ปฏิกิริยาจากบทความ"จุดจบคนเสื้อแดง"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นี่คือปฏิกิริยาที่ร้อนแรงจาก เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีต่อบทความ"จุดจบคนเสื้อแดง"ที่เขียนโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการผู้บัญญัติคำว่าการเมืองบนท้องถนน 

จุดจบของขบวนการคนเสื้อแดง

โดย : ประภาส ปิ่นตบแต่ง

บทความนี้ เขียนในสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่ยังคงอยู่ในป้อมค่ายถนนราชประสงค์

แต่ท่ามกลางการยกระดับไป สู่ความสุดโต่งด้วยกันทุกฝ่าย อาจจินตนาการได้ไม่ยากนักว่า ชะตากรรมของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และแกนนำคงจะเหมือนดังกบฏผู้มีบุญ

พระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับหมอบรัดเล ได้บันทึกกบฏผู้มีบุญที่เกิดขึ้นหลายครั้งในตอนปลายรัชสมัยพระเพทราชา ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ คือ กบฏบุญกว้างกับพวก 28 คน ซึ่งมีการกล่าวเอาไว้ชัดเจน ว่า คิดอ่านตั้งตนเป็น "ผู้มีบุญ"

กบฏบุญกว้างผู้มีอำนาจคุณวิชา กับพวกแค่ 28 คนได้เข้าบุกยึดเมืองนครราชสีมาอยู่หลายเดือน จนทำให้ฝ่ายเมืองหลวงตั้งคำถามว่า เพียงคนแค่หยิบมือ หากชาวเมืองหยิบเพียงดินคนละก้อนโยนเข้าไป อ้ายพวกกบฏก็พ่ายจนสิ้นแล้ว

เมืองหลวงจึงได้ยกทัพถือพลฉกรรจ์ลำเครื่อง 5,000 สรรพด้วยเครื่องศาสตราวุธทั้งปวง แต่ก็หาได้สามารถจัดการกับอ้ายกบฏลาวได้ไม่ การล้อมปราบกบฏบุญกว้างที่ยึดศาลากลางนครราชสีมาดำเนินอยู่อีกเป็นเวลานาน แต่สุดท้าย ก็หาได้รอดไปไม่เหมือนดังขบวนการผีบุญอื่นๆ

เหตุใดขบวนการผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญมักต้องพบจุดจบเช่นนี้

ประการแรก ขบวนการผู้มีบุญมีจุดหมายทางการเมืองที่สำเร็จรูป คือ การโหยหาธรรมสังคมในยุคพุทธกาลที่เคยเจริญรุ่งเรือง การกล่าวถึง ความเลวร้ายของสังคมปัจจุบัน จึงเป็นการเปรียบเทียบกับความรุ่งโรจน์ในอดีต

แกนนำคนเสื้อแดงได้ยกระดับการต่อสู้จนแทบจะเหมือนกบฏผู้มีบุญไปเสียแล้ว กล่าวคือ การพาผู้คนกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของอดีตกาลยุครัฐบาลทักษิณ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แกนนำและนักเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง จึงมักออกมาประณามเครือข่ายองค์กร และรายการทีวีที่นำพาผู้คนมาพูดกันเรื่องปฏิรูปประเทศไทย หรือประเด็นในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่จะพาสังคมก้าวเดินไปข้างหน้า

เพราะตรรกะการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการผู้มีบุญมีลักษณะเป็นวัฏจักร ไม่ใช่มีลักษณะก้าวไปข้างหน้า กล่าวคือ สิ่งที่ดีงาม คือ การกลับคืนสู่อดีตกาล ประชาธิปไตยและสังคมที่อุดมสมบูรณ์ได้เกิดขึ้นแล้วในยุคทักษิณ

ประการที่สอง ขบวนการผู้มีบุญมีลักษณะสุดโต่ง ไม่ประนีประนอม ไม่มีข้อเรียกร้องแบบยืดหยุ่น ต่อรองไม่ได้ และพร้อมที่จะตาย ขบวนการต่อสู้ในลักษณะเช่นนี้ จึงรอคอยและเชื้อเชิญให้ฝ่ายอำนาจรัฐเข้ามาล้อมปราบ นั่นคือ จุดจบของผีบุญทุกครั้ง

แน่ละว่า ขบวนการคนเสื้อแดงมีบริบทที่แตกต่างไปจากขบวนการผู้มีบุญในอดีตเป็นอย่างมาก แต่ก็น่าสนใจว่า การเคลื่อนไหวต่อสู้แบบสุดโต่ง ไม่รู้จักสะสมชัยชนะระยะยาวไม่เคยประสบความสำเร็จ

การมีอุดมการณ์หรือจุดหมายที่สำเร็จรูป และการระดมผู้คนด้วยคาถาอาคม อำนาจวิชาแบบโบราณ หรือการระดมปลุกเร้าสร้างอารมณ์โดยอาศัยองค์ศาสดานักรบหน้าไมค์ ที่กระทำเหมือนกันทุกสีเสื้อ

แม้จะมีพลังการเคลื่อนไหวกดดัน แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะพลังเช่นนี้ทำงานในด้านลบ สร้างความเป็นพวกเขา พวกเรา และขับเคลื่อนด้วยตรรกะของความเกลียดชัง ความโกรธเกรี้ยวด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น พลังของขบวนการผีบุญจะมีเพียงใด ก็จะมีอย่างจำกัดในหมู่ศาสดาและสาวกหรือสมาชิก แต่ไม่สามารถขยายผู้เข้าร่วมที่กว้างขวางออกไปได้มากกว่าความเป็นพวกเดียว กันที่สุดโต่ง

บริบทสังคมการเมืองปัจจุบันอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปมาก แต่ลองพิจารณาการปิดล้อมตัวเองของคนเสื้อแดงผ่านยุทธวิธีการเคลื่อนไหว และการวางท่าทีต่อพื้นที่สาธารณะ ก็จะพบว่า ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก

กล่าวคือ การใช้ยุทธวิธีขัดขวางระบบปกติทั้งด้านเศรษฐกิจ และชีวิตทางสังคม ด้วยการบุกยึดราชประสงค์ การปิดถนนบ่อยครั้ง การตั้งด่านค้นรถยนต์ของแกนนำตามถนน การระรานชีวิตของผู้คน ฯลฯ หรือแม้แต่การไม่ระมัดระวัง ด้วยการทะเลาะกับสื่อบ่อยครั้ง

กระทำการเหล่านี้มีหลายเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจแน่ๆ แต่โดยภาพรวมแล้วเกิดขึ้น ภายใต้ยุทธวิธีหลักที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ได้มุ่งที่จะดึงเอาสาธารณชน ผู้เฝ้ามองอย่างกลางๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนได้

ยุทธวิธีเช่นนี้ดูเหมือนจะมีพลัง สามารถทำให้ระบบชีวิตเศรษฐกิจและสังคมพังทลาย แต่ก็สามารถสร้างความเป็น "พวกเรา" เพียงด้านเดียว และกลับมีต้นทุนสำคัญ คือ สร้างศัตรูรอบทิศทาง นับตั้งแต่ภาคธุรกิจ คนชั้นกลาง คนใช้รถใช้ถนน รถไฟฟ้าฯ ฯลฯ

อีกด้านหนึ่ง ต้นทุนดังกล่าวนี้ทำให้การสร้างวาทกรรม "ผู้ก่อการร้าย" ของรัฐบาลสามารถขยายออกไปอย่างรวดเร็ว คนเสื้อแดงจึงอยู่ในวงล้อมปราบจากสังคมรอบทิศไปหมด

การเข้าใจว่าผู้คนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านเป็นพวกรัฐบาลแต่เพียงด้านเดียว ยิ่งนำมาสู่ความหายนะมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้คนเสื้อแดงไม่ปรับยุทธวิธี ไม่ประนีประนอมข้อเรียกร้องหรือไม่กลับไปสู่โต๊ะเจรจา

โดยเฉพาะบรรดานักรบหน้าไมค์หรือแกนนำบนเวที ยิ่งนานวันพวกเขายิ่งเหมือนผีบุญเข้าไปทุกทีๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นการพิจารณาจากแง่มุมของขบวนการประชาสังคมหรือขบวนการทางสังคม ซึ่งบอกได้ว่า ไม่เคยมีขบวนการเคลื่อนไหวใดที่จะประสบความสำคัญได้ หากไม่สามารถสร้างหรือรบในพื้นที่ทางสังคม

แต่หากจะประเมินคนเสื้อแดงจากขบวนการปฏิวัติประชาชนแบบที่แกนนำบางคน แพลมๆ ออกมาบ่อยๆ ก็ต้องประเมินกันอีกแบบหนึ่ง

 

 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2553
 

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/prapas/20100511/114652/%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87.html

*******************************************************************************************************

 

โต้บทความ “จุดจบของขบวนการเสื้อแดง” ของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
14.00 น. วันที่ 18 พ.ค. 2553

1. ประภาสคิดไม่ต่างจากรัฐบาล และพวก Establishment ทั้งหลายที่มองว่า มวลชนเสื้อแดงสู้เพื่อ “ทักษิณ” หรือโหยหาอดีตแบบช่วงที่ทักษิณเป็นรัฐบาลอยู่ – ใช่ พวกเขาอาจโหยหาอดีตที่หมายถึงการเมืองไทยช่วงที่ทักษิณอยู่ แต่พวกเขาไม่ได้คิดถึงทักษิณในฐานะตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวแน่นอน และถึงพวกเขาคิดเช่นนั้นมันผิดตรงไหน ในเมื่อประชาชนมีสิทธิ์ที่จะนิยมผู้นำที่มาจาก “การเลือกตั้ง” ไม่ใช่หรือ -- อีกประเด็นที่สำคัญการต่อสู้ของเสื้อแดงประกาศมาตลอดว่า ต้องการประชาธิปไตยแบรัฐสภาที่ทุกส่วนของสังคมเคารพว่ารัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้เขียนไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า ประภาสเอาอะไรมาพูดว่า เสื้อแดงทำทุกอย่างเพื่อทักษิณ – การเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) หรือ ประชาธิปไตยชาวบ้านที่ปฏิเสธระบบตัวแทน ซึ่งเป็นข้อเสนอของขบวนการทางสังคม/ภาคประชาชนไทยจำนวนมากหลังการล่มสลายของ พคท. ต่างหากที่เป็นการกลับไปหาอดีต ด้วยเชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบรากหญ้า/ชาวบ้านมีอยู่ในสังคมอดีต และเป็นธรรมชาติของสังคมชาวนาที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงแค่ไหน (ประภาสอ้างว่า นปช. คล้ายกับกบฏผู้มีบุญ ซึ่งเป็นการอ้างที่ผิดฝาผิด
ตัว) – การเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่สมบูรณ์ ซึ่งยังไม่เคยบรรลุผลจริงๆในสังคมการเมืองไทยและไม่เคยเป็นอดีต แต่มันคือ การเดินหน้าและอนาคตที่ยังไม่เคยมาถึงต่างหาก
 

2. ในมิติทางอุดมการณ์ ซึ่งประภาสวิจารณ์ว่า แข็งตัว/ตายตัวจนเกินไป/ไม่ยืดหยุ่น -- ปัญหาของประภาสและปัญญาชน “ภาคประชาชนหัวเก่า” ทั้งหลายก็คือ มีมุมมองทางทฤษฎีอยู่แบบเดียว คือ “การต่อสู้แบบเครือข่าย-สร้างแนวร่วมวงกว้างข้ามชนชั้น” (อ้างว่าต้องหาแนวร่วมคือชนชั้นกลาง โดยไม่เคยมีแผนช่วงชิงชนชั้นล่างอันไพศาลจริงๆ) ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในหลายกรณีว่าล้มเหลวและพ่ายแพ้ในระยะยาว – แนวร่วมที่ว่า “กว้าง” เสียจนไม่รู้ว่ามีใครบ้าง และ “ข้าม” ชนชั้นเสียจนรวมเอาอำมาตย์เข้าไปด้วยอยู่เนืองๆ -- ไม่พักจะต้องพูดถึงการที่ขบวนการเหล่านี้ยืดหยุ่นเสียจนหาอุดมการณ์อะไรไม่ได้ และต้องสูญเสียมวลชนให้กับชนชั้นนำในระยะยาวดังที่เห็นอยู่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา (ดูบทความของ เควิน ฮิววิสัน และผู้เขียนในฟ้าเดียวกัน) -- “พื้นที่ทางสังคม” ที่ประภาสพูดถึง หมายถึงแต่เพียงชนชั้นกลางและสื่อกระแสหลัก แต่ไม่ได้หมายความถึง ชนชั้นล่างจำนวนมากที่มีอยู่กว่า 80 เปอร์เซ็นของประเทศไทย ซึ่งเอาเข้าจริงเขาเหล่านั้นมีหัวใจสีแดง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่เขาไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม – องค์กรภาคประชาชนแบบเก่าและปัญญาชนภาคประชาชนหัวเก่าต่างหากที่ไม่เคยมีมิติทางชนชั้นอยู่ในหัว พวกเขารอคอยแต่ว่า สักวันชนชั้นกลางมาสนับสนุน หรือสักวันจะมีรัฐบาลใจดีที่อ่อนแอมาแก้ปัญหาให้ – บทเรียนในอดีตสอนเราว่า มันไม่มี – ทุกอย่างล้วนมาจากสองมือสองตีนของพี่น้องประชาชน
 

3. เป็นเรื่องตลกที่ประภาสเรียกร้องให้เสื้อแดงเข้าร่วมโครงการปฏิรูปประเทศไทยกับ “เอ็นจีโออำมาตย์” ทั้งๆที่คนเหล่านี้ประณามหยามเหยียดการต่อสู้และข้อเรียกร้องที่เป็นประชาธิปไตยระดับพื้นฐานของคนเสื้อแดงมาโดยตลอด – ปัญหาร่วมกันของพวก “เอ็นจีโออำมาตย์” และ “ปัญญาชนภาคประชาชนหัวเก่า” ก็คือ พวกเขาชอบอ้างว่าปฏิเสธอำนาจรัฐ และปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่พวกเขาก็วิ่งหาอำนาจรัฐและหาทางประนีประนอมกับอำนาจรัฐจากประตูหลังของพวกเขาอีกที ทั้งนั่งโต๊ะเจรจา ลอบบี้อย่างลับๆ เข้าร่วมกลไกรัฐด้านการพัมนาบางส่วนอย่างสภาพัฒน์ฯ เข้าร่วมปฏิรูปประเทศไทย ฯลฯ – ที่สำคัญคนพวกนี้สามารถพูดถึงชุมชน/ท้องถิ่น/ประชาธิปไตยทางตรง/ปฏิรูปสังคม (รวมถึงการเป็นอิสระจากรัฐและทุน) ได้โดยไม่ต้องบอกว่า พวกเราจะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองและโครงสร้างอำนาจรัฐในรูปธรรมได้อย่างไร บ่อยครั้งพวกเขาอ้างว่า ปฏิรูปสังคมเพื่อ “ลดอำนาจรัฐ” แต่พวกเขาก็สนับสนุนรัฐประหารและอำนาจของทหารในการเมืองไทย
 

4. ปัญหาเหล่านี้น่าจะย้อนกลับมาทิ่มแทงพวก “ปัญญาชนภาคประชาชนหัวเก่า” ทั้งหลายว่า องค์กร “ภาคประชาชน” แบบเก่าๆ เช่น สมัชชาคนจน และสหภาพแรงงาน ซึ่งนับวันยิ่งหมดบทบาทลงไปสามารถตอบโจทย์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือความไม่พอใจทางการเมืองของชนชั้นล่างได้มากน้อยแค่ไหน -- ทำไมชนชั้นล่างจำนวนมากทั้งที่เป็นแรงงานและเกษตรกรถึงไม่เข้าร่วมการต่อสู้ผ่านองค์กรจัดตั้งแบบเดิม เช่น สมัชชาคนจนและสหภาพแรงงาน แต่กลับเข้าร่วมกับ นปช. โดยตรงโดยไม่ผ่านองค์กรเหล่านี้ – การพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า ต้องชื่นชมหรือยกย่อง นปช. โดยไม่ต้องวิจารณ์ แต่นี่คือคำถามที่องค์กร “ภาคประชาชน” เดิมต้องพิจารณาตัวเองด้วย และมันจะมีส่วนสำคัญให้เราหาทางปรับตัวเราเองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันได้อย่างไร
 

5. หลายครั้งที่ “ปัญญาชนภาคประชาชนหัวเก่า” (เอียงมาด้านแดงๆ) คุยกัน ผู้เขียนมักได้ยินว่า ที่ไม่สนับสนุนมวลชนเสื้อแดงตอนนี้ (นี่คือก่อนที่จะมีการต่อสู้รอบนี้ด้วยซ้ำ) เพราะกลัวเสียการเมือง เพราะข้อเรียกร้องประเด็นย่อยๆของตนเอง ของชุมชนตนเอง ขององค์กรตนเอง ซึ่งกำลังจะเจรจากับรัฐอยู่ และกลัวว่ารับบาลจะหาว่าแดงเกินไปและจะไม่ได้รับการตอบสนอง หรือรัฐบาลจะเพิกเฉย – ฟังแล้วแปลกมั๊ยที่ปัญญาชนเหล่านี้มองโลกแยกส่วนได้ถึงเพียงนี้ การเมืองระดับชาติกับการเมืองส่วนตน/ท้องถิ่น/ชุมชน มันทำไมแยกขาดกันได้ถึงเพียงนี้ – ชุมชนกู/ท้องถิ่นกู/ประเด็นกู ไม่เกี่ยวอะไรกับการต่อสู้ประชาธิปไตยภาพรวมจริงหรือ – หรือจะแปลว่าให้ บ้านกูได้ก่อน ส่วนภาพรวมค่อยรอทีหลัง – อะไรมันจะแยกส่วนได้เพียงนี้ (ปัญหานี้เชื่อมโยงกับข้อต่างๆข้างต้น ซึ่งผู้เขียนฟันธงว่า ปัญญาชนเหล่านี้ละเลยและขาดทฤษฎีรัฐ- Theory of the State ที่แหลมคมพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของอำนาจรัฐและกลไกอำนาจรัฐ)
 

6. มาถึงประเด็นที่ว่า นปช. ไม่กลับสู่โต๊ะเจรจาบ้าง – ผู้เขียนได้วิเคราะห์มาในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า “รัฐบาลและอำมาตย์ไม่มีทางประนีประนอม – ไม่มีทางยุบสภาแน่นอน” ถึงแม้จะมีการประนีประนอมได้ อำมาตย์ก็จะใช้โอกาสและเวลาที่เหลือในการปราบปรามผู้ชุมนุมและจับกุมแกนนำอย่างโหดเหี้ยมต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมาถึง – ลองย้อนกลับไปดูข้อเสนอโรดแมพปรองดองของอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนหน้านี้ มันชัดเจนมากว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะปรองดอง อภิสิทธิ์ต้องเงื่อนไขเต็มไปหมดที่จะทำให้ข้อตกลงว่าด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งเป็นไปไม่ได้ เช่น ห้ามเสื้อแดงเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจนกว่าจะเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก แต่การยื่นเงื่อนไขทำนองนี้ก็คือ กับดักล่อให้ นปช. ยอมถอยในรอบนี้
 

7. การพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า ผู้เขียนไม่ต้องการยับยั้งการเสียชีวิตหรือสนับสนุนให้มวลชนสู้จนตาย แต่เราต้องเข้าใจและกล้าฟันธงว่า “การตายเกิดขึ้นจากน้ำมือรัฐ” -- ผู้ที่ต้องถูกประณามก็คือ “รัฐ” ที่ผูกขาดกองกำลังและกลไกด้านการปราบปราม/การใช้ความรุนแรงเอาไว้ – คนเสื้อแดงชุมนุมมานานกว่า 2 เดือน โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต ยกเว้นวันที่ 10 เมษา และในรอบหลายวันที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม) ซึ่งรัฐบาลอ้าง การขอคืนพื้นที่ การกระชับพื้นที่ จนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก – และตอนนี้รัฐบาลประกาศว่า ไม่ยอมเจรจาแล้ว – นี่แปลว่าอะไร -- ไม่ใช่รัฐที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงและไม่ยืดหยุ่น/แข็งตัวก่อนหรือ – ปัญหาคือ เรายังช่วยกันเปล่งเสียงว่า “รัฐเป็นอาชญากร” ไม่ดังพอ – หน้าที่ของเราตอนนี้คือ จะช่วยกันเปล่งเสียงของชนชั้นล่างหรืออยู่บนหอคอยงาช้างแคบๆที่มองแต่อดีตดี??

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท