Skip to main content
sharethis

คณาจารย์จากจุฬาฯ แถลงข่าวเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" ระบุ ตร. ไม่มีและไม่เคยแสดงหลักฐานตามข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาและสาธารณะ นับเป็นการคุกคามเสรีภาพบุคคล เตือนใช้อำนาจไม่แยกแยะ ไม่อาจสร้างความปรองดองได้

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามหมายจับในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11(1) และนำตัวไปควบคุมที่ศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร จ.สระบุรี เมื่อวานนี้

ล่าสุด วันนี้ (25 พ.ค.) กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย อาทิ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์, สุวิมล รุ่งเจริญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์, สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีฯ, นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าว ที่ห้องประชุมเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีฉลองเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ทั้งนี้ระบุว่า ไม่ใช่การกระทำในนามของจุฬาฯ แต่เป็นในนาม "กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย"

โดยกลุ่มคณาจารย์ฯ แสดงความกังวลต่อการใช้ข้อหาดังกล่าวในการออกหมายจับและควบคุมตัวนายสุธาชัย 2 ประการ คือ หนึ่ง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจดำเนินการตามพระราชกำหนด แต่ก็เป็นที่ปรากฎชัดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีและไม่เคยเปิดเผยหลักฐานชัดเจนหนักแน่นใดๆ อันเป็นองค์ประกอบของฐานความผิดดังกล่าว ให้ผู้ถูกกล่าวหาและสาธารณชนได้รับรู้ นับเป็นการลิดรอนคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะในกรณีของนายสุธาชัยยังเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอีกด้วย

สอง แม้การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.จะเป็นไปเพื่อระงับสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของบ้านเมือง และนำสังคมไทยกลับสู่สภาวะปกติ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวอย่างครอบคลุมไม่แยกแยะ ปราศจากหลักฐานความผิดที่หนักแน่นชัดเจน ทั้งในกรณีของนายสุธาชัยและกรณีอื่นๆ มิอาจสร้างสังคมแห่งการปรองดองสมานฉันท์ดังที่รัฐบาลและ ศอฉ. มุ่งหวัง และยังอาจเพิ่มความหวาดระแวง ความกลัว ความเกลียดชัง และความโกรธแค้นในสังคมไทยให้ขยายตัว ทวีความเข้มข้นแหลมคมมากขึ้น อันยืนยันได้จากประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองของไทยเองในช่วงทศวรรษ 2500-2520

ทั้งนี้ คณาจารย์และนักวิชาการผู้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของนายสุธาชัยเห็นว่า ทั้งในกรณีของนายสุธาชัยและกรณีอื่นๆ ที่ไม่ปรากฎหลักฐานชัดแจ้ง สมควรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวคืนเสรีภาพให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยเร็ว

จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่อละเมิดสิทธิเกินขอบเขต
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงรัฐบาลและ ศอฉ. ให้เร่งพิจารณายกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินขอบเขต เพื่อให้การจัดการต่อผู้กระทำผิดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นวลน้อย ตรีรัตน์ ระบุว่า เมื่อสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว หากจะประเทศกลับไปสู่ความสมานฉันท์โดยเร็ว ก็จะต้องยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว หรือหากจะมีการใช้ต่อก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า การอ้างอิงอำนาจที่มีลักษณะกว้างขวางและมีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะครอบจักรวาล ทั้งที่บริบทคลี่คลายแล้ว เป็นการกระทำที่สวนทางกับเจตจำนงที่จะสร้างบรรยากาศปรองดองในสังคม ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ ต้องเปิดพื้นที่ให้สังคมได้พูดเรื่องที่เดือดร้อน เรื่องที่เป็นปัญหา

สุริชัย กล่าวว่า นายกฯ จะรู้หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่สำคัญก็คือ การปิดพื้นที่ กดดันให้คนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางวิชาการปกติไปใช้พื้นที่ลับๆ ไม่เป็นการดีเลยกับอนาคตที่จะสร้างความหวังร่วมกัน

ด้านนฤมล ทับจุมพล กล่าวเสริมว่า นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ในกรณีนายสุธาชัยยังมีเหตุผลส่วนตัวคือ บิดาของภรรยาของนายสุธาชัยเพิ่งเสียชีวิต หากคุมตัวนายสุธาชัยไว้ถึง 7 วัน พิธีกรรมต่างๆ ก็คงจะเสร็จสิ้นพอดี

"นอกจากข้อกล่าวหาไม่ชัดเจนแล้ว ต้องคำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวอย่างไร จึงอยากวิงวอน ศอฉ.และตำรวจ ให้พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว" นฤมลกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net