Skip to main content
sharethis

'อำนวย-ธาริต' ชี้ 'สุเทพ' มอบตัวถูกแล้ว ด้าน 'พรรคเพื่อไทย' ซัดแค่ปาหี่ เตือน 'ธาริต' อย่าดูแลเหนือชาวบ้านชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ใช้อำนาจจริง แต่ไม่มีสิทธิ์ยิงประชาชนต้องทำอย่างสุจริต ด้านญาติเหยื่อ 10 เม.ย. แจ้งความกองปราบ เอาผิด "นายกฯ-สุเทพ" แล้ว

12 พ.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่าจากกรณี  นายสุเทพเข้ารับทราบคำกล่าวโทษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น แกนนำนปช.บางคนประกาศไม่ยอมรับการรับทราบข้อกล่าวหา โดยบางคนบอกว่าเป็นปาหี่ ซึ่งที่เข้ามอบตัวเพราะต้องการให้แผนการปรองดองเดินไปได้และเข้าสู่กระบวน การยุติธรรม ซึ่งแกนนำ นปช.บอกว่า หากมอบตัวจะยุติการชุมนุมทันที แต่วันนี้กลับบอกว่าหากไม่มอบที่กองปราบจะไม่ยุติการชุมนุม ซึ่งขอเรียนว่า ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่3/2553 วันที่ 16 เมษายน คดี 4 ลักษณะนี้เป็นคดีพิเศษ คือ 1.กรณีการก่อการร้าย 2.กรณีการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 3.กรณีการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4.กรณีกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ  ซึ่งเมื่อเป็นคดีพิเศษแล้วจะกลับมาเป็นคดีธรรมดาไม่ได้   ซึ่งกรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 14 คนไปร้องที่ดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และรองสุเทพ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน กรณีนี้จึงเข้าข้อ 3 ซึ่งก็เข้าตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 เท่านั้น คดีนี้จึงถือเป็นคดีพิเศษ แม้จะแจ้งความที่ สน.หรือกองปราบ ก็ต้องสำนวนไปที่ดีเอสไอ ดำเนินการ การกล่าวโทษรองสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ก็ไปรับทราบข้อกล่าวหานั้น

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวอีกว่า อีกส่วนคือ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 250, 275และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 กรณีกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่นกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวล กฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่กฎหมายอื่น จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวน  ดังนั้นคดีนี้ดีเอสไอ ซึ่งคือตนด้วยจะรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ ป.ป.ช.ต่อไป  ตาม 4 ลักษณะที่มีการตั้งขึ้น ซึ่งมาจาก 13 หน่วยงานหลักทั้ง ดีเอสไอ ตร. สำนักข่าวกรอง และหน่วยอื่นๆ ทำเป็นคณะที่จะสอบไม่ว่า นายกรัฐมนตรี รองสุเทพ หรือนปช.ถูกกล่าวหา ถือว่ามีมาตรฐานเดียวกน ทำเท่ากันไม่มีแบ่งชั้น แบ่งเกรด โดยสอบเบื้องต้นก่อนส่งให้ นปช.ไต่สวน ซึ่งเป็นกรณีคล้ายกับที่ นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกกล่าวหาจากเหตุ 7 ตุลา  หาก ป.ป.ช.ไต่สวนมีความผิดชัดเจนก็จะส่งไปให้ ป.ป.ช.  โดยคดีเหล่านี้มี บช.น. 2 เรื่อง กองปราบ 3 เรื่อง แต่ทั้งหมดต้องส่งดีเอสไอดำเนินการ การบอกจะไปมอบที่กองปราบเป็นความคิดที่ผิด ไม่เข้าใจให้ถามตน  เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปมอบที่กองปราบ แต่ไปมอบที่ดีเอสไอ เพราะฉะนั้นเงื่อนไขว่าหากมอบตัวแล้ว นปช.ยุติการชุมนุมควรดำเนินได้แล้ว

“เรื่องกรณีรองสุเทพ ป.ป.ช. ก็ออกมาท้วงว่าให้ส่งมาที่ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่ หากมีมูลให้นำพยาน หลักฐานมาหักล้าง หากมีมูลก็แจ้งข้อกล่าวหาเช่น นายกฯสมชาย และพล.อ.ชวลิต ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ โดยที่รองสุเทพรับทราบข้อกล่าวหากรณีกล่าวหาว่าสั่งการให้ใช้อาวุธจริง ประทุษร้ายชีวิตต่อชีวิตและร่างกายประชาชน” รอง ผบช.น.กล่าว

เมื่อถามว่า แล้วที่ นปช. ท้วงติงว่าไม่มีการถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติ เป็นอย่างไร พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า คณะกรรมการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นทางผ่าน ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่ามีความผิดหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบก่อนว่า 1.ผู้ถูกกล่าวโทษเป็นข้าราชการการเมืองหรือไม่ 2.ผู้ถูกกล่าวโทษปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการสั่งทำร้ายประชาชนหรือไม่ เพราะหากไม่เกี่ยวกับหน้าที่ส่ง ป.ป.ช.ไม่ได้

ด้านนายธาริตกล่าวว่า ขอย้ำว่าดีเอสไอไม่ได้ทำงานลำพัง ที่มีการยกระดับคดีสามัญเป็นคดีพิเศษขึ้น เพื่อให้โปร่งใสเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยตร. ดีเอสไอ อัยการสูงสุดและหน่วยอื่นๆรวมกันอีก 13 หน่วย ซึ่งที่กล่าวว่าตนเป็นหนึ่งในศอฉ. ขอเรียนว่า กรรมการในศอฉ.ก็ล้วนมาจากหน่วยบังคับกฎหมาย และหน่วยความมั่นคง ซึ่งตนก็เป็นหัวหน้าของดีเอสไอ ทางตร.ก็มี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. เป็นหนึ่งในศอฉ.เช่นกัน ทหารก็เช่นเดียวกัน แต่เป็นคนละบทบามหน้าที่ ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน การมอบตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดก็ตาม เมื่อกฎหมายกำหนดว่าดีเอสไอรับผิดชอบคดี ไปดีเอสไอก็ถูกต้องแล้ว เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.)  พล.ต.ต.อำนวย และพล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. รับผิดชอบกองปราบปรามก็ไปด้วย

เมื่อถามอีกว่าทนาย นปช.บอกว่าต้องการมอบตัวแต่ติดเรื่องการประกันตัวเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ติดขัดเรื่องประกันตัว เข้ามอบก่อน ในส่วนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น หากสถานการณ์ฉุกเฉินหมดไปแล้ว สิ้นไปแล้วก็แถลงต่อศาลว่าหมดไปแล้ว ไม่มีการชุมนุมแล้ว ก็สามารถเลิกได้ แต่เมื่อมีการชุมนุมอยู่จึงต้องคงต่อไป แต่ในเรื่องการประกันตัวนั้น หากพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มี ก็ไม่มีเหตุควบคุมตัวไว้ เว้นแต่คดีอาญาอื่นๆก็สู้กันต่อไปในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมาศาลก็ให้ประกัน แต่ก็มีเงื่อนไข 1 2 3

นายธาริตกล่าวอีกว่า ทั้งดีเอสไอและบช.น. อยากให้นปช.ยุติการชุมนุมตามที่แจ้งกับสังคมไว้ อยากขอร้องและเรียกร้องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้ และสังคมกลับคืนสู่ปกติ

เพื่อไทย ซัดปาหี่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ-ดีเอสไอ” เตือนอธิบดีดีเอสไออย่าดูแลเหนือชาวบ้าน ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ใช้อำนาจจริง แต่ไม่มีสิทธิ์ยิงประชาชนต้องทำอย่างสุจริต

ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า นายพีรพันธ์ พาลุสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และนายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ทนายความของนายเกรียงไกร คำน้อย ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เดินทางไปพบกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลังจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ข่าวที่ออกมาเหมือนกับนายสุเทพ ทำทีต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่อธิบดีดีเอสไอก็เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ดีเอสไอจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและสุจริต

นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอโรดแม็ปปรองดอง แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยคำขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตั้งข้อกล่าวหาแกนนำเป็นผู้ก่อการร้าย นายอภิสิทธิ์ ไม่ทำตัวเป็นนายกฯ แต่ทำตัวเหมือนเป็นคู่กรณีกับกลุ่ม นปช. จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ มีจิตเมตตา ปฏิบัติด้วยความสุจริต เป็นกลาง และไม่เลือกปฏิบัติ เรื่องใดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะมอบอำนาจให้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้ไปฆ่าคนได้ การดำเนินการใดๆ ต้องสมควรแก่เหตุ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ด้าน พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า กรณีของนายเกรียงไกร ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. บิดาของผู้ตายได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ จ.ร้อยเอ็ด และพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ว่า นายกฯ และนายสุเทพ สั่งการให้ทหารสลายการชุมนุม ซึ่งมีการสอบสวนและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ต่อมาได้โอนคดีดังกล่าวไปให้ดีเอสไอ แต่นายสุเทพ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่ได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเดินทางไปพบอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับนายสุเทพ จึงไม่ได้เป็นไปตามหลัก จึงขอเรียกร้องให้นายกฯและนายสุเทพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อทำเช่นนี้ หากแกนนำ นปช.เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แกนนำ นปช.ก็ควรได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกัน

“แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะบัญญัติให้ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แพ่ง และทางวินัย แต่มาตรา 17 ได้ระบุถึงการกระทำที่ไม่ต้องรับผิดไว้ 3 ข้อ คือ ต้องทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทำเกินกว่าเหตุ และคนที่ชี้ว่าใครทำผิดต้องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งฟ้องอัยการ อัยการสั่งฟ้องก็ต้องเข้าสู่ศาล ซึ่งมีทั้ง 3 ศาล ผู้ปฏิบัติจะมาวินิฉัยเองไม่ได้ อยากเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางด้วย" พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าว และว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 29 คน บาดเจ็บกว่า 800 คน ก็พอแล้ว ครั้งนี้หากจะมีการสลายการชุมนุมอีก ก็ขอชีวิตทหารและตำรวจ ทำอย่างตรงไปตรงมา เท่าเทียมกัน

ขณะที่นาย เรืองเดช กล่าวว่า ขณะนี้คดีของนายเกรียงไกร ทางพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือเรียกร้องผู้ถูกกล่าวหา คือนายกฯและนายสุเทพแล้ว จึงของเรียกร้องให้ทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้นอย่างถูกต้อง อย่าทำลับๆ ล่อๆ ว่า ทำแล้ว ที่ไปมอบตัวกับดีเอสไอ เป็นเพียงการโฆษณาตัวเองมากกว่า.

ญาติเหยื่อ 10 เม.ย. แจ้งความกองปราบ เอาผิด "นายกฯ-สุเทพ"
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม  ที่กอบบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายธนาภัทร เรืองพันธ์ เลขานุการส่วนตัว นางประทีป อึ้งทรงธรม ฮาตะ อดีต ส.ว.และอดีตแกนนำ นปช.รุ่น 2 ได้พานายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ อายุ 52 ปี  นางนวล ฉายแม้น อายุ 45 ปี และนางจารุพร ภู่ทองชัยศรี อายุ 39 ปี ญาติของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์, นายจรูญ ฉายแม้น และนายวสันต์ ภู่ทองชัยศรี ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะที่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน เข้าพบ พ.ต.อ.ศานิตย์ มหถาวร รอง ผบก.ป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีสั่งการให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนเป็นเหตุให้มีผู้ เสียชีวิต
 
นายบรรเจิด กล่าวว่า หวังว่ากองปราบปรามจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริงเพราะมีอำนาจจับ กุมได้ทั่วประเทศ แม้ก่อนหน้านี้ตนเองเคยร้องทุกข์ไว้ทั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) แต่เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับ ศอฉ. ตนเองเห็นว่ากองปราบปรามมีอำนาจดำเนินการได้เช่นกัน น่าจะเร่งรัดคดีและดำเนินการแทนได้
 
ด้าน พ.ต.อ.ศานิตย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายไว้ก่อน จากนั้นจะพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเสนอผู้บังคับบัญชาสั่งการต่อไป
 
  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net