Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากจะมีการจัดอันดับรัฐบาลพลเรือนที่มีความเป็นเผด็จการสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย ณ เวลานี้ รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ครองอำนาจระหว่างเดือนตุลา 2519 –  เดือนตุลา 2520 คงจะเจอคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

การปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง, ลิดรอนเสรีภาพในหลายมิติ, จับกุมประชาชนและนักวิชาการที่เห็นต่าง บิดเบือนข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น, ขาดความรับผิดชอบ, ยึดหลัก 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน ฯลฯ ของรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ต้องมาอภิปรายซ้ำกันอีก แต่ที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือ การที่พันเอกบางคนที่ชื่อคล้ายไก่พันธุ์พื้นบ้านของไทย ผู้มีบทบาทอย่างมากในการบิดเบือนข่าวสารและปราบปรามประชาชน (ขอสงวนนาม) กลับกลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของสาวๆ ในโลกไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตระหนกกว่า คือปฏิกิริยาของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่ให้ความชอบธรรมกับการปราบปรามเป็นอย่างสูง และมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่ความวุ่นวายระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2553 เท่านั้น โดยมิได้ตระหนักว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของกระบวนการอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธการยึดอำนาจจากประชาชนในปี 2549 และปี 2551 ซึ่งใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรก็คงเป็นที่ทราบกันดีจนไม่ต้องแจกแจงกันอีกแล้ว

อาจจะด้วยบริบททางประวัติศาสตร์, รากทางศาสนา และรากทางวัฒนธรรม ทำให้ชนชั้นกลางไทยแตกต่างจากชนชั้นกลางในอีกหลายประเทศ (ผมใช้คำ ชนชั้นกลาง ในความหมายกว้างอันเป็นที่เข้าใจกันนะครับ และจะไม่อภิปรายเชิงทฤษฎีเรื่อง Class ในที่นี้) ตรงที่มีความพยายามน้อยมากที่จะสลัดแอกของชนชั้นสูงออกไป อันที่จริง พวกเขาอาจไม่ได้มองว่าเป็นแอก แต่มองเป็นเกียรติยศเสียด้วยซ้ำที่ได้รับใช้อะไรบางอย่างอย่างสุดจิตใจโดยไม่คำนึงว่าจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในเชิงปัจเจกอันเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยก็ตาม เอาเข้าจริงแล้ว กรอบการมองโลกและวิธีคิดของชนชั้นกลางไทย อาจจะมีลักษณะอนุรักษนิยมและกลัวการเปลี่ยนแปลงมากกว่าชนชั้นกลางของตะวันตกอย่างเทียบกันไม่ได้ (ซึ่งก็มีบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะอีกชุดหนึ่ง) และหลายคนอาจจะพอใจกับลักษณะ “ไทยๆ” เช่นนี้

สำหรับชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ สิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมชาติที่ถูกละเมิด มีค่าต่ำกว่าความสงบ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งมีค่าต่ำกว่าบางอย่างที่สูงส่งเกินจะเอื้อมถึง

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า “ประเทศ”, “ชาติ” หรือของชนชั้นกลางไทย ไม่เคยรวมสิ่งที่เรียกว่า “เพื่อนร่วมชาติ” เข้าไปด้วย (หรือถ้ามี ก็คงมีค่าน้อยมากๆ อาจจะอยู่อันดับต่ำกว่าประเด็นเรื่องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวหรือเรื่องโลกร้อน)

ด้วยกรอบคิดนี้ คำว่า “สามัคคี”, “ปรองดอง”, “สมานฉันท์” จึงเป็นเพียงแค่หน้ากากที่สวมลงบนใบหน้าอันเต็มไปด้วยแผลเน่าเฟะ โดยไม่แม้แต่จะคิดถึงวิธีที่จะเยียวยาบาดแผลนั้นอย่างจริงจัง อันที่จริง พวกเขาอาจมองไม่เห็นบาดแผลเสียด้วยซ้ำ เพราะยาหลอนประสาที่พวกเขาเสพอยู่เรื่อยๆ ได้ทำให้เห็นเลือดและหนองเป็นดอกไม้หลากสี

ทุกวันนี้ สื่อ, รัฐ และชนชั้นกลางส่วนใหญ่ต่างพุ่งลูกศรแห่งความเกลียดชังไปยังเป้าที่ชื่อ นปช. ซึ่งแน่นอน ผมไม่ปฏิเสธว่า นปช. เองก็ใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่างจนเกินขอบเขตจนล้ำเส้นเข้าไปอยู่ในกรอบของการ “คุกคาม” และควรต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงหลักการและยุทธวิธี แต่อะไรเล่าที่ผลักพวกเขามาถึงจุดนี้ แค่การชุมนุมที่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม?  หรือแค่ตัวแกนนำบนเวทีเท่านั้นหรือ?

หลายคนอาจจะตอบว่าทักษิณ ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่า นั้น เพราะนอกจากทักษิณ, แกนนำ, หลักการที่ไม่มั่นคง, ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด (ในความเห็นผม ซึ่งไม่ตรงกับหลายคน) ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เริ่มจากการที่ “เสียง” ของพวกเขาถูกปฏิเสธในปี 2549 และหลังจากนั้นไม่นาน “เสียง” ของพวกเขาก็ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งชนชั้นกลางรวมถึงสื่อเองต่างก็กระทำราวกับรู้เห็นเป็นใจกับการปล้นชิงครั้งนั้น ยังไม่นับถึงการกระทำต่างๆ ที่อาจพูดถึงรวมๆ ได้ด้วยคำว่า “2 มาตรฐาน”

ผมคงไม่สามารถพูดแทนประชาชนผู้ร่วมชุมนุมได้ ว่าพวกเขาไร้เดียงสาและซื่อจนถูกหลอกลวง หรือก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ (อย่างที่หลายคนชอบอ้าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง) และคงไม่อ้าง “อำนาจ” จากการที่ผมได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมบางส่วน เพราะการชุมนุมที่รวมปัจเจกไว้เป็น จำนวนมากเช่นนี้ ต่างก็มีบุคคลหลายประเภท หลากหลายความคิด และหลากหลายวัตถุประสงค์ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การกระทำของรัฐ, สื่อ และชนชั้นกลางส่วนใหญ่หลังปี 2549 (และอาจจะก่อนหน้านั้น) ทำให้พวกเขาจำนวนมาก “เข้าถึง” สิ่งที่แกนนำพูดบนเวที และค่อยๆ ผลักให้พวกเขามาถึงจุดนี้

เพราะแม้แต่การเดินทางมารวมตัวกัน ...เผื่อว่า “เสียง” ของพวกเขาจะดังไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ก็ยังถูกตีความว่าเป็นเพียงเสียงผู้ไร้การศึกษาที่ถูกหลอก เสียงของคนโลภที่เห็นแก่เงิน เสียงของลิ่วล้อทักษิณ เสียงของผู้ทำลายความสงบและเศรษฐกิจ กระทั่งเป็นเสียงของ “ผู้ก่อการร้าย”

ผมไม่แน่ใจว่า ต้องรอถึงเมื่อไร เสียงของพวกเขาจะกลายเป็นเสียงของ “ประชาชนเพื่อนร่วมชาติ”

ความเรียงสั้นๆ นี้ คงไม่ได้เสนออะไรใหม่ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เกิดความสมานฉันท์ ผมเชื่อว่ารอยร้าวยังคงอยู่ และจะค่อยๆ แตกลึกไปเรื่อยๆ เพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่เป็น “ต้นเหตุ” จริงๆ ได้ ตราบนั้น ประเทศนี้ก็ยังคงอยู่ในวังวนของยาหลอนประสาทแห่งความสงบสุขร่มเย็นต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net