Skip to main content
sharethis

16 พ.ค.53 กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ระบุ การปฎิบัติการครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

0 0 0

จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา ประกอบด้วย อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (บางส่วน) นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 โดยมีจุดยืนยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีกระชับวงล้อมเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยการปิดล้อม ตัดน้ำ ตัดไฟ และเสบียงอาหาร และกดดันผู้ชุมมนุมมนปช.ที่ราชประสงค์ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นั้นส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิตจำนวน 24 รายและบาดเจ็บจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษาได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและมีความคิดเห็นต่อการปฎิบัติการในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

1.การใช้ยุทธวิธีกระชับวงล้อมเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยการปิดล้อม ตัดน้ำ ตัดไฟ และเสบียงอาหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามกติการะหว่างประเทศสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 5 (2) “จะต้องไม่มีการจำกัดหรือเลี่ยงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

2.วิธีการในการจัดการกับการชุมนุมของรัฐบาลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องนั้นมีหลากหลายวิธี แต่เมื่อรัฐบาลมองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเป็นผู้ก่อการจึงใช้ยุทธวิธีเช่นเดียวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรง เพราะการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิใช่เป็นทั้งปรปักษ์กับรัฐบาลและมิใช่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องต้องแก้ด้วยทางการเมืองนั้นถูกต้องแล้วเพียงแต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน

3.การประกาศใชัพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมในพื้นที่ 15 จังหวัดนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ต้องการข้อยกเว้นเพื่อมิต้องปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สะท้อนให้เห็นว่านายอภิสิทธิ เวชชา ชีวะ มิได้ตระหนักและยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินแต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 4 (1) “ห้ามมิให้รัฐละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย”

4.จากคำแถลงหลายครั้งของรัฐบาลทำให้ประชาชนเชื่อว่า รัฐบาลต้องการที่จะยึดหลักกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง โดยที่รับรู้กันว่าคือหลักนิติรัฐ แต่ในการปฎิบัติหลายครั้งหลายหนปรากฎว่าไร้ซึ่งหลักนิติธรรมและขาดเมตตาธรรม

5.การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ข้อ 13 และ 14 (รับรองโดยองค์กรสหประประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฎิบัติต่อผู้กระทำความผิด) เนื่องจากถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ามิได้เป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้มีการก่อเหตุร้ายใดๆเจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กำลังบังคับ และถึงแม้ว่าจะมีการก่อเหตุร้ายเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ การใช้อาวุธต้องเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุด และไม่ว่ากรณีใดก็ตามการใช้อาวุธปืนในการยิงพึงกระทำโดยจำกัดอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อาวุธเกินความจำเป็น

6.การปฎิบัติการครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ดังนั้นกลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา เห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการปฎิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อไป จึงขอให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทบทวนการปฎิบัติและสั่งถอนกำลังกลับที่ตั้งโดยทันที .

                                                                                                       16 พฤษภาคม 2553

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา
นายศราวุฒิ ประทุมราช
นายพิทักษ์ เกิดหอม
นายธนาวัชน์ แก้วพงษ์พันธ์
นางสาวเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์
นายสุรพล สงฆ์รักษ์
นายประสาท ศรีเกิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net