Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กรุงเทพฯ – มีรายงานของการปะทะกันอย่างหนักและการปาระเบิดในย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ในเช้าวันจันทร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดและต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศไทยในรอบหลายปี

ชาวบ้านบางคนติดอยู่ในบ้านและแขกของโรงแรมห้าดาวอย่างดุสิตธานีต้องเข้าไปหลบภัยในชั้นใต้ดินของโรงแรม “เราไม่รู้ว่าระเบิดและกระสุนปืนมาจากไหน” ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์คนหนึ่งที่ติดอยู่ในโรงแรมกล่าว

ในตอนสาย มีเสียงปืนหลายนัดดังขึ้นและมีเฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือจุดที่มีการปะทะ ไม่มีสัญญาณว่าความรุนแรงนี้จะยุติลงเมื่อใด

เมื่อการต่อสู้บนท้องถนนเป็นเวลาสี่วันขยายวงกว้างออกไปสู่พื้นที่อื่น สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษแจ้งในเว็บไซต์ของสถานทูตว่า “ท่านควรตระหนักว่าอาจมีการก่อความรุนแรงหรือการลอบทำร้ายในพื้นที่นอกบริเวณที่กลุ่มเสื้อแดงกำลังประท้วง” และเพิ่มเติมว่า “มีคำขู่จากกลุ่มเสื้อแดงว่าจะระเบิดห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ”

กลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เข้ายึดใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯมากว่าหกสัปดาห์แล้ว ศูนย์เอราวัณรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพฤหัสที่ผ่านมาว่าเพิ่มขึ้นเป็น 35 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 244 คน

สำนักข่าวไทยรายงานว่านายพลนอกแถว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมและถูกยิงเมื่อคืนวันพฤหัสที่แล้วได้เสียชีวิตแล้ว การลอบสังหารพล.ต.ขัตติยะถือเป็นชนวนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ดังนั้นจึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 ศพแล้วนับจากที่เริ่มมีการประท้วงซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากของกลุ่มชนส่วนใหญ่ที่ยากจนของประเทศไทยที่มีต่อระบบชนชั้นของประเทศซึ่งก่อตั้งมาเป็นเวลานานโดยผู้มีอำนาจส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงชาวเมือง

ความสูญเสียล่าสุดนับรวมถึงการเสียชีวิตของทหารคนแรกจากตลอดเวลาสี่วันแห่งความรุนแรงที่ผ่านมา ศูนย์เอราวัณรายงานว่าทหารท่านนี้เสียชีวิตจากบาดแผลจากกระสุนปืนใกล้โรงแรมดุสิตธานี

ความรุนแรงซึ่งลุกลามออกมานอกศูนย์กลางการชุมนุมเริ่มขึ้นหลังจากที่แกนนำปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลที่จะย่นเวลาวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นซึ่งเดิมเป็นข้อเรียกร้องแรกๆ ของผู้ชุมนุม นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงยกเลิกข้อเสนอ หยุดการเจรจา และสั่งให้กองกำลังทหารเข้าปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมโดยไม่บุกเข้าไป กองกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาและมีการยั่วยุท้าทายจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้กำลัง จากนั้นถนนหลายสายในบริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยเสียงระเบิดและเสียงกระสุนจากการปะทะไปจนถึงช่วงกลางคืน

ที่โรงแรมดุสิตธานีซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ แขกต้องออกจากห้องและรีบลงไปที่ชั้นใต้ดินเมื่อพนักงานโรงแรมแจ้งเตือนว่าโรงแรมกำลังถูกโจมตี นายเปโดร อูการ์เต ช่างภาพจากสำนักข่าว AFP ที่พักอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานีกล่าว “ผมกำลังหลับอยู่” เขาเล่า “แล้วก็มีเสียงระเบิดดังมากใกล้กับห้องพัก ผมออกจากห้องและแขกคนอื่นๆ ก็ออกมาเหมือนกัน แล้วตอนนั้นผนังก็โดนยิง” เขาเล่าต่อว่า “ตอนนี้ทุกคนอยู่ในห้องใต้ดิน ประมาณ 100 คน”

วันจันทร์นี้เป็นวันครบรอบ 18 ปีของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 17 – 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 52 คน ยังมีผู้คนสูญหายอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นับรวมไปด้วย

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าได้ย้ายไปยังที่ทำการชั่วคราวและกล่าวว่าสถานการณ์ความปลอดภัยบริเวณรอบสถานเอกอัครราชทูตได้ถดถอยลงและถนนเพื่อเข้าสู่สถานทูตหลายสายมีการตั้งจุดตรวจของทหาร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้ประกาศปิดเช่นเดียวกับสถานทูตอื่นๆ ในแถบนั้น

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันแห่งความขัดแย้งบนท้องถนน ผู้ชุมนุมได้จุดบั้งไฟทำเองรวมถึงขว้างระเบิดขวดใส่ทหาร ทหารยิงสวนกลับไปด้วยลูกกระสุนยางและกระสุนจริง

การสังหารบางกรณีดูเหมือนเป็นฝีมือของพลซุ่มยิงและมีผู้พบเห็นกลุ่มชายในเครื่องแบบทหารมีปืนไรเฟิลและกล้องส่องยิงอยู่ตามตึกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงกลุ่มชายชุดดำที่ไม่ปรากฎสังกัดซึ่งอาจจะเป็นผู้ก่อความรุนแรงดังที่เคยทำเมื่อวันที่ 10 เมษายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 กว่าคนและบาดเจ็บอีกเกือบ 900 คน ระหว่างที่ทหารพยายามเข้าสลายการชุมนุมในอีกพื้นที่หนึ่งแต่ไม่เป็นผล

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ รัฐบาลได้เสนอทางออกให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากพื้นที่ชุมนุมที่ปักหลักอยู่มาแล้วกว่า 6 สัปดาห์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำกล่าวว่าผู้ชุมนุมสามารถกลับไปได้ตามความสมัครใจ นายณัฐวุฒิยังเสนอที่จะถอนกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้กำลังออกจากท้องถนนและจะเจรจา หากรัฐบาลหยุดยิงและถอนกำลัง ข้อเสนอนี้แสดงให้เห็นว่านายณัฐวุฒิมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้กำลังมากกว่าที่เคยยอมรับ

แต่นายณัฐวุฒิยื่นเงื่อนไขข้อหนึ่งที่รัฐบาลปฏิเสธทันควันคือขอให้องค์การสหประชาชาติเป็นคนกลางในการเจรจา เงื่อนไขนี้จะช่วยให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีความชอบธรรมในการเจรจาในฐานะกลุ่มที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในทันที

โฆษกกองทัพบกกล่าวว่ารัฐบาลเตรียมพร้อมที่จะอพยพผู้หญิง เด็ก คนชรา และบุคคลอื่นที่ต้องการออกจากการชุมนุม องค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งเสนอจะช่วยเหลือ “ผมอยากบอกผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาชุมนุมให้ออกไปได้เลยหากท่านต้องการ” นายณัฐวุฒิกล่าว “แต่ผมจะอยู่ที่นี่” เขากล่าวต่อว่า “หากท่านเลือกที่จะอยู่ต่อและสู้ก็ควรพาบุตรหลานไปอยู่ในที่ปลอดภัย”

แกนนำอีกคนหนึ่ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ บอกว่าพร้อมที่จะสู้ตาย ผู้ประท้วงหลายคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมยืนยันเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ว่าจะอยู่ต่อเหมือนกันและกล่าวเตือนว่าอาจมีการลุกฮือเป็นวงกว้างกว่านี้หากมีการโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม

ในวันอาทิตย์รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมในอีก 5 จังหวัดนอกเหนือจากในกรุงเทพและอีก 17 จังหวัดที่ได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

“พวกท่านกำลังตกเป็นเครื่องมือ” นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ทางโทรทัศน์เพื่อสื่อถึงกลุ่มผู้ชุมนุมและชี้ว่าพวกเขากำลังถูกหลอกใช้โดยกลุ่มคนที่ต้องการก่อความรุนแรง อย่างไรก็ตาม การออกอากาศนี้เข้าไม่ถึงพื้นที่ชุมนุมซึ่งเป็นเขตควบคุมคลื่นสัญญาณ

การโจมตีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญอย่างเช่นเสาไฟฟ้าแรงสูง คลังเก็บน้ำมันอากาศยาน ธนาคาร และที่มั่นของทหารเกิดขึ้นควบคู่กับการประท้วงตลอดสองเดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ามีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงและเชื่อว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นพร้อมการชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์ทำลายความมั่นคงของประเทศ

ยังไม่มีสิ่งใดมาพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้ แต่ความพยายามในการทำลายระบบสาธารณูปโภคโดยใช้สิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า “อาวุธสงคราม” ก็ยังไม่มีคำอธิบาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net