือน ไม่กล้าจนต้องเปลี่ยนเป็นอีกชื่อ

ช่วงนั้นก็หยุดไปสามวัน ถูกเรียกไปสอบถาม มีการขอให้ไม่ไปทำข่าวการเมือง การชุมนุม ไม่ว่ากลุ่มไหนเพื่อเคารพต่อองค์กร และไม่ให้เพื่อนเดือดร้อน และเพื่อความปลอดภัยอย่างที่ผู้ใหญ่ห่วงใย จึงเว้นวรรคไม่ทำข่าว จนวันจันทร์ ศอฉ. ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่รายงานเป็นความจริงแต่อาจจะเกิดความเข้าใจผิด ก็สบายใจ ที่ยังเป็นธรรมที่มีพื้นที่ให้รายงานความจริงออกไปบ้าง เพราะตอนนั้นไม่สามารถเล่าเหตุการณ์หรืออธิบายผ่านสื่อของตัวเองหรือในสื่ออื่นได้เลย ก็ค่อนข้างเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ก็ประทับใจพันทิปซึ่งหลังจากนั้น ก็เริ่มมีการตั้งกระทู้ขอโทษ 

 

(ห้าม) ให้สื่อรายงาน

ตั้งแต่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน มีการขอความร่วมมือว่าอย่าทำข่าวให้ยั่วยุหรือใช้คำพูดที่รุนแรง ต่อมา ในวันที่ 10 เม.ย. เมื่อไปรายงานข่าวในสถานที่ มีคำสั่งมาตลอด มีการห้ามพูดคำว่า "สลายการชุมนุม" ต้องพูดว่า "ขอยึดพื้นที่" ทั้งที่ในหลายๆ ครั้งที่ทำข่าวม็อบไม่ว่าม็อบท่อก๊าซ หรือสมัชชาคนจน การสลายการชุมนุมก็เป็นคำสากลของหลักปฎิบัตินี้ 

นอกจากนี้ยังห้ามใช้ภาพทหารใช้ปืน-จ่อปืน ไม่ว่าลักษณะท่าใด ต้องใช้คำว่า "ทหารใช้แต่กระสุนยาง" ห้ามปล่อยเสียงแกนนำหลัง 10 เม.ย. ห้ามใช้ภาพคนตาย โดยคำสั่งเหล่านี้ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการโทรศัพท์ขอความร่วมมือ 

เราเคารพในกฎหมาย เคารพใน พรก.ฉุกเฉิน ในนิยามภัยความมั่นคง แต่ต้องเคารพในความจริงด้วย ดังนั้น ผู้สื่อข่าวต้องสามารถใช้วิจารณญาณในการตัดสินได้ว่า เหตุการณ์ที่เราไปเจอ เราควรจะใช้คำพูดไหนที่ไม่เป็นภัยกับความมั่นคงหรือยั่วยุ แต่ไม่ใช่คำพูดที่ถูกกำหนดมาว่าต้องพูดแบบนี้

ต้องแบ่งแยกว่าข่าวที่เสนอออกไปไม่ใช่เป็นประโยชน์หรือไม่ แต่อยู่บนหลักพื้นฐานของความเป็นจริง บางทีรัฐอาจมีอคติมากเกินไปในการมองว่าจะปิดสื่อไหน ถ้ามองข้ามอคติทางการเมือง ให้สื่อได้เสนอข้อเท็จจริง อาจเห็นอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมได้ดีกว่าการปิดกั้นเสียทั้งหมด 

แนวปฎิบัติเหล่านี้ต้องข้ามผ่านกรอบของอคติที่กลัวว่าทำข่าวออกมาแล้ว จะทำให้เสื้อแดงได้เปรียบทางการเมือง หรือรัฐเสียเปรียบทางการเมือง ยกตัวอย่างตัวเองที่ข้อความในทวิตเตอร์ไม่ได้ออกทีวี แต่ถูกให้ลบข้อความในทวิตเตอร์ ให้หยุดใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งตัวเองมองว่า เป็นพื้นที่ส่วนตัว คนทั่วไปก็มีสิทธิใช้ทวิตเตอร์-แสดงความเห็นได้ จึงคิดว่าลบไม่ได้ จะให้เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือ ถ้าเช่นนั้นจะมีข้อเท็จจริงอะไรที่จะพิสูจน์ศักดิ์ศรีหรือเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง 


วิทยุชุมชนถูก ศอฉ. เรียกพบด้วย 

วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ข้อมูลจาก กทช. มีวิทยุชุมชนที่ไปขอขึ้นทะเบียน 6,500 กว่าสถานี ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งอาจเป็นวิทยุเสื้อแดง หรือไม่เชื่อในระบบของรัฐ อีก 1,000 กว่าสถานี รวมแล้วมีวิทยุชุมชน 7,000 กว่าสถานี 

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลของคนเสื้อแดงที่ลงสู่ชาวบ้าน คือพีทีวี โดยมีวิทยุชุมชนกระจายเสียงต่อในระดับหมู่บ้านอีกที พอพีทีวีถูกปิด ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้ยังถ่ายทอดเสียงผ่านเว็บได้แล้ววิทยุชุมชนก็ไปเชื่อมผ่านเว็บเพื่อกระจายเสียงอีกทีหนึ่ง รัฐบาลจึงกลัวว่าวิทยุชุมชนซึ่งเข้าถึงง่ายจะระดมคนในระดับหมู่บ้านได้

ทั้งนี้ เขาได้รับหนังสือเรียกตัวจากคณะอนุกรรมการวิทยุกระจาย พร้อมหนังสือของ ศอฉ.แนบมาด้วย ให้ระงับข้อมูลที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง โดยได้ไปที่ราบ 11 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในวันนั้น ผู้เข้าประชุมมีทั้ง กอ.รมน. ศอฉ. และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มีสื่อทางเลือกที่ถูกเรียกไปเช่น เว็บไซต์ วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โดยพวกเขาได้รับการบอกว่า ตอนนี้การชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว แต่ยกระดับเป็นการก่อการร้าย ดังนั้น สื่อที่ออกเรื่องราวแบบนี้ เท่ากับกำลังสื่อสารเรื่องการก่อการร้ายให้คนในประเทศทราบ เป็นความผิดโดยอัตโนมัติ 

 

ขู่ไม่ให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน หากถ่ายทอดเสียงจากราชประสงค์

นอกจากนี้ ในกรณีของวิทยุชุมชนซึ่งหลายแห่งอยู่ระหว่างการทดลองออกอากาศ 300 วัน ซึ่งจะหมดเขตการทดลองในวันที่ 20 พ.ค.สิ้นเดือนนี้ ได้รับการแจ้งว่า วิทยุชุมชนไหนที่ถ่ายทอดสัญญาณจากเวทีราชประสงค์ หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลจะให้ กทช. ขึ้นแบล็กลิสต์ไว้ จะไม่ได้รับการต่อสัญญาการออกอากาศอีก รวมถึงที่จะขอใบอนุญาตจะไม่ได้รับใบอนุญาตด้วย 

ทั้งนี้ วิทยุชุมชนที่จะเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือ ที่อยู่ในเขตประกาศ พรก.ฉุกเฉิน คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งยังมีการถ่ายทอดอยู่ประมาณ 10 สถานี ในต่างจังหวัด ก็มีในอุดรธานีและเชียงใหม่ ที่ถูกแบล็กลิสต์ว่า จะไม่ได้รับการต่อสัญญาเมื่อครบ 300 วัน 

ขณะที่เคเบิลทีวีก็โดนขู่คล้ายๆ กันว่า เคเบิลทีวีใดที่ถ่ายทอดสัญญาณก็จะมีปัญหาในการต่อสัญญาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมเคเบิลทีวีมีการตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐบาลแน่จริงต้องปิดไทยคมก่อน หากไทยคมยังเปิดได้ แล้วเคเบิลระดับจังหวัดไม่ถ่ายทอด เคเบิลในจังหวัดจะโดนอะไร และหากรัฐบาลมีกำลังเพียงพอเฝ้าไทยคมได้ ก็ให้มาคุ้มกันพวกเขาด้วย วันนั้นก็หาข้อสรุปไม่ได้ จึงเป็นไปในลักษณะการขอความร่วมมือ 

จากนั้น อีกหนึ่งอาทิตย์ กรมประชาสัมพันธ์เรียกวิทยุชุมชนประมาณ 200 สถานี ไปนั่งฟังว่าทำอะไรได้-ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ โดยมีการแจกซีดีมาให้เปิดออกอากาศ ซึ่งในเครือข่ายมองว่าเป็นการยุยง ไม่ได้สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะมีข้อความในลักษณะ อย่าไปร่วมชุมนุมกับคนชั่ว หรือไปเป็นโล่ให้คนชั่ว ทำให้หลายสถานีไม่นำไปเปิดต่อ ขณะที่หลายสถานีเปิด เพราะต้องการทำงานต่อ ไม่อยากมีปัญหา ทั้งนี้สำหรับวิทยุชุมชนเสื้อแดงหลายสถานีใน กทม. ที่ยังไม่โดนปิด เพราะมีมวลชนของเขาที่พร้อมสู้ และรัฐเองก็ไม่อยากเปิดประเด็นขึ้นมา

การชุมนุมทางการเมืองกับหน้าที่ทางการสื่อสาร อยากให้แยกกัน เราเองอยากให้ประเทศชาติสงบ แต่การอยากให้ประเทศชาติไม่สงบไม่ใช่เลือกสื่อเฉพาะข้อมูลที่เราชอบ วิทยุชุมชนถูกถามว่าไม่รักประเทศชาติหรือถึงสื่อสารอย่างนี้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหยิบมาพูดคุยว่า การชุมนุมถ้าผิดก็ว่าไปตามกระบวนการ แต่หน้าที่สื่อต้องมองข้ามเรื่องรักใครชอบใคร หรืออยาก-ไม่อยากให้ประเทศชาติสงบ 

กระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทั้งสื่อส่วนใหญ่ทั้งสื่อชุมชน สื่อทางเลือก หรือสื่อหลัก ค่อนข้างบีบให้การชุมนุมยากขึ้น เริ่มไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมมากขึ้น ข้อมูลจากฝั่งผู้ชุมนุมออกมาน้อยลง อาจเกิดจากภาวะที่ตึงเครียดมากขึ้น ใช้ความรุนแรงมากขึ้น จึงเลือกบิดตัวเองไม่เสนอเรื่องราวเหล่านั้น 

สื่อชุมชน โดยเฉพาะวิทยุชุมชนในพื้นที่ เช่น ที่ภาคเหนือ มีคำสั่งจาก ศอฉ. ให้ สภอ.เรียกวิทยุชุมชนไปเซ็นบันทึกความเข้าใจ ว่าต้องทำอะไร อะไรออกได้-ไม่ได้ นั่นเพราะรัฐมองว่า คนไปชุมนุมเพราะรับข่าวจากสื่อชุมชนที่เข้าถึงชาวบ้าน รัฐจึงเริ่มเข้ามาควบคุมสื่อชุมชนมากขึ้น ขณะที่สื่อชุมชนเองก็เลือกจัดการตัวเอง ที่จะไม่เสนอบางเรื่อง เพราะไม่แน่ใจว่าจะนำสู่อะไรบางอย่างหรือไม่ 

ไม่อยากให้รู้สึกว่า เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับการชุมนุม แต่เราต้องมีสิทธิเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง บางเรื่องที่เราไม่ชอบ แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง สังคมควรจะได้รับข้อมูลที่รอบด้าน เพราะปัญหาหนึ่งจากการทำงานของสื่อที่ผ่านมา ได้สร้างความเกลียดชังให้สังคมไทยมากขึ้น คนที่รับสื่อสีหนึ่งก็จะเกลียดอีกสีหนึ่ง  

การชุมนุมอาจจะจบลงในเดือนนี้หรือเดือนหน้า แต่ความขัดแย้งที่เกิดจากการทำงานของสื่อยังฝังอยู่ ... คือหลายคนไม่ได้มาที่ชุมนุม แต่ฟังจากข่าว แล้วข่าวที่ออกไปเคยทำให้คนรู้สึกเข้าใจกันบ้างไหม 

 

เนื้อหาที่ห้ามกระจายในอากาศ

เนื้อหาที่วิทยุชุมชนถูกขอความร่วมมือไม่ให้เสนอ ได้แก่ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์, ในพื้นที่ที่มีการประกาศ พรก. ฉุกเฉินและในพื้นที่สีแดง มีการห้ามถ่ายทอดสัญญาณจากข้างนอก เพราะกลัวการถ่ายทอดสัญญาณจากเวทีที่ราชประสงค์ โดยให้จัดรายการได้เฉพาะในสถานีเท่านั้น 

ห้ามการสื่อสารในลักษณะที่นำไปสู่ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งพอคุยในรายละเอียดแล้ว กลายเป็นว่า การวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้ นอกจากนี้ ยังถูกบอกว่า จะอ้างสิทธิสื่อสารไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นการก่อการร้าย

นอกจากนี้ มีการห้ามไม่ให้สถานีวิทยุชวนคนไปชุมนุม เมื่อก่อน เราโต้แย้งเพราะรู้สึกว่า การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเห็นต่างก็มีสิทธิชุมนุม วิทยุจะชวนคนไปชุมนุมก็ไม่น่าผิดกฎหมาย แต่กรณีนี้ก็โดนดักคอว่า ตอนนี้ไม่ใช่การชุมนุมปกติ ไม่ได้รองรับด้วยกฎหมายแล้ว ฉะนั้น วิทยุจะชวนคนไปชุมนุมไม่ได้ 

ห้ามสร้างความเกลียดชัง มีการตั้งคำถามว่า ต้องนิยามว่าความเกลียดชังคืออะไร และวิทยุที่รัฐดูแลอยู่ หรือช่อง 11 หรือเอเอสทีวี สร้างความเกลียดชังด้วยหรือไม่ ซึ่งนายสาทิตย์บอกว่า ต้องยอมรับว่าคุณเจิมศักดิ์ติดตามเรื่องการคอร์รัปชั่นของทักษิณมานาน เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิที่จะพูด 

ทั้งนี้ ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับการถ่ายทอดสัญญาณที่จะสร้างความเกลียดชัง เพียงแต่ต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

ห้ามหมิ่นประมาทบุคคล ซึ่งก็เห็นไม่ต่างกัน แต่ตั้งคำถามว่าการวิจารณ์การทำงานของรัฐทำได้หรือไม่ เช่น รมต. นายกฯ ทหาร เขาเป็นบุคคลก็จริง แต่ถ้าเขาเป็นบุคคลสาธารณะ จะตั้งคำถามหรือวิจารณ์ได้หรือไม่ 

 

หากมั่นใจว่าปิดสื่อโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องให้เหตุผล-ตรวจสอบได้

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เกิดในยุครัฐบาลทักษิณ เพื่อใช้กับกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งตอนนั้นนักวิชาการกฎหมายออกมาโต้ว่ามอบอำนาจให้รัฐบาลอย่างยิ่งยวด เพราะปกติ การบัญญัติกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้โดยฝ่ายบริหารและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายตุลาการ แต่พอ พรก.ฉบับนี้ออกมากลายเป็นการรวบอำนาจทั้งหมด ฝ่ายบริหารมีอำนาจออกประกาศ บังคับใช้กฎหมาย และอาจรวมถึงไม่ต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องตลกที่ พรก. ที่ออกในยุคทักษิณ แต่ถูกใช้อย่างมากในยุคของอภิสิทธิ์ ซึ่งเคยต่อว่าพรก. นี้อย่างรุนแรง แต่ก็เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้อย่างมากและอาจจะมากกว่ายุคนั้น

ในวันเสรีภาพสื่อ สื่ออาจมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันขัดกันเหลือเกิน ขณะที่รัฐอาจมองว่า สื่อก็ยังมีเสรีภาพ ที่ ศอฉ. ปิดก็เฉพาะสื่อที่คิดว่ามีปัญหา สื่ออื่นยังเปิดได้ ถือว่ามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่ตนเองมองว่าการปิดกั้นสื่อต่างๆ ของ ศอฉ. มีปัญหาในแง่การใช้กฎหมายอยู่สองมิติ คือ หนึ่ง การกระทำที่น่าจะถูกตั้งคำถามในเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสารและแสดงความเห็นของประชาชนทั่วไป และสอง การที่รัฐเข้าไปเกี่ยวพันโดยตรงกับเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อ

มิติที่หนึ่ง การที่รัฐพยายามปิดกั้นสื่อที่รัฐอ้างหรือเชื่อว่า สื่อนั้นเสนอข้อความที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งนักกฎหมายก็ยังหานิยามที่ชัดเจนไม่ได้ว่าภัยต่อความมั่นคงคืออะไร 

1.1 ปัญหาในการบัญญัติที่เกินขอบเขต - กฎหมายที่ใช้ให้อำนาจในการสั่งปิดสื่อ คือ พรก.ฉุกเฉิน นักกฎหมายตั้งคำถามว่า กฎหมายนี้ยกเว้นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งถูกรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม มีการพูดเช่นกันว่าบางครั้งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ภัยร้ายแรง อำนาจเจ้าหน้าที่อาจล่าช้าไปหากต้องขอคำสั่งศาล จึงอาจให้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยอาจมีข้อยกเว้นการทำตามกฎหมายปกติ ถามว่า ยกเว้นได้ไหม ในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญก็ยกเว้นไว้ว่าสื่อมีเสรีภาพ ยกเว้นแต่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะ ซึ่งนั่นแปลว่ายกเว้นได้ อย่างไรก็ตาม การยกเว้นนี้ไม่ใช่การยกเว้นอย่างไม่มีขอบเขต เพราะมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า การเขียนกฎหมายยกเว้นหลักสิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบต่อสารัตถะของสิทธิที่ได้รับการประกันไว้ตามรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น จะออกกฎหมายได้ ต้องมีขอบเขตในการออก

แต่ พรก. ฉุกเฉิน ฉบับนี้มีหลายเรื่องที่ค่อนข้างมีปัญหา เช่น ห้ามตรวจสอบโดยศาลปกครอง ซึ่งนักกฎหมาย มองว่า การใช้อำนาจที่ไม่ต้องตรวจสอบก่อนใช้ยอมรับได้ แต่ต้องตรวจสอบหลังใช้แล้วด้วย ไม่ใช่ห้ามตรวจทั้งหมด 

1.2 เมื่อมีกฎหมายใช้แล้ว มีการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ - มาตรา 9 ของ พรก.ฉุกเฉิน ใน (3) ซึ่งเป็นเรื่องสื่อโดยตรงแตกต่างกับวงเล็บอื่นที่ไม่มีเงื่อนไขการใช้อำนาจ โดย (3) เขียนเงื่อนไขไว้ว่า ห้ามการเสนอข่าวก็จริง แต่ข่าวหรือสื่อที่จะห้ามต้องมีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือมีเจตนาที่บิดเบือน นั่นหมายความว่า หน่วยงานจะใช้อำนาจในการปิดกั้นสื่อต้องให้เหตุผลได้ ว่าสื่อที่ปิดกั้นมีเนื้อหาตาม (3) อย่างไรบ้าง ไม่ใช่อ้างลอยๆ ว่าขัดต่อความมั่นคง ซึ่งไม่สามารถนิยามได้ว่าคืออะไร 

และตามหลักกฎหมายมหาชน การใช้อำนาจของรัฐในการปิดกั้นหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะตามกฎหมายหรือมีกฎหมายให้อำนาจ การใช้อำนาจนั้นต้องได้สัดส่วนกัน เช่น กรณีประชาไท ประชาไทเป็นเว็บเสนอข่าว ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มีเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความเห็น มีบล็อกเกอร์ แต่กลับปิดประชาไททั้งหมด โดยไม่แสดงเหตุผลว่าเนื้อหาทั้งหมดเป็นภัยอย่างไร สอง จริงหรือที่ทุกบทความ ทุกข่าว เป็นความผิดหรือขัดต่อความมั่นคง  

ประเด็นคือ เมื่ออาจมีเนื้อหาที่เป็นภัย ทำไมไม่ปิดเฉพาะส่วนนั้นๆ ทำไมจึงปิดแบบเหมารวม นี่คือความไม่ได้สัดส่วน ที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ ว่ากันตามจริง จุดที่มีปัญหาอาจเป็นบอร์ดแสดงความเห็นด้วยซ้ำ ขณะที่ส่วนข่าวค่อนข้างได้รับการยอมรับพอสมควร

1.3 เมื่อมีกฎหมายแล้ว ใช้อำนาจตามกฎหมายแล้ว ภายหลังจากใช้แล้ว ตรวจสอบได้หรือไม่ - ตามหลักสถานการณ์ปกติ หน่วยที่จะเข้ามาตรวจสอบคือ ศาลหรือฝ่ายตุลาการ ซึ่งมาตรา 16 ของ พรก.ฉุกเฉิน ตัดอำนาจศาลปกครองไป อย่างไรก็ตาม มาตรา 218 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่า หากประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้อำนาจผ่านทางศาล หรือเรียกร้องความเป็นธรรมในศาลยุติธรรมได้เสมอ นั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกตัดอำนาจ เพราะฉะนั้น ศาลจึงยังควรเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศาลเคยยกฟ้องกรณีพีทีวี ที่ศาลแพ่งยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ เมื่อรัฐบาลสั่งการโดยให้เป็นไปตาม พรก. ฉุกเฉิน ตรงนี้เป็นสิทธิหรืออำนาจเด็ดขาดที่รัฐบาลจะสั่งการอย่างไรก็ได้ ศาลไม่มีอำนาจ 

ในส่วนคำฟ้องของประชาไทจึงเขียนว่า ศาลยุติธรรมยังมีอำนาจ และโต้แย้งว่า ไม่ได้บอกว่า รัฐบาลหรือ ศอฉ. ไม่มีอำนาจในการสั่งปิด แต่ตั้งคำถามว่าปิดด้วยเหตุผลอะไร การที่ศาลจะวินิจฉัยว่า ศอฉ. มีอำนาจ เป็นการตอบที่ไม่ตรงคำถาม จึงจะมีร่างคำอุทธรณ์ว่ามีเหตุผลอะไรในการปิด 

ดังนั้น ถ้าภาครัฐ "เชื่อมั่น" ว่าใช้อำนาจอย่างถูกต้องชอบธรรม จะต้องให้เหตุผลได้ และให้หน่วยงานในระนาบเดียวกันคือตุลาการตรวจสอบได้ว่า ใช้อำนาจนั้นตามกฎหมาย แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า อำนาจทุกอย่างโดยเฉพาะในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารทั้งหมด ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แล้วประชาชนจะเอาหลักประกันที่ไหนในการยัน หากมีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

สื่อไม่ควรตกอยู่ใต้อำนาจใคร ประชาชนต้องตรวจสอบสื่อได้

มิติที่สอง เสรีภาพของคนทำสื่อ - นอกจากอำนาจรัฐ 3 ฝ่าย คือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการแล้ว ปัจจุบัน สื่อสารมวลชนถูกมองเป็นอำนาจที่สี่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกแง่มุม เหมือนเป็นเสาหลักอีกเสาหนึ่ง อาจเป็นตัวกลางเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น รวมถึงเป็นตัวจับ มีอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชนด้วย และเป็นตัวสร้างความคิดเห็นของประชาชน นั่นคือการนำเสนอบางแง่มุม สามารถสร้างความคิดเห็นของประชาชนได้

ดังนั้น เมื่อสื่อเป็นทั้งตัวกลาง ตัวจับ และตัวสร้าง ในด้านหนึ่ง สื่อจึงไม่ควรตกอยู่ใต้อำนาจรัฐ และอำนาจอื่นใด ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สื่อควรถูกตรวจสอบจากผู้รับสื่อ คือประชาชนด้วย

แต่ปัญหาคือ รัฐเข้าไปเกี่ยวพันในการนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ยังเปิดอยู่ ซึ่งรัฐบอกว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง ประเด็นคือรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันในการแทรกแซงหรือไม่ ตั้งคำถามว่า สื่อปัจจุบันนำเสนอฝ่ายเดียวใช้หรือไม่ เป็นกระบอกเสียงให้รัฐในการนำเสนอแง่มุมเดียวใช่หรือไม่ โดยเฉพาะหลังวันที่ 10 เม.ย.มีการทวงถามว่าทำไมเสนอแต่รัฐฝ่ายเดียว ไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้เสียหายส่วนอื่น หนึ่งเกิดจากการแทรกแซง สอง เซ็นเซอร์ตัวเอง หรืออาจจงใจบิดเบือน หรือเลือกเสนอตามความเห็นสื่อเองใช่หรือไม่

นอกจากนี้ ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า การปิดกั้นสื่อที่คิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือขัดต่อความมั่นคง หรือแทรกแซงสื่อ เห็นไหมว่าเป็นผลเสียกับรัฐเอง เพราะสื่อปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อทางเลือก ยิ่งปิดก็ยิ่งเปิด การใช้มาตรการปิดกั้นสื่อในปัจจุบันถือเป็นการฆ่าตัวตาย ยิ่งปิดก็ก่อให้เกิดความอยากรู้ความกระหาย 

ต่อประเด็นความรุนแรงต่อสื่อทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนที่อาจมาจากทั้งฝ่ายรัฐหรือผู้ชุมนุม ความแตกต่างในแง่มุมของกฎหมายคือ ถ้าสื่อถูกผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่รัฐคุกคาม สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ แต่ถ้าเป็นการคุกคามโดยรัฐจะขอไม่ได้ เพราะรัฐได้อ้างความชอบธรรมเรียบร้อยแล้ว 

 

ผู้ประกอบการเว็บเตือนสื่อสารอะไร ให้คิดว่ากำลังพูดในที่สาธารณะ

ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ในเรื่องการบล็อค ในการทำงานของเว็บโฮสติ้ง เจอคำขอให้บล็อคเยอะมาก ทั้งการบล็อคการโจมตี และการบล็อคเนื้อหา ซึ่งการบล็อคเนื้อหานั้นมีปัญหามาก เพราะในสังคมไทยมีเรื่องหลายประเด็นมากที่พูดไม่ได้

ในภาวะปกติ เรื่องที่ถูกขอให้บล็อคจะได้แก่การละเมิดลิขสิทธิ์ การขายยา การค้าขายผิดกฎหมาย การพนัน แต่สิ่งที่พวกเรารู้อยู่เสมอคือ การบล็อคไม่ช่วยอะไร เพราะผู้สร้างเนื้อหาก็สามารถนำเนื้อหาไปสร้างใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การรัฐประหาร พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นเยอะมาก คำสั่งให้บล็อคจะเป็นไอพี ซึ่งไอพีถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ประเทศไทยมีไอพีไม่มาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับสหรัฐฯ บางครั้งมีการส่งอีเมลโดยไม่ระบุตัวตน ไม่มีชื่อคนสั่ง ให้ทำการปิดกั้นเว็บต่างๆ เมื่อไม่ได้ทำตาม ก็ปรากฎว่า มีการถอดสายแลนออก 

ยุคนี้บล็อคแรงกว่าตอนรัฐประหารหลายเท่าตัว บล็อคทุกอย่างทุกวิธีทุกระบบ ทั้งการบล็อคดาวเทียม รบกวนสัญญาณ เป็นการห้ามโดยการทำผิดกฎหมายเสียเอง ซึ่งน่าสงสัยว่า พรก.ฉุกเฉิน อนุญาตไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการบล็อคหน้าเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ซึ่งตั้งคำถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ติดแบล็กลิสต์ เพราะอะไร นอกจากนั้น ยังมีการใช้วิธีตั้งกลุ่มหลายๆ แบบ ทำให้คนไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่เป็นจริงออกมาได้ มีการปลอมตัวในโลกออน์ไลน์เป็นฝ่ายตรงข้ามทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ขอเตือนว่า ใครก็ตามจะส่งข้อความหลังไมค์ อีเมล แชท เอสเอ็มเอส โทรศัพท์ขอให้นึกว่ากำลังพูดในที่สาธารณะ และอยู่ในสายตาของบิ๊กบราเธอร์ 

นอกจากนี้ ในชมรมเคยตั้งข้อสังเกตกันว่า ไม่เคยมีคำสั่งบล็อคเว็บเสื้อเหลืองเลย มีแต่เว็บเสื้อแดงจำนวนมาก อาจเพราะเว็บของเหลืองมีน้อยกว่าแดง และเสื้อแดงก็แตกย่อยเยอะแยะไปหมด โดยที่เยอะขนาดนี้ เพราะเสื้อแดงไม่มีช่องทางในการสื่อสาร ไม่มีสื่อหลักให้พูดได้ ต้องหาช่องทางของตัวเอง ซึ่งความก้าวหน้าของวิทยาการ ทำให้มันเป็นไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net