Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” (หรือ Thai PBS เดิม) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น “ฟรีทีวีทางเลือก” ของประชาชน นอกเหนือจากฟรีทีวีหลักๆ ที่มีอยู่ และที่มีกันอยู่ไม่กี่ช่องนั้นก็มีรูปแบบรายการซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ปัญญาอ่อน ละครน้ำเน่า รายการเล่าข่าวที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน หรือมีสำนักข่าวเดียวกันส่งคนของตัวเองเข้าไปจัดรายการคล้ายๆ กันในหลายช่อง

ฉะนั้น ทีวีไทยจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็น “ทางเลือก” ที่แตกต่างแก่ประชาชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนในการบริหารจัดการ

วัตถุประสงค์ของทีวีไทยมีทั้งหมด 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือเพื่อ “ส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ในการสร้างสังคมระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรม มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ”

แต่ถามว่า ทีวีไทยต่างจากฟรีทีวีช่องอื่นๆ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหาจริงหรือไม่? หรือเติมเต็มในส่วนที่สังคมยังขาดอยู่เพียงใด? เกี่ยวกับการจัดทำรายการข่าว รายการวิเคราะห์ข่าว รายการข่าวแบบเจาะลึก รายการสนทนา/ถกเถียงเชิงวิเคราะห์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจการเมือง หรือรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาของคนชั้นล่าง คนชายขอบ หรือคนส่วนใหญ่ของสังคมแต่พวกเขาแทบไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยในการ “ส่งเสียง” ผ่านสื่อ และการกำหนดประเด็นสาธารณะต่างๆ

ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะใกล้นี้ การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงตั้งแต่ 14 มีนาคมถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา การรายงานข่าวของทีวีไทยแทบไม่ต่างจาก “ช่องหอยม่วง” มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอข่าวของฟากรัฐบาล คนที่ดูทีวีไทยจะได้รับทราบคำแถลงของนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ ศอฉ. เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่าคำแถลง และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำ นปช.

แม้แต่การรายงานข่าวภาคสนาม มีการนำเสนอภาพการไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเสื้อแดงจากภาคอีสานที่มาร่วมชุมนุมที่พูดเหมือนท่องจำคำพูดของแกนนำ นำภาพเดิมๆ นั้นมาออกอากาศซ้ำๆ แล้วก็สรุปเหมือนที่รัฐบาลสรุปว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งมาชุมนุมเพราะมีปัญหาความยากจน ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา คนเหล่านี้ควรได้รับความเห็นใจจากสังคม และรัฐบาล

แต่ไม่มีการทำข่าวแบบเจาะลึกเพื่ออธิบายให้เห็นพัฒนาการทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณของมวลชนเสื้อแดง โดยลงพื้นที่ไปยังภาคเหนือ ภาคอิสาน เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าคนเสื้อแดงในภาคเหนือ ภาคอิสานเขามีความคิดทางการเมืองอย่างไร ทำไมคนชนบทหลายหมู่บ้านเขาจึงจัดผ้าป่าบริจาคเงิน ข้าวสารอาหารแห้งสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงในหมู่บ้านให้มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ (น้าของผมอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู อายุ 50 กว่าปีแล้ว แต่ก่อนผมไม่เคยเห็นแกพูดคุยเรื่องการเมืองเลย คราวนี้แกจัดผ้าป่าถึง 3 ครั้งสนับสนุนคนเสื้อแดง)

มีโจทย์หลายโจทย์ที่ทีวีไทยซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชน น่าจะต้องหาคำตอบ เช่น

1. คนเสื้อแดงโดยเฉพาะคนชนบท คนชั้นล่างในสังคมเมือง พวกเขามี “ความคิดทางการเมือง” อย่างไร จริงหรือไม่ที่ว่าพวกเขามาชุมนุม ถ้าไม่มาเพราะรักทักษิณ ก็มาเพราะถูกจ้าง หรือเพราะมีปัญหาความยากจน พวกเขาไม่มีความคิดทางการเมืองของตัวเอง หรือมี “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของตัวเองเลยหรือ? คนไม่มีอุดมการณ์เลยทำไมจึงกล้าเผชิญหน้ากับการล้อมปราบของกองกำลังทหารอย่างไม่กลัวความตาย? ทำไมพวกเขาจึงร้องไห้ โกรธ ผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อเห็นแกนนำประกาศให้ยุติการชุมนุม?

2. สมมติว่าพวกเขารักทักษิณ รับเงินทักษิณมาต่อสู้เพื่อทักษิณ แทนที่ทีวีไทยจะทำเสมือนยอมรับคำอธิบายของฟากเสื้อเหลือง หรือคนชั้นกลางในเมืองว่า นั่นเป็นความโง่ของชาวบ้าน นั่นเป็นความผิดของชาวบ้าน เพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง ฯลฯ

ทีวีไทยน่าจะแสวงหาเหตุผลหรือคำอธิบายจากชาวบ้านว่า ทำไมเขารักทักษิณ เขามีความต้องการ ความคาดหวังทางการเมืองอย่างไรในการต่อสู้เพื่อช่วยทักษิณ และ “ทำไมการต่อสู้เพื่อช่วยทักษิณจึงไปด้วยกันไม่ได้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย?”

แต่จะเห็นว่า ในกรณีนี้ทีวีไทยก็ทำได้แค่อธิบายคนเสื้อแดงตาม “มุมมองแบบคนชั้นกลางในเมือง” (ซึ่งเป็นมุมมองของคนที่อ่านน้อย ขี้เกียจหาข้อมูลเชิงลึกและรอบด้าน เอาแต่ตัดสินคนอื่นไปทั่ว โดยไม่ใช้ความรู้ ข้อมูล และสติปัญญาอย่างรอบคอบ) ฉะนั้น ภาพของคนเสื้อแดงที่เสนอผ่านทีวีไทย ก็ไม่ต่างมากนักกับที่เสนอผ่าน “ช่องหอยม่วง” และสื่อตัวแทนคนชั้นกลางในเมืองทั่วๆ ไป

3. หลังจากเปลวเพลิงที่ราชประสงค์ดับมอดลง ทีวีไทยก็ทำหน้าที่เหมือนกับฟรีทีวีช่องอื่นๆ คือรายงานความเห็นของฟากรัฐบาล และคนกรุงเทพฯโดยทั่วไป และที่ได้รับผลกระทบ กับแนวทางการเยียวยาของรัฐบาลต่อกลุ่มธุรกิจและผู้ที่ประสบความเสียหาย

แต่ไม่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า พวกเขาได้รับการเยียวยาอย่างไร ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร คนเหล่านั้นเขาคิดอย่างไร คิดจะทำอะไรต่อไปหลังจากต้องพกพาความพ่ายแพ้กลับบ้านในชนบท

4. ทำไมทีวีไทยจึงไม่ “ซีเรียส” กับการตอบโจทย์สำคัญ เช่น รัฐบาลที่ใช้กองกำลังทหารแก้ปัญหาการเมือง จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากขนาดนี้ ยังมี “ความชอบธรรม” ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่?

5. เรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” ทีวีไทยก็ไม่ได้เจาะลึก เพียงแค่รายงานข่าวตามที่ ศอฉ.แถลงเท่านั้น ไม่ค้นหาความจริงว่าในผังขบวนการล้มเจ้านั้นใครตัวจริง ใครตัวปลอม ตัวจริงอย่าง อาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ ที่ประกาศว่า “ผมไม่เอาเจ้า แล้วไง?” ทีวีไทยก็ไม่มีความกล้าหาญพอจะไปทำข่าวให้สาธารณะรับรู้ว่า “แล้วไง...?” ของอาจารย์ใจนั้นมีรายละเอียดอย่างไร?

นอกจากนี้นักวิชาการที่อยู่ในผังขบวนการล้มเจ้าอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือกระทั่งนักกิจกรรมอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ทีวีไทยก็ไม่สนใจจะนำเสนอ “ความคิด”ของคนเหล่านี้อย่างละเอียดเพียงพอ (ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นสื่อแห่ตามการ “เล่นละครข่าว” ของ “ชูวิทย์ กมลวิสิทธิ์” ทั้งที่แทบไม่เห็นมีประโยชน์อะไรต่อสาธารณะ แต่ชูวิทย์ก็ใช้สื่อเป็น “เครื่องมือ” สร้างกระแสนิยมในกลุ่มคนกรุงเทพฯได้มากเกินคาด ส่วนประเด็น “ล้มเจ้า” ความจริงคืออะไร? การหาความจริงเรื่องนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า แต่สื่อกระแสหลักและทีวีไทยก็ไม่สนใจหรือไม่มี “กึ๋น” ที่จะ “หาความจริง”) 

ฉะนั้น วัตถุประสงค์ที่ว่า “มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง” จึงยังไม่เป็นจริง!

กล่าวโดยสรุป หาก “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” เป็น “ทีวีของประชาชน” จริง มีมโนธรรมสำนึกรับผิดชอบในการใช้ “เงินภาษี” ของประชาชนจริง ทีวีไทยต้องหยุดทำตัวเป็นแค่ “กระบอกเสียง” ของรัฐบาลและคนชั้นกลางในเมืองเหมือนสื่อกระแสหลักอื่นๆ ทำกัน แต่ต้องทำข่าวเชิงเจาะลึก และให้ความเป็นธรรมกับคนชั้นล่างที่ถูกกดขี่เอาเปรียบมากขึ้น ต้องอธิบาย “ตัวตน” และ “อุดมการณ์” ทางการเมืองของพวกเขาให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงตามความเป็นจริงมากกว่านี้!

และต้องเอาจริงเอาจังกับการตอบ “โจทย์” ที่สำคัญมากที่สุด เช่น ทำไมรัฐบาลที่ใช้กำลังทหารแก้ปัญหาการเมือง จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้ จึงมีความชอบธรรมอยู่ในอำนาจต่อไป?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net