Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แปลจาก
Thailand protests may prove royal words are no longer be enough
Duncan McCargo
http://www.guardian.co.uk/world/2010/may/17/analysis-thai-king-redshirt-protest
guardian.co.uk
 

ในปี 1992/2535 บทบาทของพระเจ้าแผ่นดินในการไกล่เกลี่ยความแตกแยก มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในวันนี้ วันที่ที่ต่างฝ่ายไม่มีจุดหมายร่วมกันดังเช่นเมื่อ 18 ก่อน สถานการณ์คงต่างกันออกไป

ผู้สังเกตการณ์การเมืองไทยหลายคน เชื่อว่ารูปแบบการเมืองไทยถูกกำหนดโดยสองบุคคลผู้ทรงอิทธิพล ที่ถูกมองภาพผิดๆ อย่าง สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และจำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เมื่อเข้าเฝ้าในปี 1992/2535 ทั้งสองต้องนั่งบนพื้นต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงแนะนำให้นายพลทั้งสองยุติความขัดแย้งฉันมิตร โดยก่อนหน้าที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าแทรกแซงนั้น ประชาชนหลายสิบ ซึ่งส่วนมากคือผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธได้ถูกฆ่าระหว่างการประท้วงกลางท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่คนจำนวนมากเห็นว่าไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ สี่วันต่อมาหลังการเข้าเฝ้า พลเอกสุจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 1991/2534 ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งคล้ายพยากรณ์ว่า “จะมีแต่ผู้แพ้” อนาคตในอาชีพของสุจินดาก็เป็นอันปิดฉากลง ผมเห็นสุจินดา สองสามปีหลังจากนั้น ดูคล้ายคนหมดอาลัยตายอยาก ใส่สูทยับยู่ยี่ กำลังขึ้นเครื่องการบินไทยไปลอนดอน ส่วนสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือ จำลอง ผู้เป็นเหมือนครึ่งฆราวาสครึ่งฤาษี ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูง มาบัดนี้หนทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาก็ได้ถูกตอกตะปูปิดตายอย่างถาวร

ยอดผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงไม่แพ้ยอดผู้ตายเมื่อเดือนพฤษภาคม 1992/2535 แล้วเหตุไฉนพระเจ้าอยู่หัวจึงยังไม่ทรงเข้าแทรกแซง?

ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่พระเจ้าอยู่หัวจะออกมาตำหนิผู้คนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ การออกมาให้คำตักเตือนของพระเจ้าอยู่หัวถือเป็นไม้สุดท้าย โดยผู้ได้รับการตักเตือนนั้นจำต้องก้มหน้ารับด้วยความนอบน้อม และกลับออกไปโดยไม่มีข้อบิดพลิ้ว ทว่าการตักเตือนเช่นนั้นกำลังหมดความหมายลงไปพร้อมๆ กับความสำคัญของสถาบันฯเอง สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสเสี่ยงสูงมาก ณ วันนี้ คงยังตอบไม่ได้ว่า แกนนำผู้ประท้วงเสื้อแดงจะมีปฏิกริยาอย่างไรหากถูกเรียกให้เข้าเฝ้า

ในทางปฎิบัติ การแทรกแซงของราชวงศ์มักเกิดขึ้นอยู่หลังฉาก และการแทรกแซงจะเป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายของราชวงศ์ แต่มิใช่โดยพระบรมวงศานุวงศ์ เครือข่ายราชวงศ์นี้ประกอบผู้คนหลายฝ่ายซึ่งมีทั้งข้าราชบริพาร สถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน และผู้ที่ทำงานอิสระ คนเหล่านี้ไม่มีสายด่วนต่อตรงถึงสำนักพระราชวัง แต่ก็เป็นกลุ่มที่คนที่เชื่อว่า (หรือตนเองเชื่อว่า) การกระทำใดๆ ที่ได้ดำเนินการไป ล้วนเพื่อผลประโยชน์ของราชวงศ์ทั้งสิ้น เมื่อเดือนเมษายน 2006/2549 พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ทรงเข้าแทรกแซงการเมืองโดยตรง แต่กลับมีกระแสรับสั่งสนับสนุนให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองแทน

จากวันนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์ ที่ฝ่ายตุลาการเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างชัดแจ้ง ศาลสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ยุบพรรคการเมือง และสั่งห้ามนักการเมืองกว่าร้อยคนออกจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลาถึงห้าปี

ทางเลือกอีกทางนอกจากการเข้าแทรกแซงการเมืองของฝ่ายตุลาการ ก็คือรัฐประหารปี 2006/2549 ทางนี้ได้นำความหายนะมาสู่การเมืองไทย ทั้งการรัฐประหารก็มิได้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก นั่นคือความพยามในการลดทอนความนิยมอย่างยิ่งยวดของประชาชนที่มีต่อ ทักษิณ ชินวัตร  

ในทางกลับกัน รัฐประหารครั้งนี้กลับสร้างความร้าวฉาน และความแตกแยกแบ่งพรรค แบ่งสี ระหว่างกลุ่มผู้นิยมทักษิณ และกลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณ  ในปัจจุบันการไกล่เกลี่ยได้ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ขององค์ประกอบอื่นๆ ของรัฐ  ขณะที่เมื่อปี 1992/2535 พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวดูจะสอดคล้องกับความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ว่า สุจินดาต้องไป—และ จำลองทำเกินไปแล้ว—18 ปีให้หลัง ไม่มีจุดยืนร่วมกันเช่นนั้นอีกต่อไป แผลเป็นรอยใหญ่ บากลึกคั่นกลางสังคมของกลุ่มเสื้อแดงผู้สนับสนุนทักษิณ และกลุ่มเสื้อเหลืองที่เชิดชูสถาบันฯ พระราชดำรัสใดก็คงไม่สามารถใช้เป็นโอสถวิเศษ เยียวยาแผลเป็นรอยนี้ ให้หายได้โดยง่าย

 

 

................................................
ดันแคน แมคคาร์โก เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชีย ประจำอยู่ ณ University of Leeds และเป็นผู้แต่งหนังสือ Tearing Apart the Land: Islam Legitimacy in Southern Thailand (Cornell University Press) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล the inaugural 2009 Bernard Schwartz prize จาก the Asia Society.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net