ผู้แทนไทยใน กมธ.สิทธิอาเซียน จี้ รบ.หยุดใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม เตือนความจำมาร์ค พูดเอง ไม่เคารพสิทธิ ปัญหาไม่จบ

ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลและ นปช. ขอให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงและกองกำลังติดอาวุธในการปราบปรามประชาชน เตือนความจำ "มาร์ค" เคยบอกหากรัฐบาลหรือ จนท.ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเอง ปัญหาก็ไม่มีวันยุติ

เขียนที่ York University, Toronto, Canada
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม
หนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ทันทีที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบสี่ประเทศซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งว่างในฐานะผู้แทนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด ๔๗ ประเทศ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ ๑๘๒ เสียงจากจำนวนสมาชิกสหประชาชาติ ๑๙๒ ประเทศ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลไทยก็ละเมิดคำมั่นสัญญา (Thailand’s Human Rights Commitments and Pledges) ซึ่งให้ไว้กับนานาประเทศ และสหประชาชาติในช่วงที่รณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ในช่วงหาเสียง นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้คำมั่นสัญญาว่า “ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ใขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและอิสรภาพด้วยการยอมรับว่าปัญหาเหล่านั้นมีอยู่จริง นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อที่ว่าทุกหน่วยงานซึ่งหมายรวมถึงภาคประชาสังคมด้วย ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ....หากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเองปัญหาก็ไม่มีวันยุติ สิ่งที่ผมต้องการเห็นต่อจากนี้ไปคือความเข้าใจที่ถูกต้องและมีทัศนะที่ถูกต้องและการผลักดันการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังให้คำมั่นต่อไปว่า “ถึงแม้จะยังเชื่อว่าอุปสรรคหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือปัญหาทางกฏหมายจะยังคงมีต่อไป แต่ถ้าประชาชนพร้อมที่จะช่วยเหลือและเอื้ออาทรกันฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นจะเป็นการเริ่มต้นของความสำเร็จในการคุ้มครองและทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอย่างแท้จริง”

ถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งว่า การกระทำบางประการของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดงจะเกินเลยขอบเขตของการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแม้จะยอมรับว่าผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งอาจมีอาวุธในครอบครองและมีการปราศรัยโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงและอาจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งขัดแย้งกับการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธเป็นครั้งคราว แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมจนกระทั่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างในปัจจุบัน

การตัดสินใจให้ทหารใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งนอกจากจะสวนทางกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่ให้ใว้กับสหประชาชาติแล้ว ยังเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่รัฐไทยเป็นภาคี ในกติกาฯฉบับดังกล่าวนี้ ระบุไว้ในมาตรา ๔ ว่าไม่ว่าในภาวะฉุกเฉินหรือในภาวะความขัดแย้งใดๆ สิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้ คือสิทธิในชีวิต สิทธิในการไม่ถูกทรมานหรือสิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติต่อราวกับไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนั้น กติกาฯ ข้อนี้ยังระบุใว้ชัดเจนว่า มาตรการใดๆ ที่นำมาใช้อันจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนจะต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเฉพาะที่สถานการณ์บังคับและจะต้องไม่ขัดแย้งกับพันธกรณีที่มีต่อกฏหมายระหว่างประเทศ มาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้เกินความเหมาะสมและเกินกว่าเหตุ

ดิฉัน ในฐานะผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้อง

๑. ให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงและกองทหารติดอาวุธในการปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุมโดยทันที เหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดสามวันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมนอกจากทำให้เกิดการสูญเสียและถูกประนามจากนานาประเทศแล้ว ยังทำให้เหตุการณ์บานปลายจนยากที่จะควบคุม และทำให้ปัญหายิ่งร้าวลึกยากแก่การแก้ใข

๒. ข้อเรียกร้องหลายประเด็นของฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย วิธีการที่จะแก้ไขต้องไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ต้องใช้วิธีจัดการปัญหาบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐฯให้คำมั่นสัญญาไว้

๓. ในขณะเดียวกัน ขอเรียกร้องให้แกนนำการชุมนุมหยุดการใช้ชีวิตของพี่น้องที่เข้าร่วมชุมนุม (แม้หลายคนอาจทำด้วยความสมัครใจ) เป็นเครื่องต่อรองกับภาครัฐ กว่า ๕๐ ชีวิตที่สูญเสียทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มากเกินกว่าที่จะยอมให้มีการสูญเสียต่อไป

๔. ขอให้รัฐบาลเร่งให้มีการตรวจสอบการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยยอมให้คณะผู้ตรวจสอบจากภูมิภาคหรือนานาชาติเข้าร่วมดำเนินการ เนื่องจากคณะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แต่งตั้งโดยรัฐจะไม่ได้รับการยอมรับหรือความเชื่อถือเชื่อมั่นอีกต่อไป

ขอให้รัฐบาลระลึกอยู่เสมอว่า “หากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเองปัญหาก็ไม่มีวันยุติ” และความสำเร็จในการคุ้มครองและทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอย่างแท้จริงจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ประเทศไทยจะต้องเสนอรายงานที่เรียกว่า Universal Periodic Review ต่อสหประชาชาติในปี ๒๕๕๔ คงเป็นการยากที่จะอธิบายว่า รัฐไทยซึ่งยืนยันที่จะยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ผู้แทนไทย ในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท