Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม: ประเทศไทยต้องการผู้นำที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ปราศจากผู้ชนะภายหลังสัปดาห์แห่งความรุนแรงในกรุงเทพฯ 

 

ภายหลังจากสัปดาห์แห่งความรุนแรงที่ทำให้ศูนย์กลางทางธุรกิจของกรุงเทพฯ กลายเป็นเถ้าถ่าน พร้อมๆ กับทำลายชื่อเสียงของประเทศในฐานะ “สยามเมืองยิ้ม” แทบไม่หลงเหลือผู้ชนะ และแม้เราอาจพอหวนพิจารณาได้ว่าความความยุ่งยากทั้งหมดนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อไร แต่ไม่อาจรู้แน่ว่าจากนี้ประเทศไทยจะก้าวไปทางใด

ในขณะนี้รัฐบาลผสมอาจจะยังคงรักษาเสถียรภาพไว้ได้ แต่ทางออกที่ยั่งยืนของความแตกร้าวในสังคมไทยและการสูญเสียความศรัทธาต่อกระบวนการทางการเมือง ดูเหมือนจะไกลห่างออกไปยิ่งกว่าที่เคย

ปฏิบัติการทางการทหารที่แข็งกร้าวในการยึดคืนพื้นที่ชุมนุมช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นในตัวนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับคืนมาจากกลุ่มผู้สนับสนุนของเขา  คนเสื้อแดงเองหรืออย่างน้อยกลุ่มหัวรุนแรง พวกลักขโมย และนักวางเพลิงที่ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และได้ทำให้กรุงเทพฯ ตกอยู่ในกองเพลิงก็มีส่วนทำให้สถานะของอภิสิทธิ์มั่นคงขึ้น  คนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่อาจจะเคยเห็นดีด้วยกับข้อเรียกร้องบางประการของคนเสื้อแดง ต่างสะเทือนใจกับจุดจบอันหายนะนี้

อภิสิทธิ์พูดถึงการสมานฉันท์และการฟื้นฟู แต่ดูจะเป็นไปได้ยากว่ากระบวนการเหล่านี้จะเริ่มต้นได้อย่างไร ในเมื่อมีผู้เสียชีวิตถึง 82 คน และผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 1,800 คน และคนเสื้อแดงซึ่งยังไม่ยอมแพ้และโกรธเกรี้ยว เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาในภาคเหนือและอีสานโดยได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออภิสิทธิ์ยังไม่สามารถไปปรากฏกายในหลายๆ ภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากเขาเป็นที่เกลียดชังของคนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในกระบวนการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกัน คู่แค้นของเขา ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นแหล่งทุนสนันสนุนการประท้วงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ก็มิได้เป็นตัวแทนของความสมัครสมานสามัคคีมากไปกว่าอภิสิทธิ์ ภาวะอนาธิปไตยในช่วงหลายวันที่ผ่านมาได้ผลักให้คนไทยที่ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มใดอย่างชัดเจนมาก่อน ไปเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านทักษิณมากขึ้น แม้ว่ายังมีคนภักดีต่อเขาทั่วประเทศ แต่การหวนคืนสู่การเมืองของเขารังแต่จะนำไปสู่การประท้วงครั้งใหม่ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง

หนทางที่ดูเหมือนจะสามารถกลับคืนสู่จุดเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดได้แก่การจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และอภิสิทธิ์ก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณเช่นนั้น เมื่อเขากล่าวว่าจะกลับมาดำเนินการตามแผนปรองดอง (โร้ดแมป) ห้าข้อที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ยังไม่ทันไร รัฐมนตรีคลังของเขา นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ตั้งข้อสงสัยต่อกำหนดวันดังกล่าว โดยกล่าวว่าเขากังวลเกี่ยวกับความรุนแรงในระหว่างการรณรงค์หาเสียง และนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้แสดงออกถึงความกังวลทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก และก็ไม่แน่ว่าคนเสื้อแดงจะยังคงเชื่อในระบบการเลือกตั้งอยูหรือไม่ หนึ่งในข้อวิพากษ์หลักของพวกเขาคือ รัฐบาลที่พวกเขาเลือกตั้งมามักถูกกำจัดไปด้วยการรัฐประหารหรือกระบวนการทางกฎหมายที่น่าเคลือบแคลง

ดังนั้น ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่อาจจะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองในประเทศไทยได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาว และแม้ว่าฝุ่นควันที่ปกคลุมเศษซากในกรุงเทพฯ จะค่อยๆ จางหายไปแต่ก็ยังไม่ปรากฏผู้นำทางการเมืองคนไหนที่จะสามารถตัดวงจรอันเลวร้ายที่ได้ฉุดประเทศให้ตกอยู่ในภาวะชะงักงันมาเป็นเวลานานได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net