Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงหลายวันมานี้ผมดูข่าวเมืองไทยแล้วก็เครียดมาก เปิดดูทีไรก็คิดกลุ้มจนไม่เป็นอันทำรายงาน จนเมื่อคืนก่อนตัดสินใจจะไม่เปิดดูข่าวการเมือง เพราะเดี๋ยวจะทำรายงานที่ต้องส่งไม่ทัน แต่พอนั่งทำรายงานไปแล้วก็เครียดไปอีกแบบ ก็เลยเปิดเว็บบอร์ดวาไรตี้เจ้าประจำที่ผมชอบ เพราะมักมีเรื่องผ่อนคลายมาให้ได้อ่าน ก็ปรากฏพบว่ามีกระทู้จำนวนมากกล่าวถึงสุนทรพจน์ของคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ว่าซึ้งกินใจ ทีแรกผมไม่ได้เปิดดู เพราะไม่ได้สนใจ แต่ดูไปดูมาก็สงสัยว่า ทำไมมีคนตั้งกระทู้เยอะขนาดนี้เนี่ย ก็เลยตัดสินใจเปิดดูว่าจะน่าสนใจอย่างไร

กระทู้ดังกล่าวแนบมาด้วยคลิปวีดีโอสุนทรพจน์ในการประกาศรางวัลเกี่ยวกับละคร คุณพงษ์พัฒน์ได้รับรางวัลจากการเล่นบทบาทของพ่อ ก็เลยถือโอกาสกล่าวโยงเข้ากับเรื่องของพ่อ
 

“... เป็นรางวัลที่ได้รับบทบาทจากผู้ที่เป็นพ่อนะฮะ ก็ขออนุญาตพูดถึงพ่อนิดหนึ่งก็แล้วกันครับ พ่อเป็นเสาหลักของบ้านนะครับ บ้านของผมหลังใหญ่นะครับ ใหญ่มาก เราอยู่กันหลายคน ผมเกิดมานี่บ้านหลังนี้ก็สวยงามมากแล้ว สวยงามและอบอุ่น แต่กว่าจะเป็นแบบนี้ได้ บรรพบุรุษของพ่อ เสียเหงื่อ เสียเลือด เอาชีวิตเข้าแลก กว่าจะได้บ้านหลังนี้ขึ้นมานะครับ จนมาถึงวันนี้ พ่อคนนี้ก็ยังเหนื่อยที่จะดูแลบ้าน และก็ดูแลความสุขของทุกๆ คนในบ้าน” 
                                                          (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, 16 พ.ค. 2553สุนทรพจน์การประกาศผลรางวัลนาฏราช)
 

พูดมาถึงตอนนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงการเมืองไทย เพราะการเลือกกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ประกอบกับเนื้อหาเชิงอุปลักษณ์ที่ใครๆ ก็ฟังออก (เช่น บ้าน = ประเทศ, พ่อผู้เป็นเสาหลักของบ้าน = ในหลวงฯ, บรรพบุรุษของพ่อ = พระมหากษัตริย์ในอดีต) และเมื่อคิดถึงการเมืองไทยก็ทำให้ผมกลับมาคิดหดหู่ใจอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่วันที่เสธฯแดงถูกลอบยิง แล้วรัฐบาลประกาศมาตรการใช้กระสุนจริงในการ “ขอพื้นที่คืน” อีกครั้ง ก็มีประชาชนทยอยถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก มีการวิเคราะห์กันว่าฆาตกรรมหมู่ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในครั้งนี้ โดยมากเป็นผลจากการยิงระยะไกล เพราะไม่มีการปะทะกันในลักษณะประชิดตัว หลายๆ คนพิจารณาถึงบาดแผลจากศพ ก็คาดการณ์กันว่า เป็นผลของปืนซุ่มยิงไกลหรือสไนเปอร์ ซึ่งการตายของเสธฯแดงก็มีลักษณะเดียวกัน

ผมจะไม่พูดเน้นถึงในที่นี้ ว่าใครเป็นคนยิง เพราะผมสับสน ผมสับสนเพราะว่า ในขณะที่ทาง ศอฉ.ประกาศส่งพลซุ่มยิงประจำตามตึกสูงรอบพื้นที่ชุมนุม และไม่อนุญาตให้การ์ดเสื้อแดงขึ้นไปร่วมตรวจสอบ ทาง ศอฉ. ก็ประกาศตามสื่อไทยว่า การซุ่มยิงเช่นนั้นเป็นฝีมือของผู้ “ก่อการร้าย” ผมไม่รู้จริงๆ ว่า ใครยิง เพราะแม้ทางสำนักข่าวต่างประเทศจะถ่ายภาพวีดีโอทหารไทยใช้ปืนติดกล้องส่องยิงไปทางผู้ประท้วง แล้วก็ปรากฏภาพผู้ประท้วงล้มลง แต่สายตาผมก็มองไม่ทันว่า กระสุนที่ออกจากลำกล้องมันใช่อันเดียวกันกับที่กระทบร่างผู้ประท้วงที่ร่วงลงไปกองคนนั้นหรือเปล่า

แม้สำนักข่าวต่างประเทศอีกแห่งหนึ่งก็รายงานภาพวีดีโอหน่วยซุ่มยิงของทหารไทย ที่คนล็อกเป้ากล่าวกับพลแม่นปืนคู่หูของเขาว่า “ล้ม... ล้มแล้ว อย่าๆๆๆ อย่าซ้ำ” พร้อมทั้งใช้มือตบหัวเพื่อนเบาๆ หลังจากที่เพื่อนคนนั้นยิงซ้ำ แต่เพื่อนผมคนหนึ่งที่ติดตามข่าวในไทยก็บอกว่า คนเสื้อแดงยิงกันเอง และทาง ศอฉ.เองก็ยืนยันผ่านสื่อว่า ทหารไม่ได้ยิงประชาชน หากแต่เป็นพวก “ผู้ก่อการร้ายเสื้อแดง” เป็นคนซุ่มยิง แล้วผมก็ยิ่งสับสนขึ้นไปอีก เมื่อมีแหล่งข่าวจากวอร์รูมพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งออกมาบอกว่า ยอดตัวเลขประชาชนผู้เสียชีวิตที่เป็นอยู่นี้ยังพอรับได้ เพราะทีแรกทางพรรคคาดดารณ์ว่า น่าจะประมาณ 200-500 คน (มติชนออนไลน์,วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553. อ้างจาก: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274104360&catid=01)

แม้ผมจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงให้ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้ แต่ผมรู้ว่า ความตายอันน่ากลัวเหล่านี้มันทยอยเกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับตั้งแต่นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศ “เส้นตาย” ให้ยุติการชุมนุม มิฉะนั้นจะดำเนินการอย่าง “เด็ดขาด” เพราะนับตั้งแต่การประกาศกฎหมาย “พิเศษ” ที่ยกเว้นยกเลิกกฎหมาย “ปกติ” เช่นนี้ บ้านเมืองก็ “มั่วซั่ว” ไปหมด การชุมนุมที่เดิมทีรัฐธรรมนูญให้สิทธิรับรองก็กลายเป็น “การก่อความไม่สงบ” (ภายหลังก็กลายเป็น “การก่อการร้าย”) มาตรการสากลในการควบคุมฝูงชนที่ไม่ควรจะเกินเลยไปกว่ากระบอง, แก็สน้ำตา, และรถฉีดน้ำก็กลายเป็นกระสุนยางและกระสุนจริง เขตอันตรายต่างๆ ที่พรก.ฉุกเฉินนี้กำหนดจากที่เป็นถนนปกติก็กลายเป็นเขตอันตรายจริงๆ และเมื่อเป็นถนนปิด ไร้ผู้คน ตึกต่างๆ ที่ว่างนั้นก็อาจเป็นจุดมั่นแหมาะแก่การซุ่มยิง (ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม)
 

“สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,387 คน ต่อสถานการณ์วิกฤติการเมืองในขณะนี้ ประชาชนร้อยละ 51.33 เห็นด้วยที่รัฐบาลส่งทหารเข้าควบคุมการชุมนุม” (มติชนออนไลน์, วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553.

                                  อ้างจาก: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273979605&catid=01)
 

แม้ว่าผมจะรู้สึกหดหู่ใจว่า คนที่ซุ่มยิงประชาชนไม่มีอาวุธ มันตัดสินใจทำเรื่องเลวร้ายเช่นนั้นไปได้อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ผมรู้สึกหดหู่ใจยิ่งกว่า กลับเป็นปฏิกริยาท่าทีของคนชั้นกลางทั้งหลาย ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เสียงของพวกเขามีพลังต่อรัฐบาลมากที่สุด กลุ่มคนที่มักจะคิดว่า ตนมีการศึกษา มีฐานะพอที่จะทำให้พวกตนเป็นอิสระทางการเมือง ไม่ได้ถูกใครบงการ สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้มากกว่าคนอื่น ผมหดหู่ใจว่าพวกเขาปล่อยให้รัฐบาลดำเนินกฎหมายพิเศษที่ทำให้มีคนตายมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดนี้ได้อย่างไร ผมอึ้งกับการที่ “คนกรุงฯ” จำนวนมากเห็นด้วยกับมาตรการรัฐบาลที่ทำให้มีคนถูกยิงตายนับสิบๆ ศพ ผมยิ่งอึ้งขึ้นไปอีกกับการที่เพื่อนของผมคนหนึ่งโพสต์ข้อความทาง MSN ว่า

“ฆ่ามัน (คนเสื้อแดง) ให้ตายๆไปให้หมดเลย”

เพื่อนอีกคนหนึ่งก็บอกคล้ายๆ กันว่า “เอาระเบิดลงให้มัน (คนเสื้อแดง) ตายให้หมดเลย” ด้วยช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็มีข้อความส่งต่อทางอีเมล์มากมายที่พยายามกล่าวหาว่า คนเสื้อแดงมุ่งล้มสถาบันกษัตริย์ พร้อมกันนั้นก็พยายามลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง บ้างก็เรียกพวกเขาเป็น “สัตว์” แล้วก็เขียนกำกับว่า ถ้าไม่ส่งอีเมล์ต่อก็ “ไม่ใช่คนไทย” จนบางฉบับพูดถึงขั้นว่า ถ้าไม่ส่งต่อก็ “ไม่ใช่คนแล้ว”
 

 “ถ้ามีใครสักคนโกรธใครมาก็ไม่รู้ ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อ คิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกกับคนๆ นั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ ... ผมรักในหลวงครับ ...และผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในที่นี้ รักในหลวงเหมือนกัน พวกเราสีเดียวกันครับ ศีรษะนี้มอบให้พระเจ้าแผ่นดิน””
                                                   (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, 16 พ.ค. 2553สุนทรพจน์การประกาศผลรางวัลนาฏราช)

ถ้อยแถลงของคุณพงศ์พัฒน์ภายใต้ช่วงเวลาเช่นนี้ ยากที่คุณพงศ์พัฒน์จะปฏิเสธว่า คนที่ “ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อ คิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน” นั้นหมายความถึงคนเสื้อแดง และเมื่อพิจารณาถึงตอนที่กล่าวสุนทรพจน์จบ เพื่อนดารานักแสดงต่างซาบซึ้งตื้นตัน บางคนถึงกับหลั่งน้ำตา ทุกคนชื่นชม ลุกขึ้นปรบมือเห็นด้วยสุดใจกันพร้อมเพรียงทั้งห้องจัดงาน (จนผมรู้สึกว่า ถ้าผมนั่งอยู่ในห้องนั้นแล้วไม่ปรบมือตาม คงถูกรุมประชาทัณฑ์ตาย) กระทู้ต่างๆ ในเว็บบอร์ดก็ชื่นชมในสุนทรพจน์นี้มากมาย หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับก็กระหน่ำลงข้อความสุนทรพจน์นี้ เราจึงอาจอนุมานอย่างหยาบๆ ได้ว่า สุนทรพจน์ครั้งนี้อาจเป็นตัวแทนความความคิดความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนมากในสังคม ที่เข้าใจไปว่า คนเสื้อแดงต้องการจะ “ไล่พ่อออกจากบ้าน” และดังนั้นจึงทำให้คนชั้นกลางเหล่านี้ต่างเห็นด้วยที่จะประกาศต่อคนเสื้อแดงว่า “จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ ...”

ฉันทามติทางการเมืองของคนชั้นกลางเหล่านี้แสดงถึงความสำเร็จของ ศอฉ.ในการวาดกระดานโยงเครือข่ายล้มเจ้าได้เป็นอย่างดี เป็นความสำเร็จที่ทำให้รัฐบาลได้รับ “ใบอนุญาตฆ่า” (คนเสื้อแดงไม่มีวิธีอื่นที่จะ “ออกไปจากบ้านหลังนี้” นอกจากให้พวกเขาไปตายซะ) ใบอนุญาตที่ให้รัฐบาลสามารถสร้างสภาวะที่ทำให้เกิดการตายต่อเนื่องอย่างยากที่จะสืบสวนของประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาล เพราะไม่มีทางเลยที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินนโยบายที่สร้างความตายได้มากขนาดนี้ หากปราศจากการยินยอมของฐานเสียงหลักของตน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะชวนคนชั้นกลางเหล่านี้คิดในสองสามเรื่อง เรื่องแรกคือไม่มีข้อเรียกร้องใดเลยของคนเสื้อแดงที่ไปแตะต้องสถาบันกษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตย เรื่องที่สอง ผมอยากจะชวนให้พวกคุณตั้งคำถามเวลาที่คุณบริโภคสื่อ ว่าอะไรคือเกณฑ์ในการที่คุณตัดสินใจที่จะเชื่อ/ไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ (หลักฐาน, เหตุผล, หรือผู้พูด ???) เรื่องสุดท้าย ผมอยากจะเสนอหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่า การให้คุณค่าในชีวิตคน เป็นเรื่องที่ควรอยู่เหนือความเห็นต่างทางการเมือง

                                                                                               

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net