Skip to main content
sharethis

 

 

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2010  กรุงไคโร, ประเทศอียิปต์ หลังจากปีที่แล้วรัฐบาล อียิปต์สัญญาว่าจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลก็เรียกร้องให้มีการต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 2 ปี และได้รับการอนุมัติจากสภา ซึ่งจะทำให้พวกเขามีสิทธิ์ในการจับกุมใครก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ กักขังหน่วงเหนี่ยวได้ไม่เลือก จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม รวมถึงการคงอยู่ของศาลความมั่นคงพิเศษ

อียิปต์เป็นประเทศที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยาวนานมาก โดยตั้งแต่ 29 ปีที่แล้วหลังจากกรณีประธานาธิบดี อันวาร์ เอล-ซาดัท ถูกลอบสังหาร และผู้นำล่าสุดของอียิปต์ซึ่งปกติมักปิดปากเงียบก็ใช้ความยากลำบากอย่างมากในการให้เหตุผลถึงการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่ามาจากเรื่องการขนส่งยาเสพติดและเรื่องการก่อการร้าย ทางรัฐบาลบอกอีกว่าอาจมีการผ่อนผันบางมาตราของกฏหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่คำจำกัดความคำว่า 'การก่อการร้าย' นั้นมีความหมายกว้างมากในกฏหมายของอียิปต์ และภาษายุคใหม่ก็ดิ้นไปมาได้ ทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ถึงถูกวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษย์ชนและนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันที พวกเขาคาดหวังให้ประเทศมีความเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยก็ยังดี หลังจากการที่ใช้กำลังตำรวจและคุกเป็นที่เก็บกักปิดกั้นเสียงสะท้อนของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาโดยตลอด

"แม้จะบอกว่าอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะจำกัดอยู่แค่ที่การก่อการร้ายและการขนส่งยาเสพติด มันก็เป็นเรื่องแย่อยู่ดี" ฮอสซัม บาห์กัด ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิส่วนบุคคลชาวอียิปต์กล่าว "ที่อันตรายกว่านั้นคือ วัฒนธรรมเว้นโทษแก่ผู้มีอภิสิทธิ์ยังคงอยู่ ด้วยข้อความที่บ่งบอกว่ากลุ่มฝ่ายความมั่นคงนั้นอยู่เหนือกฏหมาย"

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อียิปต์จะมีการเลือกตั้งสภาสูง ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็มีมีการเลือกตั้งสภาล่าง และในปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่หลังการขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปก็ทำให้สังคมและการเมืองอียิปต์ขาดเสถียรภาพ

รัฐบาลอียิปต์ยังต้องเผชิญกับข่าวลือเรื่องสุขภาพของประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค มีคนงานประท้วงรายวันเรียกร้องค่าแรงและพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากการสนับสนุนของโมฮัมเม็ด เอลบาราดีย์ อดีตผู้เฝ้าระวังเรื่องนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ผู้ที่อาจลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยหน้า

จากรายงานของสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติปี 2552 ระบุว่ากฏหมายของอียิปต์ให้ความหมายของ 'การก่อการร้าย' ไว้ไม่เพียงแต่เรื่องการใช้ความรุนแรง แต่รวมถึง 'การข่มขู่คุกคาม' ที่มีเป้าหมายเพื่อ 'รบกวนความสงบหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงปลอดภัยของสังคม' นอกจากนี้แล้วในรายงานยังระบุอีกว่ากฏหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายของอียิปต์นั้น "มีการนำมาใช้ในวงกว้างและหลายจุดประสงค์ รวมถึง 'การขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ' ด้วย"

ซาราห์ เลียห์ วิธสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือบอกว่าขณะที่รัฐบาลตกลงจะไม่ใช้กฏหมายนี้ในการสอดส่องการสื่อสาร แต่จากรัฐธรรมนูญของอียิปต์ระบุว่ารัฐบาลสามารถกระทำการสอดส่องดังกล่าวได้

"การอ้างของรัฐบาลว่าต้องการใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการต้านการก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องโกหกอย่างเห็นได้ชัด" วิธสันกล่าว "จริง ๆ แล้วพวกเขาใช้กฏหมายนี้เพื่อจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองที่วิจารณ์รัฐบาล"

ไอดา เอลดอว์ลา ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับผู้ที่ถูกทรมานและถูกข่มเหง บอกว่ารัฐบาลอียิปต์บอกเสมอว่าพวกเขาใช้กฏหมายสถานการณ์ฉุกเฉินในการจับคนค้ายากับผู้ก่อการร้าย แต่พวกเขาก็แค่โกหกกันอย่างเป็นระบบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net