Skip to main content
sharethis

ไซมอน ทิสดัล จากนสพ.เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตความขัดแย้งในกรุงเทพฯ ครั้งนี้มีนัยยะเกินกว่าจะเป็นเพียงปัญหาภายใน

แปลจาก: Thailand's unrest may unsettle region
http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2010/may/14/thailands-unrest-may-unsettle-region


ไซมอน ทิสดัล 
นสพ.เดอะการ์เดี้ยน

14 พฤษภาคม 2553

หากเปลี่ยนสถานที่การปะทะจากกรุงเทพฯ ไปเป็นใจกลางกรุงปารีสแล้ว นักวิเคราะห์นานาประเทศคงจะตื่นตัวกันยกใหญ่ และคงพากันใช้คำใหญ่อย่างการปฏิวัติ การต่อสู้ทางชนชั้น อนาคตของพันธะสัญญาทางสังคม แนวโน้มความหายนะทางเศรษฐกิจ หรือจุดจบแห่งประชาธิปไตย เพื่อบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และตอนนี้นานาประเทศก็คงจะลงแรงกดดันให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา

ความวุ่นวายครั้งล่าสุดในไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากนัก และไม่ถูกมองว่าเป็นสถานการณ์ขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในระดับโลก แต่คงจะต้องมีการประเมินกันใหม่ในช่วงเวลานี้ ที่ไทยเสี่ยงจะถลำตัวสู่ความรุนแรงที่ควบคุมไม่อยู่ หรืออาจจมดิ่งเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง

การดำรงอยู่ของประชาธิปไตยในไทยมีความสำคัญในฐานะประเทศตัวอย่างสำหรับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อันประสบความขัดแย้งเรื่องชนต่างชาติพันธุ์ มีปัญหาเรื่องการไม่เคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลใช้แนวทางอำนาจนิยมในบางกรณี และการยกให้ไทยเป็นตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยนั้น มีผลสำคัญยิ่งต่อพม่า ที่มีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเหี้ยมโหดของทหาร นอกจากนี้ การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยในไทยก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับอังกฤษหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ ด้วย ประเทศเหล่านี้มองดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนคอมมิวนิสต์มากขึ้นทุกวัน ด้วยความหวั่นเกรงว่าประเทศสำคัญในภูมิภาคนี้ อย่างอินโดเซีย อันมีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก จะยึดมั่นต่อประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตกไปได้อีกนานเท่าไหร่ หากประเทศรอบข้างพากันหันหลังให้กับระบบนี้

ฝ่ายเสื้อแดงซึ่งเป็นขบวนการสนับสนุนทักษิณ และมีแนวร่วมคือคนจนเมือง กับชาวชนบท กำลังปะทะกับกลุ่มอำนาจซึ่งประกอบด้วย พวกอีลีตทั้งสายการเมืองและการทหาร พวกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกกระฏุมพีเศรษฐีใหม่

ความขัดแย้งทางการเมืองและการเข่นฆ่าพร่าชีวิตครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญเกินกว่าที่จะเป็นปัญหาเฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ความเป็นจริงนั้นสลับซับซ้อนกว่าแก่นเรื่องที่ว่า นี่เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งบางครั้งก็เน้นย้ำกันจนเกินควร

มหาเศรษฐีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตรนั้นไม่ได้เป็นโรบิน ฮู้ด สมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็แปดเปื้อนจากการใช้มาตรการรุนแรงกวาดล้างยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่ผู้มีอำนาจ และการใช้กำลังทหารอย่างโหดเหี้ยมในภาคใต้ของไทย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ตอนนี้ ต่างก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวไทย นั่นก็คือมวลชนคนส่วนใหญ่ที่ได้รับส่วนแบ่งน้อยมาก หรือไม่ได้เลย จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายอภิสิทธิ์​ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอีตันนั้น เป็นเช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราว์น คือเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ได้ชนะเลือกตั้งในฐานะผู้นำพรรคเสียงข้างมาก ฉะนั้นเขาจึงขาดความชอบธรรมที่จะได้มาจากผลการเลือกตั้งของประชาชน หากเขาไม่สามารถยุติการปะทะกันโดยไม่ให้เสียเลือดเสียเนื้อไปมากกว่านี้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างซ้ำซากว่าเขาก็ไม่สามารถทำได้ ก็น่าจะเป็นข้อสรุปชัดเจนว่าเขาต้องลาออก

อันที่จริงเขาก็ควรจะตัดสินใจทำอย่างนั้น ผู้มีปัญญาน่าเชื่อถือในกรุงเทพเสนอว่า ทางออกอยู่ที่การเจรจาระดับชาติ และการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ โลกใบนี้มีผู้นำซึ่งเป็นนักเรียนเก่าอีตันประเภทได้ขึ้นเป็นผู้นำใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมมากเกินพอแล้ว มาตรการอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้กระบวนการดังกล่าวเดินหน้าไปได้ และช่วยยุติการสู้รบด้วย คือการประกาศนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงตัวนายทักษิณ และบรรดาผู้นำทหารมือเปื้อนเลือดที่อาจถูกฝ่ายเสื้อแดงตามเช็คบัญชีภายหลัง ส่วนอีกแนวโน้มหนึ่งคืออาจมีการก่อปฏิวัติอีกครั้ง ซึ่งมีสิทธิทำให้ไทยกลายเป็นเผด็จการทหารแบบเดียวกับพม่าไปได้

ผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ต่อเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญอย่างแน่นอนในระดับนานาชาติ กลุ่มแรกที่จะถูกกระทบคือนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษหรือยุโรป ซึ่งก็เริ่มจะไม่ไปเที่ยวไทยแล้ว ตอนนี้พวกตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดรรชนีบ่งชี้ความเชื่อถือของผู้บริโภคหรือนักลงทุน ต่างก็เลวร้ายลงไปมาก ทั้งๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไปได้ พอเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา คนยากคนจนในไทยก็จะต้องแบกรับภาระนี้ไว้หนักกว่าใครเพื่อนตามเคย ซึ่งรังแต่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมฝังรอยลึกลงไปอีก

หากความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น การล่วงละเมิดต่อสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชน หรือการทำลายสถาบันประชาธิปไตยต่างก็เป็นเหตุผลที่ยังคงขาดน้ำหนักในสายตาของนานาชาติ ในการเข้าไปมีบทบาทช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ก็อาจต้องคำนึงถึงอีกประเด็นหนึ่งซึ่งมีน้ำหนักแน่นอน นั่นก็คือความมั่นคง
ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติการก่อกบฏแบ่งแยกดินแดน อันประกอบด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของการปกครองโดยตรงจากผู้นำในกรุงเทพ มีหลักฐานชี้ว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอัลไคด้าในอินโดนีเซียกับมาเลเซียเคยพยายามฉกฉวยโอกาสกระพือความขัดแย้งนี้มาแล้ว

หากรัฐบาลส่วนกลางล่มสลายลง หรือตกอยู่ในภาวะอัมพาตปกครองไม่ได้ไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับความขัดแย้งแบ่งขั้วด้านอื่นๆ ด้วย นานาชาติคงไม่อยากได้ของขวัญอีกชิ้นที่ไม่พึงปรารถนา นั่นคือแนวรบอีกพื้นที่หนึ่งกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net