Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระบวนการพัฒนาประเทศของไทยนับแต่ก่อนและหลังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นว่า ดุลยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ถูกมองแยกส่วนกับการพัฒนาการเมืองจนกลายเป็นปัจจัยหลักที่ปิดกั้นกดทับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและอัตลักษณ์ รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางสังคม อันเป็นหัวใจหลักของการสร้างระบอบประชาธิปไตยในชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม และกลุ่มต่างๆ

สาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากโครงสร้างสังคมการเมืองไทยที่ยังมีปัญหาต่างๆ เช่น การรวมศูนย์อำนาจ ระบบอุปถัมภ์ การพึ่งพิงระบบราชการที่ไม่เป็นของประชาชน บทบาทของทหารในการเมือง ธุรกิจการเมืองและผลประโยชน์ทับซ้อน ประกอบกับโอกาสในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดตัดสินใจอย่างแท้จริงมีน้อย กระบวนการตรวจสอบไม่สร้างสรรค์ ขาดกลไกในการจัดการความขัดแย้ง รวมทั้งขาดสื่อที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างปราศจากอคติ ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลายฉบับที่ออกโดยอำนาจรัฐซึ่งมาจากชนชั้นนำและชนชั้นกลางบางกลุ่มโดยมิได้คำนึงถึงเสียงของคนทุกฝ่ายในสังคม จึงไม่อาจก่อให้เกิดการแปรสิทธิไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังมากนัก ตลอดจนการกล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเกินจริงของสังคมการเมืองไทยจนทำให้บดบังปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ ปัญหาการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ผิดพลาด ปัญหาในเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างชนชั้นกลางในเมืองกับคนราก หญ้าในต่างจังหวัด สะท้อนให้เห็นมุมมองต่อสังคมการเมืองที่ถูกตัดตอนโดยขาดการมองในเชิงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นปมปัญหาสำคัญของการเมืองไทย หากพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ผ่านมาในอดีตได้ดึงทรัพยากรจากชนบทต่างจังหวัด จากชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร ทั้งในรูปแบบของทรัพยากรธรรมชาติ ภาษี เงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ เข้ามาพัฒนาเมือง พัฒนาภาคอุตสาหกรรม และสร้างความทันสมัย (modernization) สะดวกสบายให้กับชนชั้นกลางในเมือง

ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การพัฒนาที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ก็ได้สร้างอำนาจในการกำหนดนโยบายหรือ “กำหนดชะตากรรมแห่งการพัฒนา” ให้กับชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองมากกว่าคนชนบทต่างจังหวัดอีกด้วย ส่งผลให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองได้กำหนดตัดสินใจและคิดแทน คนในชนบทต่างจังหวัดเสมอมา รวมกระทั่ง “การกำหนดตัดสินใจและคิดแทนทางการเมือง” ผลผลิตของกระบวนการนี้จึงออกมาในรูปของการไม่ยอมรับคะแนนเสียงของคนในชนบทต่างจังหวัดที่ถูกส่งผ่านการเลือกตั้งผู้แทนของพวกเขา เข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ในระบบการเมืองตาม ครรลองของระบอบประชาธิปไตย สะท้อนให้เห็นจากการก่อกำเนิด “วาทกรรมการซื้อเสียง” โดยชนชั้นกลางในเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ ผลผลิตในรูปแบบของการไม่ยอมรับฟังเสียงเรียกร้องของคนด้อยสิทธิ คนชายขอบ คนด้อยโอกาส คนยากจนจากกระบวนการพัฒนาในชนบทต่างจังหวัด รวมทั้งคนจนเมืองได้ถูกส่งผ่านการเมืองภาคประชาชนในรูปแบบของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือม็อบซึ่งมาทวงสิทธิในการพัฒนา ก็ถูกชนชั้นกลางส่วนหนึ่งทำลายความชอบธรรมด้วย “วาทกรรมม็อบเติมเงิน” หรือม็อบที่ถูกจ้างมาสร้างความเดือดร้อนให้ชนชั้นกลางในเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าว “กระทบต่อความทันสมัยและความสะดวกสบายของชนชั้นกลางในเมือง” ที่ต้องดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการจราจร การจับจ่ายซื้อของในย่านช้อปปิ้งกลางใจเมือง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างชนชั้นกลางใน เมืองกับคนรากหญ้าในชนบทต่างจังหวัดอันเนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ผิดพลาด ขาดการสร้างจิตสำนึกสาธารณะและการยอมรับความเป็นเจ้าของร่วมกันของสังคม ตลอดจนเคารพในสิทธิหน้าที่และพื้นที่ซึ่งกันและกัน

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 สะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างสังคมการเมืองส่วนล่างได้เกิด ความเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของสังคมประชาธิปไตยนี้กลับเกิดขึ้นอย่างกลายพันธุ์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไทยขาดกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองให้ราษฎรและประชาชนเข้มแข็งด้วยโอกาสในการเข้าถึงทุน สื่อ การศึกษาที่เป็นธรรมและมีคุณภาพ จึงส่งผลให้ราษฎรและประชาชนขาดจิตสำนึกในความเป็นพลเมือง ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม การตอบโต้อำนาจรัฐจึงแสดงออกในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงทางการเมืองและกระบวนการนอกกฎหมายเมื่อพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ เช่น การบุกตรวจค้นโรงพยาบาล การกดแตรรถเพื่อรบกวนสิทธิของบุคคลอื่นในเวลาเคลื่อนขบวนการชุมนุม การเผาธนาคาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สถานีโทรทัศน์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ ยางรถยนต์ หน่วยงานราชการ อาคารสถานที่ต่างๆ รวมทั้งปล้นสะดมร้านค้า และร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น หรืออาจเรียกสภาวะประชาธิปไตยที่กลายพันธุ์เช่นนี้ว่า “มวลชนาธิปไตย”

ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมและโอกาสระหว่างชนชั้นกลางในเมืองกับคนรากหญ้าในชนบทต่างจังหวัด ความเป็นสองมาตรฐานของการใช้อำนาจรัฐ สื่อกระแสหลักที่ไม่เป็นพื้นที่สาธารณะ ได้ตอกย้ำให้การ “แบ่งแยกและแตกต่าง” ไกลเกินกว่าประเด็นทางการเมืองเฉพาะตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่กลายเป็นความบาดลึกในสังคมการเมืองไทยที่ลึกซึ้งและชัดเจนยิ่งขึ้น จนมีการกล่าวกันว่าเป็น “ประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม”

ภาพสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากการที่ชนชั้นกลางในเมืองผูกขาดความชอบธรรมทางการเมืองและการใช้สื่อกระแสหลักยิ่งปรากฏอย่างชัดเจนในกรณีการไว้อาลัยและประณามการกระทำต่อสถานที่อันเป็นความทันสมัย ความสะดวกสบาย การช้อปปิ้งและยกระดับรสนิยม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ร่วมสมัยของวัยรุ่นและชนชั้นกลางในเมือง เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โรงภาพยนตร์สยาม และห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมทำความสะอาดที่อิงกับ “การตลาดทางการเมือง” ของกรุงเทพมหานคร (we care) ซึ่งมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ประกอบด้วยชนชั้นกลางในเมืองและวัยรุ่นยุคสังคมออนไลน์ที่เติบโต มาพร้อมๆ กับกระแสทุนนิยม การตลาด และสื่อยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่ระบบการศึกษาไทยยัง “ขาดการสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดและการคิดอย่างรอบด้าน” ให้กับวัยรุ่นยุคใหม่ในสังคมเมืองเหล่านี้

ในแง่สื่อกระแสหลัก การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การแต่งเพลง มิวสิควิดีโอสร้างอารมณ์ความรู้สึก การทำสกู๊ปภาพความเสียหายและผลกระทบจากการเผาสถานที่ต่างๆ ของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มากกว่าการทำสกู๊ปเรื่องราวของผู้บาดเจ็บผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในระบอบประชาธิไตยไทยอันเนื่องจากการเข้าสลายการชุมนุม สะท้อนให้เห็นว่า สื่อกระแสหลักไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนทุกกลุ่ม หากแต่เป็นพื้นที่ให้กับชนชั้นกลางในเมือง รัฐบาล ทหาร ปัญญาชนฝ่ายอำนาจรัฐ มากกว่าเป็นพื้นที่ให้กับคนรากหญ้าในชนบทต่างจังหวัด ปัญญาชนกระแสรอง และชนชั้นกลางอีกส่วนหนึ่งที่กำลังถูกอำนาจรัฐปิดกั้นกดทับสื่อกระแสรองของกลุ่มตนอยู่ในเวลาเดียวกัน การขาดโลกสาธารณะเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลให้เกิดกระแสตีกลับโดยการเลือกรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผ่านทางสื่อกระแสรองเฉพาะกลุ่มตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันจะยิ่ง “ต่างมีโลกของตนเอง” มากขึ้น เมื่อกลุ่มคนที่มีความคิดต่างกัน “ขาดโลกสาธารณะ” หรือไม่มีพื้นที่สาธารณะร่วมกัน จะยิ่งส่งผลให้โอกาสในการปรองดอง สมานฉันท์ สามัคคี เป็นไปได้ยากยิ่ง ในทางกลับกัน การแบ่งแยกและแตกต่างจะยิ่งทวีความซับซ้อนในลักษณะปฏิบัติการใช้ความรุนแรงแบบใต้ดินมากยิ่งขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net