สัมภาษณ์ Mark Mackinnon ผู้สื่อข่าว The Globe and Mail ผู้อยู่ในเหตุการณ์วัดปทุมฯ

Mark Mackinnon ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์แคนาดา The Globe and Mail ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การต้องเดินทางเข้าออกวัดปทุมฯ เพื่อรายงานข่าวในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมของรัฐบาล

Q: ผมเข้าใจว่าคุณคงได้เล่าเรื่องนี้ซ้ำหลายรอบแล้ว แต่ผมก็คงจะต้องขอถามอีกหนหนึ่งว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ

A: เรื่องเวลานี่ผมไม่แน่ใจเท่าไรนัก คุณสามารถไปดูได้จากทวิตเตอร์ของผมได้นะ น่าจะแม่นยำกว่าความจำของผม เริ่มด้วยผมกับแอนดรูว์ (แอนดรูว์ บันคอมบ์ / Andrew Buncombe) นักข่าวชาวอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ The Independent เดินไปตามถนนอังรีดูนังต์เพื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เป็นเวลาประมาณเที่ยง ๆ ได้ที่พวกเราไปถึงบริเวณเวที แล้วก็เดินต่อไปจนถึง FCCT ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาเพราะว่าจากบน FCCT นั้น เราสามารถเห็นภาพการปะทะด้านล่าง และเรายังเห็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ จากนั้นเราก็ได้ SMS ซึ่งไม่แน่ใจว่าจาก ศอฉ. หรือเนชั่น หรือว่าเว็บ ThaiVisa.com บอกว่าทหารกำลังพักการปฏิบัติการ แอนดรูว์กับผมเลยคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่จะลงไปดูเหตุการณ์ข้างล่างและที่วัดปทุมฯ

เราเดินลงไปที่แยกราชประสงค์ ซึ่งแทบไม่เหลือใครแล้ว เห็นแต่ผู้หญิงคนหนึ่งถือธงอยู่ แล้วเราก็เดินไปถึงวัดประมาณบ่ายโมงหรือบ่ายสองโมง ตอนนั้นน่าจะมีคนอยู่ประมาณ 1,500 คน โดยหลังจากนั้นข่าวก็ออกว่ามีอยู่ 3,000 คน ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะผมก็ไม่ได้เดินดูอย่างละเอียด ในวัดนั่นเราก็สัมภาษณ์ผู้คนว่ามา ถึงวัดได้อย่างไร เมื่อเช้าเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ในวัดรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งบางคนก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนเชื่อว่าจะไม่มีใครโจมตีเข้ามาในวัด บางคนคิดว่าทหารนั้นเชื่อไม่ได้ พอประมาณห้าโมงเย็น เนื่องจากเคอร์ฟิวและเราต้องการหาที่ที่ปลอดภัยไว้เขียนข่าว เราก็เดินออกมาที่ถนนไปตามถนนพระราม 1 กลับไปราชประสงค์ แล้วตอนนั้นเราก็คิดว่าต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในวัดไว้บ้าง เผื่อว่าถ้าสถานการณ์อันตรายมากขึ้นจะได้โทรไปถามข่าวคราวได้

เราเลยเดินกลับมาที่วัด เมื่อถามได้หมายเลขโทรศัพท์บ้างแล้วก็เดินกลับมาด้านหน้า ตอนนั้นเองที่ผมเห็นด้วยตาตนเองว่าที่นอกกำแพงวัดมีคนยิงดอกไม้ไฟสองลูกไป ทางราชประสงค์ ซึ่งเวลานั้นเอง เพื่อนของผม นิค เพทัน วอลช์ (Nick Paton Walsh) จาก Channel 4 อยู่ที่ราชประสงค์ เขาบอกว่ามีทหารอยู่แถวนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือมีการยิงเข้ามาอย่างหนักที่บริเวณด้านหน้าของวัด ระหว่างโบสถ์กับประตูหน้า เราหมอบอยู่หลังรถกระบะสีน้ำเงินคันหนึ่ง กระสุนส่วนมากดูเหมือนจะมาจากด้านบน อาจจะเป็นจากรถไฟฟ้าหรือว่าอาคาร ผมก็ได้แค่เดา ภาพนี้คล้ายกับที่ผมคิดไว้ [ชี้ภาพทหารบนรางรถไฟฟ้า จาก นสพ. ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553] คือผมไม่รู้แน่ชัดว่ามันมาจากข้างบนเพราะมันเริ่มมืดแล้ว แต่ความรู้สึกคือมันมาจากด้านบน และผมทำงานในพื้นที่สงครามมาหลายแห่ง ผมฟังความแตกต่างได้ระหว่างเสียงกระสุนกระทบวัตถุกับเสียงกระสุนวิ่งผ่านไป และตอนนั้นมันเป็นเสียงกระสุนวิ่ง

เราหมอบหลบอยู่หลังรถกระบะสักพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มมีการยิงใกล้เข้ามามากจนได้ยินเสียงมันยิงโดนบริเวณรอบ ๆ ตอนนั้นผมกับคนจำนวนมากรอบ ๆ ก็รีบวิ่งไปยังด้านหลังของวัด แต่แอนดรูว์ไม่ได้วิ่งไป เขาคิดว่าหมอบหลบตรงนั้นจะปลอดภัยกว่า คุณสามารถไปตามอ่านที่แอนดรูว์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาได้ แต่สิ่งที่เขาบอกผมก็คือหลังจากหลบอยู่ตรงนั้นสักครู่ เขาก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาตามถนนพระราม 1 แล้วโดนยิงเข้าที่หลัง เขาพยายามเข้าไปถ่ายรูปแล้วก็โดนยิงเข้าที่ขา

หลังจากนั้น ผมและร็อบ ดอนเนลลัน (Rob Donnellan ล่าม) ก็วิ่งไปที่กุฏิ ตอนที่อยู่ในนั้นเองที่แอนดรูว์โทรมาบอกว่าเขาถูกยิง เราจึงกลับไปที่ด้านหน้า พยายามเข้าไปถึงตัวแอนดรูว์แต่ทำไม่ได้ แต่ก็มีกลุ่มหน่วยกู้ชีพที่นำตัวแอนดรูว์และคนอื่น ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บมาที่ด้านหลังซึ่งมีสถานพยาบาลแบบชั่วคราวอยู่ เราถามพวกเขาถึงจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และได้รับคำตอบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บ 10 คน หลังจากนั้นผมก็เห็นผู้เสียชีวิตอีกรายตรงหน้า จึงคิดว่าจำนวนทั้งหมดคือ 8 ราย แต่จำนวนในข่าวคือ 6 ราย ผมมีภาพหนึ่งที่ร็อบถ่ายได้ที่ดูเหมือนมีศพ 7 ศพ ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีแค่ 6 แต่อาจจะเป็นเรื่องของรูปทรงของผ้าที่ห่อไว้ทำให้ไม่แน่ใจนัก

ตอนนั้นก็มืดแล้ว ประมาณหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม ผมพยายามโทรศัพท์หากองบรรณาธิการ สถานทูต ผมโทรไปเล่าเหตุการณ์ให้ภรรยาฟัง ซึ่งเธอก็ติดต่อสภากาชาดสากล ผมพยายามโทรหาทุกคน แต่ก็ต้องอยู่ในนั้นอีกราว 3 ชั่วโมงกับผู้คนที่หวาดกลัวมากกับเสียงกระสุนปืนและระเบิดและรอคอยให้เกิดอะไรบางอย่าง จนในที่สุดก็มีหน่วยกาชาดหรือใครก็ไม่ทราบที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว คือทุกคนอยากได้รับการกล่าวถึงยกเว้นคนที่มาช่วยจริง ๆ ทั้งรัฐบาล สถานทูต และหนังสือพิมพ์ผม แต่คนที่มาช่วยจริง ๆ ไม่ต้องการถูกกล่าวถึง เขาโทรศัพท์มาหาผมแล้วบอกว่าจะส่งรถพยาบาลมาที่หน้าประตูและพวกเราต้องพาคนออกไป ตอนนั้นทุกคนในวัดรู้สึกกลัวว่ามันจะเป็นกับดัก ผมจึงเดินออกไปพร้อมกับยกมือ บอกรถพยาบาลว่าผมจะกลับมาอีกรอบ และผมก็แบกเปลพยาบาลเปลแรกไปที่รถด้วยตัวเอง แล้วก็ต้องช่วยแบกเปลทุกอัน มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่กล้าหาญมาก เขาตัวใหญ่ ใส่เสื้อสีขาวมีสัญลักษณ์กาชาด ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นอันตรายเท่าไร

พอขนผู้บาดเจ็บไปหมดแล้ว ผมเห็นว่าเหลือรถพยาบาลว่างอยู่หนึ่งคันก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าผมกลับไปพาเด็กมาขึ้นรถออกไปได้ไหม เขาตอบว่าไม่ได้ เพราะจะผิดข้อตกลงเรื่องหยุดยิง ซึ่งให้นำแค่เปลและคนบาดเจ็บออกไปเท่านั้น ผมเถียงกับเขาแต่เขาก็บอกว่าไม่ และจะนำรถออกไปแล้ว ผมจึงกลับไปบอกคนในวัดว่าพวกเจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะกลับมารับเด็กและผู้หญิงในตอนเช้าถ้ายังมีการต่อสู้กันอยู่ คือให้ร็อบช่วยแปลให้ แต่ผู้คนฟังแล้วก็ไม่ค่อยดีใจเท่าไรนัก จากนั้นเราก็แบกแอนดรูว์ออกไปเป็นคนสุดท้าย ซึ่งรถพยาบาลคันนั้นก็เกือบขับออกไปแล้วแต่พวกเราก็ขึ้นไป จริง ๆ ผมควรอยู่ที่นั่นต่อในคืนนั้นและผมก็รู้สึกแย่ที่ไม่ได้อยู่ แต่ผมก็ต้องออกมาเขียนข่าว

ผมไม่รู้ว่าคันอื่นขับไปที่ไหนแต่คันที่ผมนั่งนั้นมาส่งแอนดรูว์กับชายอีกหนึ่งคนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เขาทำการผ่าตัดให้แอนดรูว์ในคืนนั้นเลยและผ่าตัดอีกครั้งในวันศุกร์เพราะยังเหลือเศษกระสุนอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเหลืออยู่นิดหน่อย เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์มาที่โรงพยาบาลและตรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เจ้าหน้าที่บอกเราว่ามันดูเหมือนแผลจากกระสุนความเร็วสูงกระทบใกล้ ๆ เขาและแตกกระจายออก ทำให้มีรอยแผล 6 รอย และมีเศษทองแดงกับเศษตะกั่วอยู่ข้างในแผล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พยายามบอกว่ามันอาจจะเป็นแผลจากระเบิด ซึ่งไม่ได้น่าเชื่อถือเท่าไรนักเพราะพวกเขามีหลักฐานอยู่แล้ว ทำไมจะระบุไม่ได้

Q: คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นหนึ่งในนักข่าวไม่กี่คนที่ติดอยู่ในเหตุการณ์นั้น

A: ผมประหลาดใจเล็กน้อย คือนึกว่าใคร ๆ ก็จะไปที่นั่นเสียอีก แต่ที่นั่นมันน่ากลัวผมเลยเข้าใจว่าทำไมคนถึงออกไปจากที่นั่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก ผมคิดว่าถ้ามีการช่วยเหลือมากกว่านั้น สถานการณ์คงจะจบลงดีขึ้นกว่าที่เห็น เพราะว่ามีการหยุดยิง ความรุนแรงจึงหยุดลง ผมเคยทำงานในมาเลเซีย 4 ปี เคยไปที่อิรัก ฉนวนกาซ่า เลบานอน แต่คืนนั้นเป็นคืนหนึ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตของผม

Q: ในฐานะสื่อมวลชนในเหตุการณ์นี้ คุณพบความลำบากหรืออุปสรรคอะไรบ้าง

A: ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการรายงานข่าวจากสถานที่อันตราย ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือประเด็นบางอย่างที่คุณไม่สามารถพูดได้อย่างอิสระ หรือผู้คนกลัวที่จะพูดถึง แล้วก็เรื่องสื่อไทย คือเวลาคุณไปที่ไหนคุณก็จะต้องอาศัยสื่อท้องถิ่นในการรับข้อมูลข่าวสาร แล้วสื่อไทยดูเหมือนจะแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างมาก แล้วก็เล่าเรื่องด้านเดียว เหตุการณ์เลยกลายเป็นว่าสื่อต่างประเทศมีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือมากกว่า และในขณะเดียวกันสื่อใหม่ก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างมาก เช่นคนก็จะละทิ้งช่องทางปกติมาหาข้อมูลในทวิตเตอร์และเฟซบุคแทน น่าประทับใจทีเดียว

รัฐบาลก็ตั้งข้อสงสัยกับพวกเราบ้างอย่างมีเหตุผล พวกเขาให้เราเข้าถึงถ้าเราขอ ทหารก็เป็นมิตรดี กลุ่มคนเสื้อแดงก็เป็นมิตรดี ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจว่านักข่าวต่างชาติไปอยู่ที่นั่นทำไม ดังนั้นเรื่องที่มีเพื่อนของผมถูกยิงเสียชีวิตก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความจริงต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

สิ่งที่แปลกที่สุดสำหรับผมก็คือความเข้มงวดในการพูดถึงเรื่องบางเรื่อง และเรื่องที่การหลบในที่หลบภัยที่เป็นกลางนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันอะไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท