วิพากษ์ข้อเสนอสมานฉันท์แรงงานไทย "อุดมการณ์กรรมกรสากลหายไปไหน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สวัสดีพี่น้องทุกท่าน

ต้องขอโทษเพื่อนและสหายในขบวนการแรงงานทุกคน ที่ต้องขอพูดตรงๆ ว่า จดหมายถึงนายกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฉบับนี้ ถือเป็นความอัปยศทางชนชั้นที่ร้ายแรงที่สุด  และไม่น่าเชื่อว่า ครสท. จะออกจดหมายฉบับแรกหลังการปราบปราบประชาชน ด้วยจดหมายนี้ ในนามกลุ่มขบวนการแรงงานที่ต้้งขึ้นมาเพื่อเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรอง และเพื่อประชาธิปไตย

น่าใจหายที่จดหมายฉบับนี้ไม่พูดถึงความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตของผู้คนในครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคประชาชนของประเทศไทย

ในขณะที่พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านจากชนบท คนจน คนงานในเมืองออกไปประท้วงเพื่อประชาธิปไตย แล้วถูกยิงทิ้งยังกะหมูกะหมากว่า 80 ชีวิต และอีกร่วม 2,000 ชีวิตได้รับบาดเจ็บและบางคนกลายเป็นคนพิกลพิการตลอดชีวิต คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นอกจากไม่มีแถลงการณ์ประนาณการกระทำของรัฐบาล  ยังส่งหนังสือถึงนายกเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง โดยมีนำพาเลยว่าตอนนี้สถานการณืของประเทศเป็นอย่างไร โดยไม่มีวิสัยทัศน์เลยว่าถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทุกครั้งที่ประชาชนลุกขึ้นพูด ก็เจอกับกระสุนปืนอย่างนี้ คนงานที่กำลังจะตกงานเป็นแสนคน เพราะทุนฉวยโอกาส และเพราะวิกฤติการเมือง จะสามารถลุกขึ้นสู้ได้อย่างไร เพราะขนาดชาวบ้านประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนยังกล้ายิง คนงานไม่กี่ร้อย กี่พันคนจะไม่ถูกจัดการแบบเดียวกันหรือ และถ้ากรรมกรไม่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิของชาวบ้านคนจนกลุ่มอื่น เวลากรรมกรโดนกระทำจากรัฐบ้าง คนจนและชาวบ้านจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิกรรมกรหรือ? อุดมการณ์กรรมกรสากลที่ว่า "กรรกรทั้งผองคือพี่น้องกัน ทำให้คนหนึ่งเจ็บ ก็เท่ากับว่าทำให้เราเจ็บด้วย" มันหายไปไหนหมดจากหัวใจของพี่น้องทุกท่านที่อยู่ใน ครสท.

แทนที่จะประนาม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อการสังการในการนำมาซึ่งชีวิตคนหลายสิบชีวิต และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท้จจริงที่เกิดขึ้น ครสท. กลับไปยื่นหนังสือถึงนายกเพื่อให้ดูแลคนงาน (เฉพาะคนงานเท่านั้นนะ คนจน ชาวนา ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ไม่เกี่ยว)  นี่ไม่ยิ่งช่วยประทับตราความชอบธรรมให้กับนายกที่ขาดความชอบธรรมนับตั้งแต่วันสั่งให้ใช้กระสุนจริงยิงประชาชนหรอกหรือ

ทั้งนี้ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่มีใครมีสิทธิพิพากษาชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความผิด และเมืองนอกในหลายประเทศก็ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตไปแล้ว อภิสิทธิ์มีสิทธิอะไรอนุญาตให้ทหารใช้กระสุนจริงยิงผู้ประท้วง จับกุมแกนนำที่ร่วมทั้งนักกิจกรรมด้านแรงงาน โดยไม่มีกระบวนการไต่สวน  อภิสิทธิแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นหนึ่งในคนที่ควรถูกจับกุม ไต่สวน และจองจำเช่นเดียวกับแกนนำผู้ประท้วงคนอื่นๆ

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการกระทำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ขาดวิสัยทัศน์แห่งชนชั้น และไม่เข้าใจถึงรากเหง้าของความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้  ครสท. และพวกเราสามารถหยุดความรุนแรงได้ ถ้าพวกเราร่วมกันต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม อภิสิทธิ์ต้องลาออกเพื่อให้มีกลไกอิสระมาดำเนินการตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตอนนี้สิ่งที่สังคมต้องการมากทีสุดคือนำความยุติธรรมกลับคืนมา ผุ้เสียหายทั้งหมดจะต้องรู้สึกพอใจกับกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขามีสิทธิมีส่วนร่วมตรวจสอบ ตราบใดที่ชาวบ้านที่ประท้วง หรือร่วมรับรุ้ปัญหาไม่รู้สึกว่ามีความยุติธรรมในสังคมไทย ปัญหามันไม่มีทางยุติ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะอนุมัติทุกอย่างตามข้อเสนอของ ครสท. ก็ตาม

ถ้าจดหมายนี้ยังไม่ส่งถึงอภิสิทธิ ขอเรียกร้องให้ ครสท. ทบทวนการเขียนจดหมายและการเข้าพบอภิสิทธิ์

สันติภาพ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ประธานสหภาพคนทำงานต่างประเทศ

 

....................................

 

 

ที่ คสรท. ๕๘/๒๕๕๓

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง  ขอเสนอมาตรการในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

เรียน  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายย่อย ในเรื่องการจ้างแรงงาน การลดการจ้างงาน การปิดกิจการ และความเสียหายของกิจการที่เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานที่ผ่านมาวางอยู่บนความเสี่ยงของการจ้างแรงงานที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะรับรองคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ลักษณะการจ้างงานที่เป็นรายวัน แบบรับเหมาช่วง รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่างๆ ขึ้นผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ
 
ดังนั้นด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงานระดับชาติ อันประกอบด้วย สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ๒๘ องค์กร จึงมีข้อเสนอต่อ ฯพณฯ ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาต่อผู้ประสบปัญหาต่างๆ ดังนี้

๑. รัฐบาลต้องมีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายย่อย ในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และประสานงานในการส่งต่อให้ได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางาน , กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น

๒. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติทางการเมือง จะต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเยียวและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างหรือผลกระทบอื่นๆ รวมไปถึงการป้องกันการเลิกจ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน  โดยจะต้องมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปเป็นกรรมการในระดับชาติ ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณากลไกการคุ้มครองแรงงานทุกระดับในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่งแท้จริง

๓. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบของการจ้างงานในภาะความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีหลักการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง  โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ โดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

๔. เสนอให้ภาครัฐเป็นตัวกลางในการประสานให้มีการจัดเวทีหารือร่วมในการแก้ไขปัญหา ในรูปแบบเวทีสาธารณะ ซึ่งมีรูปแบบในการแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันเสนอทางออกในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม เช่น ลูกจ้างผู้ประสบปัญหาในสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ , ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ , องค์กรแรงงาน , องค์กรนายจ้าง และเจ้าของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

จึงเรียนท่านมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อเสนอในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท