Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ ศอฉ.(ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ที่ได้รับมอบหมายตาม พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน ให้แก้ไขสถานการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. ต่างประสานเสียงกันอย่างเอางานเอาการว่า ประชาชนที่ชุมนุมอยู่โดยรอบแยกราชประสงค์เต็มไปด้วยการแฝงตัวของ “ผู้ก่อการร้ายที่มีอาวุธสงครามร้ายแรงไว้ในครอบครอง” การปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมในมาตรการ“กระชับพื้นที่” จะมีเพียงแค่การใช้กระสุนจริงยิงป้องกันตัว หากเจ้าหน้าที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อชีวิต

ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มีพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 24 ราย ประกอบด้วย อาสากู้ชีพของโรงพยาบาล สื่อมวลชน และประชาชนผู้อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีทหารเพียง 1 นายเท่านั้น ที่บาดเจ็บเล็กน้อยจากการหกล้ม นอกจากนี้ในอินเทอร์เน็ท ยังมีการแพร่หลายของคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารมีการใช้ปืนไรเฟิลติดลำกล้องสำหรับพลซุ่มยิง ในการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกด้วย - ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ใจกลางของกรุงเทพมหานคร สงครามกลางเมืองได้เริ่มขึ้นแล้ว ด้วยฝีมือของผู้ก่อการร้าย แต่เป็น “การก่อการร้ายโดยรัฐ” มิใช่จากฝ่ายของผู้ชุมนุม นปช.

“การก่อการร้าย”(terrorism) มีความหมายกว้างขวางมาก แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนคนทั่วไปจะรู้จักมันในความหมายของ “...การใช้กำลังเพื่อข่มขู่ และกระจายความหวาดกลัวออกไปเป็นวงกว้างในสังคม โดยไม่ใช่ความรุนแรงที่มาจากการกระทำของรัฐ(violence non-state actor)...” ในขณะที่ความเป็นจริง มันไม่ได้มีเพียงแค่กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงเท่านั้นที่สามารถ “ข่มขู่และกระจายความหวาดกลัวออกไปเป็นวงกว้างในสังคม” รัฐเองก็สามารถทำสิ่งที่เรียกว่า “การก่อการร้ายโดยรัฐ”(state terrorism) ได้เช่นกัน

หากพิจารณาอย่างรอบคอบ จะพบว่าการก่อการร้ายโดยรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมไทย การที่รัฐบาลใช้องค์กรเครือข่ายในโครงสร้างของรัฐ เช่น สื่อในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ เพื่อระดมสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน บิดเบือนข่าวสารสร้างภาพ “ปีศาจ” ขึ้นมาหลอกหลอน เพื่อหาความชอบธรรมและฉันทามติในการกำจัดปีศาจร้ายออกไปจากสังคมไทย (อันเปี่ยมไปด้วยสันติสุขและความรักใคร่ปรองดอง?) ด้วยกองกำลังทหารจากกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ แบบแผนการกระทำเช่นนี้ ล้วนเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ความทรงจำทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ช่วยทำให้เราระลึกว่า เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลา 2519 กำลังปรากฎขึ้นใหม่อีกครั้ง ผ่านตัวละครที่เปลี่ยนแปลงไป บนโครงสร้างของเรื่องแบบเดิม  - ความแตกต่างมีเพียงอย่างหนึ่ง คือแทนที่ผู้บงการโดยตรงจะเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ดังเช่นในอดีต ครั้งนี้กลับเป็นการบงการของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเสียเอง

การสร้างมณฑลของความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น  เป็นมาตรการขั้นแรกที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของนปช. บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และถูกสร้างให้เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ จากม็อบเติมเงินที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม สู่กองกำลังที่แฝงผู้ก่อการร้ายต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศ ข้อกล่าวหาเก่าแก่ อย่างการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ศอฉ. เผยแพร่แผนผังที่ชี้ว่ามีการเคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายอย่างระเบียบแบบแผน จุดศูนย์กลางของแผนผังชี้ไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พ้นตำแหน่งจากการถูกรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 มณฑลของความหวาดกลัวเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการควบคุมข่าวสาร และปิดกั้นเว็บไซต์ จนทำให้มีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีกด้าน ในท้ายที่สุดก็เพียงพอที่จะทำคนเหล่านั้นให้เชื่อว่าภาพปีศาจที่รัฐสร้างขึ้นนั้น มีอยู่จริง

ในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการที่รัฐมีศักยภาพสูงมากในการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนไหวแทบจะเกือบทั้งหมดของข่าวสารอีกด้านเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ท นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองโดยรัฐเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ในอินเทอร์เน็ทเอง ภาพและคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุม ถูกเผยแพร่อยู่ในวงจำกัด เช่น เว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศ เว็บไซต์ Youtube และ เว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่าง Facebook เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือการใช้กำลังเพื่อข่มขู่กดทับพื้นที่ส่วนอื่น และปล่อยให้มณฑลแห่งความหวาดกลัวที่รัฐสร้างขึ้นกระจายออกไปในสังคม มันคือ “การก่อการร้ายผ่านข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ให้ปรากฎขึ้นในความรับรู้-ความคิด และเน้นย้ำการมีอยู่จริงของมันด้วยความหวาดกลัวของประชาชน

โดยปกติการสลายการชุมนุมตามหลักสากล จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกฝึกมาให้เหมาะสมต่อการควบคุมฝูงชน มีลำดับและขั้นตอนในการสลายการชุมนุมตั้งแต่มาตรการขั้นเบาอย่างการผลักดัน ไปจนถึงมาตรการขั้นหนักอย่างการใช้กระสุนยาง แล้วเหตุใด การสั่งให้สลายการชุมนุมของ นปช. โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ทั้ง 3 ครั้ง จึงใช้กำลังทหาร แม้แต่นายทหารผู้ซึ่งถูกรัฐสร้างให้เป็น “ปีศาจ” อยู่เบื้องหลังความรุนแรงหลายครั้ง อย่าง พล.ต ขัตติยะ สวัสดิผล ยังถูกลอบสังหารด้วยกระสุนจากพลแม่นปืน คำตอบโดยตรงจากนายอภิสิทธิ์นั้น อาจจะยากที่จะรู้ได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง และอาจทำให้เราตอบคำถามนี้ได้ ก็คือการที่รัฐพยายามทำให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปเสียเอง

การที่การก่อการร้ายและตัวผู้ก่อการร้ายเองเป็นสถานะที่ก้ำกึ่งคลุมเครือ ปฏิเสธต่อคุณค่าและสัญญะต่างๆ ในสังคม ไม่มีนิยามโดยตัวมันเองที่แน่นอน ทำให้รัฐสามารถจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” ด้วยความรุนแรงแบบสมบูรณ์(soverreign violence) โดยไม่สนใจคุณค่าต่างๆ อย่างเช่น สิทธิมนุษยชน หรือหลักการประชาธิปไตย ได้โดยง่ายเช่นกัน – การที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องการยุบสภา จะถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้รัฐสามารถก้าวพ้นเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมประท้วง และการปราบปรามผู้ก่อการร้ายเพื่อสร้างความสันติภาพให้กับสังคม(preventive war)ได้

การสร้างเส้นแบ่งระหว่างประชาชนที่เคารพระเบียบกฎหมายบ้านเมือง(เด็กที่เชื่อง) และประชาชนที่ท้าทายอำนาจรัฐ(เด็กที่ไม่เชื่อง)ในการแถลงการณ์หลายครั้งของนายอภิสิทธิ์ ทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “Every nation, in every region, now has a decision to make. Either you are with us or you are with the terrorists.” (ทุกประเทศจากทุกภูมิภาค ในขณะนี้ท่านจะต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกอยู่ข้างเรา หรืออยู่ข้างกับผู้ก่อการร้าย) ซึ่งเป็นคำกล่าวของประธานาธิบดียอร์ช ดับเบิลยู บุช ที่ถูกประกาศกร้าวขึ้นในที่ประชุมสภาคองเกรสหลังเหตุการณ์ 9/11 เพียง 9 วัน  - การสร้างเส้นแบ่งนี้อาจนับว่าโหดร้ายกว่าการแขวนป้ายเขตใช้กระสุนจริงเสียอีก เพราะนั่นหมายความว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ใครๆ ก็อาจจะถูกจัดให้เป็นผู้ก่อการร้ายได้หากสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมนปช. หรือทำให้การชุมนุมยืดยาวออกไป

ตัวอย่างที่เด่นชัดอันหนึ่ง คือการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีพวชิรพยาบาล ระหว่างการพยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะ ดูเป็นที่สิ่งที่น่าสงสัย สำหรับการที่สภากาชาด แพทยสภา และแพทย์ผู้เคยเคลื่อนไหวเป็นเดือดเป็นร้อนจากการบุกโรงพยาบาลจุฬาของ นปช. กลับนิ่งเฉยต่อการตายของบุคคลากรทางการแพทย์ระหว่างการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ – การเป็นผู้สนับสนุนกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” ให้มีชีวิตรอด จึงข้ามพ้นเส้นแบ่งของสิทธิในการรักษาพยาบาลและการปกป้องบุคคลากรทางการแพทย์ ไป กลายเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อมะเร็งร้ายที่จะต้องกำจัด – ไม่ใช่แค่อาสากู้ชีพเท่านั้น ที่อาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย รัฐบาลยังไม่รับรองความปลอดภัยของสื่อมวลชน ที่อาจจะนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

ไม่ว่ากี่ปีจะผ่านไป มีอีกกี่เหตุการณ์ให้ต้องจดจำ หรือต้องจัดงานระลึกถึง ดูเหมือนรัฐบาลบางประเภท(แน่นอนว่านี่ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์ทีเดียว)ยังคงมีวิธีคิดแบบเดิมๆ จากข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มาเป็นการก่อการร้ายในวันนี้ แม้จะเกาะกระแสความหวาดกลัวของโลกเพื่อเร่งระดับความรุนแรง แต่มันน่าประหลาดใจที่รัฐบาล เรียกผู้ชุมนุมว่าผู้ก่อการร้าย(terrorists) ทุกวัน แต่กลับแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกอย่างหนึ่งว่า กองกำลังติดอาวุธ (armed forces) ดูเหมือนรัฐบาลจะกระหยิ่มใจที่จะสร้างความกลัวและปีศาจขึ้นมาหลอกหลอนประชาชนในรัฐของตนเองอย่างไม่เบื่อหน่าย พวกเขาปิดกัั้นการรับรู้จากต่างประเทศอย่างไม่สะทกสะท้าน จนคิดว่าชาวต่างชาติโง่จนไม่สามารถหาคนแปลภาษาไทยได้

ในอนาคต เมื่อภาพของปีศาจที่เคยหลอกหลอนพวกเราจะถูกกาลเวลากร่อนให้ลบเลือนไป แต่การดำรงอยู่ของมันอาจยาวนานกว่านั้น บางทีมันอาจจะปรากฎ และหลอกหลอนความผิดพลาดของพวกเราอีกครั้ง ถ้าหากเราเลือกที่จะสาปแช่ง ผลักดันความเป็นคนออกไปจากคนที่เห็นต่าง และลากเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเรา และความเป็นอื่นขึ้นอยู่เรี่อยไป

“การก่อการร้ายโดยรัฐ” เป็นบทสรุปที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสถานการณ์สงครามกลางเมืองในปัจจุบัน ถึงตอนนี้ อาจจะถึงเวลาที่ท่านต้องติดสินใจ ว่าจะเลือกอยู่ข้างเรา หรืออยู่ข้างของผู้ก่อการร้าย?

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net