Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจาก "ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง "อมรา พงศาพิชญ์" ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักมานุษยวิทยาอาวุโส และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 พ.ค.

ล่าสุด (2 มิ.ย.) อมรา พงศาพิชญ์ ได้เขียนจดหมายตอบ ตามข้อความต่อไปนี้

------------------------------------

ขอบคุณ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ที่ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงดิฉัน ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้ร่วมวิชาชีพทางมานุษยวิทยา และปัจจุบันรับทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมานุษยวิทยาและสิทธิมนุษยชนที่อาจารย์เขียนมา ดิฉันเห็นด้วยทั้งหมด และชื่นชมในความลุ่มลึกทางความคิดและความสามารถในการนำเสนอข้อคิดเห็นที่ลุ่มลึกนี้ได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาสู่สาธารณชนในวงกว้างได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ดิฉันได้ติดตามอ่านผลงานของอาจารย์ยุกติอย่างชื่นชมในความสามารถในการถ่ายทอดความคิดที่น่าสนใจเสมอมา และในครั้งนี้อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสาธารณะได้อย่างไม่ผิดหวัง

ดิฉันไม่มีข้อแก้ตัวในสิ่งที่ไม่ได้ทำ หรือไม่ได้ทำตามความคาดหวังของอาจารย์และเพื่อนร่วมวิชาชีพ นอกจากจะบอกว่าเมื่อมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ดิฉันพบว่า ดิฉันไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเหมือนเมื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเสรีภาพทางวิชาการสูง และอาจารย์สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อสาธารณะได้

ปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นของดิฉันต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของกรรมการร่วมคณะอีก 6 ท่าน อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีจำกัดเฉพาะในบางเรื่อง ภาพลักษณ์ขององค์กรต่อสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกรณีที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การแสดงออกของดิฉันจึงมีความล่าช้า รอบคอบ และคำนึงถึงองค์กรมากกว่าส่วนตัว หลายครั้งดิฉันอยากจะถอดหมวกประธานกรรมการฯ เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทำตามที่อยาก ต้องขออภัยที่ทำให้อาจารย์ยุกติผิดหวัง

คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและการแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มีทั้งจากผู้ถูกละเมิดสิทธิ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ผู้สนับสนุนผู้ชุมนุม (เสื้อแดง) ผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม (เสื้อเหลือง) ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รักชาติ ฯลฯ ดิฉันถูกต่อว่าว่าเข้าข้างกลุ่มเสื้อแดงและถูกต่อว่าว่าอยู่ในกลุ่มเสื้อเหลือง ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะแต่ละคนต่างมีอัตตาและเชื่อว่าความคิดเห็นของตัวเองคือสิ่งที่ถูกต้อง และคาดหวังให้คณะกรรมการสิทธิฯ ทำตามความคิดเห็นของตน

ขอเรียนเพิ่มเติมว่า การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นข่าวหรือเป็นประเด็นสาธารณะ แต่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้แสดงให้รัฐบาลเข้าใจว่า เราไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ และเราจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็งตลอดไป

ในโอกาสนี้ ดิฉันขอบคุณอาจารย์ยุกติที่ได้ทำหน้าที่ของนักวิชาการ โดยตั้งคำถามแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้ดิฉันได้ชี้แจงในส่วนที่ทำได้ ดิฉันทราบดีว่าคำตอบนี้ไม่เพียงพอและไม่ช่วยให้ท่านหายข้องใจทั้งหมด แต่หวังว่าคงจะช่วยแก้ปัญหาความคับข้องใจของท่านได้ในบางส่วน

ขอบคุณในความห่วงใยและข้อคิดเห็นที่ลึกซึ้ง

อมรา พงศาพิชญ์
2 มิถุนายน 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net