จาก “ปีศาจ” ถึง “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” จวบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม : จาก “ปีศาจ” ถึง “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” จวบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา การเดินทางผ่านกาลเวลาของปีศาจตัวเดิม (ของศัตรูตัวใด?)

 บรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน   ทำให้ฉันนึกถึงนวนิยายไทยเก่าแก่สองเรื่องที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว  เรื่องหนึ่งคือ  ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์   อีกเรื่องคือ  ด้วยรักแห่งอุดมการณ์  ของ วัฒน์ วรรลยางกูร    บังเอิญเหลือเกินที่เป็นงานของนักเขียนรางวัลศรีบูรพาทั้งคู่    เสนีย์ เสาวพงศ์  ได้รับรางวัลศีรบูรพาเป็นคนแรก  ในปี 2531  ส่วนวัฒน์ วรรลยางกูร  เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ปี 2550

นวนิยายทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวพันกันอยู่  อย่างน้อยที่สุดผู้เขียนเรื่องหลังก็เขียนให้ตัวละครเอกของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านนวนิยายเรื่องแรก และยึดถือเป็นต้นแบบของอุดมคติ   ซึ่งไม่ขัดกับคำอธิบายของ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิจารณ์วรรณกรรมแห่งยุค  (อ้างจาก “ปีศาจ กับอาการผีเข้าผีออกของปัญญาชนไทย,” วารสารอ่าน เล่ม 2  (กรกฎาคม-กันยายน 2551) ที่ว่า

“นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์ สยามสมัย ในช่วงปี พ.ศ. 2496-2497 แต่ไม่เป็นที่กล่าวขานมากมายนักแต่อย่างใด  ‘ยกเว้นจดหมายชื่นชมสั้นๆ จากผู้อ่านสองสามฉบับแล้วปฏิกิริยาที่นวนิยายเรื่องนี้ได้รับก็คือความเงียบงัน ไม่มีนายทุนคนใดกล้าเสี่ยงจัดพิมพ์รวมเล่มตามธรรมเนียมที่มักปฏิบัติต่อเรื่องของนักเขียนชื่อดังซึ่งลงพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำ เพราะคิดว่าเรื่องนี้ขายไม่ได้’  ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไปจนถึงปี 2500 สำนักพิมพ์เกวียนทอง ของ คำสิงห์ ศรีนอก จึงได้นำมารวมพิมพ์เป็นเล่ม แต่ดังที่ทราบกันดี นวนิยายเรื่องนี้ยังมิทันได้สร้างผลสะเทือนใดๆ ก็ถูกทำให้เงียบหายไปอีกคำรบหนึ่ง เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2501  กว่าหนังสือเล่มนี้จะหวนกลับมาเป็นที่รับรู้ในหมู่นักศึกษาปัญญาชน ต้องใช้เวลานานถึงสิบกว่าปี เมื่อ วิทยากร เชียงกูล เขียนบทวิจารณ์ ‘ไม่มีข่าวจากเสนีย์ เสาวพงศ์’ ในปี 2513 และกลายเป็นหนึ่งในนิยายที่คนหนุ่มสาวต้องพกพาคู่กับคติพจน์เหมาเจ๋อตุงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516   นับจากนั้นมานวนิยายเล่มนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง  จวบจนถึงปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นหนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน”

การที่ปีศาจหวนกลับมาเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกครั้งนั้น  นักวิจารณ์แห่งยุคคนเดิมบอกว่า  เป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากขบวนการนักเรียนนักศึกษาในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม  

‘ผมว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคมเกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้ก็คงจะไม่ฮือฮาขึ้นมา’”  (อ้างจากวารสาร อ่าน เล่ม 2) 
เสนีย์ เสาวพงศ์  มีชื่อเสียงปานใดนั้น  ฉันไม่อาจบอกได้ เพราะเขาโด่งดังก่อนฉันเกิดหลายสิบปี และฉันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแฟนหนังสือของเขา เพราะเคยอ่านงานของเขาเพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวจริงๆ (เหตุที่ไปหามาอ่านเพราะมันเป็นหนังสือบังคับอ่านในวิชาวรรณกรรมที่ลงทะเบียนเรียนตอนปีสี่)   แต่คำนำสำนักพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้อธิบายชื่อเสียงของเขาไว้ว่า

“ถ้าใครสามารถเอ่ยถึงยุคทองแห่งวรรณกรรมในสมัยก่อนสงครามสิ้นโดยไม่เอ่ยอ้างถึง เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็นับได้ว่าเก่งอย่างโง่เซอะ  ชื่อเสียงของเสนีย์ในขณะนั้นโด่งดังยิ่งกว่าพลุไฟ”

นั่นหมายความว่าเขามีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งกว่าพลุไฟในยุคก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคเดียวกับ อิศรา อมันตกุล  สุวัฒน์ วรดิลก  อุษณา เพลิงธรรม  และอิงอร

ปีศาจ เป็นเรื่องราวของ “สาย สีมา” ชายหนุ่มผู้มีคุณสมบัติธรรมดา  อย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน ดังที่ “รัชนี” หญิงคนรักผู้สูงศักดิ์ของเขา บรรยายถึงเขาไว้ว่า

“คู่รักของหล่อนเป็นผู้ชายธรรมดา รูปร่างของเขาไม่มีลักษณะอะไรดีเด่นเป็นพิเศษที่อาจจะมองเห็นได้ทันทีจากกลุ่มคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย และก็ไม่มีอะไรที่จะวิปริตผิดปกติที่จะสังเกตได้ง่าย ส่วนสูงต่ำก็อยู่ในขนาดผู้ชายไทยสันทัดธรรมดาทั่วไป พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือก็มาจากครอบครัวของคนสามัญ ที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ครอบครัวของหล่อนเรียก ก็จัดอยู่ในจำพวก...คนไม่มีสกุลรุนชาติ”

และรัชนีก็ได้พูดถึงตัวหล่อนเองว่า

“แต่หล่อน ในความเห็นพ้องของคนส่วนมาก เป็นผู้หญิงที่ไม่อยู่ในแถวหลังของผู้หญิงสวยทั้งหลาย แลเกิดมาในสกุลขุนนางศักดินา มีสายเลือดสูงของบรรพบุรุษที่สืบสาวขึ้นไปได้ถึงสมัยอยุธยา”

รักของหญิงสูงศักดิ์กับลูกชายชาวนาจึงถูกขวางกั้นด้วยกำแพงศักดินาอันหนาทึบและสูงล้ำ และรัชนีได้พูดถึงอุปสรรคแห่งรักของหล่อนเอาไว้ว่า

“ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกันนี้ได้มาพบกัน เป็นมิตรและรักกัน อันพ่อของหล่อนถือว่าเป็นความผิดอย่างให้อภัยไม่ได้ของระบอบชีวิตปัจจุบันที่ให้สิทธิอิสระแก่ผู้หญิงมากเกินไป”

ระบอบชีวิตปัจจุบันของรัชนีนั้น  ถึงวันนี้ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และสิทธิอิสระแก่ผู้หญิงที่มากเกินไปในความหมายของหล่อนก็เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรวมกับผู้ชาย และในจำนวนผู้ชายเหล่านั้น  ย่อมมีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ดีมีสกุลรวมอยู่ด้วย  และพ่อของหล่อนก็มองพวกไร้สกุลรุนชาติที่กระเสือกกระสนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ด้วยความชิงชัง ทั้งยังว่ากล่าวอย่างดูแคลนว่า

“พวกนี้ไม่มีเหตุผลประการอื่นใด นอกจากความปรารถนาที่จะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดีกับเขาบ้างโดยวิธีลัด โดยการหลอกลวงเด็กสาวที่มาจากสกุลผู้ดีเก่า มีสายเลือดสกุลสูง และมีฐานะดีด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลร้อยแปดเท่านั้นเอง”
เมื่อสาย สีมา พบกับบุพการีของหญิงคนรักครั้งแรกนั้น ประโยคทักทายแรกที่เขาได้รับคือ

“เธอลูกใคร”

เขาตอบอย่างขลุกขลักในทีแรกด้วยถูกจู่โจมไม่ทันตั้งตัวว่า

“อ้า...พ่อผมเป็นชาวนาครับ”

รัชนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวความทุกข์ยากของชาวนาจากคนรักของหล่อน  และเธอยังคงดื้อรั้นรักกับลูกชาวนาต่อไป  ท่ามกลางคำทัดทานของครอบครัว   กระทั่งแม่ของหล่อนยังได้กล่าวประโยคที่น่าเศร้าเหลือเกินว่า

“คนเราไม่มีสกุลรุนชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไร มีใครอบรมสั่งสอน ความเป็นผู้ดีน่ะมันอยู่ในสายเลือด ถ้าเลือดไพร่แล้วถึงอย่างไรก็เป็นไพร่”

พ่อของหล่อนโกรธจัดเมื่อห้ามปรามลูกสาวไม่ได้ ถึงขั้นผรุสวาทออกมาว่า

“ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ ฉันไม่อยากเห็นหน้ามันจนนิดเดียว ทำไมแม่วาดไม่ห้ามยายเล็ก” 

วันหนึ่งปีศาจตนนี้ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่บ้านของหญิงสาวคนรัก  ไปเพื่อฟังประโยคที่ว่า

“ความเป็นผู้ดีนั้นมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็จะต้องเป็นหงส์อยู่ตลอดไป”

แล้วเขาก็ถูกพี่เขยของรัชนีไล่ออกจากบ้าน 

ไอ้ปีศาจจึงค่อยๆ ทรงตัวลุกขึ้นอย่างแช่มช้า แล้วกล่าวตอบโต้อย่างมีสติ  ถ้อยคำหนึ่งของเขากลายเป็นวรรคทองในเวลาต่อมา

“ผมมีความภูมิใจสูงสุดในวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพ่อผมจึงไม่ได้เป็นขุนนาง แต่ทว่าขุนนางนั้นมีอยู่จำนวนน้อย และคนที่เป็นชาวนานั้นมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า พ่อผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายข้างมาก ผมไม่มีเหตุผลประการใดเลยที่จะน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาที่มิได้เกิดในที่สูง ในสายเลือดของผู้ดีมีสกุล เพราะนั่นมันเป็นสิ่งหรือเงื่อนไขที่คนเราได้สร้างขึ้นและคิดสรรค์มันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มันไม่ยืนยงคงทนอะไร และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง......ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที   ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก...โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

แล้วเขาก็ก้าวเดินจากไปอย่างทระนง 

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความกดดันให้แก่รัชนีอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดหล่อนก็ตัดสินใจลุกขึ้น “ขบถ” ต่อตระกูลหงส์ของหล่อน ด้วยการติดตามคนรักของหล่อนไป

“หล่อนก้าวเดินออกไปท่ามกลางแสงสว่างสีเหลือง เป็นสีทองของตะวันที่กำลังฉายท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในยามอรุณเบิกฟ้า” 

คือประโยคจบของนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่นี้ 

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง  ฉันรู้สึกแปลกใจว่า  เหตุใดวรรณกรรมที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน   จึงเปิดเพดานสูงในการเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์  ชนิดที่นักเขียนยุคปัจจุบันอ้าปากค้างว่าทำได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างอยู่ในสังคมที่พรมแดนแห่งเสรีภาพถูกคุกคาม ทว่าเมื่อย้อนกลับไปศึกษาบริบททางสังคมและการเมืองในยุคนั้น ก็พอจะเข้าใจ
กล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องปีศาจ เป็นผลิตผลของยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ในช่วงเวลาที่หน่อเนื้อของคณะราษฎรยังมีอำนาจ   แม้จากนั้นอีกไม่กี่ปีสถานการณ์จะพลิกกลับให้อำนาจเก่ากลับเข้ามาอีกครั้ง...(ผ่านร่างเงาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์)    จากนั้นยุคเผด็จการอันอับเฉาก็ดำเนินไปอย่างยาวนาน  เสรีภาพถูกจองจำอยู่ในคุกมืด   นักคิด นักเขียน ปัญญาชน ถูกทำให้ไร้ตัวตน  สร้างงานไม่ได้  ต้องกระเส็นกระสายไปในทิศทางอื่น   แน่นอนว่านวนิยายที่คอยเป็นหนามแหลมทิ่มแทงใจให้ผู้มีอำนาจในโลกเก่ากระวนกระวายนอนไม่หลับอย่างปีศาจ ย่อมถูกทำให้หลับไหลอยู่ในกาลเวลาไปด้วย 

กระทั่งประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอีกครั้งในยุคแสวงหาของคนหนุ่มสาว   ปีศาจตัวนั้นจึงฟื้นตื่นขึ้น
...........
“เราต่างเหมือนตายไปในวันแดดสีเลือด และเราต่างเหมือนเกิดใหม่ในคืนประดับดาวเหนือ ขอจงเป็นกำลังใจแก่กันในการก้าวไปสู่ชีวิตใหม่” 

คือคำโปรยปกนวนิยายเล่มเก่าคร่ำชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์”  ของ วัฒน์ วรรลยางกูร  ที่บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวในยุคแสวงหา

นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์มามากกว่าหนึ่งครั้งแน่ๆ เพราะเมื่อเกือบสิบปีก่อน  ครั้งแรกที่อ่านนิยายเรื่องนี้ ฉันไปขโมยอ่านในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแถวรามคำแหง   สั่งกาแฟเย็นแก้วเดียว นั่งอ่านทั้งวันจนจบ   เล่มที่ลักอ่านขโมยอ่านนั้นเพิ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ.นั้น  หน้าปกใหม่เอี่ยม  แต่เล่มที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในมือตอนนี้เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2524 โดยสำนักพิมพ์นกฮูก ราคาขายติดปกเล่มละ 22 บาท

วัฒน์ วรรลยางกูร  เป็นนักเขียนที่ว่ากันว่าได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงนักเขียนไทย (แม้ไม่เคยได้ซีไรต์เลยก็ตาม)   เขาสร้างงานหลากหลาย ทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  บทกวี  เขามีชื่อเสียงโด่งดังหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  เช่นเดียวกับรวี โดมพระจันทร์ สถาพร ศรีสัจจัง วิสา คัญทัพ ประเสริฐ จันดำ สุรชัย จันทิมาธร และอุดร ทองน้อย

ผลงานของเขาล้วนน่าประทับใจ  โดยเฉพาะนวนิยาย  ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีดและดวงดาว คือรักและหวัง  บนเส้นลวด  มนต์รักทรานซิสเตอร์   หรือสิงห์สาโท

สำหรับด้วยรักแห่งอุดมการณ์   วัฒน์ วรรลยางกูร  เริ่มต้นเขียนในปี 2522  และเขียนเสร็จลงเมื่อเดือนเมษายน 2523  อันเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งในยุคนั้นเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขา    

“ขอโทษนะครับเพื่อนๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก มีกลอนบทหนึ่งที่เขียนสะท้อนบรรยากาศยุคมืดเผด็จการนี้ว่า เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจนเยี่ยวหด บรรจงตดเบาๆ อย่างเศร้าหมอง เห็นไหมครับว่าบ้านเมืองนี้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้จะทำอะไรจนต้องมานั่งฟังตดตัวเอง....อย่างนี้แหละครับ เราจึงต้องประท้วง เรียกร้องรัฐธรรมนูญ  ถูกจับไปแล้ว 13 คน ยังไม่หมดครับ ยังมีคนที่ 14-15-16 เป็นหมื่นเป็นแสนที่นั่งอยู่ที่นี่แหละครับ” 

คือถ้อยคำของพิน บางพูด ตัวเอกในนวนิยายเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนสร้างให้เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้กับผู้นำทรราชในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

“การปราบปรามเริ่มขึ้นแล้ว หลายคนคว้าก้อนอิฐ ท่อนไม้ ตามแต่จะหาได้ พุ่งไปยังที่เกิดเหตุนั้น เหตุการณ์ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จากถนนหนึ่งสู่อีกถนนหนึ่ง จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ทันข้ามวันสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลที่เอาแต่โฆษณาบิดเบือนตลอดมาก็ถูกลงโทษด้วยระเบิดเพลิงที่ทำขึ้นเองง่ายๆ โดยใช้น้ำมันใส่ขวดจุดไฟขว้างเข้าไป รวมทั้งกองสลากที่มอมเมาให้ผู้คนหลงกับการเสี่ยงโชคก็ถูกเผาเป็นจุณไป เสียงปืนดังขึ้นที่โน่นที่นี่ รถถังอุ้มสนิมคลานอืดๆ มาจอดอยู่ตามสี่แยกอย่างวางอำนาจ ทหารใต้บงการของเผด็จการสวมหน้ากากกันควันพิษ สวมชุดปราบจลาจล ถือปืนเอ็มสิบหกดำมะเมื่อมราวกับงูเห่า แปรแถวเรียงรายตามถนนด้วยท่าทีคุกคาม กระสุนเอ็มสิบหกดังรัวเป็นชุด ในชนบทบ้านเกิด พินเคยเห็นแต่นักเลงขี้เมายิงกันในงานวัดเปรี้ยงๆ ปร้างๆ ไม่กี่นัด แต่นี่เขาถือปืนทันสมัยรัวใส่แถวขบวนคนที่มีแต่มือเปล่า เฮลิคอปเตอร์บินวนไปวนมาในอาการของอีเหยี่ยวโฉบลูกไก่ มันยิงกราดลงมาจากฟ้าเป็นชุดๆ พินเห็นถนัดตาว่า กระสุนจากเฮลิคอปเตอร์เจาะลงบนศีรษะของสามเณรรูปหนึ่งที่กำลังวิ่งข้ามถนนหนีลูกปืน ร่างในจีวรล้มกลิ้ง เลือดแดงจากศีรษะโล้นไหลนองพื้นถนนสีดำ พินมองดูเหตุการณ์ด้วยความปวดร้าว และไม่รู้จะทำอะไรได้มากกว่านั้น...

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พิน บางพูด ออกจากมหาวิทยาลัยไปทำงานหนังสือพิมพ์  ช่วงเวลานั้นเขามีความรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ที่สุดก็ต้องเลิกร้างกันไปตามวิถี

“เราควรจะขอร้องอะไรกันบ้างได้ไหม ในฐานะคนรัก”

“มันควรเป็นข้อแลกเปลี่ยน พินกำลังจะขอร้องให้เปิ้ลเลิกแต่งตัว เลิกเที่ยวเตร่ เลิกควงคนอื่น เลิกฟัง
เพลง ถ้าเปิ้ลจะขอร้องคุณบ้างได้ไหม ให้คุณเลิกอุดมคติอันเหลวไหล เลิกทำหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ภัยมาถึงตัว คุณทำได้ไหม?”

“แล้วเราก็ยังไม่เข้าใจกันอยู่ดี” เขาพูดอย่างเหนื่อยหน่าย “ถ้าการที่ผมทำหนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้คน
สนใจความเป็นจริงของสังคม เรียกร้องให้เห็นใจคนยากคนจน เรียกร้องให้ช่วยกันสร้างความดี เลิกเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องเหลวไหลรึ เปิ้ล ถ้าคุณคิดว่าการที่ผมอยากให้คุณฟังเพลงที่พูดถึงคนยากคนจนกลายเป็นการล้างสมอง ผมก็เสียใจ แต่ขอให้รู้เถิดว่าผมทำไปด้วยความรักด้วยความปรารถนาดี” 

นางเอกของเรื่องชื่อ “เด่นรวี” เป็นลูกสาวนายทุนร่ำรวย แรกทีเดียวเด่นรวีเป็นเพียงสาวสังคมธรรมดา  มีเพื่อนชายเป็นหนุ่มสังคมขับรถยนต์คันโก้ที่ชอบดูถูกคนอื่นอย่างร้ายกาจ  กระทั่งเด่นรวีมีโอกาสไปเก็บข้อมูลแถบภาคอีสานเพื่อนำมาจัดนิทรรศการอะไรสักอย่าง  เธอได้พบเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจของคนยากไร้ในชนบท  ที่แทบไม่น่าเชื่อว่ามันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้   กลับจากอีสานคราวนั้นเธอจึงเริ่มหัดอ่านนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์  และปฏิเสธหนุ่มสังคมที่ตามเทียวไล้เทียวขื่อชวนเธอไปเต้นรำตามคลับหรูๆ อย่างไร้เยื่อใย  จากนั้นหันไปสนิทสนมกับหนุ่มนักหนังสือพิมพ์  และทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง   กระทั่งเธอขัดแย้งกับครอบครัวเมื่อไปช่วยเหลือกรรมกรโรงงานทอผ้าที่ประท้วงต่อรองค่าแรงราคาแสนถูกกับเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของพ่อเธอเอง

“ด้วยความร่วมมือของคนงาน พิน เด่นรวี และนักศึกษาจากชมรมนักศึกษากฎหมายอีกสองคนจึงได้เข้าไปถึงสลัมที่พักคนงาน มีคำร้องทุกข์มากมายจากคนในสลัมนั้น นอกจากเรื่องมือขาดไม่ได้ค่าทดแทนแล้วยังมีเรื่องสวัสดิการยามเจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ทำงานสายไม่กี่นาทีถูกตัดค่าแรงทั้งวัน คนงานหญิงตั้งครรภ์ถูกไล่ออก เคยมีกรรมกรวิ่งเต้นขอตั้งสหภาพแรงงานก็ถูกกลั่นแกล้งออกจากงานไปแล้ว พินถ่ายรูปที่พักคนงานที่แออัดมืดสลัวทั้งวัน เก็บภาพชีวิตคนงานในแง่มุมต่างๆ แต่ไม่พ้นหูตาของหัวหน้าคนงาน พินและเพื่อนถูกผู้จัดการเชิญตัวไปพบที่ห้องแอร์...การสไตรก์ของกรรมกรโรงงานทอผ้ายังยืดยาวไปอีกเกือบ 1 เดือน ยังตกลงกันไม่ได้ เด่นระวีเทียวไปเทียวมาระหว่างโรงงานกับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันความรู้สึกห่วงบ้านน้อยลงไปทุกที จะห่วงทำไมในเมื่อแต่ละคนก็สบายดีแล้ว ไม่น่าห่วงเหมือนกรรมกรที่โรงงาน คิดอย่างนี้เธอจึงยิ่งห่างเหินทางบ้าน”

ความรักของเด่นรวีกับหนุ่มนักหนังสือพิมพ์ก่อตัวขึ้นในช่วงนี้เอง

“ในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต เรียนรู้โลกเรียนรู้ชีวิต เราแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่าง ชีวิตใหม่ในมหาวิทยาลัยเป็นโอกาสให้เราพบความหมายใหม่ของชีวิต ความหมายแห่งการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และเรายังพบอะไรมากกว่า เขา-ชายผู้เป็นภาพปฏิมาในดวงใจ ที่ชักนำให้เรารู้จักกับความรัก ความรักระหว่างหนุ่มสาวที่มีความหมายแผ่กว้างถึงสังคมด้วย มิใช่เพียงเธอกับฉันเท่านั้น เป็นความหมายงดงามที่ผู้คนแสวงหา ฉันกระโจนลงไปหามันด้วยคิดว่าจะได้สัมผัสสายธารอันเย็นฉ่ำที่ให้ความสดชื่นแก่ชีวิต ให้ความหมายแก่วัยอันสดใส หวังว่ามันจะเป็นพลังผลักดันไปสู่ความใฝ่ฝันแสนงาม หวังว่ามันจะติดปีกให้เราทั้งสองบินไปสู่สายรุ้งสีทองของชัยชนะ”

ขณะกรรมกรโรงงานทอผ้าปักหลักประท้วง จนถูกปราบปรามอย่างทารุณ

“กลางแดดเปรี้ยงของวันที่ตึงเครียด ตำรวจในชุดปราบจลาจล หรือที่ถูกกรรมกรเรียกอย่างโกรธแค้นว่า
พวกหัวปิงปอง ถือไม้กระบองดาหน้าบุกตะลุยเข้าไปในหมู่กรรมกรหญิง ซึ่งยืนเรียงแถวหน้ากระดานขัดขวางการคุกคามของเจ้าหน้าที่ เสียงกรรมกรตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าพวกตนต้องการค่าแรงที่เป็นธรรม แต่ไม่มีคำตอบจากหน่วยปราบจลาจล เหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เสียงหวีดร้อง  กรรมกรเรียกอย่างโกรธแค้นว่า พวกหัวปิงปอง ถือไม้กระบองดาหน้าบุกตะลุยเข้าไปในหมู่กรรมกรหญิง ซึ่งยืนเรียงแถวหน้ากระดานขัดขวางการคุกคามของเจ้าหน้าที่ เสียงกรรมกรตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าพวกตนต้องการค่าแรงที่เป็นธรรม แต่ไม่มีคำตอบจากหน่วยปราบจลาจล เหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เสียงหวีดร้องระงม เสียงด่าทออย่างแค้นเคืองดังเซ็งแซ่ ร่างใหญ่บึกบึนเต็มไปด้วยเครื่องป้องกันตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าโถมกระแทกเข้าใส่ร่างเล็กๆ ของกรรมกรหญิง กระบอกหนักและแข็งฟัดฟาดหนักหน่วงรุนแรง เลือดกระเซ็นจากศีรษะ เกือกหนังอันหนักและใหญ่เหยียบลงบนแขนขาของคนที่ล้มลงกับพื้นจนหักเดาะ กรรมกรหญิงคนหนึ่งถูกกระแทกด้วยศอกจนหงายหลังผึ่ง กรรมกรอีกคนกำหมัดขึ้นอย่างโกรธแค้น แล้วแขนของเธอก็ถูกตวัดด้วยกระบอกจนบวมปูด เจ้าของแขนหน้าบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวด ท้องน้อยของอีกคนถูกยันด้วยปลายเกือกหนังจนเจ็บจุกตัวงอลงกับพื้น แล้วบั้นเอวของเธอคนนั้นก็ถูกอัดด้วยเข่าของพวกเดียวกันที่ถูกเหวี่ยงล้มลง แม้ตัวเองลุกขึ้นไหว เธอก็อุตส่าห์ดันเพื่อนอีกคนให้ลุกขึ้นไปใหม่ ก่อนจะถูกยันกระเด็นกลับมาที่เก่า เสียงร่ำไห้ระงมแข่งกับเสียงขู่คำราม เด่นรวีและเพื่อนนักศึกษาพากรรมกรที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลด้วยน้ำตานองหน้า”

หลังเหตุการณ์นี้เด่นรวีตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตในชนบทเพื่อเรียนรู้ความทุกข์ยากของชาวไร่ชาวนา พิน บางพูด  จึงถูกครอบครัวของเด่นรวีเรียกไปพบ  และพวกเขาก็ออกคำสั่งให้ไปตามเธอกลับมา

“เสียใจครับ... ผมทำตามที่คุณต้องการไม่ได้ เพราะหนึ่ง...ผมไม่รู้จริงๆ ว่าเด่นไปอยู่แห่งหนตำบลใด สอง...ถึงแม้ตามไปจนพบ ผมก็ไม่คิดว่าเธอจะยอมกลับมา คุณ...น่าจะรู้จักน้องสาวของตัวเอง เมื่อเธอมั่นใจว่าทำถูกก็ไม่มีวันถอยหลังกลับ สาเหตุสุดท้ายคือ ผมไม่เห็นว่าเธอทำอะไรผิด เธอมีอายุ ประสบการณ์มากพอที่จะพิจารณาได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ผมเชื่อว่าสิ่งที่เด่นทำนั้นถูกต้อง ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไปขัดขวางเธอ”

เขาถูกพี่ชายของเด่นรวีไล่ออกจากบ้าน แน่นอน...ครอบครัวของหญิงคนรักชังน้ำหน้าเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  พวกเขาเข้าใจว่าชายหนุ่มนักหนังสือพิมพ์คือผู้ล้างสมองเด็กสาวที่เคยน่ารักและอ่อนต่อโลก   พิน บางพูดจึงบอกบางสิ่งแก่พวกเขา   ความตอนหนึ่งว่า

“ภูเขาทั้งลูกมีคนยกย้ายสำเร็จมาแล้ว แม่น้ำก็ถูกมือคนเปลี่ยนทางเดินมาแล้ว โลกที่โสมมกำลังถูกเปลี่ยนเป็นโลกที่สวยงาม เป็นโลกที่อบอุ่นโอบเอื้อแก่ทุกคนให้ได้มีชีวิตอย่างปกติสุข ทุกคนจะอยู่อย่างเป็นเพื่อนกัน เลิกแก่งแย่งแข่งขันกัน เลิกเป็นศัตรู เลิกเข่นฆ่ากันเสียที ความทุกข์ยากจะถูกทำลายไป มันจะเป็นจริงได้ก็ด้วยมือของเรา”
ไม่เพียงแต่เด่นรวีเท่านั้นที่เดินทางออกสู่ชนบท หากหนุ่มสาวในยุคนั้นต่างหลั่งไหลออกสู่ชนบทเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาชาวไร่ สลายความแตกต่างทางชนชั้นเสียสิ้น

ชีวิตในชนบททำให้หญิงสาวกล้าแกร่งหนักแน่น มือเรียวบางของเธอจับหางไถลุยโคลนในท้องนาอย่างเข้มแข็ง  
“ผิวหน้าและลำแขนที่เคยขาวผ่องของเด็กสาวคนนั้น บัดนี้กร้านคล้ำและยังมีรอยขีดข่วนของหนามไหน่ กางเกงขายาวสีดำเขรอะไปด้วยโคลนชุ่มด้วยน้ำ และเมื่อใครมองใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าเล็บของเธอมีคราบดินโคลนดำ ใครจะเชื่อบ้างว่านี่คือลูกสาวนายทุนจากกรุงเทพฯ”

หลังฤดูปักดำไม่นานก็มีข่าวจากกรุงเทพฯ ว่าหนึ่งในผู้มีอำนาจซึ่งถูกขับไล่ไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 อาศัยผ้าเหลืองบังหน้ากลับเข้ามาอีก   การต่อต้านจึงเริ่มขึ้น เด่นรวีกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง  พิน บางพูด มารับเธอที่สถานีขนส่งสายใต้ แล้วทั้งสองก็เข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519   พิน บางพูด เขียนบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหนเมื่อถูกตอกอกด้วยลิ่มแหลม  คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหนเมื่อคุณถูกผูกคอลากไปกับพื้น   คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อยางไหม้ไฟร้อนเดือดหยดลงบนเนื้อสดของคุณ   คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อกระดูกคอถูกกระชากดึงรั้งจนแตกหัก   ถ้าจะเปรียบเทียบว่าเมื่อคุณตกลงไปในปล่องภูเขาไฟอันมืดมนแล้ว ภูเขาไฟก็ระเบิดออกมา มันก็ยังไม่เจ็บปวดเท่าความเป็นจริงที่หลายคนได้พบในวันนั้น”

เด่นรวีได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้  มีคนมาช่วยเธอไว้ทัน จากนั้นเธอถูกครอบครัวควบคุมตัวเข้มงวดตลอดเวลา   ส่วนพิน บางพูด ตัดสินใจหลบหนีเข้าป่า   เด่นรวีแอบหนีผู้คุมมาส่งเขา  ฉากอำลาระหว่างหนุ่มสาวทั้งสองเศร้ายิ่งนัก
“เขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะจับมืออำลา อย่างมากเพียงยิ้มให้กันเป็นกำลังใจยามจาก แม้จะเป็นยิ้มที่ฝืดเฝื่อนคับแค้นเต็มที เขาหวนคิดถึงความนุ่มนวลในดวงตาเมื่อเธอเงยหน้าขึ้นมองเขาอย่างขอบคุณที่เขาช่วยเช็ดน้ำจากแนวคิ้วและใบหน้าในเรือข้ามฟากไม่กี่วันก่อน ผิดกันแต่ว่า วันนี้เด่นไม่ได้สวมเสื้อชาวเลสีฟ้าที่เธอชอบ เพราะเสื้อตัวนั้นฉีกขาดด้วยคมกระสุนและเปื้อนเลือดหมดแล้ว”

วัฒน์ วรรลยางกูรไม่ได้บอกไว้ว่าพิน บางพูด และเด่นรวีได้พบกันอีกไหม เขาบรรยายไว้เพียงว่า

“ในสายลมหนาวเดือนตุลา กลางทุ่งอีสาน เมื่อพินห่มผ้าฝ้ายในกระท่อมไม้ไผ่ร่มตะแบก ก็เหมือนย้ำรอยประทับใจต่อผ้าห่มโปสเตอร์ผืนนั้น ภาพเด่นเอาผ้าโปสเตอร์ห่มให้มิตรสหาย...วิญญาณภาพงามสูงส่งเหมือนภาพเขียนบางภาพที่เขาเคยเห็น หญิงสาวในชุดขาวสะอาดละเอียดอ่อน ผิวของเธอสะอาดสะอ้านเหมือนยองใยบนกลีบดอกไม้ แต่ในอ้อมแขนของเธอมีเด็กน้อยผิวดำหน้าตาขมุกขมอม ทั่วร่างเด็กน้อยเต็มไปด้วยฝีหนองเน่า วิญญาณภาพเช่นนี้ย่อมประทับใจผู้พบเห็น ในความเป็นจริงที่ยิ่งกว่า สูงส่งกว่าภาพเขียน เมื่อเธอโถมร่างกายบอบางสะอาด โถมหัวใจบริสุทธิ์เข้าเผชิญความโหดร้ายทารุณ เผชิญความสกปรกจากโคลนตมการให้ร้ายป้ายสี และแม้กระทั่งคราบคาวเลือด” 

ฉันรู้สึกเศร้าหลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลงเมื่อหลายปีก่อน  รู้สึกเห็นใจหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ต้องสละแม้แต่ความรักเพื่อสังคมส่วนรวม 

ทว่าเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งใน พ.ศ. นี้  และนำคำบรรยายในหลายฉากหลายตอนมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน  ฉันรู้สึกเศร้ายิ่งกว่า  ทั้งขมขื่นกับชะตากรรมของผู้คนในประเทศนี้ที่ย่ำวนอยู่ในวงจรเดิมๆ  เหมือนดูหนังม้วนเก่า

ใช่! ฉันเห็นปีศาจตัวนั้นปรากฏเงาร่างขึ้นอีกครั้งในสายลมร้อนของเดือนเมษา  ผ่านใบหน้าของทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน!

 ...กาลเวลาหวนกลับ   เรานั่งไทม์แมชีนเดินทางย้อนกลับ หรือแท้จริงเราไม่เคยได้ก้าวเดินไป

การปรากฏตัวขึ้นซ้ำๆ ของปีศาจตัวเดิม  ในองค์ประกอบฉากและห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป  ในเดือนปีที่โลกไม่เคยหยุดหมุน   ทำให้คำถามสำคัญที่ว่า  ปีศาจตัวนั้นแท้จริงคือใคร?  ยังคงต้องถามกันต่อไป  

มันคือปีศาจตัวเดิม   หรือไม่ใช่  หรือแท้จริงมันมีหลายตัวเช่นที่ผู้ประพันธ์กล่าวอ้าง   อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะสรุปได้แน่ชัดแล้วก็คือ  ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ปีศาจตัวนั้นก็ไม่ได้มีลักษณะใดๆ ก้าวล่วงไปจากความเป็นมนุษย์แน่ๆ   กล่าวคือ  ไม่ว่ามันจะเป็นปัญญาชน คนรุ่นใหม่ สามัญชน หรือแม้แต่คอมมิวนิสต์   ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น   ดังที่ เสนีย์ เสาวพงศ์  เองบอกไว้ว่า

“โลกนี้มีปีศาจหรือไม่ ตอบง่ายนิดเดียว เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคมืดของอวิชชาสมัยกลาง วิทยาศาสตร์แห่งเหตุผลบอกเราว่าภูตผีปีศาจนั้นหามีไม่  ก็ถ้าเช่นนั้นทำไมฉันจึงเขียนเรื่องปีศาจอันเป็นของเหลวไหล...ก็เพราะในสังคมที่เราอยู่นี้ สำหรับคนบางคน บางหมู่ และบางกลุ่ม ปีศาจเป็นของมีจริง และกำลังหลอกหลอนเขาอยู่ทุกวี่วัน เปล่า...มันไม่ใช่ปีศาจคนตายที่หลอกหลอนคนเป็น  ไม่ใช่ปีศาจที่ทำความเสียวสยองอย่างเคาน์แดรกคูล่าหรือฟรังเกนสไตน์ แต่เป็นปีศาจของกาลเวลา  และปีศาจคนเป็นๆ นี่แหละ ที่กำลังหลอกหลอนคนเป็นๆ ด้วยกันอยู่”

เมื่อเป็นเช่นนี้   ดูเหมือนจะมีอีกหลายคำถามที่ตอบได้ยากยิ่ง (กว่า) ในสังคมไทย  นั่นคือ  ในเมื่อปีศาจตัวนั้นไม่ได้มีลักษณะใดๆ ผิดแผกไปจากมนุษย์  แล้วใครกันที่มองเห็น (พวก) มันเป็นปีศาจ  ใครคนนั้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับปีศาจตัวนั้นใช่หรือไม่   ศัตรูที่ว่านั้นคือใคร   และเหตุใด (พวก) เขาจึงเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นปีศาจ

...ในเมื่อโลกปัจจุบันต่างยอมรับกันเป็นสากลแล้วว่า...มนุษย์ย่อมต้องมองเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์.

 
 
  

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท