รายงาน: เสียงเรียกร้องยุติการฆ่าฟัน และสร้างสันติภาพที่ไทยอาจสร้างไม่ได้ด้วยตัวเอง

16 พ.ค. 2553 ที่ประตูทางเข้าหอประชุมขององค์การสหประชาชาติ นักศึกษาและแรงงานกลุ่มนี้ร่วมกันตะโกนว่า “Abhisit stop killing”
ช่วงสายของวันที่ 16 พ.ค. กลุ่มคนราว 30 มารวมตัวกันที่หน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน เป้าหมายของพวกเขาคือ มายื่นหนังสือเรียกร้องต่อยูเอ็นให้เข้ามาดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ พวกเขามาพร้อมเอกสารจดหมายทั้งไทยและอังกฤษที่จะนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน ของยูเอ็น
“เราติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนเอาไว้แล้วว่าเราจะยื่นหนังสือเรียกร้อง แต่วันนี้เราอยากมาก่อน เพราะรู้สึกอยากทำกิจกรรมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเร็วที่สุด” ฝ้าย นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับประชาไท เธอรู้มาว่ามีการพยายามประสานงานในลักษณะเดียวกันจากนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนในวันอังคารที่จะถึงนี้
“เรารู้สึกว่าช้าไปหน่อย อีกตั้ง 2 วัน ป่านนั้น คนจะตายไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากได้โอกาสเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วย และอาจจะมาที่นี่อีกทีวันอังคาร” ฝ้าย กล่าวก่อนจะปลีตัวออกไปแจกสติกเกอร์ที่เขียนว่า “หยุดฆ่า” และ “Stop Kill” ให้กับบรรดายวดยานที่ยอดติดไฟแดงอยู่บริเวณแยกมัฆวาน และมีเสียงหนึ่งตะโกนออกมาจากในรถว่า “ต้องฆ่าพวกมันให้หมด” ขณะเดียวกัน ก็มีรถแท็กซี่ปราดเข้ามาจอด พร้อมลงมาไถ่ถามอย่างกระตือรือร้นว่า พวกเขามาทำอะไรกัน เมื่อได้คำตอบว่ามาเรียกร้องยูเอ็นให้มาดูแลสถานการณ์ปราบปรามประชาชนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ขณะนี้ แท็กซี่รายนั้นก็กุลีกุจอ เอาสติกเกอร์ไปติดที่กระจกรถด้านหลัง พร้อมขอธงชาติที่มีข้อความ “หยุดฆ่า” และ “Stop Kill” แปะอยู่ที่ก้านธงไปอีก 2-3 อัน
ภายใต้สถานการณ์ปิดกั้นสื่อและมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ประชาไทพยายามหลีกเลี่ยงที่จะถ่ายภาพใบหน้าของผู้คน แต่คนขับแท็กซี่รายนี้ระบุว่า เปิดเผยใบหน้าและชื่อของเขาได้ พร้อมเปิดประเด็นการพูดคุยก่อนนักกิจกรรมรายอื่นๆ
“ผมอยากให้ออกมาใช้เหตุผลน่ะครับ เอาเหตุผลเข้าหากันว่ากลุ่มหนึ่งต้องการอะไร ถ้าจะหยุดไม่ให้ม็อบไม่ประท้วงก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด แล้วมาเจรจากัน ไม่ใช่ว่าเอาเหตุผลของตัวเองมาใส่ แล้วมันเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้ เขาเอาแต่เหตุผลข้างเดียวแล้วเหตุผลของเสื้อแดงไม่มีเลย กลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปทันทีเลย เหตุผลมันฟังไม่ได้เลย มีแต่ฆ่ามีแต่ยิง พอเจรจาก็มีฆ่า แต่สั่งทหารเพิ่มๆๆๆ นี่หรือความจริงใจ การจะเจรจาต้องหยุดตีหยุดฆ่าก่อนสิ ไม่ใช่ตีเขาๆ แล้วก็ให้เจรจา มันไม่มีโอกาสที่จะเงยหน้าอะไรขึ้นมาเจรจาเลย ต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วถอนทหารออกไปให้เสื้อแดงมาเจรจา ถ้าหากเสื้อแดงไม่เจรจาก็จะหมดความชอบธรรมไปโดยปริยายเลย ถ้าให้เสื้อแดงหยุดอย่างเดียวแล้วทหารไม่หยุดเลย ฆ่าอย่างเดียวเลย แล้วคนบริสุทธิ์ที่นั่งฟังคำปราศรัยอยู่ข้างในล่ะ ที่กองกันอยู่นั่นน่ะ หาวิธีเข้าไปฆ่าอย่างเดียวเลย คนที่ไปฟังปราศรัยเขาก็ไปฟังพวกนักการเมืองเขาปราศรัย มันก็แค่ความคิดไม่ตรงกันเฉยๆ มันก็ฆ่ากันเลย แล้วก็ไปใส่ร้ายว่าพวกนี้เป็นผู้ก่อการร้าย แล้วพวกโจรภาคใต้เป็นอะไรล่ะ เป็นพวกก่อกวนเฉยๆ เหรอ แล้วพวกคนที่ถือธง คนที่เดินไปเดินมากลับบอกว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ไปยิงหัวยิงขา มันเกินไปแล้ว”
เราถามต่อไปว่าอยากบอกอะไรกับกลุ่มอื่นๆ ทางสังคม
“พวกน้องๆ นักศึกษาต้องออกมาตั้งเวที มาปราศรัยให้ชาวบ้านฟังแล้วก็เรียกร้องพวกระดับชาติ นักศึกษาต้องออกมา อย่างสมัยสุจินดาปฏิวัตินักศึกษายังออกมาเลย นี่ชาวบ้านเขาโดนยิงไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็โดนยิงโดนฆ่าไปหมด ผมก็ยังนึกว่าเอ๊ ทำไมนักศึกษา ปัญญาชนไม่ออกมาบ้าง นักศึกษาต้องเป้นกลาง เพราะว่านักศึกษาเป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชนไง ต่อไปพวกนักศึกษาก็ต้องไปเป็นผู้บริหาร ไปเป็นนายก เป็นรัฐมนตรี แล้วพวกปัญญาชนนิ่งเฉย แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใครละทีนี้ ตาสีตาสาอย่างผมเนี่ย การศึกษาก็ไม่มี ความรู้ก็น้อย แล้วพวกประชาชนที่เขาโดนนักการเมืองปั่นหัว ไม่มีใครไปช่วยเขาเลย ไม่มีใครไปให้ปัญญาเขาเลย แล้วจะทำยังไงละทีนี้ นักศึกษาเรียนนิติ เรียนปกครอง เรียนบริหารมา ไม่ออกไปช่วยเขาเลย แล้วเขาก็งมงายอยู่กับนักการเมืองสองฝ่าย เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่ออกมาเลย ไม่ออกมาช่วย มันต้องมีคนกลาง มีแสงสว่างให้เขาว่าการปกครองของเราคืออะไร นี่นักศึกษานิ่ง ปล่อยให้นักการเมืองสองฝั่งห้ำกั่นกันไม่ออกมาเลย คนที่เป็นบัณฑิตไม่ยอมออกมาช่วยเลย อย่างพวกน้องออกมาพี่ก็ชื่นใจนะ อย่างผมก็ไม่เคยได้อะไรจากม็อบเลย ผมก็ไปทั้งสองฝั่งแหละ มันก็เป็นเรื่องผลประโยชน์เขาแหละ แต่ถ้านักศึกษาออกมา ผมจะอยู่ข้างด้วย” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น ก่อนจะขับรถแท็กซี่คู่ใจออกไป
 
ประชาไทจึงหันมาสอบถามเจตจำนงของนักศึกษาอีก 2 คนจากกลุ่มเสรีปัญญาชน
“อยากให้ใช้กฎหมายที่ถูกวิธี หยุดเข่นฆ่าผู้คน ที่บอกว่าใช้กระสุนเบาไปหาหนัก มันไม่ถูกต้อง ยังไม่มีเหตุผลที่จะเหมาะสมที่จะใช้กระสุนจริงและเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนด้วย” กัส หนุ่มน้อยวัย 17 ที่เพิ่งเข้าเป็นเฟรชชี่ในรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ กล่าว
“ บางพื้นที่ติดป้ายชัดเจนว่าพื้นที่ใช้กระสุนจริงมันหมายความว่ายังไง เราต้องเรียกร้องให้รัฐหยุดเข่นฆ่าประชาชน หลังจากนี้เราอยากรวมกลุ่มกันเยอะๆ ไปกดดันตาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงกลาโหม” เพชร บอกความตั้งใจของเขา
พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ จากกลุ่ม วายพีดี ข้อเรียกร้องเบื้องต้นคืออยากให้รัฐบาลหยุดใช้กำลังกับผู้ชุมนุมในทุกกรณีก่อนค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นการใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมแล้วมันยังสามารถทำให้เกิดเงื่อนไขอะไรต่างๆ ตามมาหลายอย่างที่รัฐบาลอาจจะควบคุมไม่ได้ต่อไป อาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร รัฐไม่อาจจะหยุด
“การฆ่า การที่รัฐบาลใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมมันไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีแต่เลวร้ายลง การแสดงความสะใจไร้สาระว่าฆ่ากันเลยๆ มีแต่ทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปเรื่อยๆ ฆ่าให้หมดหมายความว่าอย่างไร ฆ่าให้หมดที่อยู่ในราชประสงค์ที่มีทั้งเด็กผู้หญิงคนแก่เต็มไปหมด อยากให้คิดสักนิดหนึ่งก่อนที่จะพูดอะไรที่จะเป็นแนวสะใจอย่างเดียว”
ระหว่างพูดคุยกัน ทีมของประชาไทได้รับข้อความจากไทยรัฐว่า รัฐบาลเตรียมประชุมกันเพื่อประกาศเคอร์ฟิวส์ในบางพื้นที่ เราจึงเอ่ยถามเธอว่ากลัวหรือไม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ แม้จะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนก็เถอะ
“ไม่กลัว คิดว่าหน้ายูเอ็นคงไม่มีใครทำอะไร”
ชวธีร์ ศรีแก้ว หรือเติ้ง นักกิจกรรมจากกลุ่ม Son Right ซึ่งยืนอยู่ข้างๆ กล่าวเสริมว่า “เบื้องต้นอยากให้ยูเอ็นมาแทรกแซงเพราะรัฐบาลใช้กฎหมายไม่ถูกวิธี เขาใช้กำลังโดยไม่ได้คิดหลักการกฎหมายเลย จากที่มีคนไม่เห็นด้วย ให้ฆ่าให้หมด ถ้าเราเรียกร้องกันเยอะๆ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มกำลังคนฝ่ายสันติภาพให้ชนะฝ่ายที่ประกาศใช้ความรุนแรงได้”
ประชาไทถามคำถามเดิม “กลัวไหม”
“ไม่กลัวครับ ผมลงพื้นที่มาแล้ว สองคืนที่ผ่านมาผมก็อยู่ในพื้นที่ตลอด ก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรง ทราบเหตุการณ์ตลอด บรรยากาศที่ผมเห็นมันเงียบเหมือนเมืองร้าง ได้ยินข่าวลือบอกว่ามีสไนเปอร์ซุ่มอยู่ทุกตึกเลย ผมอยู่ตรงนั้น ที่ศาลาแดง ผมอยากเรียกร้องว่าต้องหยุดก่อนที่มันจะลามขยายวงกว้างไป และใครที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง อย่ากลัวครับ อย่างน้อยผมก็ออกมาแล้ว เรามีกลุ่มมีพวกพ้อง คือถ้าเราพยายามออกมาเยอะๆ เขาก็ไม่กล้าออกมาหรอก”
พนม บาลี จากลุ่มคนงานสตรี บอกว่า เธอมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกไปเพราะบริหารประเทศชาติไม่ชอบธรรมแล้วจากเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์
“อยากให้คนในสังคมอย่ามองว่าคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ให้มองวาเสื้อแดงเหมือนพวกเราทุกคน เขามาเรียกร้องสิทธิของพวกเขา อยากให้มองว่าเขาเป็นคนเหมือนเรา อย่ามองว่าพวกแดงไม่ใช้พวกเรา ไม่ใช่นะ เราเป็นคนไทยเหมือนกัน เราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน” ประชาไทถามเธอว่ากลัวหรือไม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดยิงในสถานการณ์ที่รัฐบาลเองกำลังมีแนวคิดจะประกาศเคอร์ฟิวส์
“ไม่กลัวค่ะ ถ้ากลัวคงไม่มา”
เอกราช ซาบูร์ นักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีบอกว่า เขาพยายามแจกสติกเกอร์รณรงค์ให้กับคนทั่วไป ให้ยุติการฆ่า และยูเอ็นเป็นองค์กรที่ต้องรักษาปฏิญญาสากลสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“หรือว่าจะรอให้เกิดการฆ่ากันตายเป็นพันๆ ศพ ถึงจะลงมาดูแล เหมือนกรณีซูดานหรือรวันดา สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นหน้าที่ของสหประชาชาติที่จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วนสิทธิมนุษยชน อยู่ในหัวข้อของ responsibility to protect ว่าหากรัฐชาติ รัฐบาลไม่สามารถจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่ต้องลงมา
“ผมอยากจะเรียกร้องให้ยูเอ็นทำงานเชิงป้องกันมากกว่ารอให้เกิดความสูญเสีย และหากเกิดมิคสัญญี เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในการเยียวยา ผ่านกระบวนการสูญเสีย และต้องใช้เวลาอีกหลายรุ่นคนในการทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น ฉะนั้นขอร้องเถอะครับ ทำบทบาทของท่านในการปองกันการสังหารหมู่ อย่าให้เมืองไทยเป็นแบบรวันดา
“สำหรับประชาชนทั่วไปทุกคนออกมาแสดงบทบาทเจ้าของแผ่นดิน ว่าเราสามารถยุติความรุนแรงได้ ขอให้ออกมาร่วมรณรงค์กันครับ เพราะทุกคนก็เป็นพี่น้องร่วมกันหมด และอย่ามีความดีออกดีใจตอความสูญเสีย”
เอกราชกล่าวเรียกร้องต่อรัฐบางด้วยว่ารัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศสันติภาพ คือต้องไม่มีสัญลักษณ์ของความรุนแรง เช่น กฎหมายซึ่งเป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเช่น พรก. ฉุกเฉิน หรือการมีทหารซึ่งไม่มีหน้าที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอยู่แล้ว และเมื่อสามารถจัดการสัญลักษณ์ของความรุนแรงไปได้ บรรยากาศของสันติภาพก็จะเกิดขึ้น และจากนั้นก็ขอให้ นปช. ก็ต้องยุติการชุมนุม
“ต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลให้ นปช.ยุติก่อนนั้น การที่เราจะเกี่ยวข้องกับสันติภาพ ทุกคนต้องมีความเสมอภาคทางอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง สิ่งที่รัฐบาลเสนออกมาเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ก็คือข้อปรองดองทั้ง 5 ข้อ แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้เปิดช่องทางให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจร่วมในการเจรจาเพื่อเสนอสิ่งที่ตัวเองต้องการร่วมกัน รวมถึงการที่ยังใช้อำนาจในการปิดสื่อ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง หรือการที่รัฐไม่ฟังข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายหนึ่งก็ถือเป็นการปิดกั้นความร่วมมือทางการเมือง การสร้างความไว้วางใจต้องมีความจริงใจและต้องไม่มีบรรยากาศของความหวาดระแวง ซึ่งตรงนี่รัฐสามารถทำได้นะครับ” เอกราชกล่าว
แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก และรถยนต์ส่วนบุคคลอีกหลายรายมาจอดแวะรับสติกเกอร์รณรงค์และจดหมายร้องเรียน ขณะเดียวกันรถเข็นขายเฉาก๊วยเข็นมาหยุด หนึ่งในบรรดาคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าไปซื้อเฉาก๊วยมาแจกเพื่อนๆ เพื่อบรรเทาความกระหาย และจ่ายเงินไปสำหรับเฉาก๊วยจำนวน 10 แก้ว ประชาไทถ่ายภาพกิจกรรมของพวกเขาอีกสักครู่ และเดินตามขบวนของพวกเขาที่เคลื่อนไปยังอีกประตูหนึ่งของสำนักงานองค์การสหประชาชาติ
คนขายเฉาก๊วยยังคงตักสิ้นค้าของเขาใส่แก้วต่อไป มันเป็นแก้วที่ 12 แล้ว และตะโกนถาม “ใครยังไม่ได้กินอีกบ้าง ส่งต่อๆ” พร้อมยื่นแก้วให้กับทีมข่าวของเรา
ที่ประตูทางเข้าห้องประชุมขององค์การสหประชาชาติ นักศึกษาและแรงงานกลุ่มนี้ร่วมกันตะโกนข้อเรียกร้องหลักของวันนี้ว่า “Abhisit stop killing”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท