Skip to main content
sharethis
10 พ.ค.53 - น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ในส่วนของภาคประชาสังคมนั้น การรับฟังความคิดเห็นจะจัด 4 ภาค คือ ภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก(จัดที่กรุงเทพฯ) ในวันที่ 13 มิ.ย., ภาคเหนือ (เชียงใหม่) 16 มิ.ย., ภาคอีสาน (ขอนแก่น) 18 มิ.ย. และ ภาคใต้ (สงขลา) 30 มิ.ย. ก่อนที่จะมาจัดรวบรวมความเห็นครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กรกฎาคม
 
“คณะอนุฯได้ตัดสินใจใช้รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระผู้บริโภค โดยได้ให้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯจัดเตรียมเอกสารข้อเรียกร้องของทางสหภาพยุโรปที่มีกับอาเซียนและประเทศอื่นๆ, ท่าทีของฝ่ายไทย และ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมที่เกาะติดในประเด็นการเจรจาต่างๆ ก็จัดทำบทวิเคราะห์ประกอบ ซึ่งเอกสารทั้งหมดจะจัดส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อทำการศึกษาก่อนหน้าการให้ความเห็น 10 วันเพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและมีความหมายอย่างแท้จริง”
 
ขณะนี้ ภาคประชาสังคมในภาคส่วนต่างๆ กำลังเชิญกลุ่มต่างๆทั้งเครือข่ายผู้บริโภค ผู้ป่วย เกษตรกร แรงงาน เครือข่ายทรัพยากรและพลังงาน รวมทั้งนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
 
“หน้าที่ของคณะอนุฯ คือ จัดรับฟังความเห็น รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานภาคประชาสังคมทั้งในด้านประโยชน์ที่จะได้รับและข้อกังวลต่างๆ เหตุผลและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเจรจาและไม่เข้าร่วมเจรจา รวมทั้งข้อเสนอแนะ มาตรการรองรับ หากมีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และประมวลความเห็นที่ได้รับรายงานต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งทางคณะอนุฯภาคประชาสังคมได้แจ้งต่อคณะกรรมการที่มีนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง เป็นประธานรับทราบแล้วว่า การดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการเจรจากับสหภาพยุโปร ควรรอผลการรับฟังความคิดเห็นซึ่งคาดว่าจะสามารถประมวลให้เสร็จสิ้นได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ กระบวนการที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า การรับฟังคิดเห็นและการเตรียมการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 190”
 
สำหรับข้อห่วงใยในเบื้องต้นต่อการเจรจากับสหภาพยุโรปนั้น อาทิ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีการบริการ การเปิดเสรีสินค้าภาคเกษตร การลดภาษีเหล้า และผลกระทบที่จะมีต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net