กลุ่ม "ปวงชนชาวไทยผู้ห่วงใยบ้านเมือง" สนับสนุน "การควบคุมฝูงชน" ตามหลักสากล

เรียกร้องให้แกนนำ นปช. ยอมเสียสละส่วนตนเพื่อผลประโยชน์บ้านเมือง ยุติการชุมนุม มอบตัว เผยแม้ไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรงยุติการชุมนุมแต่เข้าใจดีถึงความจำเป็น จึงขอให้ ศอฉ. ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล และทำจากเบาไปหาหนัก แต่ก็ยังเชื่อการเจรจายังเป็นทางออก โดย "หมอตุลย์-แทนคุณ" ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ด้วย

เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) กลุ่ม "ปวงชนชาวไทยผู้ห่วงใยบ้านเมือง" เผยแพร่แถลงการณ์ "ข้อเสนอต่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รัฐบาล และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)" โดยมีข้อเรียกร้องต่อ นปช. และ ศอฉ. ดังนี้

000

แถลงการณ์จากปวงชนชาวไทยผู้ห่วงใยบ้านเมือง

เรื่อง  ข้อเสนอต่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รัฐบาล และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

 

สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วัน ที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และตามมาด้วยเหตุการณ์รุนแรง หลายเหตุการณ์จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  รวม ทั้งยังกระเทือนถึงความรู้สึกของประชาชนในสังคมอย่างมาก

และเมื่อรัฐบาลได้เสนอแผนการปรองดองแห่งชาติ  แต่ไม่ได้รับการตอบรับในทางปฏิบัติจาก ทาง นปช.  จึงนำมาสู่การกำหนดมาตรการที่ศูนย์อำนวยการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะทำการขอพื้นที่คืน  และ ล่าสุดได้มีเหตุการณ์ที่พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่มีส่วนร่วมในการจัดการมาตรการรักษาความปลอดภัยของ นปช. ถูกลอบยิงบาดเจ็บสาหัส  และตามมาด้วยเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุม นปช. กับทหารบริเวณแยกศาลาแดง  จนมีผู้เสียชีวิต 1 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ   รวมทั้งมีรายงานว่ามีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ยิงปืนใส่แนวของทหารที่รักษาการบริเวณนั้น และเชื่อได้ว่าจะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้พวกเราในนามของปวงชนชาวไทย ผู้ห่วงใยบ้านเมือง ในฐานะพลเมืองผู้ห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง  รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด  พร้อมกันนี้เรายังมีข้อเรียกร้องไปยังกลุ่ม นปช. ดังต่อไปนี้

1. แกนนำ นปช. จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ชุมนุมเป็นที่ตั้ง  รวมถึงตระหนักในการเคารพ ประโยชน์ ความสงบสุขของสังคมส่วนรวม  ดังนั้นหากแม้ต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนบ้างเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม ก็พึงควรกระทำโดยสำนึกรับผิดชอบของการเป็นแกนนำการชุมนุม

2. ในวันนี้การชุมนุมได้ดำเนินมาในจุดที่เกิน กว่าขอบเขตของการใช้สิทธิทางการเมืองที่จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้แล้ว  จึงขอให้ แกนนำ นปช. ตัดสินใจยุติการชุมนุมทันที  และเข้ามอบตัวสู้คดีความผิดที่ถูกตั้งข้อหาทั้งหมด   และ หยุดการปลุกปั่น ใช้ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนมาเป็นเครื่องมือต่อร องทางการเมือง

3. พวกเราขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม หรือผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการนำมวลชนได้โปรดให้ ความร่วมมือกับมาตรการของศอฉ.ด้วยการเดินทางกลับภูมิลำเนาทันที  ขอให้ตระหนักว่าขณะนี้การชุมนุมดังกล่าวถือ เป็นการผิดกฎหมาย และการนำมวลชนของแกนนำได้ผิดไปจากทิศทางของการใช้ สิทธิทางการเมืองอันเป็นทียอมรับตามหลักการสากลมามากแล้ว

 

และเรายังมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า

1. พวกเราไม่พึงปรารถนาเห็นการใช้ความรุนแรงยุติปัญหาการชุมนุม  แต่กระนั้น พวกเราก็เข้าใจดีถึงความจำเป็นตามสถานการณ์ และการรักษาความสงบ เรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของ ประชาชนทั่วไปในสังคม  ก็คือสิ่งที่รัฐบาลและศอฉ.พึงต้องกระทำเช่นเดียวกัน  เพราะ สิทธิพลเมืองคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้น ฐานที่ประชาชนทั่วไปพึงได้รับการดูแลจากรัฐ

2. เราขอให้การดำเนินการควบคุมฝูงชนนั้นปฏิบัติ ตามหลักสากลอย่างถึงที่สุด ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยขั้นตอนจากเบา ไปหาหนักโดยยึดมั่นในหลักกฎหมาย กติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่างถึงที่สุด

3. มาตรการการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ  เป็นสิ่งที่พึงต้องระมัดระวังในการตัดสินใจกำหนดระดับการใช้  ซึ่งจำเป็นต้องประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบเป็นระยะๆ เพราะในทางหนึ่งแม้จะเป็นการหวังผลกดดันทางจิตวิทยาได้  แต่ในอีกทางหากผู้ชุมนุมที่ต้องการกลับบ้านไม่สามารถสื่อสารกับภายนอกได้ รวมทั้งไม่สามารถสื่อสารกับครอบครัว ผู้ที่ห่วงใยได้  ก็อาจนำไปสู่ชนวนเหตุแห่งความวุ่นวาย ได้เช่นเดียวกัน  และอาจทำให้การตัดสินใจของมวลชนถูกผูกติดอยู่กับแกนนำมากเกินไป

4. ในการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนควรให้มีสื่อมวลชนทุกสำนักร่วมกันเผยแพร่สัญญาณภาพสดทางโทรทัศน์  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เป็นสักขีพยานติดตามข้อเท็จจริงร่วมกัน

5. การใช้กำลังทหาร ตำรวจเข้าล้อมฝูงชนนั้น  ควรเปิดช่องทางให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้  โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุมที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา

ทั้งนี้พวกเราขอยืนยันว่า  พวกเราไม่พึงปรารถนาเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย  พวกเราเห็นว่าต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการยุติปัญหา และการเปิดโต๊ะเจรจาโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤตของบ้านเมือง

ด้วยความปรารถนาดีต่อสังคมไทย

13 พฤษภาคม 2553

นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์  อดีตเลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น.พ.ตุลย์  สิทธิสมวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายปัญญาสยาม
นายแทนคุณ  จิตต์อิสระ  พิธีกรรายการโทรทัศน์และประธานกองทุนสื่อธรรมะ เพื่อเยาวชน
นายวรินทร์ เทียมจรัส  สมาชิกวุฒิสภา
กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี (ยศส)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งประเทศชาติ
เครือข่าย ปปช.ภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท