Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
บทนำ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ครม. อนุมัติการประกาศเคอร์ฟิวต่อจนถึงวันศุกร์ แต่เปลี่ยนเวลาเป็น 24.00-04.00 น.
จากเดิมนั้น ศอฉ. เสนอขอต่อไปอีก 7 วัน
 
คำถามคือ ทำไมจึงต่อเวลาการเคอร์ฟิวออก ไปอีก และจะต่อไปอีกเมื่อไหร่ ?

ลองนึกถึงสภาพเวลาที่ท่านเหนื่อยล้าจากการทำงาน ท่านย่อมประสงค์ที่จะแสวงหาความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ ไปเดินเที่ยว ไปทานอาหารอร่อยๆ ไปดูหนังกับเพื่อนหรือคนรัก ไปสังสรรค์
ตลอดเวลาที่ท่านทำกิจกรรมหย่อน ใจเหล่านี้ มือจะยกขึ้นมาเป็นระยะๆเพื่อดูนาฬิกา

ใกล้เวลาเคอร์ฟิวตามที่ประกาศหรือ ยัง!!!

จะดูหนังก็ต้องเลือกรอบดีๆ ดูที่เวลาไม่ยาวมากนัก จะทานอาหารอร่อยๆที่รอคิวยาวๆ คงหมดสิทธิ์
หรือถ้ายืนยันจะกินก็คงต้องรีบ กิน จนลิ้นของท่านเองอาจถามท่านว่า ทำไมไม่ปล่อยให้มันทำหน้าที่รับ รสชาติอันโอชาของอาหารนี้

เวลาที่ท่านเดินทางกลับ ไม่ว่าจะบริการสาธารณะหรือรถส่วนตัว ลองนึกสภาพรถปริมาณมากที่คลาคล่ำบนท้องถนน เหลืออีกไม่ถึงกิโลเมตรจะถึงบ้าน ท่าน รถขยับตัวได้เฉลี่ย 20 นาทีไม่ถึง 5 เมตร ครั้นดูเวลาพบว่าท่านติดมาไม่ต่ำกว่าชั่วโมงแล้ว และเหลืออีกเพียง 15 นาทีเท่านั้นที่จะถึงเวลาเคอร์ฟิว

ท่าน...รู้สึกอย่างไร?

ถ้ารถติดปกติ ก็คงก่อให้อารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิดได้เท่านั้น แต่ภายใต้การสยายปีกอำนาจของประกาศ(เคอร์ฟิว) ของ ศอฉ. ที่ออกตามความใน พรก. การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ท่านไม่เพียงหงุดหงิด ท่านยังกริ่งเกรง ประหวั่นใจ และหวาดกลัว เมื่อท่านต้องติดในสภาพที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

ทำไม...เราต้องอยู่ในสภาพแบบนี้....ทำไม มันไม่จบเสียที? สิทธิ เสรีภาพของเรา กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอนไปแล้วหรืออย่างไร?

ประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) ในฐานะการกระทำทางปกครอง

ประกาศห้ามประชาชนออกนอกสถานที่ เป็นอำนาจตามความใน พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯโดยประกาศนี้มีชื่อเรียกเล่นๆว่า "เคอร์ฟิว"


การประกาศเคอร์ฟิว เป็นการกระทำทางปกครองที่มีลักษณะ รูปธรรม - ทั่วไป หรือที่เรานิยมเรียกว่า "คำสั่งทั่วไปทางปกครอง" หรือ "คำสั่งทางปกครองทั่วไป" กล่าวคือ ใช้กับพื้นที่ หรือสถานที่เฉพาะ แต่ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนของผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของเคอร์ฟิวได้

โดยลักษณะแล้ว เคอร์ฟิวเป็นการกระทำทางปกครองชนิดหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้ "หลักความชอบด้วยกฎหมาย" เช่นเดียวกับการกระทำทางปกครอง อื่นๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการย่อยหลักการหนึ่งของหลักนิติรัฐ (État de droit) คือ "หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" เพราะ เคอร์ฟิวเป็นเรื่องที่ห้ามบุคคลกระทำการ หรือให้กระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมีอยู่ตามปกติ

หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง (เคอร์ฟิว) ได้เรียกร้องให้ การประกาศเคอร์ฟิวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อ “หลักความได้สัดส่วน” อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไป (Les principe généraux du droit ) ที่มีสถานะบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ

หลักความได้สัดส่วนนี้เรียกร้อง ให้การกระทำทางปกครอง ซึ่ง ก็คือการประกาศเคอร์ฟิวนี้ต้อง
(1) สามารถสัมฤทธิ์ผล หรือบรรลุวัตถุประสงค์ได้
(2) การประกาศนี้ต้องทำเท่าที่จำเป็น และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้น้อยที่สุด และ
(3) การประกาศเคอร์ฟิวนี้ จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์มหาชนแล้วต้องได้สัดส่วนกัน
 
บทวิเคราะห์ : เคอร์ฟิว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศอฉ. ได้ประกาศเคอร์ฟิวมาตั้งแต่วัน ที่ 19 พ.ค. 2553 เป็นต้นมา โดยในระยะแรกได้ห้ามประชาชนสัญจร หรือออกจากเคหะสถานตั้งแต่ 20.00 น. ถึง 06.00 น. และผ่อนปรนมาเรื่อย ๆ เป็น 22.00 น. และในครั้งนี้ (25-28 พ.ค. 2553) เป็นเวลา 24.00 - 04.00 น.ดูเหมือนว่ามันอาจจะถูกขยายไปเรื่อยๆ

ใน 5 วันแรก ผมสามารถยอมรับได้ว่ามีเหตุมีผลในการประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากรัฐบาลและ ศอฉ. อาจจะต้องการความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ และควบคุมสถานการณ์จากการก่อความ ไม่สงบ แต่การต่ออายุออกไปเรื่อยๆนี้ ด้วยความเคารพ ผมไม่อาจจะยอมรับได้ไม่ว่าจะทางความเป็นจริงหรือในทางหลักการทางกฎหมาย

รัฐบาล และศอฉ. มีเหตุผลอะไรที่หนักแน่นถึงขนาดพอที่จะพรากเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไป ถ้ายังอ้างเรื่องการควบคุมสถานการณ์ ผมเรียนว่า อย่างนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักความได้สัดส่วน เพราะ การประกาศเคอร์ฟิวเป็นระยะเวลา นานเกือบครึ่งเดือนขนาดนี้ ย่อมแสดงให้ประจักษ์โดยตัวของมัน เองแล้วว่า มาตรการนี้ "ไม่สัมฤทธิ์ต่อผล" ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ใน การควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาล และศอฉ. ต้องไปคิดมาตรการใหม่ๆที่สามารถสัมฤทธิ์ผลมากกว่านี้ และกระทบสิทธิเสรีภาพของประชา ชนน้อยกว่านี้ มาตรการเคอร์ฟิวไปเรื่อยๆแบบนี้ ภาษาปากเรียกว่า "ไม่เวิร์ค" หรือ "ไม่ เข้าท่า"

และหากจะมีการโต้แย้งว่าได้ขยาย เวลาห้ามออกจากเคหะสถานเป็น 24.00 -04.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มีกิจกรรมใดๆเกิดขึ้นแล้ว ไม่น่าจะกระทบอะไรมาก ผมก็อยากจะเรียนว่า ท่านๆที่อยู่ใน ศอฉ. และรัฐบาล ท่านอาจไม่กระทบอะไร เพราะวิถีชีวิตของท่านรวมทั้งผมเอง อยู่ในช่วงเวลากลางวัน แต่ท่านต้องไม่ลืมว่า ยังมีวิถีชีวิตยามค่ำคืน ผู้ประกอบอาชีพที่หาเลี้ยงครอบ ครัวของเขาในเวลาดังกล่าวจำนวน ไม่น้อย เช่น ร้านขายอาหารตามสั่ง ข้าวต้มโต้รุ่ง แท็กซี่ สถานบันเทิง หรือแม้กระทั่งตลาดสดขนาดใหญ่ เช่น ปากคลองตลาด หรือแม้กระทั่งกิจการย่านสีลมที่เป็นกำลังใจให้ท่านนายกรัฐมนตรีเสมอมา!!! หากลองคำนวณกันคร่าวๆ ความเสียหายกับผู้คนเหล่านี้ทั้งกรุงเทพมหานคร เผลอๆ อาจสูงกว่าที่ นปช. ปิดราชประสงค์กว่า 2 เดือนก็ได้ (ไม่รวมเหตุอัคคีภัย)

แต่ถ้ารัฐบาลและ ศอฉ. จะอ้างว่าเป็นคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่กระทบ ไม่ใช่คนทั้งหมดในกรุงเทพฯ ที่มีวิถีชีวิตช่วงค่ำคืน อาจอนุมานได้ว่า เสมือนไม่ได้มีการกระทบใดๆเลยต่อสิทธิเสรีภาพ ผมต้องเรียนว่า หากท่านมีฐานความคิดเช่นนั้น ผมก็คงถูกท่านตัดสิทธิเสรีภาพใน การประกอบอาชีพสื่อมวลชนตาม รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอนในสักวันหนึ่ง เพราะท่านก็จะอ้างว่า ผมเรียนกฎหมาย ไม่ใช่เรียนด้านสื่อสารมวลชน หากท่านจะตัดออกไป ผมก็คงไม่กระทบอะไร เพราะผมไม่ได้ใช้อยู่แล้ว อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

คงต้องย้อนกับไปดูบทความ "ทำไมมันจึงเรียกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"[1] ที่ได้อธิบายไปแล้วว่า สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ต้องมีในฐานะสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เพราะ มันเป็นสิ่งที่กำเนิดขึ้นพร้อมๆกับความเป็นมนุษย์ของเรา การที่เราจะใช้ไม่ใช้ย่อมเป็นสิทธิของเรา ไม่ใช่ท่านที่จะมาตัดสิทธิเสรี ภาพโดยที่อ้างเหตุผลด้านความ มั่นคง ซึ่งในวันนี้เราอาจต้องแย้งกลับ ไปว่า ใครมั่นคง? ประเทศมั่นคง หรือรัฐบาลมั่นคง แต่ที่ทราบประชาชนอย่างเราไม่มั่นคง(ในสิทธิเสรีภาพ)
 
เพื่อความมั่นคง หรือ โล่ของความกลัว?

การที่รัฐบาล และ ศอฉ. ประกาศเคอร์ฟิวต่อไปโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ความมั่นคงนั้น พิจารณาผิวเผินฟังดูเข้าที แต่ถ้าพิจารณาดีๆจะพบว่า รัฐบาลเองหวาดหวั่นและหวาดกลัวต่อการกลับมาล้างแค้น หรือเอาคืน จากกลุ่มบางกลุ่มที่รัฐบาลและ ศอฉ. อาจจะรู้ดีว่าตนเองได้ทำอะไรลง ไปบ้าง และสร้างความโกรธแค้นให้คนกลุ่ม นี้มากเท่าไหร่

หากจะป้องกันการชุมนุมอีกของคน เสื้อแดง อย่างนี้ ท่านเองคงต้องประกาศต่อไปจนกว่าจะหมดวาระของรัฐบาล และมีเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น เพราะทางเดียวที่จะทำให้กลุ่มเสื้อ แดงไม่กลับมาอีกอย่างที่ ท่านกลัว คือ เสื้อแดงต้องตายหมดทั้งประเทศ หรือไม่เขาก็เปลี่ยนใจมาเห็นพ้องด้วยกับท่านทุกคน ซึ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง

การประกาศเคอร์ฟิว ไม่ต่างจากโล่กำบังชั้นดีของรัฐบาล และ ศอฉ. ที่สร้างขึ้นจากสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนที่ถูกลิดรอนไป ใช้กำบังความหวั่นเกรง อันที่จริงแล้ว เพียงแค่เพิ่มมาตรการรักษาความ ปลอดภัยธรรมดา และตั้งด่านตรวจตราให้มากขึ้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดประกาศเป็นเคอร์ฟิว และหากสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นจริงๆอย่างที่ท่านอ้าง ท่านเองจะจัด Big Cleaning day ขึ้นทำไม? ปลอบใจตนเอง หรือหลอกคนกรุงเทพ?

 
บทสรุป

ท่านกลางความหวาดระแวง และหวั่นวิตกที่รัฐบาลและ ศอฉ. หยิบยื่นให้ประชาชน ผ่านประกาศเคอร์ฟิวมาตลอดระยะ เวลาเกือบครึ่งเดือน ประชาชนจำนวนมากยังคงไม่รู้สึกถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนยังเห็นดีเห็นงามกับการประกาศ เคอร์ฟิว หรือคิดว่าเป็นเรื่อง "เล็กน้อย" หรือ "ไม่กระทบ" วิถีชีวิตของตนเอง

แต่ต้องไม่ลืมว่า หากสิทธิเสรีภาพได้ถูกลิดรอนโดยประกาศเคอร์ฟิวไปเรื่อยๆ เราคงจะเผลอไปเคยชินไปสภาพแบบนี้เข้าสักวันหนึ่ง นับเป็นอันตรายอย่างร้ายกาจต่อ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการที่รัฐคิดว่าจะควบคุมสถานการณ์ ได้โดยการประกาศเคอร์ฟิวไปเรื่อยๆ ได้นั้นอาจเป็นกระจกสะท้อนได้ว่า รัฐบาลและ ศอฉ. ไม่มีความสามารถในการจัดการเรื่องราวใดๆได้เลย.
 
…………………….
 
[1] http://www.prachatai1.info/journal/2010/05/29608

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net