Skip to main content
sharethis

30 พ.ค.53 - เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 70 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้

ช่วงที่ 1   

การยกเลิกเคอร์ฟิวคืนแรกเหตุการณ์เรียบร้อยดี 

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ เมื่อคืนที่ผ่านมาก็เป็นคืนแรกที่ไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ  ซึ่งเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมาก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  อย่างไรก็ตามการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดนั้น ขณะนี้ก็ยังประกาศใช้อยู่  ซึ่งผมจะได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีความเหมาะสมจะได้มีการดำเนินการในการผ่อนคลายข้อกำหนดต่าง ๆ หรือยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินไปในที่สุด 

สำหรับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหลายนั้น เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสชี้แจงกับทางเอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนขององค์กรภาคธุรกิจต่างประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล รวมไปถึงการได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางสื่อมวลชนต่างประเทศด้วย  ซึ่งในช่วงที่ 2 ของรายการนี้ จะได้มีการนำเอาการบันทึกการชี้แจง และการตอบข้อซักถามต่าง ๆ มาให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบด้วย 

3 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึงร้อยละ 12

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ก็คืองบประมาณที่เราจะใช้กันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม  ผมต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับหลักการกฎหมายงบประมาณ และจะมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ  ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป  ผมขอเรียนครับว่าในเรื่องของงบประมาณและเรื่องของเศรษฐกิจนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่าเศรษฐกิจของไทยนั้นขยายตัวถึงร้อยละ 12 เป็นการขยายตัวซึ่งถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อาจจะรองลงมาจากประเทศสิงคโปร์และอีกบางประเทศในภูมิภาคนี้  แต่ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่เข้มแข็งมาก  เพราะว่าปีที่แล้วระยะเวลาเดียวกันนั้น เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 7.1 การฟื้นตัวครั้งนี้ตัวเลขที่ปรากฏออกมา 3 เดือนแรกนั้นก็ปรากฏว่าการส่งออกก็เข้มแข็งมาก  ขยายตัวร้อยละ 30 กว่า ๆ การท่องเที่ยวก็ขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 30 การบริโภคภายในประเทศก็มีความเข้มแข็ง และที่สำคัญคือว่าแม้กระทั่งการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณไปในทางที่ดี  ซึ่งหมายความว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้  เป็นการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก  ซึ่งค่อนข้างที่จะสมดุลและรอบด้าน รายได้ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ล้วนแล้วแต่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านเลย 

อย่างไรก็ตามครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และเหตุการณ์ที่มีความวุ่นวายที่ผ่านมา ก็เป็นที่คาดการณ์ครับว่าในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนนี้และเดือนมิถุนายนนั้น ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็คงจะเป็นภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน  เพราะฉะนั้นแม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 3 เดือนจะอยู่ที่ร้อยละ 12 แต่ว่าประมาณการทั้งปี  ซึ่งถ้าหากว่าเป็นเหตุการณ์ปกติก็หมายความว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ถึงเกือบ 6-7 เปอร์เซ็นต์ เราก็ยังคงประมาณการเอาไว้ว่าคงจะเป็นอยู่ในระหว่าง 35-45 เปอร์เซ็นต์สำหรับปีนี้  ซึ่งรัฐบาลก็จะได้เร่งในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป 

1 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเข้มแข็งฟื้นตัวอย่างดี

เครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจก็คืองบประมาณครับ งบประมาณปีนี้รัฐบาลได้จัดไว้ที่ 2,700,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุลประมาณ 400,000 กว่าล้าน  ซึ่งงบประมาณนี้เป็นงบประมาณที่นำเอาเรื่องของการงบประมาณ หรือการเงินการคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน  ที่พูดเช่นนี้ก็มี 2 เหตุผลครับ เหตุผลแรกที่คือในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีที่แล้ว รัฐบาลคิดว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินพิเศษเป็นกรณีพิเศษนั้นถึง 800,000 ล้านบาทเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ว่าหลังจากที่การบริหารงานผ่านไปประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าเศรษฐกิจเติบโตเข้มแข็งฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการที่จะกู้ยืมเงินพิเศษ 400,000 ล้านบาทหลัง  ซึ่งเดิมจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นั้นก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  แต่โครงการที่จะมีการดำเนินการในการใช้เงินกู้ตรงนั้น  ซึ่งเป็นโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของถนนหนทาง แหล่งน้ำ โรงเรียน  โรงพยาบาล และเรื่องอื่น ๆ นั้น ยังเป็นความตั้งใจของ รัฐบาลที่จะลงทุนอยู่  โดยเดิมนั้นการใช้เงินกู้ก็จะใช้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า  

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือว่านำเอาการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท จากพ.ร.บ.กู้เงินนั้นกลับเข้ามาสู่ระบบงบประมาณ ก็หมายความว่าที่ได้มีการขาดดุลเพิ่มเติมนั้น  ก็มีการนำเอาโครงการตรงนั้นมา 100,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณอีก 2 ปีถัดไป งบประมาณปี 55 ปี 56 ก็จะสามารถเดินหน้าตามแผนของการลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งได้  ต้องชี้แจงอย่างนี้ครับ เพราะว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่หลายพื้นที่จะทราบว่า มีอะไรบ้างอยู่ในแผนของการลงทุนไทยเข้มแข็ง แต่ขณะนี้อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในรายการงบประมาณปี 54 ก็ขอให้มีความมั่นใจว่าโครงการเหล่านั้นคือโครงการที่จัดลำดับความสำคัญไว้สูงสุดสำหรับการลงทุนในปี 55 และปี 56   

งบฯ ปี 54  เดินหน้าการดูแลสวัสดิการของประชาชนเป็นสำคัญ 

ผมขอเรียนครับว่าจากการที่เราดึงเอาการลงทุนเข้ามาในงบประมาณปี 54 นี้ก็ทำให้สัดส่วนงบประมาณในด้านการลงทุนของงบประมาณทั้งหมดปีนี้ขยับกลับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16  ซึ่งที่จริงแล้วเราอยากจะให้เกินร้อยละ 20 แต่ในช่วงวิกฤตนั้นก็ต้องมีการตัดการลงทุนลงมา เพราะว่าขาดรายได้จากภาษีอากร ปีที่แล้วลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 12 เพราะฉะนั้นงบประมาณนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงการย้อนกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปกติ อย่างไรก็ตามครับ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารายจ่ายประจำ ซึ่งขณะนี้สูงถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณทั้งหมด  จะเป็นงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่  ผมขอเรียนครับว่ารายจ่ายประจำในที่นี้ไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องของเงินเดือน หรือการบริหารของราชการ แต่จะรวมรายจ่ายสำคัญตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลมุ่งที่จะสร้างสวัสดิการให้กับพี่น้องประชาชน  

เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จัดไว้สำหรับปี 54 นั้น ก็ยังเป็นงบประมาณที่จะดูแลในเรื่องของการเรียนฟรี 15  ปี จะเป็นงบประมาณที่ดูแลในเรื่องของเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกับพี่น้องประชาชนกว่า 5 ล้านคน มีการจัดเบี้ยสำหรับคนพิการ 800,000 กว่าคน มีเรื่องของการเพิ่มงบประมาณต่อหัวในโครงการรักษาพยาบาลฟรี  ซึ่งเดิมเป็นโครงการ 30 บาทนั่นเอง มีการจัดงบประมาณไว้สำหรับการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งจะเพียงพอต่อการดูแลเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวนั้นสามารถที่จะดำเนินการในเรื่องของการประกันรายได้ได้ 2 รอบเช่นเดียวกัน  เพราะฉะนั้นงบประมาณทั้งหมดนี้  จะเป็นงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  นำในเรื่องของโครงสร้างทางการเงินการคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  มีการเดินหน้าในเรื่องของการดูแลสวัสดิการของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และดำเนินการในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น   

สำหรับการขาดดุลประมาณ 400,000 กว่าล้านนั้น ก็อยากจะขอเรียนว่าเป็นการขาดดุลซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศนั้น ยังอยู่ในระดับซึ่งควบคุมได้  จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเริ่มต้นวิกฤตมีการประมาณการกันว่าหนี้สาธารณะของประเทศพอสิ้นปีนี้อาจจะต้องเกินร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวม ขณะนี้จะไม่ถึงร้อยละ 50 แล้ว และคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการให้เริ่มลดลงได้ในระยะเวลาต่อไป  ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับหลายประเทศในโลกในขณะนี้  พี่น้องประชาชนที่ติดตามข่าวสารจะทราบว่าประเทศในยุโรปก็ดี  และอีกหลายประเทศก็ดี  ซึ่งดำเนินมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องหนี้สาธารณะ  ซึ่งเกินเลยไปถึงร้อยละ 70-80 ร้อยละ 100 หรือเกินร้อยละ 100 ก็ยังมี  ก็ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าสำหรับกรณีของประเทศนั้นไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน นั่นก็คือเรื่องของงบประมาณและเรื่องของเศรษฐกิจที่ได้มีการผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการงบประมาณที่ดำเนินการไปราบรื่นเช่นนี้ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของประชาคมโลกด้วย เพราะว่าเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์วิกฤตที่ร้ายแรงมา   

สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์  ก็ขอเรียนครับว่ามีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความสูญเสีย ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกกลุ่มเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการดูแล และทุกกลุ่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของเงินตรา ทุนทรัพย์ แม้กระทั่งการที่ทรงเข้าไปดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรง  เช่น ชุมชนบ่อนไก่  รัฐบาลก็เช่นเดียวกันครับได้ดำเนินการในการช่วยเหลือสำหรับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บนั้น  ก็มีเกณฑ์ความช่วยเหลือ ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ได้มีการดำเนินการไปตามปกติ   

กระทรวงต่าง ๆ และกทม.เข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

เช่นเดียวกันครับการฟื้นฟูชุมชนต่าง ๆ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีการมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  รวมไปถึงท้องถิ่น โดยเฉพาะก็คือกรุงเทพมหานครในการเข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่บ่อนไก่ พื้นที่ดินแดง ฟื้นฟูในเรื่องของสาธารณูปโภค และให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูจิตใจของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมเองได้มีโอกาสไปเยี่ยมบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีทั้งในส่วนของทหาร อาสาสมัคร และพี่น้องประชาชน ก็ต้องขอชื่นชมในความเข้มแข็ง และในกำลังใจของทุก ๆ คนที่ผมได้มีโอกาสเยี่ยมในวันนั้น 

สำหรับในเรื่องของการช่วยเหลือผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ก็ขอเรียนครับว่าเดิมนั้นเรามีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มีท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้มีเป้าหมายก่อนหน้านี้ในการช่วยเหลือในเรื่องของบุคคลที่ตกงาน และเรื่องของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีปัญหาในการเสียค่าเช่า แต่ไม่สามารถประกอบกิจการได้  ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะว่ามีเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม  โดยเฉพาะที่ทำให้มีปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการช่วยเหลือ  ซึ่งงานของคณะกรรมการชุดนี้ก็ยังดำเนินการต่อไป  เบื้องต้นนั้นในส่วนของปัญหาการว่างงานก็ดี  ปัญหาการเสียค่าเช่าก็ดี หลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วก็คือว่าในส่วนของการดูแลในการจ้างงาน ก็คือกิจการใดซึ่งไม่สามารถประกอบกิจการได้ แต่ว่าไม่เลิกจ้างงาน รัฐบาลก็เข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของค่าจ้าง  ในส่วนของค่าเช่าก็เช่นเดียวกันครับ  จะมีหลักการว่าไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการรายย่อย  และรัฐบาลจะเข้าไปดูแลในการเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไป   

รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ตกงานและลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม

นอกจากนั้นครับสำหรับคนที่ตกงาน ผู้ที่มีสิทธิตามประกันสังคมอยู่แล้ว รัฐบาลก็จะสมทบให้อีก 7,500 บาท  และสำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเงินจำนวนเดียวกัน ก็จะมีการจ่ายให้ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างถ้าเป็นผลกระทบโดยตรงมาจากการชุมนุม  สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ในวันที่ 19 พฤษภาคม  ซึ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ก็จะมีที่สยามสแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นเตอร์วัน มาตรการขณะนี้คือว่าเราได้เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนวันที่ 31 พฤษภาคม คือวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่จะมีการขึ้นทะเบียนสำหรับกลุ่มนี้  แต่ว่าได้มีมติในการช่วยเหลือชัดเจนแล้ว เบื้องต้นคือมีเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท เพื่อที่จะเป็นทุนในการดูแล ในการใช้ชีวิตในขณะที่ประสบกับปัญหาที่เกิดเพลิงไหม้ และอาจจะสูญเสียทั้งร้านค้าและสินค้าของตัวเอง  มีมติเช่นเดียวกันว่าให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือธนาคารเอสเอ็มอี ได้ให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินต้นในช่วง 1 ปีนี้  และไม่มีการคิดดอกเบี้ย และมีวงเงินให้อีก 700,000 บาท  รวมกันแล้วก็จะเป็น 1 ล้านบาท ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 หรือไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของทุนในการประกอบการ หรือเงินทุนหมุนเวียนต่อไป 

จัดงบฯ 90 ล้านให้จุฬาฯ จัดหาสถานที่ช่วยผู้ประกอบการที่ประสบเพลิงไหม้

สำหรับการจัดหาสถานที่ในการช่วยผู้ประกอบการซึ่งประสบเพลิงไหม้นั้น กรณีของสยามสแควร์ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้มีการจัดสถานที่ ทั้งลักษณะที่เป็นชั่วคราวก่อน และต่อมาก็จะมีการสร้างอาคารกึ่งชั่วคราวกึ่งถาวร ที่จะใช้บริเวณในสยามสแควร์นั่นเอง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถขายของในพื้นที่ดังกล่าวได้  รัฐบาลก็ได้จัดงบประมาณให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วประมาณ 90 ล้านบาท และการดำเนินการตรงนี้จะไม่คิดค่าเช่า คาดว่าจะเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี  ในขณะที่มีการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูอาคารที่ได้รับความเสียหายไป ส่วนกรณีของเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ข้อเสนอเบื้องต้นคือว่าผู้ประกอบการจะสามารถไปขายของได้ที่สาขาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เซ็นทรัลเวิลด์เสนอมาก็คืออาจจะเป็นที่เซ็นทรัลลาดพร้าว โดยจะต้องมีการเจรจาระหว่างทางกลุ่มบริษัทกับทางการรถไฟฯ เนื่องจากว่าเซ็นทรัลลาดพร้าวอยู่ในช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสัญญาการเช่า  ถ้าหากว่าเรียบร้อยก็จะดำเนินการไปตามแนวทางนี้ แต่ว่าถ้าหากว่าไม่เรียบร้อย รัฐบาลก็จะใช้แนวทางเดียวกับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำกับสยามสแควร์  เราก็จะพยายามหาที่ของรัฐหรือที่ของทรัพย์สิน  ในการที่จะดูว่าจะสามารถจัดให้มีการค้าขายชั่วคราว อาจจะเป็นระยะเวลาประมาณ 1ปี โดยรัฐบาลก็จะมีการออกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ ซึ่งจะรวมกับกลุ่มผู้ค้าในบริเวณเซ็นเตอร์วันเช่นเดียวกัน 

ขณะเดียวกันนะครับ วันศุกร์ วันเสาร์ คือเมื่อวานซืนและเมื่อวานที่ผ่านมานี้เอง ได้มีการจัดโครงการในการปิดถนนสีลม ในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถที่จะมาค้าขายได้  ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้ไปอุดหนุน  ผมเข้าใจดีเลยว่า มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้ตัดสินใจไปซื้อของอุดหนุนผู้ประกอบการเหล่านี้  ก็เพราะว่ามีความเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ กิจกรรมลักษณะนี้ก็จะมีการดำเนินการอีกเป็นระยะ ๆ  ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของทางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราได้ประสานงานไปร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์  และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบรายย่อยด้วย  ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือและการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมด  

สภาฯ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 31 พ.ค.-1 มิ.ย.

ผมขอเรียนครับว่าสำหรับวันพรุ่งนี้และวันมะรืนนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผม และรัฐมนตรีอีก 4-5 ท่าน ซึ่งก็เป็นเรื่องของกระบวนการตามประชาธิปไตย  รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา  ผมก็หวังว่าการอภิปรายนั้นจะเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงและเหตุและผลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบ และทุกฝ่ายจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ไม่ให้เวทีนี้เป็นเวทีที่จะไปสร้างความแตกแยกเพิ่มเติม   

อย่างไรก็ตามนะครับผมขอเรียนว่าในส่วนของแผนการปรองดองนั้น ก็มีการเดินหน้าอย่างเต็มที่ ภายในสัปดาห์หน้าจะเร่งรัดในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระทั้งที่เข้ามาดูแลในเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปมปัญหาทางการเมือง เรื่องของการจัดทำสมัชชารับฟังความคิดเห็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือปฏิรูป ประเทศ  ซึ่งขณะนี้โครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว มีการใช้ความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้กระทั่งการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน การจัดการประชุม  การจัดสมัชชา และผมก็ขอเชิญชวนอีกครั้งหนึ่งครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกของรัฐต่าง ๆ  องค์กรภาคธุรกิจเอกชน ที่จะมาทำโครงการไม่เพียงแต่เฉพาะเพื่อหวังผลในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะเป็นกระบวนการที่ช่วยกันทำความเข้าใจ และรวมน้ำใจของพี่น้องประชาชนให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ผมจะได้รายงานให้กับพี่น้องประชาชนรับทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป พักกันสักครู่นะครับ ประเดี๋ยวกลับมาดูการบันทึกการชี้แจงที่ผมได้ดำเนินการต่อเอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศ ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร สวัสดีค่ะวันนี้รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ พาคุณผู้ชมมาที่ทำเนียบรัฐบาลค่ะวันนี้ดิฉัน พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ทำหน้าที่พิธีกรรับเชิญนะคะ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ถือได้ว่าสวยงาม ร่มรื่นและกลับมาเป็นศูนย์บัญชาการบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งค่ะ หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองนั้นสงบลง วันนี้พาคุณผู้ชมมาที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามภารกิจของท่านนายกรัฐมนตรีนะคะ ที่เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับคณะทูตานุทูตและสื่อมวลชนจากต่างประเทศทั่วโลกเพื่อที่จะชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมไปถึงก้าวย่างของประเทศไทยที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคตค่ะ ช่วงนี้เชิญคุณผู้ชมไปติดตามบรรยากาศภายในทำเนียบรัฐบาลกันค่ะ

(นายกรัฐมนตรีกล่าวกับคณะทูตานุทูตและสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษ )

พิธีกร (คำแปลภาษาไทย) ในช่วงแรกนะคะท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณแขกผู้มีเกียรติไม่ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูต ประธานสภาหอการค้า และองค์กรระหว่างประเทศ ที่วันนี้ได้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบปะพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์บ้านเมืองค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่ารู้สึกขอขอบคุณที่วันนี้ในภาคส่วนต่าง ๆ เอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศรวมไปถึงแขกผู้มีเกียรติที่เป็นชาวต่างชาตินั้นได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสถานการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมาค่ะ

ก่อนที่จะเปิดเวทีให้มีการซักถามและพูดคุยกันในรายละเอียดท่านนายกรัฐมนตรีก็ขอใช้เวลาช่วงนี้ในการที่จะชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้นะคะ รวมไปถึงแผนการณ์ที่รัฐบาลจะดำเนินต่อไปข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องการทำนั่นก็คือเรื่องของการลดการเผชิญหน้าและไม่ใช้ความรุนแรง

ในช่วง 1 ปีครึ่งของการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเองก็จะต้องเผชิญกับหลาย ๆ เรื่อง มีการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ามาโดยตลอด ทางรัฐบาลโดยตัวท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ มีการพูดคุยเจรจากับทางแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือว่า นปช.ซึ่งออกมาเคลื่อนไหว

ซึ่งต่อมาก็พบว่าในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธเพื่อที่จะต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่ค่อนข้างจะยากลำบากของรัฐบาลที่จะต้องจัดการแก้ไขปัญหา หลังจากที่มีการพูดคุยเจรจากันซึ่งก็ใช้เวลาอยู่หลายสัปดาห์ ก็มีการลดในส่วนของเงื่อนไขของทั้งสองฝ่ายมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำหนดการวันเลือกตั้ง ที่ทางรัฐบาลก็ได้ลดทอนลงมา

การชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้กระทบกับการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มีหลาย ๆ หลักฐานนะคะไม่ว่าจะเป็นภาพฟุทเทจที่หลาย ๆ คนก็คงจะได้เห็นกันไปแล้วว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็มีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในนั้นด้วย

ท่านนายกฯ ก็พูดทำความเข้าใจเรื่องของคำว่าผู้ก่อการร้าย ที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยนะคะ หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐบาลจึงเรียกกลุ่มคนก่อความไม่สงบนี้ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงว่าเป็นคำนิยามตามข้อตัวบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการก่ออาชญากรรม ตามกฎบัตรของสหประชาชาติที่บัญญัติคำนี้ขึ้น หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐอเมริกาค่ะ

ท่านนายกฯ ได้พูดถึงมาตรการกระชับพื้นที่นะคะ เน้นย้ำว่ารัฐบาลทำภายใต้แนวคิดให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด มีการวางแนวกำลังเพื่อตรวจค้นและสกัดกั้นไม่ให้แนวร่วมนปช. นั้นเข้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นก็คือการยุติการชุมนุม ซึ่งมาตรการนี้ก็ได้ผล เพราะว่าถ้าดูจากจำนวนของกลุ่มผู้ชุมนุมจากเดิมที่อยู่ที่หลักหมื่นคนก็มีจำนวนลดลง เหลืออยู่ที่ราว ๆ 3,000 - 4,000 คนเท่านั้นที่บริเวณราชประสงค์ค่ะ

นายกรัฐมนตรีพูดถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนะคะว่า มีกลุ่มผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุม และมีการชุมนุมที่ทั้งบริเวณสวนลุมพินีและสารสินด้วย พยายามที่จะโจมตีนักข่าว กลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ ซึ่งระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจยึดอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมากค่ะ มาถึงวันที่เจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ก็มีการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการจะเดินทางกลับบ้าน และมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ก่อความไม่สงบ วางเพลิงเผาสถานที่ราชการห้างร้านต่าง ๆ แกนนำนปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมงนะคะ แต่ว่าจนถึงช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. หรือประมาณ 1 ทุ่ม ก็ยังมีเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้นที่วัดปทุมวนารามค่ะ

นายกฯ พูดถึงแผนปรองดอง 5 ข้อด้วยนะคะว่าได้เสนอให้กลุ่มนปช. แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ขณะที่เรื่องของการเจรจาที่วุฒิสมาชิกเสนอว่าจะเป็นตัวกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าที่ไม่เลือกใช้ช่องทางนี้เพราะว่ามองว่าการเจรจานั้นอาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากประเมินสถานการณ์แล้วแกนนำนปช. ยังคงมีการระดมแนวร่วมเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทางรัฐบาลก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมนะคะ โดยทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

จนถึงขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีอำนาจบังคับใช้อยู่นะคะ แต่ว่าการประกาศเคอร์ฟิวนั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อคืนวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เห็นได้จากภาพของ Big Clean Day ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครได้มาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อที่จะเดินหน้าให้กรุงเทพมหานครนั้นกลับไปสู่สภาวะปกติ ซึ่งภารกิจของรัฐบาลที่แยกราชประสงค์ก็นำไปสู่การใช้ชีวิตที่ปกติของประชาชนค่ะ

ส่วนเรื่องของการสอบสวนข้อเท็จจริงและคดีความต่าง ๆ ท่านนายกรัฐมนตรีระบุว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน เรื่องของมาตรการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองนะคะ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาครม. ได้มีการอนุมัติงบเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กองทุนชดเชยรายได้ที่จะให้กับผู้ประกอบการและลูกจ้าง บริเวณพื้นที่การชุมนุม ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็คือคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ค่ะ

นอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรียังพูดถึงการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้น และหาช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยนะคะ อย่างเช่น การจัดกิจกรรมถนนคนเดินที่ถนนสีลม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อมองไปข้างหน้านะคะ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแผนปรองดองและการฟื้นฟูประเทศไทย ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทุกระดับ ประชาชนทุกคนทั่วทั้งประเทศไทย รวมไปถึงองค์กรอื่น ๆ ด้วยนะคะอย่างเช่น เอ็นจีโอ ท่านนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะเปิดรับ จะสำเร็จได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุก ๆ คนและทุก ๆ ภาคส่วนค่ะ

นายกรัฐมนตรีพูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์และวันอังคารด้วยนะคะ นายกรัฐมนตรีมองว่าช่องทางของสภาฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนยังคงเดินไปในทิศทางเดียวกันก็คือจุดสุดท้ายที่ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ทุกคนยังมองเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นหลัก ท่านนายกฯ ยังคงเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รักความสงบสุขนะคะ ภารกิจหลักของรัฐบาลหลังจากนี้ ก็คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต่อคณะทูตานุทูตถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ท่านทูต รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยนะคะว่ารัฐบาลนั้นมีมาตรการที่จะดูแลอย่างเต็มที่ และได้เชิญชวนให้คณะทูตนั้นเป็นส่วนหนึ่ง มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศไทยนะคะ เน้นย้ำว่าความมีน้ำใจของคนไทยนั้นยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ในภาพรวมนะคะที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามกับคณะทูตานุทูต ประธานสภาหอการค้า รวมไปถึงองค์กรต่างประเทศนะคะ ช่วงต้นท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ในการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศ บนพื้นฐานของการยึดหลักสันติสุขและความปรองดอง ท่านนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงสถานการณ์ที่ผ่านมานะคะว่าในช่วงเหตุการณ์การชุมนุม ผู้ชุมนุมได้ปฏิเสธข้อเสนอหลายประการของทางรัฐบาล นอกจากนี้พูดถึงคำจำกัดความของคำว่าผู้ก่อการร้าย ที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยนะคะ ท่านนายกรัฐมนตรีอธิบายชี้แจงว่า เป็นคำที่มีบัญญัติอยู่ในกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำจำกัดความของสหประชาติ

ท่านนายกรัฐมนตรียังได้พูดถึงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารด้วยนะคะ บอกว่าใช้ความอดทนอดกลั้นโดยตลอด เรื่องของการใช้อาวุธจะกระทำก็ต่อเมื่อยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ เพื่อป้องกันตัวเอง และประการสุดท้าย ยิงผู้ติดอาวุธเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน เรื่องของเหตุการณ์ที่มีการเผาตึกอาคารต่าง ๆ เป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้านะคะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอารมณ์โกรธแค้นเพียงอย่างเดียว ท่านนายกรัฐมนตรียังได้พูดถึงกิจกรรมหลังจากที่ทางรัฐบาลนำกรุงเทพมหานครกลับคืนสู่ประชาชนได้แล้ว มีการจัดกิจกรรม Big Clean Up Day ซึ่งมีชาวต่างชาติมาร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย และท้ายสุดนะคะนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง ทั้งคนในระดับหมู่บ้าน ประชาสังคม ส่วนมิตรในต่างประเทศนะคะท่านนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่าเห็นถึงศักยภาพของการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกันต่อไป และท่านนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของต่างชาติด้วยนะคะ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความปรองดองค่ะ

ช่วงถาม - ตอบ

ท่านแรกเป็นท่านทูตจากประเทศเยอรมันนีค่ะ ก็ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ข้อมูลและแสดงความเคารพต่อการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยของรัฐบาลไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ คำถามแรกถามถึงเรื่องของการต่ออายุเคอร์ฟิว รวมไปถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ค่ะ
คำถามที่สองถามถึงความรู้สึกของคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ที่อาจจะไม่ค่อยพอใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย และอยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีตอบคำถามแรกถึงการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นะคะว่ายังมีอำนาจบังคับใช้อยู่ ในตอนนี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับทางศอฉ. ที่จะประเมินสถานการณ์ ส่วนเรื่องของเคอร์ฟิวนั้นก็ได้เสร็จสิ้นตั้งแต่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมาค่ะ คำถามที่สองท่านนายกรัฐมนตรีตอบคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทยนะคะ บอกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่าน มีระบบของรัฐสภา ท่านนายกรัฐมนตรียกตัวอย่างรัฐบาลของสหราชอาณาจักร ที่ก็เป็นรัฐบาลผสมเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่ามาโดยวิธีนี้จะไม่ชอบธรรมนะคะ ส่วนในเรื่องของการเลือกตั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะต้องให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ก่อนวันเลือกตั้ง และจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศ กำหนดวันเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีบอกว่าอาจจะมีการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลหมดวาระก็เป็นไปได้ แม้ว่าทางกลุ่มนปช.จะเคยปฏิเสธข้อเสนอการลือกตั้ง ครั้งก่อนหน้านี้ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอเอาไว้คือ 14 พฤศจิกายน

หลาย ๆ คนอาจจะตั้งคำถามนะคะถึงข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางด้านของกลุ่มนปช. นั้นไม่ได้ตอบรับข้อเสนอในส่วนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ ความเป็นไปได้ในเรื่องของการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระนั้นยังมีอยู่ค่ะ เรื่องของเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีบอกว่า จะสร้างความเจริญเติบโตได้ประมาณ 4 - 5 เปอร์เซ็นต์นะคะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกันค่ะ ถ้าหากว่ามีความคืบหน้าก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ทั้งหมดทั้งมวลที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร่วมกันสร้างบรรยากาศให้ดำเนินไปสู่วันเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ดีค่ะ

คำถามถัดมาเป็นของท่านทูตญี่ปุ่นนะคะ บอกว่ารู้สึกขอบคุณเช่นเดียวกับท่านทูตของเยอรมันนีค่ะ ที่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและซักถามข้อสงสัยในวันนี้ คำถามแรกถามถึงผลของคณะกรรมการอิสระต่อการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้นักข่าวญี่ปุ่นนั้นเสียชีวิต ก็หวังว่าการสอบสวนนั้นจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและก็รัดกุมถูกต้องตามข้อเท็จจริง อีกประเด็นหนึงที่พูดถึงนะคะก็คือเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ เป็นมาตรการฟื้นฟูของทางรัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ท่านทูตญี่ปุ่นก็บอกว่าหวังว่าจะครอบคลุมทั่วถึงทุกมิตินะคะ และพูดถึงประเด็นเรื่องของเส้นตายที่ทางรัฐบาลกำหนดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยในส่วนของภาคเอกชนนั้น ไปยื่นเรื่องขอเยียวยา ท่านทูตญี่ปุ่นบอกว่าอยากจะให้ยืดหยุ่นในส่วนของเส้นตายตรงนี้ออกไปค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของช่างภาพญี่ปุ่นนะคะที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด ท่านนายกรัฐมนตรีก็ตอบถึงเรื่องของการช่วยเหลือภาคเอกชนและผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนะคะ บอกว่าจะพยายามดูให้ขยายระยะเวลาออกไปและครอบคลุมให้มากที่สุด และเส้นตายที่กำหนดเอาไว้นี้มีเอาไว้เพื่อที่จะระบุว่ามีกี่ธุรกิจมีกี่บริษัทที่ได้รับผลกระทบเพื่อที่จะได้กำหนดขอบเขตกรอบการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนของผู้ประกอบการทั้งที่เซ็นเตอร์วันและสยามสแควร์นะคะ ตอนนี้ก็กำลังจะหาสถานที่แห่งใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นได้ไปลงพื้นที่ค้าขายกันตามปกติ ในส่วนของประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ รัฐบาลก็จะยืดหยุ่นที่สุด โดยภายใต้การดูแลของคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ความช่วยเหลือจะครอบคลุมไปถึงชาวต่างชาติด้วยนะคะ ส่วนเรื่องของคดีความนายกรัฐมนตรีได้พูดตอนต้นค่ะ กรณีช่างภาพชาวญี่ปุ่นบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ท่านนี้เป็นท่านทูตจากอิตาลีนะคะ กล่าวชมเชยท่านนายกรัฐมนตรีที่ในแง่ของคณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ว่าท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องของการหาความสมดุล ทั้งในแง่ของกำหนดเวลาและความละเอียดที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไป ก็ถามถึงกรณีช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตในเรื่องของความคืบหน้าทางคดีและการสืบสวนสอบสวนค่ะ นอกจากนี้ยังตอบรับข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้ต่างชาติ ช่วยประเทศไทย ที่จะช่วยกันมองไปข้างหน้าด้วยนะคะ มองว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย แล้วก็ถามถึงเรื่องของมาตรการที่จะหาความปรองดองจากทุกฝ่ายด้วยนะคะ

ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาลีค่ะ ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกรณีที่ท่านทูตอิตาลีนั้นพูดถึงภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่นักลงทุนนั้นก็ต้องมองมาถึงเรื่องของเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลด้วย ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าทราบดีในจุดนี้ และเข้าใจถึงความเป็นห่วงของนานาชาติต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรีระบุนะคะบอกว่าทราบดีว่าการแก้ปัญหาความแตกแยกในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ว่าหลายฝ่ายก็น่าจะเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่ามีวิธีที่จะทำให้ปราศจากความรุนแรงก็ได้ในการแก้ไขปัญหาความแตกแยกนะคะ อย่างเช่น ใช้ช่องทางในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร หรือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในกระบวนการสร้างความปรองดองรัฐบาลก็จะเน้นการบังคับใช้กฎหมายและยึดหลักนิติรัฐ และที่แน่นอนที่สุดก็คือรัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาอารยประเทศ ส่งเสริมเรื่องของการส่งออก และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนค่ะ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศด้วยนะคะ

เชื่อแน่ว่าการชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามทั้งจากสื่อมวลชนต่างประเทศรวมไปถึงคณะทูตานุทูตในวันนี้ ที่ทุก ๆ ท่านวันนี้ได้รับชมจากปากของท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจในส่วนของสถานการณ์บ้านเมืองของเรา รวมไปถึงสร้างความมั่นใจว่าก้าวย่างที่จะเดินต่อไปในอนาคต การขับเคลื่อนของรัฐบาลจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ก็น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์บ้านเมืองนั้นเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงมากขึ้นค่ะ วันนี้หมดเวลาของรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์แล้วนะคะ ดิฉันพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ พร้อมกับทีมงานลาคุณผู้ชมไปก่อน สวัสดีค่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net