Skip to main content
sharethis

การปะทะกันในกรุงเทพฯส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย และอาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในวงกว้าง ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิมพ์เมื่อ: 8:01PM BST วันที่ 15 พฤษภาคม 2553

ขณะนี้เกือบหนึ่งในสามของประเทศไทย (รวมทั้งกรุงเทพฯ) ตกอยู่ภายใต้ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน  และในเวลาเดียวกันรัฐบาลไทยก็ต้องพยามรับมือกับปัญหาระยะยาวในที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของผู้มีเชื้อสายมาเลย์ที่ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดนและตั้งตนเป็นรัฐอิสระ จากอำนาจรวมศูนย์ในกรุงเทพฯ    ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ความตึงเครียดกับกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้เพิ่มปัญหาความมั่นคงให้ประเทศไทยด้วยอีกแรงหนึ่งเช่นกัน

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกัมพูชา แม้เป็นเพียงช่วงเวลาอันสั้น  และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีการขับคณะฑูต  การค้าระหว่างประเทศชะงักงัน  ทั้งนี้เป็นผลเสือบเนื่องจากข้อกล่าวหา เรื่องการจารกรรม  และการปะทะกันตามแนวชายแดนเป็นระยะๆใกล้บริเวณปราสาทหิน

กลุ่มผู้ประท้วงมีจำนวนมากยิ่งขึ้น การต่อสู้ยิ่งทวีความรุนแรงเป็นลำดับเมื่อผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจำนวนมาก ได้เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดง โดยเป้าประสงค์หลักของการประท้วงคือการขับรัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดย นายอภิสิทธ์ เวชาชีวะ ออกจากการบริหารประเทศ  หากไม่สามารถบรรลุจุดหมายหลักที่เรียกร้องได้  ผู้ประท้วงเหล่านี้จะไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ จากการดำเนินคดีทางกฏหมาย  ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทวีความยากลำบากการหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี

แม้ว่าข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ของกลุ่มเสื้อแดง (และจะมีการดำเนินคดีรองนายกรัฐมนตรี ในเหตุเสียชีวิตของผู้ประท้วง อันเนื่องมาจากการปะทะกับทหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว) จะได้รับการตอบสนอง  แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการประท้วงต่อต้านจากฝ่ายตรงกันข้าม  นั่นก็คือกลุ่มรอแยลลิส  ชนชั้นกลางเสื้อเหลือง  และการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ ก็อาจเป็นเพียงแค่สภาวการณ์ที่ทำให้ความแตกแยกในสังคมไทยเห็นเด่นชัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งที่มองไม่เห็นทางออก  มีคำถามหนึ่งที่ยังไม่รับคำตอบ  นั่นคือเหตุใดราชวงศ์ไทยจึงยังอยู่ในความเงียบ  ในอดีตพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งปัจจุบันมีพระชนมายุ 82 พรรษา มักจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหา แก้ไขความรุนแรง และคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่าในวันนี้ ความสามารถในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของพระองค์นั้นได้ถูกจำกัดลงด้วยพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์   เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพระองค์ต้องนั่งรถเข็นออกมาให้เห็นในโรงพยาบาลเพื่อสยบข่าวลืออันไม่เป็นมงคล ราชวงศ์ไทยได้มีส่วนช่วยในการบรรเทาความตึงเครียดที่เกิดจากวิกฤตความขัดแย้งในอดีต หากแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันความตึงเครียดที่เขม็งเกลียวนั้นกลับเป็นผลพวงจากทั้งการช่วงชิงอำนาจ และประเด็นปัญหาด้านการสืบสันตติวงศ์

กลุ่มเสื้อแดงแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับการรัฐประหาร  ซึ่งในอดีตได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932/พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้พบกับการทำรัฐประหารทั้งที่ประสบผลและที่ไม่บรรลุเป้าหมายสิ้น 18 ครั้ง อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ที่อยู่กองทัพจำนวนม่น้อยจะเห็นว่าการทำรัฐประหารคือทางออกในระยะสั้น แต่ก็มีสัญญานที่บ่งชี้ถึงภาพสะท้อนขั้วความแตกต่างทางความคิดที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมและกองทัพไทย

ในขณะที่รัฐบาลออกคำสั่งให้กองทัพเข้ามารักษาความสงบและคืนความเป็นปกติสุขสู่บ้านเมือง  สิ่งที่น่ากังขาที่เกิดขึ้นคือความยินยอมพร้อมใจในการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลจากคนในกองทัพ  เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนมีที่มาจากกลุ่มชนชั้นเดียวกันกับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง

กระแสความคิดล้มล้างสถาบันฯเป็นเรื่องที่ไม่แทบจะไม่มีพูดกันอย่างเปิดเผย  แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ชัดในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา  เป็นเรื่องประหลาดที่น่าขัน ทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกสร้างภาพให้เป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่ง  ทั้งนี้หลังจากที่ ทักษิณ ได้ย้ายจากกัมพูชา ไปตะวันออกกลาง ไปยังมอนเตเนโกร  ทักษิณเรียกร้องรัฐบาลไทยให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน  อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศของมอนเตเนโกร ก็ได้เตือนมิให้ ทักษิณ ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยขณะที่ยังพำนักอยู่ในมอนเตเนโกร ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองตามกฏหมาย

หากจะมีทางออกใด สำหรับปัญหาการเมืองไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้  ทางออกนั้นจะต้องข้องเกี่ยวกับการถกเถียงและอภิปรายประเด็นปัญหาเรื่องของธรรมชาติของสังคมและระบบการเมืองในประเทศไทย  ในอดีตที่ผ่านมา  แทนที่จะสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การถกปัญหา  ประเทศไทยกลับใช้วิธีการจำกัดและยับยั้งไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็น โดยการมาตรการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นฯ อันเข้มงวด(และคลุมเครือ)  ซึ่งห้ามมิให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อย่างสิ้นเชิง  แต่ก็มีสัญญาณว่ากลุ่มชนชั้นสูงได้เห็นว่ามาตรการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องสำคัญที่ปัญหาประชาธิปไตยไทยจะต้องได้รับการวิพากษ์อย่างเปิดเผย  หากว่าปัญหาความแตกแยกในประเทศไทยจะได้รับการเยียวยา  ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดผลกระทบในทางลบกับคนเมืองและชนชั้นสูงซึ่งได้รับสิทธิประประโยชน์จากสภาพสังคมแบบเดิม  ทว่าในเวลานี้  ไม่มีข้างใดยอมรามือ และลดราวาศอกเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาส่วนรวม  ฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่สามารถใช้กำลังทหารในการสร้างความปรองดองได้ การใช้กองทัพเข้ามาแก้ปัญหาก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

*ดร. แกแร็ธ ไพรซ์ และ โรชีน คาบราจี เป็นนักวิเคราะห์ Asia Programme ซึ่งเป็นคณะผู้วิจัยด้านต่างประเทศของ Chatam House ลอนดอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net