Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคประชาชนเปิดศูนย์รับร้องเรียกตามหาผู้สูญหาย บาดเจ็บ และผู้เดือดร้อน ด้าน ศอฉ. ไม่ทำศูนย์คนหายโยน พม.สานต่อ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตั้งศูนย์เรียก้องค่าเสียหายจากการชุมนุม

 

 

23 พ.ค. 53 - นายไพโรนจ์ พลเพชร ประธานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) แจ้งข่าวเปิดศูนย์รับร้องเรียนแห่งแรกที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีคนตาย สูญหาย ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุม และผู้เดือดร้อนเสียหายอื่นๆ โดยการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางราชการ และเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในการบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์ จากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา

โดย ศรส.จะมีบริการ เปิดรับเรื่องร้องเรียนทุก ระหว่างเวลา 09.00–17.00 น.ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) โดยจะจัดให้มีอาสาสมัครนักกฎหมาย ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน ประจำศูนย์ฯ ศูนย์ละอย่างน้อย 5 คน และจะแจ้งก่อนหากจะมีการหยุดให้บริการ และจัดเบอร์ติดต่อประสานงานกลางเพื่อรับเรื่องหรือประสานความช่วยเหลือเร่งด่วน สองหมายเลขคือ 086-0808-767 และ 086-0808-477 แจกเอกสารแนะนำประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการร้องเรียนและการให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ศรส.จัดตั้งขึ้นและดำเนินการเป็นการเฉพาะกิจ จากความร่วมมือของ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ภายใต้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
 

มูลนิธิกระจกเงาจี้ตั้งศูนย์แจ้งคนหาย

ด้านนายเอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ถึงกรณีที่ยังไม่มีหน่วยงานใดตั้งศูนย์รับแจ้งคนหายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางเมืองว่า น่าจะมาจากต่างฝ่ายต่างเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากรัฐบาลตั้งศูนย์รับแจ้งคนหายขึ้น และถ้าไม่มีคนแจ้งเข้ามา ก็จะเป็นการอ้างได้ว่าไม่มีคนแจ้ง แต่หากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง และมีคนแจ้งเข้ามาจะกลายเป็นว่ามีคนถูกอุ้ม หรือถูกฆ่าตายไปมากจากเหตุการณ์นี้ ดังนั้นการตั้งรับแจ้งคนหายตอนนี้ทุกอย่างล้วนถูกเกี่ยวโยงหวังผลเรื่องการเมืองทั้งหมด

นายเอกลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะจัดตั้งศูนย์หรือหน่วยงานรับแจ้งคนหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองขึ้นมาจริงๆ ต้องมีคณะกรรมการจากภาครัฐ คนเสื้อแดง องค์กรอิสระ เข้ามาร่วมทำด้วย ให้มีข้อเสนอแนะ มีการตรวจสอบ และติดตาม ที่สำคัญการรับแจ้งคนหาย ต้องมีหลักฐานแสดง มีการแจ้งความ มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากญาติแท้ๆ ของคนนั้น เพื่อไม่เป็นการหวังผลทางการเมืองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ศอฉ. ไม่ทำศูนย์คนหายโยน พม.สานต่อ

ด้านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แจ้งว่า จนถึงขณะนี้ ศอฉ.ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งบุคคลสูญหายกรณีการสลายการชุมนุม เบื้องต้นญาติผู้สูญหายสามารถเข้าแจ้งความได้ตาม สน. และจุดบริการร่วมเพื่อแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลตั้งขึ้นรวม 7 จุดรอบแยกราชประสงค์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ ศอฉ.หารือคร่าวๆ ว่า จะขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งบุคคลสูญหาย

ปชป. เตรียมเปิดศูนย์รับให้คำปรึกษา กรณีเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมของ นปช.

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจากกรณีที่มีเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองของกลุ่มนปช. พบว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นได้ว่าวานนี้มีผู้มาลงทะเบียนนับพันราย และมีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเป็นศูนย์รับให้คำปรึกษา กรณีเรียกค่าเสียหายต่อสถานการณ์ฯ เพื่อให้คำอธิบายในการใช้สิทธิของผู้เสียหายทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กรณี 1. กรณีของผู้เสียหายในคดีอาญา หมายความถึงในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ แต่หลักคือผู้เสียหายในคดีอาญาเหล่านี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย จึงจะสามารถที่จะไปยื่นเรียกค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำเลยในคดีอาญาได้ที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม

“ถ้าใครเป็นผู้เสียหาย เป็นคนเสียชีวิต เป็นผู้บาดเจ็บที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ช่องทางนี้ก็สามารถที่จะไปยื่นเพื่อรับค่าตอบแทนได้จากจำเลยในคดีอาญา โดยรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอย่างชัดเจน ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544”

2. กรณีผู้เสียหายที่เกิดจากการเผาบ้าน เผาเมืองของกลุ่ม นปช. โดยสามารถใช้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องต่อศาล เป็นการใช้สิทธิ์ตามการฟ้องคดีแพ่ง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เป็นสิทธิตามมาตรา 44/1 โดยช่องทางนี้จะเป็นประโยชน์มากเพราะผู้เสียหายในส่วนนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

3. ผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะไปฟ้องเอง ในกรณีที่หลักฐานชัดเจนว่ามีผู้ถูกจับในคดีลอบวางเพลิง ผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิ์ไปฟ้องความเสียหายในคดีแพ่งได้ที่ศาล

“พรรคฯ ได้ทำการเปิดศูนย์ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยจะให้คำปรึกษาและชี้ช่องให้เดินไปสู่การใช้สิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านั้น โดยสามารถเริ่มติดต่อกับศูนย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. ในเวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป ที่ พรรคประชาธิปัตย์ 02 – 270-0036 ทนายราเมศ 086 – 666 – 6792 ทนายสัญญา 085 – 163 – 6677”

ต่อกรณีที่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการควบคุมแกนนำนปช. นั้น นายสาธิตแสดงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวดูเหมือนมีข้อสรุปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกคำพิพากษา และขาดความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในหมู่พี่น้องประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และในเรื่องความเป็นกลาง ตนเห็นว่าโอกาสตรงนี้เป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ใช้โอกาสนี้ในการฟื้นวิกฤติ ศรัทธา และกู้ศักดิ์ศรีของตำรวจกลับมา โดยนับแต่นี้ต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเริ่มบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม กับทุกฝ่ายอย่างรวดเร็ว โดยไม่เกรงกลัวอำนาจทางการเมือง และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การฟ้องคดี หรือสั่งไม่ฟ้อง แยกผู้บริสุทธิ์ออกมาจากสถานการณ์ให้ได้ ที่สำคัญนั้นการดำเนินการในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น ต้องไม่เกรงกลัวอำนาจทางการเมือง หรือกลัวว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมามีอำนาจแล้วตัวเองจะมีปัญหา เพราะถ้าคิดเพียงแค่นั้น องค์กรตำรวจก็จะถูกประชาชนมองด้วยความรู้สึกนี้ตลอดไป” นายสาธิตกล่าว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไอเอ็นเอ็น, มติชนออนไลน์, เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net