Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
เรียนอาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ที่นับถือ

ผมเฝ้าติดตามการทำงานในหน้าที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาจารย์อมรามาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษามาทางมานุษยวิทยาด้วยกัน นักมานุษยวิทยารุ่นเยาว์ผู้ห่วงใยสังคมไทยอย่างผมย่อมยินดีที่วิชาชีพทางมานุษยวิทยาจะได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรม ด้วยความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและกว้างขวางของสาระในวิชามานุษยวิทยาเพื่อการทำความเข้าใจมนุษย์ ผมเชื่อว่าวิชามานุษยวิทยาจะช่วยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเล็งเห็นถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดอ่อนตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศไทย แต่ผมสงสัยว่า อาจารย์อมราได้แสดงบทบาทของการเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เห็นแก่มนุษยธรรมอย่างลึกซึ้งจากการฝึกฝนให้ทำงานกับเพื่อนมนุษย์แบบนักมานุษยวิทยาหรือไม่

มานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน
พวกเรานักมานุษยวิทยาคงไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างจริงจังหรอก แต่ในขณะที่โลกก้าวมาสู่ยุคปัจุบัน ที่ความเป็นสากลของหลักการหลายๆ ประการเป็นที่ยอมรับ เป็นบรรทัดฐานสำหรับมนุษยชาติ พวกเรานักมานุษยวิทยาก็ยอมรับหลักการเหล่านั้นมาโดยตลอด อาจารย์อมราคงมิได้จะต้องมาถกเถียงกับผมในประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้หรอกนะครับ

เช่น การที่มานุษยวิทยาหลังฟราซ โบแอส บิดามานุษยวิทยาอเมริกันที่ผมมั่นใจว่าอาจารย์อมราก็จะต้องได้ศึกษามาไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยอาจารย์ก็ต้องนับได้ว่าเป็นหลานศิษย์ของลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งของโบแอส ได้ต่อสู้กับแนวคิดวิวัฒนาการที่หลงใหลในความสูงส่งชนชาติตนเอง (ethnocentrism) แล้วเขาเสนอให้ยอมรับว่า ความแตกต่างของมนุษย์ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือหรือด้อยกว่ามนุษย์อีกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจารย์ก็คงเคยสอนนักศึกษาว่า หลักการนี้พวกเราเรียกกันว่าวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) นอกจากนั้น หากใครร่ำเรียนมาทางมานุษยวิทยาแบบอาจารย์ ก็ย่อมทราบเช่นกันว่า โบแอสเป็นชาวยิว การที่เขาอพยพมาสหรัฐอเมริกานั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการเริ่มเกิดกระแสคุกคามชาวยิวในเยอรมนีในต้นศตวรรษที่ 20

หรือการที่นักมานุษยวิทยาอย่างโคลด เลวี-สโตรสส์ ได้รับการยกย่องจากแวดวงนักมานุษยวิทยาโลก ก็มิได้เพียงเพราะเขาแสดงความปราดเปรื่องแบบที่หลายๆ คนในโลกนี้ไม่สามารถทำได้ ด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์ของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในนิทานที่ดูไร้เหตุผลของคนทั่วโลกเท่านั้น หากแต่ด้วยความที่เขายืนยันมาตลอดถึงการที่มนุษย์ทั้งผองมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน อันแสดงให้เห็นจากความสลับซับซ้อนของวิธีคิดในบรรดานิทานต่างๆ ตลอดจนความสลับซับซ้อนของระบบความคิดของมนุษย์ทั่วโลก ที่แสดงในระบบต่างๆ ของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ การแต่งงานและเครือญาติ หรือแม้แต่อาหารการกิน

หากจะเล่าต่อไปเรื่อยๆ ถึงเกียรติประวัติของนักมานุษยวิทยาท่านต่างๆ ต่อการสร้างสรรค์ความเข้าใจกันและกันระหว่างมนุษย์ ผมและอาจารย์อมราก็คงจะแลกเปลี่ยนต่อกันไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด แต่สิ่งที่อาจารย์น่าจะเห็นตรงกับผมคือ มานุษยวิทยามิได้แยกตนเองจากกระแสโลก หลักการสำคัญๆ ของมานุษยวิทยาสอดคล้องไปกับหลักการสากล ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนพื้นฐานก็เช่นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาย่อมเห็นตรงกันว่า การทำลายชีวิตมนุษย์ และการปิดกั้นสิทธิในการแสดงตัวตนของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานทางวัฒนธรรมใดๆ ประเทศไทยจึงไม่ควรได้รับการยกเว้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


บทบาทต่อเหตุการณ์รุนแรง

แต่กระนั้นก็ตาม ผมยังไม่ได้เห็นบทบาทที่เหมาะสมของอาจารย์อมราต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเลย เรื่องที่เห็นได้ชัดในลำดับแรกเลยคือการที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นมา กระทั่งข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ต้องการการสืบสาวหาข้อสรุป ในกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 - 20 เมษายน 2553

อาจารย์อมราที่นับถือ ผมหวังว่าอาจารย์จะไม่ใช้วาทศิลป์ทำนองเดียวกันกับถ้อยคำที่รัฐบาลใช้เรียกปฏิบัติการเหล่านี้เลย เพราะนักเรียนมานุษยวิทยารุ่นเยาว์อย่างผม ที่คิดด้วยหลักการง่ายๆ ทางมานุษยวิทยา ก็ยังเห็นได้ไม่ยากว่า คนที่ยืนอยู่บนพื้นที่เหล่านั้นย่อมสำคัญกว่าพื้นที่และที่ว่าง หรือหากจะให้ผมอ้างนักทฤษฎีหรือใครต่อใครมายืนยันว่าคนสำคัญกว่าพื้นที่ ก็คงจะต้องยกชื่อนักมานุษยวิทยามาหมดโลกนั่นแหละ แต่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีและลึกซึ้งที่สุดคงไม่พ้นนักภูมิศาสตร์ชื่ออองรี เลอร์แฟบวร์ ที่วิพากษ์การทำพื้นที่ให้ไร้ความเป็นมนุษย์ เพื่อการที่ผู้มีอำนาจจะได้สามารถแปลงพื้นที่เหล่านี้ไปเป็นผลผลิตและการขูดรีดมนุษย์ ถ้าพูดแบบเลอร์แฟบวร์ ซึ่งอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ถ้อยคำแบบ ศอฉ.และรัฐบาลเป็นภาษาที่นายทุนอำมหิตใช้เข่นฆ่าผู้คนอย่างไม่เห็นหัวมนุษย์ชัดๆ

ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผมเห็นบทบาทอาจารย์อย่างชัดเจน ว่ามิได้แสดงความกระตือรือล้นที่จะประณามการกระทำของทุกฝ่าย และมิได้พยายามมุ่งค้นหาความจริง โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับฝ่ายรัฐบาลว่าได้ใช้กำลังติดอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตหรือไม่ แต่อาจารย์อมราในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลับให้ท้ายคำอธิบายของรัฐบาลอย่างน่าละอาย


บทบาทต่อการปิดกั้นสื่อ

ที่น่าละอายอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกำลังปล่อยให้บทบาทในการค้นหาความจริงในประเทศนี้ ตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยของสังคมบางคน ที่นั่งอยู่บนโพเดียม เป็นนักวิชาการติดเก้าอี้ แบบที่นักมานุษยวิทยาต้นศตวรรษที่ 20 วิจารณ์นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการในสมัยวิคทอเรียน แต่เที่ยวไปไล่ตัดสินใครต่อใครโดยมิได้พยายามทำความเข้าใจพวกเขาจากมุมมองของพวกเขาเอง

ผมคงไม่ต้องเท้าความไปมากมายนักถึงเรื่องการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก ด้วยการปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากเราจะไม่ยินดียินร้ายกับสื่อของ นปช. ผมก็ไม่เห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยินดียินร้ายกับการปิดสื่อที่เสนอความจริงหลายด้าน หลายระดับความลุ่มลึก อย่าง “ประชาไท” แต่ประชาไทก็คงจะไม่ยินดีนักหรอกหากเขาจะได้รับการยกเว้นแต่ผู้เดียว เพียงเพราะพวกเขาเสนอมุมมองหลายด้านหลายระดับความลุ่มลึก เพราะทุกวันนี้ ศอฉ.เองนั่นแหละที่เสนอข่าวปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ให้เกิดความแตกแยก อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยปราศจากคำประณามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

หากอาจารย์อมราเห็นว่าการประกาศแต่ละครั้งของ ศอฉ.จะก่อให้เกิดความมั่นคง ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติขึ้นมาได้ อาจารย์คงจะยังไม่ได้อ่านงานที่ศึกษาเหตุหนึ่งแห่งความรุนแรงในรวันดา รวมทั้งความสลับซับซ้อนของการทำให้คนดำกลายเป็นคนอื่นจนกระทั่งสามารถถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมได้อย่างสม่ำเสมอบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา หากจะยกเรื่องราวในสหรัฐฯ ประเทศที่อาจารย์อมราร่ำเรียนมาทางมานุษยวิทยาเอาไว้ก่อน เพราะต้องอาศัยกลวิธีการวิเคราะห์สื่ออย่างแยบยลพอสมควร แล้วมามองเฉพาะที่รวันดา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่การปลุกปั่นของสื่อมวลชนมีส่วนรับผิดชอบอย่างยิ่งนั้น ให้บทเรียนกับคนทั่วโลกอย่างตรงไปตรงมาแก่ประเทศไทย

กรณีการเสนอข่าวของศอฉ. ก็มีทิศทางที่เป็นไปได้ว่าจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกที่นำไปสู่การทำลายล้างชีวิตกันอย่างในรวันดา หากว่าสื่อมวลชนไทย คณะวารสารศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ของสถาบันอันทรงเกียรติทั้งหลายในประเทศไทย ที่แสดงออกอย่างสม่ำเสมอว่าพวกเขาไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการนำเสนอข่าวด้านเดียวของสื่อมวลชนไทย ไม่อยากเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเพื่อนร่วมโลก ผมก็ยังหวังว่าอาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิที่อาจารย์เป็นประธานอยู่ จะเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี

การที่ผมอ้างเรื่องราวในรวันดา คงไม่ทำให้อาจารย์อมราคิดเห็นเป็นว่า เรื่องที่รวันดาจะมาเทียบกับสังคมพุทธที่รักสงบอย่างเมืองไทยของเราได้อย่างไร แต่เพราะวิธีการทางมานุษยวิทยาย่อมสนับสนุนให้มีการศึกษาเปรียบเทียบบทเรียนจากสังคมต่างๆ เพื่อส่องสะท้อนแก่กัน และเพื่อให้ตระหนักว่าเราก็ไม่ได้ดีเด่นต่างจากเขาเท่าไรนัก

แต่หากอาจารย์จะอ้างแบบที่ใครต่อใครมักพูดกันว่า ประเทศของเรามีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่อื่นเป็นอย่างย่ิง เพราะเรามีใครต่อใครที่คำ้จุนหลักธรรมของประเทศอยู่ อาจารย์อมราก็ควรเลิกใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาเสียเถิด เพราะนั่นเท่ากับว่าอาจารย์อมราเลิกเชื่อในหลักการทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์ต่างสังคมไปแล้ว ผมเห็นว่า วิธีคิดในเชิงสัมพัทธ์นิยมดังกล่าวเป็นการบิดเบือนสัมพัทธ์นิยมมารับใช้อำนาจนิยมอย่างสามานย์ หาใช่สัมพัทธ์นิยมเพื่อมนุษยธรรมไม่


บทบาทต่อการคุกคามนักวิชาการ

อาจารย์อมราที่นับถือ อาจารย์คงมิได้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนจนมือเป็นระวิง จนกระทั่งไม่ทราบว่าขณะนี้มีเพื่อนนักวิชาการหลายคนกำลังถูกคุกคาม ถูกกักขัง ถูกไล่ล่า หลายคนในจำนวนนั้นอาจไม่ได้มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ ศอฉ. หลายคนยังไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ แต่กลับถูกตัดสินด้วยวิธีการประโคมข่าวให้เกิดความเกลียดชังผ่านการสื่อสารทางเดียวของรัฐบาล และถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว โดยมิได้ดำเนินคดี หากนี่จะยังมิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีอาจารย์อมราผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาเป็นประธานอยู่ควรเปลี่ยนชื่อ ด้วยการใส่สร้อยท้ายอะไรก็ตาม ให้หมดความเป็นสากลของแนวคิดสิทธิมนุษยชนไปเสียดีกว่า

แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ย่อมมีกฎหมายที่รับรองหรือปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ หากใครละเมิดอำนาจอธิปไตย ก็เท่ากับว่ากำลังทำลายสังคมนั้นอยู่ แต่ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ปวารณาตนเองว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ เราก็ต้องยอมรับได้ว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของบุคคลต่างๆ ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการแสดงออกและได้รับการรับฟัง ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การอ้างหลักการความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยมาเพื่อกำจัดความคิดเห็นที่แตกต่าง เท่ากับไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่ม

ผมสู้อุตส่าห์ใช้ความพยายามมากโข ในการศึกษางานรุ่นหลังทศวรรษ 1970 ที่นักมานุษยวิทยาอย่างเชอร์รี ออร์ตเนอร์ ประกาศให้พวกเราสืบสาวถึงบทบาทของมนุษย์ในการสรรค์สร้างพร้อมๆ กับถูกกระทำจากโครงสร้าง มานุษยวิทยาหลังแนวคิดมาร์กซิสม์ หลังแนวคิดโครงสร้างนิยม หลังแนวคิดสตรีนิยม จึงรุ่มรวยด้วยการยกย่องพลังในการต่อสู้กับระบบและโครงสร้างที่กดทับมนุษย์ หากนั่นจะไม่ถึงกับทำให้มานุษยวิทยากลายเป็นปัจเจกชนนิยมไปในชั่วข้ามทศวรรษ อาจารย์อมราคงเห็นด้วยกับผมว่า แนวโน้มใหม่ๆ ของมานุษยวิทยายิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความแตกต่างหลากหลายที่ไม่เพียงจำกัดเฉพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปสู่การยกย่องคุณค่าความหลากหลายของการสร้างสรรค์ของผู้กระทำการทางสังคมในโครงสร้าง (human agency) และคงไม่ใช่เฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ยากจน ไร้อำนาจต่อรองใดๆ อยู่ชายขอบหรือใต้ถุนสังคมเท่านั้น ที่เราจะประยุกต์ใช้หลักการนี้ด้วย

หากเราในฐานะนักมานุษยวิทยาจะยอมรับร่วมกันถึงความเท่าเทียมกันของความคิดเห็นที่แตกต่าง เราก็ไม่สามารถตัดสินคนอื่นๆ หรือความคิดที่แตกต่างอื่นๆ จากความคิดที่แตกต่างของเราได้ ความอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง คือมาตรฐานทางศีลธรรมแบบมานุษยวิทยาที่พวกเราสู้อุตส่าห์ฝึกฝนกันมาอย่างยากเย็นมิใช่หรืออาจารย์อมราที่นับถือ ผมเฝ้ารอดูอยู่ว่า ในเวลานี้อาจารย์อมราจะปกป้องสิทธิมนุษยชนในด้านการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของเพื่อนนักวิชาการอย่างไร อย่างน้อยที่สุด จะทำอย่างไรที่จะให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมแบบปกติของประเทศ มิใ่ช่กระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรมนูญที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกงดเว้นในสภาวะที่ใช้ พรก. ฉุกเฉินอยู่อย่างทุกวันนี้


บทสรุป

อันที่จริงผมไม่เคยลืมเลยว่า ผมสงสัยในความเป็นนักสิทธิมนุษยชนของอาจารย์อมรามานานแล้ว ดังที่ได้เห็นจากเมื่อหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจารย์อมรารับตำแหน่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ผมไม่สามารถยอมรับได้ว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 จะอยู่บนหลักการใดๆ ของหลักสิทธิมนุษยชน หรืออยู่บนหลักการใดๆ ของหลักมานุษยวิทยา แต่ผมก็ยังมิได้แสดงออกแต่อย่างใด เนื่องจากหวังว่า อาจารย์อมราในขณะนั้น อาจจะตัดสินใจอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยความหวังว่าจะได้นำเอาวิชาความรู้ทางมานุษยวิทยาเข้าไปหน่วงรั้งความเลวร้ายอันอาจจะเกิดขึ้นจากระบอบรัฐประหาร

แต่เมื่อเกิดการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ด้วยการยกเว้นบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พรก.ฉุกเฉินจึงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง แต่อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มิได้ประณาม หรือแม้แต่ทัดทาน ท้วงติง หรือมิได้แม้จะแสดงความเห็นตักเตือนรัฐบาลสักเพียงเล็กน้อย จนขณะนี้รัฐบาลได้บริหารประเทศในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินร้ายแรง” ในพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ มาเนิ่นนานจนในบางพื้นที่ อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกปกครองด้วยระบอบภาวะฉุกเฉินมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 50 วันแล้ว อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะปล่อยให้ระบอบภาวะฉุกเฉิน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง กลายเป็นบรรทัดฐานในการปกครองประเทศไปหรืออย่างไร

วิชามานุษยวิทยาในปัจจุบันมิได้มุ่งเพียงเพื่อให้มนุษยชาติมีความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ต่างๆ ทั่วโลก แต่มานุษยวิทยาปัจจุบันให้ความสำคัญกับการที่มนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างสังคม ต่างระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม ต่างชนชั้น จะรู้สึกถึงความสุข ความทุกข์ ของเพื่อนร่วมโลก ของมนุษยชาติ หากอาจารย์อมราจะไม่รู้สึกรู้สากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในขณะนี้ ผมก็ยังหวังว่าอาจารย์จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโดยไม่เคารพหลักการของวิชามานุษยวิทยา แต่หากอาจารย์ไม่รู้สึกรู้สากับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผมก็สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าอาจารย์จะยังคงเรียกตนเองว่านักมานุษยวิทยาได้หรือไม่

ด้วยความห่วงใยประเทศชาติและมนุษยชาติ
29 พฤษภาคม 2553
ยุกติ มุกดาวิจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net