Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
“ใช่-เราต้องมองในภาพใหญ่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีความสำคัญ 
ทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผล ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยืนยันความคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง 
แต่ก็อยากให้คิดเป็นรูปธรรมด้วย รูปธรรมคือเลือดที่กระฉูดออกมาจากศีรษะของคน 
จากหน้าอกของคน รูปธรรมคือน้ำตาของคุณพ่อคุณแม่ ของสามีภรรยา ของลูกผู้ที่สูญเสีย
รูปธรรมคือความเป็นเด็กกำพร้าของคนที่สูญเสียพ่อแม่ 
รูปธรรมคือความเคียดแค้นที่เกิดขึ้น ความเสียใจที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้น 
หลังจากที่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมทั้งสิ้น”
“ชีวิตเราไม่เหมือนรถไฟที่สับรางไม่ได้ เปลี่ยนทิศทางไม่ได้ 
ที่พอเริ่มแล่นแล้วมันต้องแล่นต่อไป ไม่ใช่ 
เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้ถ้าเรารู้ทั้งรู้
รู้เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไป
ทำไมไม่หยุดกัน หยุดกันดีกว่า เราเป็นคนไทยทุกคนนะ”
 
"ต้องตายอีกกี่ศพ ต้องตายกันทั้งประเทศเลยไหมจึงจะยอมจบ..."
    
คำพูดของภรรยาผู้สูญเสียสามีในสงครามกลางกรุงเทพฯ คือความรู้สึกเดียวกับคนไทยในเวลานี้ ...มันจะต้องสังเวยกันอีกสักกี่ชีวิต ในที่สุดเราก็ได้เดินมาสู่สงครามกลางเมืองกันจริงๆ แล้วใช่ไหม แม้รัฐบาลจะพยายามใช้คำว่าปฏิบัติการกระชับวงล้อมพื้นที่การชุมนุมก็ตามที แต่จนถึงนาทีนี้ตัวเลขคนเจ็บ-ตายก็ยังไม่นิ่ง ยากเกินจะประเมินว่าเราจะไปสิ้นสุด ณ จุดไหนของความหายนะ 
 
โศกนาฏกรรม..เหนือกว่านามธรรม
"ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปมันไม่ดีแน่ๆ มีคนพูดแล้วว่าเป็นสงครามกลางเมืองแต่ผมไม่อยากคิดอย่างนั้นนะ แต่ดูภาพแล้วมันก็อดคิดไม่ได้ ผมคิดว่ามันไม่ห่างไกลแล้ว เราต้องผ่านช่วงนี้ให้ได้ก่อน ผมคิดว่าเราต้องหันหน้าเข้ามาเพื่อดูกันอีกทีว่าเราจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร ไม่ให้สถานการณ์มันลากไปอย่างนี้ คือถ้าเรากังวลเรากลัวว่าเรากำลังจะก้าวไปสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ทำไมเรายอมล่ะครับ ชีวิตเราไม่เหมือนรถไฟนะครับที่สับรางไม่ได้ เปลี่ยนทิศทางไม่ได้ พอเริ่มแล่นแล้วมันต้องแล่นต่อไป ไม่ใช่ เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้ถ้าเรารู้ทั้งรู้ รู้เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไป ทำไมไม่หยุดกันล่ะครับ หยุดกันดีกว่าครับ เราเป็นคนไทยทุกคนนะครับ ผมบังเอิญมีงานที่โรงพยาบาลวชิระฯ ก็เลยไปเยี่ยมเสธ.แดง เพราะผมก็เห็นใจลูกสาวเขา อยู่กับพ่อสองคน แม่เสียมา 6 ปีแล้ว เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เวลาเราพูดเราวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง วิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมือง มันมีความเป็นนามธรรมเยอะ แต่พอความขัดแย้งหรือวิกฤตการณ์นั้นมันนำไปสู่ความสูญเสีย มันเป็นรูปธรรมแล้ว มันเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับบุคคล เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับครอบครัวของผู้ที่ได้รับความสูญเสีย ผู้ที่เสียชีวิต ในที่สุดแล้วพวกเราเป็นคนไทยกันทุกคน ดังนั้นผมคิดว่า ใช่ เราต้องมองในภาพใหญ่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีความสำคัญ ทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผล ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยืนยันความคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง แต่ผมก็อยากให้คิดเป็นรูปธรรมด้วย รูปธรรมคือเลือดที่กระฉูดออกมาจากศีรษะของคน จากหน้าอกของคน รูปธรรมคือน้ำตาของคุณพ่อคุณแม่ ของสามีภรรยา ของลูกผู้ที่สูญเสีย รูปธรรมคือความเป็นเด็กกำพร้าของคนที่สูญเสียพ่อแม่ รูปธรรมคือความเคียดแค้นที่เกิดขึ้น ความเสียใจที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมทั้งสิ้น"
 
นี่คือความรู้สึกหลังกลับจากปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลวชิระฯ และได้ใช้โอกาสนี้แวะถามไถ่อาการเสธ.แดงจากแพทย์ พยาบาล
 
"ดังนั้นผมคิดว่าเรามองภาพใหญ่ได้ ผมก็เป็นนักรัฐศาสตร์ผมก็ต้องมองภาพใหญ่ได้ แต่ว่าอย่ามองภาพใหญ่แล้วลืมรูปธรรม รูปธรรมคือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับคน คนที่เป็นคนไทยด้วยกัน บางทีถ้าเราเริ่มด้วยรูปธรรมมันอาจจะหาข้อยุติได้นะครับ ผมมีความรู้สึกเหมือนกันไม่ว่าผมจะเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเข้มข้นอย่างใด ไม่ว่าผมจะมีความรู้สึกไม่สบายใจต่อเสธ.แดงแค่ไหนอย่างไร ความรู้สึกที่ผมมีในวันนี้เหมือนกับความรู้สึกที่ผมมีในวันที่ผมไปพบภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ไปรดน้ำศพ พ.อ.ร่มเกล้า ความรู้สึกเหมือนกันครับ ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้าเป็นลูกศิษย์ผม ต้องเป็นผู้ที่สูญเสียสามีที่เพิ่งแต่งงานไม่นาน วันนี้พบลูกสาวของเสธ.แดง ลูกสาวที่เพิ่งสูญเสียแม่ไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และก็อยู่กับพ่อสองคน ความรู้สึกไม่ได้แตกต่างกันครับ เพราะความรู้สึกเสียใจ เศร้าสลดใจ มันมาจากรูปธรรมครับ รูปธรรมคือน้ำตาของภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า รูปธรรมของน้ำตาของน้องเดียร์ ลูกเสธ.แดง ดังนั้นมองภาพใหญ่ได้ แต่อย่าลืมรูปธรรมครับ"
 
นี่คือสิ่งที่จับต้องได้ของคนที่สูญเสียจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์-ความเชื่อ
"อุดมการณ์ก็สำคัญผม เป็นนักรัฐศาสตร์จะพูดได้อย่างไรว่าอุดมการณ์ไม่สำคัญ แต่คนที่มองภาพใหญ่ต้องอย่าลืมรูปธรรม และอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น"
 
แต่ความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามก็ทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกสะใจในความสูญเสียของอีกฝ่าย
"ผมไปเยี่ยมเสธ.แดงไม่ได้ไปเพราะความชื่นชมในตัวเสธ.แดง ผมไปเพราะความเสียใจแทนลูกสาวเขา ลูกสาวที่อยู่กับพ่อมาโดยตลอด ผมไปวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าในที่สุดแล้วพวกเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น จะผิดจะถูกอะไรยังไงพวกเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นกับพวกเราได้ทุกคน ถึงได้บอกว่าความรู้สึกที่มีในวันนี้ไม่ได้ต่างจากวันที่ผมรดน้ำศพ พ.อ.ร่มเกล้าเลย คือคนตายไปแล้วก็ตายไปแล้ว แต่คนที่อยู่ต้องทุกข์ทรมาน และนี่คือผลของความสูญเสีย ผมถึงอยากให้มองอะไรที่เป็นรูปธรรมด้วย อุดมการณ์สำคัญครับ ผลประโยชน์ของประเทศชาติในสายตาของเราสำคัญครับ แต่อย่าลืมรูปธรรม เราลืมรูปธรรมเมื่อไหร่สังคมมีปัญหานะครับ อ้อคนตายร้อยคน สองร้อยคน พันคน ไม่สำคัญ แต่คิดไปคิดมาตายเป็นล้านคนได้นะครับ เราจะขีดเส้นที่ไหนครับ โอ้ยตายแค่นี้ไม่เท่าไหร่หรอกเพื่อความก้าวหน้าของสังคม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตายแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก คิดได้ครับ แต่คุณขีดเส้นที่ไหนครับ ร้อยคน พันคน หมื่นคน หรือในที่สุดมันต้องกลายเป็นล้านคนหรือเปล่า คนที่เป็นผู้นำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ก็คิดเหมือนกันแหละครับ ต้องมีคนตายเพื่อที่เรียกว่าสันติภาพที่ยั่งยืน สันติภาพชั่วนิรันดร์ แต่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ตาย 30 ล้านคน ต่อมาจนวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีสันติภาพชั่วนิรันดร์ นามธรรมและรูปธรรมต้องไปด้วยกันครับ"
 
รัฐบาลเองก็มีบทเรียนจากวันที่ 10 เม.ย.มาแล้วว่าการสลายการชุมนุมเสี่ยงต่อความสูญเสีย เจ็บตายอีกมาก การโอบล้อมพื้นที่ครั้งนี้รัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าหลีกเลี่ยงการสูญเสียไม่ได้
"ผมเข้าใจความลำบากใจของท่านายกรัฐมนตรีนะครับ ผมเห็นใจท่านนายกรัฐมนตรีอย่างมากเลย ผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นคนอื่นจะทำดีกว่านี้หรือไม่อย่างไร ท่านอยู่ภายใต้การกดดันเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งต้องทำคือถ้าประกาศจุดยืนที่เข้มข้น ประกาศจุดยืนที่แข็งขัน มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ถ้าประกาศออกมาว่าจะมีมาตรการอย่างเข้มข้น โดยที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างหลัง ยังไม่ได้ทำการบ้าน ในที่สุดแล้วมันก็เป็นเพียงคำพูด จำได้ไหมครับรัฐบาลประกาศว่าจะตัดน้ำตัดไฟคืนวันที่ 12 พ.ค.แต่ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือประปากับไฟฟ้าบอกว่าทำไม่ได้ คือทำได้หรือไม่ได้ต้องมีเป็นข้อยุติก่อนที่รัฐบาลจะประกาศออกมา นี่ผมถึงได้บอกว่าผมเข้าใจเจตนาของท่านายกรัฐมนตรี ไม่อยากรุนแรงไม่อยากทำอะไรที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในทางไหนทั้งสิ้น แต่ว่าเวลาแสดงความเข้มออกมาถ้ารัฐบาลแสดงความเข้มออกมามันต้องมีอะไรอยู่ข้างหลัง มิฉะนั้นแล้วมันจะกลายเป็นเพียงคำพูด ถ้าเราจะวาดเสือให้วัวกลัว ถ้าวัวไม่กลัวคุณต้องเอาเสือจริงมาให้วัวดูนะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเพียงกระดาษ"
 
"มีใครให้คำปรึกษากับท่านดีพอหรือเปล่าว่าถ้าจะประกาศออกไปทุกอย่างมันต้องลงตัวก่อนแล้ว ไม่ใช่มาบอกว่าขีดเส้นตายตรงนี้แล้วก็กลับไปปรึกษา พอเส้นตายนั้นผ่านไปแล้วต้องกลับไปปรึกษาคนอื่นว่าทำได้หรือไม่ เส้นตายก็คือเส้นตายครับ พอเส้นตายบ่อยๆ แล้วไม่ทำอะไรตัวเองตายนะครับ ถ้าจะพูดอะไรต้องมีอะไรอยู่ข้างหลัง มีสนับสนุนอยู่ข้างหลังมีอะไรอยู่ในมือ มิฉะนั้นก็เป็นเพียงคำพูด จะวาดเสือให้วัวกลัวถ้าวัวไม่กลัวก็ต้องเอาเสือตัวจริงมาให้ดูนะ ไม่ใช่ว่าวาดเสือให้วัวกลัวแล้ววัวไม่กลัวคุณต้องวิ่งเข้าป่าไปหาเสือมาให้วัวดู ผมว่าคนที่ให้คำปรึกษากับท่านต้องพิจารณาตนเองให้ดีแล้วนะครับ"
 
"ตอนนี้เหตุการณ์มันไม่ได้ต่างจาก 10 เม.ย.ผมก็ติดตามข่าวในคืนแรกวันที่ 12 พ.ค.รูปแบบมันก็คล้ายกับวันที่ 10 เม.ย. พอเกิดความสูญเสียให้ถอน แต่การถอนในวันที่ 10 เม.ย.ก็ไม่ได้เป็นขบวนทัพเลยโดนหนัก ก็เลยมีปัญหา คราวนี้ก็เหมือนกันพอเหตุร้ายเกิดกับเสธ.แดงคืนวันพุธทหารก็ถอน ตอนนั้นผมว่าท่านนายกรัฐมนตรีก็มีความห่วงใยไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย แต่ว่ามันก็สามารถที่จะมีคำถามได้ว่าการชักเข้าชักออกอย่างนี้จะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีกนานแค่ไหน ผมเข้าใจท่านนายกรัฐมนตรีครับ ผมรู้จักท่านมาสิบกว่าปีแล้ว ผมยังรักท่านเคารพท่านทุกอย่างเหมือนเดิม และผมก็เชื่อครับเชื่อด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจว่าท่านไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ท่านรักพี่น้องประชาชนและเป็นนักการเมืองตั้งแต่อายุนิดเดียว ยี่สิบกว่า แต่ว่ามันก็เป็นคำถามว่าตอนนี้มันจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีกหรือเปล่า ซึ่งมันก็ไม่ดีสำหรับใครทั้งสิ้น"
 
ยังทันไหมที่จะเลือกทางออกด้วยการยุบสภาทันที
"ผมเข้าใจท่านายกรัฐมนตรีว่าจะยุบสภาทันทีก็ไม่ได้ ก็มีข้อกังวลหลายข้อด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการหาเสียงเท่านั้นว่าจะปลอดภัยแค่ไหน เรื่องของงบประมาณ มันหลายเรื่องด้วยกัน ผมอาจจะไม่มีคำตอบอะไรที่ดีกว่านายกรัฐมนตรี ในหลายเรื่องด้วยกันผมคิดว่าท่านก็ต้องตัดสินใจ ถ้าไม่เจรจาหรือยุติด้วยการเจรจาไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าจะต้องแสดงความเข้มข้นบางทีก็ต้องเข้มข้นจริง ถ้าไม่อยากให้เกิดความสูญเสียมันก็มีทางเลือกครับ ยุบสภาเลยหรือว่าเปลี่ยนรัฐบาล มันก็มีทางออกอยู่ไม่กี่ทางหรอกครับ"
 
ตอนนี้ไม่เหมือนตอน 10 เม.ย.มันเป็นเหมือนสงครามกองโจร ถึงรัฐบาลจะเจรจากับแกนนำ นปช.แต่แนวร่วมเสื้อแดงก็อาจจะไม่ฟังแล้ว
"ถ้าใจอยากเจรจาอีกทีมันก็ทำได้ ไม่รู้จะเจรจากับใครก็หาคนเจรจาให้ได้สิครับ เราเป็นฝ่ายรัฐบาล ในที่สุดแล้วก็ต้องหาคนเจรจาให้ได้ครับ"
    
นานาชาติเป็นกังวลกับสถานการณ์มากขึ้น (เลขาฯ ยูเอ็นออกแถลงการณ์) มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเข้ามาแทรกแซง
"นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นได้มันต้องเป็นปัญหาอย่างที่ติมอร์ตะวันออก ถึงจะเข้ามามีบทบาท ติมอร์ตะวันออกกว่าที่ยูเอ็นจะตัดสินใจนั้นตายกันไปเท่าไหร่แล้ว อาจจะหลักหมื่นก็ได้ ดังนั้นมันยังไม่ใช่ ไม่มีต่างชาติเข้ามาหรอกครับ อย่างคณะทูตต่างประเทศเขาตั้งใจที่จะไม่เข้ามาแทรกแซงในกิจการภายในของเรา เพียงแต่เขาก็ขอความเห็นใจบ้าง รัฐบาลน่าจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติอะไรที่เขาจะคุยกับฝ่ายเสื้อแดง หรือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อรับทราบข้อมูล ผมคิดว่าเขาก็กังวลในเรื่องนี้ว่ารัฐบาลมองเขาในแง่ที่ไม่ดีหรือเปล่า ที่ไปพูดกับเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย เจตนาเขาไม่ได้ต้องการที่จะเป็นผู้แทรกแซง หรือเป็นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล เขาทำหน้าที่ของเขา ทุกสถานทูตต้องรายงานกลับไปที่รัฐบาลของเขาเองว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร แล้วจะให้เขาทำอย่างไรครับ ให้เขานั่งดูข่าว NBT เท่านั้นเหรอครับ อ่านบางกอกโพสต์-เนชั่นเท่านั้นเหรอครับ มันก็ไม่ถูก"
 
ตอน ปชป.เป็นฝ่ายค้านก็มีกรณีนี้อยู่ออกบ่อย
"ตอนเราเป็นฝ่ายค้านเราก็มีกรณีที่ทูตอื่นมาพบเรา หรือว่ารัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยของประเทศอื่นมาพบเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติอะไร ทูตหลายคนตอนสมัยนั้นท่านหัวหน้าชวน เวลาทูตมารับตำแหน่งใหม่ก็จะมาเยี่ยมคารวะหัวหน้าพรรคของเรา ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เราก็ต้องเข้าใจหัวอกเขา"
 
คงพอจะเดาได้ว่าคนที่ออกมาตำหนิเรื่องมารยาทการทูตมากที่สุดก็คือ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ
"ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการต่างประเทศ จะบอกว่าเป็นคนคนเดียวคงไม่ได้"
 
รวมทั้งกรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐพบกับจาตุรนต์-นพดล
"ผมก็ถือว่าปกติ"
 
'โรดแม็พ'รีบร้อน
แม้จะเป็นคนของประชาธิปัตย์ แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ให้สัมภาษณ์หลังโรดแม็พของนายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาได้เพียงไม่กี่วันว่าความขัดแย้งไม่มีทางยุติโดยเร็ว-และก็เป็นดังคาด    
 
"ผมไม่เคยคิดนะครับว่าจะมีข้อยุติโดยเร็วหลังจากการประกาศโรดแม็พ และผมคิดมาโดยตลอดว่ามันหาข้อยุติโดยเร็วไม่ได้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งมันมีอยู่เสมอ ผมก็คิดมาโดยตลอด ไม่ได้แช่งให้ล้มเหลวไม่ได้หวังให้ล้มเหลว ไม่ใช่ ผมมีเหตุผลตั้งแต่ต้นแล้ว คงไม่ยุติในวันสองวัน เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ทำการบ้าน ต้องกลับไปทำการบ้านก่อน ยังไม่มีความตกลงเบื้องต้น และท่านนายกฯ ประกาศออกมาด้วยความหวังดี ใช่ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นการต่อรองที่จะหาข้อยุติโดยเร็วได้ ในเมื่อมันยืดเยื้อออกไปโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมันก็มีอยู่เสมอ ผมไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่นเลย หลังจากที่แกนนำเสื้อแดงประกาศว่ารับหลักการของโรดแม็พแล้ว ทีมงานของผมก็บอกว่าพรุ่งนี้ท่านผู้ว่าฯ จะไปดูเรื่องการรับมอบพื้นที่คืนไหม จะไปดูเรื่องการทำความสะอาดสี่แยกราชประสงค์ไหม ผมบอกว่าเวลานั้นยังมาไม่ถึง ยังไม่ถึงเวลานั้น ผมก็มีเหตุผลตรงนี้ว่ามันยังหาข้อยุติโดยเร็วไม่ได้ ผมพูดด้วยความเสียใจนะครับว่าคำทำนายของผมเป็นจริง ผมก็อยากให้ยุติโดยเร็ว แต่มองรูปการณ์แล้วมันไม่มีทางยุติได้โดยเร็ว และในเมื่อมันยืดเยื้อออกไปความรุนแรงมันก็เกิดขึ้นทุกเวลา และก็เป็นจริงตามนั้น"

"ผมเชื่อว่าการประกาศโรดแม็พก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ มันสะท้อนถึงความตั้งใจของท่านายกรัฐมนตรีที่จะหาข้อยุติที่ไม่ใช่เป็นข้อยุติชั่วคราว ไม่ใช่เป็นข้อยุติเพียงเพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเท่านั้น แต่เป็นข้อยุติที่ยั่งยืน ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาครบวงจร ไม่ว่าจะเป้นปัญทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม แต่ที่สำคัญคือเป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งมันไม่เหมือนกับการนำข้อเสนอเพื่อการเจรจาต่อรอง การที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมาผมคิดว่ามันก่อให้เกิดแรงกดดันในหลายทางด้วยกัน ซึ่งมันจะทำให้เกิดข้อยุติยาก การยุติการยกเลิกการชุมนุมยาก ประการแรกตามที่ท่านนายกฯ ประกาศ ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความหวังดีได้ประกาศว่าจะยุบสภาวันที่ 14 พ.ย.ในที่สุดแล้วท่านก็ต้องอธิบาย ต้องกลับไปอธิบายกับคนที่เคยสนับสนุนท่าน ไม่ว่าจะเป็นนอกพรรคซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองก็ได้ หรือภายในพรรค จะเป็น ส.ส.สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่านก็ต้องอธิบายว่าทำไมยอมต่อข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภาก่อนกำหนด ท่านก็ต้องอธิบายว่าทำไมจู่ๆ จะต้องมาสัญญาตรงนี้ว่าการที่จะพยามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสภาหมดอายุ ทำไมท่านจะต้องยุบสภาตอนนี้ ทำไมเป็น 5 เดือน ไม่เป็น 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน ต้องอธิบายสิ่งเหล่านี้ซึ่งในขณะนั้นท่านเองไม่ได้อธิบาย ดังนั้นท่านก็ต้องกลับไปทำการบ้าน ในส่วนหนึ่งคือผู้ที่สนับสนุนท่าน ก็เป็นจริงตามนี้ กลุ่มเสื้อแดงก็ออกมาทันที ท่านประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย และผมก็เชื่อว่า ส.ส.ในพรรคจำนวนมากก็ยังมีข้อกังขา ประกาศออกมาแล้วก็ชัดเจนว่าท่านต้องกลับไปทำการบ้านในส่วนที่พรรคพวกที่เคยสนับสนุนท่านหรือคนของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นผมจึงบอกว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องใช้เวลาหลายวัน"
 
"ในส่วนของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ผมคิดว่าการที่เขาตอบรับโดยเร็วว่ารับโรดแม็พโดยหลักต่างๆ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ข้อยุติโดยเร็วได้ ประการแรกผู้ชุมนุมจะพูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่าเขายอมรับในหลักการ ไม่รับพิจารณาเลยไม่ได้ เพราะหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว ทางกระแสสังคมกดดันผู้ชุมนุมค่อนข้างเยอะ ถ้าปฏิเสธข้อเสนอของท่านายกรัฐมนตรีทันทีมันก็จะยิ่งมีกระแสสังคมกดดันเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่างไรก็ต้องรับ แต่ว่าจะรับโดยไม่มีเงื่อนไขก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะรับแค่ยุบสภาเลือกตั้งอีก 7 เดือนก็ต้องกลับไปอธิบายกับพลพรรคของตัวเอง แกนนำเสื้อแดงก็ต้องไปอธิบายกับคนเสื้อแดงว่าทำไมเคยเรียกร้องให้ยุบสภาเดี๋ยวนี้ หรืออย่างมากที่สุด 30 วัน กลับยอมให้ยุบสภาในเดือน ก.ย.และเลือกตั้งเดือน พ.ย. เขาก็ต้องไปอธิบายกับคนของเขา ฝ่ายเขาก็ต้องทำการบ้านเหมือนกัน ดังนั้นการที่เขาประกาศออกมาทันทีว่ารับในหลักการ จึงไม่ได้บ่งชี้ว่าจะยุติ เพราะเขาเองก็ต้องกลับไปทำการบ้าน ไม่ใช่ว่ารับปากเลย แกนนำรับปากเลยโอเค ไม่ได้ เพราะว่าในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา แกนนำเสื้อแดงปราศรัยบนเวทีเรียกร้องให้ยุบสภาทันที หรือไม่อย่างมากที่สุด 30 วัน ขอให้พี่น้องชาวเสื้อแดงตรากตรำ ตากแดดตากฝน เพื่อกดดันรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่จู่ๆ มาปรับท่าทียอมรับยุบสภาเดือน ก.ย.ก็ต้องอธิบาย ดังนั้นการที่เขารับในหลักการตอนต้นไม่ได้บ่งชี้ว่าจะต้องการยุติโดยเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดข้อยุติโดยเร็ว"
 
"ประการต่อมาข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีจริงๆ แล้วไม่มีอะไรผูกมัดนะครับว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ และฝ่ายเสื้อแดงเขาก็ต้องมีความกังวลในเรื่องนี้ สมมติยอมรับโรดแม็พของท่านนายกรัฐมนตรี สลายตัวแล้วถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลใหม่ขึ้นมาโดยไม่มีการยุบสภานะ บอกผมไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ มันจบแล้วไม่ใช่เหรอ"
 
เลือกตั้ง 14 พ.ย.จึงไม่มีความหมาย
"ผมคิดว่าไม่มีความหมายเท่ากับประกาศชัดเจนว่ายุบสภาวันไหน ดังนั้นในวันนั้นที่มีการประกาศโรดแม็พและต่อมาแกนนำเสื้อแดงรับในหลักการ มันไม่ใช่เป็นหลักว่าจะมีข้อยุติโดยเร็ว ทั้งสองฝ่าย ทั้งท่านนายกรัฐมนตรีและก็ทางแกนนำเสื้อแดงก็ต้องกลับไปอธิบาย ไปทำการบ้านต่อ ซึ่งกรณีเสื้อแดงก็มีปัญหาเหมือนกัน กลุ่มของเขาก็ไม่ยอมรับเหมือนกัน เป็นสาเหตุที่ผมวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะยุติได้โดยเร็ว ในที่สุดที่ผมคิดมันก็เป็นจริง ตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้"
 
เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปทุกวันของ นปช.ก็เป็นแค่เกมมากกว่าตั้งใจจะปรองดอง
"จะว่าเป็นเกมก็เกม แต่บอกว่ามันก็เป็นสิ่งที่ย่อมคาดคะเนได้ตั้งแต่ต้นแล้ว อย่างที่ผมได้คิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วเขารับในหลักการ แต่เขายอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ เขาไม่มีทางจะอธิบายกับพลพรรคเขาได้ ดังนั้นเขาจึงได้มีเงื่อนไขตามมา และก็ประกอบกับชัดเจนว่าแกนนำเสื้อแดงเองก็ไม่มีเอกภาพ มันก็ยิ่งมีปัญหามากในการเจรจา ผมคิดว่าการจะยุติปัญหานี้ทั้งสองฝ่ายไม่ควรประกาศออกมาก่อนว่าจะเสนออะไรหรือไม่เสนออะไร ผมคิดว่าควรจะเจรจาเงียบๆ กันก่อน หาข้อยุติเบื้องต้น ค่อยๆ ประกาศออกมา โรดแม็พที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมาโดยผมคิดว่าไม่มีข้อยุติเบื้องต้น หรือไม่มีข้อยุติเบื้องต้นที่แท้จริง มันก็เป็นปัญหาอย่างนี้"
 
ขณะนั้นเป็น timing ที่รัฐบาลฉวยจังหวะเสื้อแดงเสียเปรียบ จึงประเมินว่าข้อเสนอจะได้รับการตอบรับโดยไม่มีเงื่อนไข
"ผมเชื่อว่าเจตนาของท่านนายกฯ อยากหาทางออก และผมว่าตอนนั้นเสื้อแดงก็ยากหาทางลงเหมือนกัน แต่ด้วยกระบวนการของมันมันเป็นเช่นนั้น ผมจึงตอบได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าแต่ละฝ่ายมีเจตนาที่ไม่ดี ทั้งสองฝ่ายอยากจะลงแล้ว"
 
ที่จริงก่อนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เรียกว่าคุ้นเคยกับบรรยากาศหลังเวที นปช.อยู่พอสมควรในฐานะผู้ว่าฯ  กทม.ก็ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญกว่านั้นคือได้รับความไว้วางใจจากทั้งนายกฯ และแกนนำ นปช.ให้ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางนำสาร
"ผมเข้าไปตอนที่ย้ายไปราชประสงค์ ผมไม่ได้เข้าไปเจรจาเรื่องนี้ ผมเข้าไปเรื่อง กทม. ตอนที่เข้าไปอยู่ราชประสงค์ผู้ชุมนุมมีปัญหาบางประการที่ผมต้องขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุม เรื่องแรกคือเรื่องลาน ร.6 มีผู้ชุมนุมไปอยู่จำนวนมาก ผมไม่อยากให้มีการทำในสิ่งไม่ถูกไม่ควร ทั้งตากผ้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นลานที่มีความหมายมากทางประวัติศาสตร์ของเรา เขาก็ให้ความร่วมมือ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเสียงที่ดังเข้าไปในวังสระปทุม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับอยู่ ผมก็ขอความร่วมมือในเรื่องนี้ ลดเสียงผ่านลำโพงอะไรก็ตาม เรื่องที่สามคือจัดระเบียบสวนลุมพินี ดีที่สุดคือไม่มีคนอยู่ในสวนลุมเลย แต่ว่าถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้มีความเป็นระเบียบ ที่รับปากร่วมมือก็มีอยู่ 3 เรื่อง ทางคุณณัฐวุฒิก็ได้ใช้โอกาสนั้นคุยกับผมเรื่องอื่นด้วย ซึ่งผมก็ได้ความไปกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าทางเขามีความคิดอะไร มีความกังวลอะไร แล้วผมก็ถามท่านนายกรัฐมนตรีว่าแล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อไป ท่านก็บอกว่าคุยๆ ต่อไป ผมก็ไปคุย แต่ไม่ได้เป็นการเจรจาต่อรอง ผมไม่ได้นำข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีไปบอกว่าท่านนายกฯ เสนอ 5 เดือน 7 เดือนอะไรก็ตามท่านจะเอาไหม ไม่ใช่ แต่ไปรับฟังว่าเขาคิดเห็นอย่างไร และผมก็ไปกราบเรียนท่านนายกฯ ท่านนายกฯ มีความคิดเห็นอย่างไรผมก็ไปบอกเขา ดังนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นแม่สื่อก็ได้มั้ง เพราะผมมองว่าบางทีคนเราต้องแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว นายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว เพราะท่านมองว่าพวกนี้ทำผิดกฎหมาย พวกเสื้อแดงทำผิดกฎหมาย พวกเสื้อแดงออกปราศรัยก็ต้องพูดอะไรที่มันแข็งกร้าว พอพูดอะไรที่มันแข็งกร้าวแล้วโดยไม่มีการอธิบายเหตุผล มันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยิ่งรู้สึกโกรธแค้น ดังนั้นผมมองว่าถ้ามีใครไปช่วยคุยหน่อย ไปรับฟัง ช่วยอธิบาย อธิบายกับเสื้อแดงว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อกังวลเรื่องนี้นะ เช่น ถ้าตกลงกันแล้วแล้วรู้ได้อย่างไรว่าการหาเสียงจะออกมาเป็นแบบไหน ท่านอาจจะกังวลว่าจะไปหาเสียงในอีสานได้หรือเปล่า ในภาคเหนือได้หรือเปล่า หรือถ้าจะมีข้อยุติกันเสื้อแดงก็ต้องทำให้ท่านหายกังวลในเรื่องนี้ และผมก็กราบเรียนท่านว่าเสื้อแดงมีข้อกังวลอะไรด้วยเหตุผลใด ท่านก็รับทราบ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะไมใช่เป็นการดำเนินการที่จะหาข้อยุติโดยเร็ว แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดสร้างความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น ก็ได้เข้าไปคุยกับณัฐวุฒิ 3 ครั้งด้วยกัน และก็คืนวันที่ 22 เม.ย.เหตุการณ์ที่สีลม ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้ผมเข้าไปคุยเรื่องการถอนตัวออกจากสี่แยกศาลาแดง ซึ่งในชั้นแรกเขาก็ยอมถอน 200 เมตร ผมก็บอกว่าไม่พอ ท่านนายกรัฐมนตรีขอให้ถอยไปแนวถนนสารสิน เขาก็รับปากในหลักการ แต่ขอเข้าไปดูพื้นที่จริงก่อนว่าจะเคลื่อนย้ายได้แค่ไหน อย่างไร เพราะว่าเขากลัวคนของเขาไม่มีที่นอน หลังจากนั้นผมก็ไปติดตามเรื่องนี้ เขาก็รับปากโดยดี ทางเสื้อแดงเขาก็ให้สิ่งที่ผมไม่ได้ขอ คือยืดเวลาแทนที่จะเรียกร้องให้ยุบสภาทันทีก็ยืดเป็น 30 วัน ซึ่งหลังจากนั้นณัฐวุฒิก็ประกาศบนเวทีประมาณ 4 โมงเย็น ของวันที่ 23 เม.ย. หลังจากนั้นผมก็ไปเรียนท่านนายกรัฐมนตรี วันเสาร์ผมก็ถามท่านนายกฯ ว่าจะให้ทำอะไรต่อ ท่านบอกให้คุยต่อ ผมก็เลยนัดคุณณัฐวุฒิบ่ายสองครึ่ง วันที่ 24 เม.ย แต่พอบ่ายสองโมง ท่านนายกฯ ก็ส่งข้อความมาว่าขอให้ชะลอการเจรจา ผมเลยกลับไปหาคุณณัฐวุฒิและบอกว่าผมมาวันนี้ไม่ได้มาพูดคุยด้วยนะ มาเรียนท่านว่าผมคงไม่สามารถพบท่านได้อย่างน้อยสักพักหนึ่ง ผมก็ยุติตรงแค่นั้น"
 
ศิลปะการเจรจาแบบนักการทูตช่วยให้พูดกับเสื้อแดงง่ายขึ้น
"ถ้าจะให้ผมเดาก็คงต้องตอบว่าผมเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้น ผมพูดมาโดยตลอดตั้งแต่ผมรับตำแหน่งแล้วว่าหน้าที่ของผมไม่ใช่มาเลือกว่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่สีใดกลุ่มใดพรรคใด ถ้ามีการชุมนุมและมีการร้องขอสิ่งอำนวยความสะดวก ผมมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกเท่าที่จะทำได้ ผมไม่เลือกสี และผมก็ได้มอบนโยบายกับท่านปลัดฯ แล้วว่าในกรณีที่มีการชุมนุมว่าจะให้หรือไม่ให้ห้องสุขาเคลื่อนที่ จะเก็บขยะหรือไม่เก็บขยะ จะให้รถน้ำหรือไม่ให้รดน้ำ ไม่ต้องมาถาม ให้ตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นสีไหน เพราะผมไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมือง อยากให้เป็นเรื่องของฝ่ายประจำ และผมก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ในช่วงแรกของการชุมนุมเมื่อเดือน มี.ค. ที่เสียงสะท้อนจากเสื้อแดงว่า กทม.ไม่ช่วยอะไรเลย ผมก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไร ผมก็ทำเหมือนเดิม ต่อมาเขาก็รู้เองว่าผมทำจริง ผมไม่เคยเลือกสีเลือกปฏิบัติ ใครมีปัญหา ใครอยากชุมนุมขออำนวยความสะดวก ผมก็อำนวยความสะดวก ผมก็เปิดทางไม่เคยเป็นอย่างอื่น ความที่ผมเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น และไม่เลือกปฏิบัติ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจในระดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นคนที่หวังร้ายอะไรกับใคร"
 
อย่างนี้คงต้องสัมผัสได้ว่ามีทั้งสายเหยี่ยวและพิราบ
ผมคุยกับคุณณัฐวุฒิคนเดียว และผมคิดว่าคุยกับคุณณัฐวุฒิได้ เป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา อะไรคิดว่าทำไม่ได้เป็นไปไม่ได้ก็พูดออกมา ก็ง่ายดี ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นคนที่ยอมเรื่องโน้นเรื่องนี้ง่าย ไม่ใช่ผมเข้าไป ผมก็ไม่เคยยอมเรื่องอะไรอยู่แล้ว ต่างคนต่างก็ไม่ได้ยอมอะไรกัน แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันมีบทสนทนาที่สร้างสรรค์ ไม่มีการชี้หน้าด่ากัน อย่างน้อยที่สุดมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อกันและกัน  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญครับในสภาวะที่มีความขัดแย้งอย่างสูงเช่นนี้ การเจรจาจะเป็นการเจรจาม้วนเดียวจบไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยการสร้างความมั่นใจต่อกันและกันก่อน ก่อนที่จะนำไปสู่การหารือในสาระ มันไม่มีการเจรจาใดหรอกครับที่มันม้วนเดียวจบ ถ้าสภาวะนั้นเป็นสภาวะของความขัดแย้งเช่นนี้ ดังนั้นผมก็ถือว่าได้คุยกันอะไรที่เป็นประโยชน์ และคุณณัฐวุฒิก็พร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็น ข้อคิดเห็นใดที่คุณณัฐวุฒิรับไม่ได้เขาก็บอกว่าด้วยเหตุผลใดที่รับไม่ได้ ไม่ใช่เอาอารมณ์นำ เอาอคตินำ ไม่เคยพูดแม้แต่ครั้งเดียวว่ารับไม่ได้ ผมไม่เชื่อนายกรัฐมนตรี หรือรับไม่ได้เพราะว่าท่านนายกรัฐมนตรีทำให้ผมโกรธมาก่อน ไม่เคย ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี"
 
การปรองดองจะสำเร็จต่อเมื่อต้องเจรจาก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ
"ผมไม่ทราบว่าที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวขึ้นมา ประกาศออกมานั้นมีการทำความตกลงเบื้องต้นหรือเปล่า เพราะว่าอย่างที่ผมได้พูดไว้ ผมไม่ได้เข้าไปเจรจาต่อรอง ผมเข้าไปช่วยสื่อสารช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่ายเท่านั้น ไม่เหมือนกัน"
    
มีเสียงจากฝ่ายที่ต้องการความรุนแรงเคลมว่าแกนนำบางส่วนของ นปช.เกี้ยเซี้ยกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาล
"ไม่มี ผมไม่เคยทำความตกลงอะไรกับฝ่ายคุณณัฐวุฒิ ยกเว้นในเรื่องของ กทม.ในวันแรกที่ผมเข้าไป และก็ในเรื่องของการถอยห่างจากสี่แยกศาลาแดง"
 
ในแผนโรดแม็พ 5 ข้อดูเหมือนจะมีเพียงสิ่งเดียวที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม คือการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย ด้วยฐานะและชาติกำเนิด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยากที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นสัญลักษณ์ชนชั้นสูง ซึ่งเป็นชนชั้นในสังคมที่ต้องเสียประโยชน์จากความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
"โครงสร้างของสังคมไทยคืออะไรครับ โครงสร้างของสังคมไทยเป็นโครงสร้างที่ไม่เหมือนสังคมในหลายๆ ประเทศนะครับ การเคลื่อนไหวการที่คนที่มาจากภูมิหลังที่เป็นชาวบ้านจริงๆ ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตมันมีอยู่เสมอ แม้แต่คนจีนที่มาจากประเทศเขา ฝรั่งก็มา สมัยก่อนมาก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตที่นี่ สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างจริงๆ คุณชวนก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์ คุณทักษิณก็ไม่ได้มาจากครอบครัวอำมาตย์ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เดิมก็มาจากครอบครัวคนจีน มีนายกรัฐมนตรีที่เป็น ม.ร.ว.กี่คนครับ ในยี่สิบกว่าคน เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็น ม.ร.ว.กี่คนครับ ผมคิดว่าคนผู้น้อยมีโอกาสขึ้นมาเยอะมาก และยิ่งสมัยเผด็จการยิ่งมีโอกาสมาก คุมกำลังอยู่ในมือ ชาวบ้านชาวขอนแก่นขึ้นมาเป็นจอมพลได้ กุมชะตากรรมของประเทศอยู่ในเงื้อมมือคนเดียว โอ้โหสังคมของเราเป็นสังคมที่มีการเคลื่อนไหวสูงมาก เคลื่อนไหวจากล่างไปบนสูงมาก ดังนั้นผมไม่เคยเป็นห่วงเรื่องนี้ คนต่างชาติสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฝรั่งสมัยอยุธยาก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต มีขุนนางเป็นฝรั่ง บรรพบุรุษของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ก็เป็นฝรั่ง พวกบุนนาคก็เป็นคนเปอร์เซีย คนจีนเยอะแยะเลยสมัยนี้นักการเมืองไทยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายจีน เสื่อผืนหมอนใบ แต่ได้ดีในสังคมไทย ผมไม่เป็นห่วงเลยว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่แบ่งชั้นวรรณะถึงขั้นที่ยอมรับไม่ได้ ไม่จริงเลยครับ ตรงกันข้ามเลย"
 
จึงเป็นแค่วาทกรรม    
"ผมก็คิดว่าแค่วาทกรรมในการต่อสู้ ที่บอกว่าเสื้อแดงชอบผม อาจจะชอบในแง่ที่ว่าผมฟังเขา แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเขา ผมพูดกับคุณณัฐวุฒิว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับหลายๆ สิ่งที่คุณทำคุณพูด แต่ผมพร้อมที่จะรับฟัง รับฟังด้วยใจที่เป็นธรรม ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว และผมไม่ได้เห็นด้วยกับที่มาของทฤษฎีอำมาตย์กับไพร่ ที่มาคือลูกศิษย์ผม จักรภพ เพ็ญแข ผมไม่เคยสอนไปเอาตำรามาจากไหนไม่ทราบ ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วในเรื่องนี้ การปรับสังคมการปรับโครงสร้างในสังคมน่าจะหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้น้อยให้คนที่มีโอกาสน้อยมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้ก็มีโอกาสอยู่แล้วครับ คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดา อย่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อก่อนยังไม่มีรองเท้าใส่เลย ขี่จักรยานไปโรงเรียนไม่มีรองเท้าใส่ ขี่จักรยานผ่านป้ายหาเสียงมีชื่อคุณสุรินทร์ มาศดิตถ์ พ่อคุณหญิงสุพัตรา ชอบใจมากเลยเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นสุรินทร์ ถ้านั่งรถอาจจะไม่เห็นป้ายก็ได้ แต่นี่ขี่จักรยานไง คนอย่างนี้ไง แต่เป็นเลขาธิการอาเซียนนะครับ จบฮาร์วาร์ด ดังนั้นผมไม่เป็นห่วงเลย เพียงแต่ว่าสังคมไทยต้องให้โอกาสต่อคนด้อยโอกาสมากขึ้น โครงสร้างของสังคมไทยมีความยืดหยุ่นมีการหมุนเวียนอยู่แล้ว ก็ดูนักการเมืองเดี๋ยวนี้สิครับ มีสักกี่คนที่ครอบครัวเป็นอำมาตย์ คุณบรรหารเหรอครับ ไม่ใช่ใช่ไหม ในพรรคประชาธิปัตย์มีสักกี่คน ท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะมาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์หรือเป็นขุนนางเดิม แต่ลองดูสิครับสักกี่คน ฉะนั้นไม่ใช่นะครับ เดิมอาจจะใช่ผู้ก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอำมาตย์ แต่เป็นชาวบ้านเยอะมากนะครับ ชาวบ้านที่เป็นคนอีสานคนเหนือ คนธรรมดาสามัญชน"  
 
แต่ก็มีอำมาตย์ที่ยังต้องการเกาะกุมอำนาจต่อไป
"ผมพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน คนที่เสื้อแดงไม่ชอบมากที่สุดถามว่ามาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์หรือเปล่า เคยเป็นแม่ทัพภาค 2 ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเป็นองคมนตรี ครอบครัวเป็นอำมาตย์หรือเปล่า ไม่ใช่นะ ฉะนั้นผมจึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอะไร หรือปิดกั้นอะไร คนเหล่านี้ก็ไม่ใช่อำมาตย์โดยพื้นฐาน"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net