Skip to main content
sharethis

3 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เเสดงความขอบคุณต่อการประกาศยุติการชุมนุมและการเข้ามอบตัวของแกนนำ นปช.และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการคุ้มครอง

 

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 5
 
แสดงความขอบคุณต่อการประกาศยุติการชุมนุมและการเข้ามอบตัวของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) และทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 

จากการประกาศยุติการชุมนุมและการเข้ามอบตัวของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายนิสิต สินธุไพร และนายขวัญชัย ไพรพนา โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 13.30 น. โดยแกนนำได้ประกาศบนเวทีว่าการมอบตัวครั้งนี้ก็เพื่อรักษาชีวิตผู้ชุมนุม องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอแสดงความขอบคุณต่อการตัดสินใจดังกล่าวของแกนนำ นปช. ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตและความปลอดภัยประชาชน ไม่เพียงแต่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุม แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่การปะทะ และในพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครด้วย และมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
 
1. แกนนำ นปช. ที่เข้ามอบตัว รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาที่เข้ามอบตอบตัวหรือถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกคนจะต้องถือว่าเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง มีสิทธิ็ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้พบญาติ พบทนายความ การได้รับความสะดวกและเวลาที่เพียงพอในการต่อสู้คดี   อีกทั้งการควบคุมตัวนั้นจะต้องเป็นการควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และต้องไม่เป็นการควบคุมตัวโดยปราศจากการติดต่อกับโลกภายนอก ด้วยสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะรัฐภาคี แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

2.รัฐบาลต้องเร่งรัดทำความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และการสูญเสียทั้งหมดจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนี้ ให้ปรากฎต่อสังคม อีกทั้งนำตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และความรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากภารกิจของรัฐในการคืนความปกติสุขและความสงบเรียบร้อยสู่สังคมในระยะยาวนั้น ย่อมมิใช่เพียงแค่การยุติการชุมนุม

3. ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางเมืองที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย  เร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์และคดีความจากการชุมนุมทางการเมืองของทุกกลุ่มที่ผ่านมาในอดีตด้วย อย่างเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อลดภาวะการณ์ต่าง ๆ อันจะนำมาสู่เงื่อนไขข้ออ้างอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่อีกในอนาคต

4. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรอิสระที่มีหน้าที่คุ้มครอง ปกป้อง คุ้มครองทางกฎหมาย  เยียวยาความเสียหาย หรือแม้แต่การเยียวยาทางจิตใจ โดยจัดตั้งกลไกพิเศษตามภาระหน้าที่ของหน่วยงานนั้นเพื่อรองรับกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหาย บาดเจ็บ เสียชีวิต อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหา และ/หรือ ถูกจับกุมดำเนินคดี  ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและได้รับเยียวยาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม ลดเงื่อนไขการไม่ได้ความเป็นธรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและเป็นการสร้างบรรยากาศความปรองดอง

5. การควบคุมสถานการณ์หลังการชุมนุมของรัฐ จะต้องใช้มาตรการที่หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายมากขึ้นไปอีก ซึ่งรัฐมีหน้าที่จะต้องดูแลระแวดระวังให้การปฏิบัติการทางทหารต่าง ๆ เป็นไปโดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความสงบสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองเท่านั้น ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน และกองทัพจะต้องไม่กระทำการยึดอำนาจรัฐไม่ว่าในกรณีใด ๆ 

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. ได้สร้างความตระหนักให้แก่สังคมไทย เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าและทุกชั้นสังคมจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อช่วยกันเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ในการรวมพลังกันเพื่อปฏิรูปประเทศไทยและสังคมไทยให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งนี้โดยวิถีทางแห่งสันติ ประชาธิปไตย และความปรองดอง

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net