Skip to main content
sharethis

เสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 เดือนสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ มธ. ‘ผบ.ดีเอสไอ’ ยันผู้ชุมนุมขาดความสงบ ‘ประพันธ์ คูณมี’ บอก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไร้สาระเพราะประกาศแล้วไม่ได้นำไปใช้กับการชุมนุม ‘ปิยบุตร’ กังขาไม่เห็นนักสันติวิธีที่ค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในภาคใต้ ออกมาคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ด้าน ‘จาตุรนต์’ ตั้งคำถาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมาะสมหรือไม่

วานนี้ (8 พ.ค. 53) – ซึ่งครบ 1 เดือนในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจัดเสวนา "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ดุลยภาพระหว่างความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน" ที่ นิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.อ. ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ (อยู่ในระหว่างการติดต่อ), ประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ดำเนินการอภิปราย

 

การชุมนุมขาดความสงบตามรัฐธรรมนูญ

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กึ่งเกตุ กล่าวว่าการชุมนุมจะไม่อาจมีได้หากไม่มีรัฐธรรมนูญ ระบุไว้อนุญาตให้มีการชุมนุม และการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญอนุญาตไว้ นั้นต้องเป็นการชุมนุมที่อยู่ในความสงบเรียบร้อย

โดย พ.อ. ปิยะวัฒก์ อ้างว่าเขารวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน ทำให้ทราบว่าการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่ขาดความสงบตาม หลักรัฐธรรมนูญ โดยมีการปราศรัยปลุกระดมมวลชน ยกระดับการชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองจากการที่เรียกร้อง ให้อภิสิทธิ์ ยุบสภา นอกจากนี้ยังมีการใช้อาวุธอย่างระเบิดตามที่ต่าง ๆ และเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม การที่มีเหตุร้ายต่างๆ เกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงมีการตั้งด่านตรวจเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งทำให้ต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่าตรงนี้ถือเป็นการละเมิดประชาชน หรือไม่

โดยผู้ดำเนินรายการคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้มันคู่ควรแก่การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วจริงหรือไม่

 

‘ประพันธ์ คูณมี’ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไร้สาระเพราะไม่ได้นำมาใช้กับการชุมนุม

ด้านประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่าตนก็ไม่เห็นด้วยกับ กฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และคัดค้านการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาตลอด การที่ฝ่ายบริหารนำกฎหมายนี้มาใช้สะท้อนว่าประเทศ ไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา

ประพันธ์ กล่าวถึงการต่อสู้สมัยตนเป็นนักศึกษา ว่ามีกฎหมายที่เลวร้ายกว่านี้คือ พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ (พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์) ส่วนตัวประพันธ์เองก็เคยคัดค้าน พ.ร.บ. ความมั่นคงมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ประพันธ์ กล่าวว่าในคราวนี้เราต้องมาดูว่าเราจะใช้อย่างไรให้มีดุลยภาพระหว่าง ความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน โดยประพันธ์บอกว่าการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้นำมาใช้กับผู้ชุมนุม เขาบอกว่าสนับสนุนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในการคุ้มครองสุจริตชนทั่วไป แต่ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยว่าควรยกเลิก กฎหมายฉบับนี้

 

ปิยบุตรกังขาไม่เห็นนักสันติวิธีค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทางด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประกาศ พ
ร.ก. ฉุกเฉินในครั้งนี้ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ สาเหตุมาจากแค่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งบุกเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งในจุดนี้ปิยบุตรให้ความเห็นว่าถ้าการชุมนุมได้ทำผิดกฎหมายในบางเรื่อง ก็ให้ดำเนินตามกฎหมายนั้นไป แต่จะไปเหมาว่าการชุมนุมเป็นอันตรายทั้งหมดไม่ได้

ปิยบุตร ตั้งข้อสังเกตอีกว่าก่อนหน้านี้เคยมีนักสินติวิธี สื่อ และองค์กรภาคประชาชนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ พ.ร.ก. เดียวกันนี้ ไม่เห็นว่ามีสื่อ องค์กรภาคประชาชน หรือนักสันติวิธีใดๆ เรียกร้องกับรัฐบาลเลย มีแต่การไปยื่นหนังสือกับแกนนำคนเสื้อแดงราวกับว่ามีแต่คนเสื้อแดงที่ใช้ความรุนแรง แต่ทำไมไม่มีการไปยื่นหนังสือกับกลุ่มคนเสื้อหลากสีหรือกลุ่มรัฐบาลบ้าง

 

จาตุรนต์ตั้งคำถามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมาะสมหรือไม่

ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง ขอตั้งคำถามกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ว่าถึงขั้นมีเหตุจำเป็นต้องนำมาใช้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็บอกว่าการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อและเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่มีระบบที่จะมาคอยตรวจสอบดูแลไม่ให้มีการใช้ พ.ร.ก. เกินกว่าเหตุ

จาตุรนต์ วิจารณ์ว่าการให้เหตุผลของรัฐบาลในการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นเป็นการนำหลายๆ เรื่องมาโยงรวมกันแต่ไม่มีเหตุผลมากพอ และคิดว่ารัฐบาลชิงประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากต้องการจัดการกับการชุมนุมโดยเฉพาะ โดยจาตุรนต์กล่าวเพิ่มเติมว่าการอ้างเรื่องเหตุระเบิดต่าง ๆ รวมถึงเรื่องเสื้อแดงพกพาอาวุธนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลยังไม่สามารถ พิสูจน์ได้ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการชุมนุมเลย โดยเหตุระเบิดนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องหามาตรการป้องกันและ ตรวจหาคนร้ายเอง โดยไม่จำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือใช้มาตรการทางทหารใดๆ

 

เหตุบุกรัฐสภาเพราะผู้ชุมนุมเข้าไปค้นอาวุธ และยุติได้หลังเจรจา

ในกรณีที่เสื้อแดงบุกรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนมีส่วนในการทำให้เกิดการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น จาตุรนต์ กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าเป็นการที่ผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปเพื่อตรวจ สอบอาวุธ เนื่องจากมีคนบอกว่ามีระเบิด และเหตุการณ์นี้ไม่ได้จบลงด้วยการ ใช้กำลังต่อกันแต่ยุติลงด้วยการเจรจา

กรณีเรื่องการแทรกแซงหรือปิดกั้นสื่อของรัฐบาล จาตุรนต์ตั้งข้อสังเกตว่าในครั้งนี้สื่อหนังสือพิมพ์ดูจะถูกแทรก แซงน้อยที่สุดซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญระบุคุ้มครอง ไว้ ขณะเดียวกันสื่ออย่างเว็บไซต์ โทรทัศน์ มีการแทรกแซง ซึ่งจาตุรนต์เชื่อว่าเป็นการแทรกแซงสื่อด้วยสาเหตุทางการเมืองไม่ ได้เป็นเรื่องของการยุยงการก่อวินาศกรรมตามที่อ้างมา แต่การแทรกแซงหรือปิดกั้นนั้นเกิดขึ้นกับสื่อที่นำเสนอความคิด เห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล

จาตุรนต์บอกว่าก่อนหน้านี้เขาเคยประเมินก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องหากมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สถานการณ์จะยิ่งเข้าสู่ความรุนแรง มากขึ้น ซึ่งหลังจากการประกาศไม่นานก็มีการเข้าสลายการชุมนุมโดยรัฐบาล จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่ให้อำนาจกับทหารเข้าไปจัดการกับผู้ชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net