Skip to main content
sharethis

จากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ชื่อ "ทนายของทักษิณมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ" ซึ่งเตือนไม่ให้ ศาตราจารย์ เกอธ-แจน อเล็กซานเดอร์ นูปส์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาชญากรรมสงครามร่วมทีมสืบสวนของทนายความ โรเบิร์ท อัมสเตอดัม โดยในบทบรรณาธิการฉบับนี้บอกว่าทีมทนายของโรเบิร์ทได้รับการจ้างวานมาจากอดีตนายกฯ ทักษิณ อีกทั้งยังกล่าวหาอีกว่าโรเบิร์ท เป็นปากกระบอกเสียงให้ทักษิณและก่อนหน้านี้เคยทำตัวเป็นนักล็อบบี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย อีกทั้งยังแสดงความเห็นว่าทีมกฏหมายที่เข้ามาสืบสวนพิสูจน์หลักฐานการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงนั้นไม่น่าจะทำงานด้วยความสุจริต

ในเว็บไซต์ของโรเบิร์ท อัมสเตอดัม ตีพิมพ์บทความตอบโต้ชื่อ "ภาวะล้ำจริง (Hyperreality) ของโฆษณาชวนเชื่อสื่อไทย : โต้ตอบเดอะ เนชั่น" ซึ่งกล่าวถึงการที่เนชั่นพาดพิงถึงตนและนูปส์ โดยชวนให้นึกถึงสื่อไทยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่พยายามสร้างความสมจริงในรูปแบบของตัวเองขึ้นมาและชวนให้คนรับสื่อเชื่อโดยทำให้พวกเขาแยกระหว่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเรื่องแต่งออกจากกันไม่ได้

โดยโรเบิร์ท ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มทนายที่จะเข้ามาสืบสวนการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงของรัฐบาล เป็นทนายผู้มีชื่อเสียงจากการทำคดีระดับโลก เช่นคดีของบริษัท Yukos-Group MENATEP ในรัสเซีย นิตยสาร เดอะ ลอว์เยอร์ ของอังกฤษเคยจัดอันดับให้โรเบิร์ทติดหนึ่งในร้อยอันดับทนายร้อนแรงของอังกฤษ

ภาวะล้ำจริง (Hyperreality) ของโฆษณาชวนเชื่อสื่อไทย : โต้ตอบเดอะ เนชั่น
บทบรรณาธิการวันนี้ ของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลไทย ได้พาดพิงถึงงานของผมและของเพื่อนผมคือทนาย เกอธ-แจน อเล็กซานเดอร์ นูปส์ นอกเหนือจากการกล่าวหาโจมตี การกล่าวเท็จ และหมิ่นประมาทตามปกติแล้ว ยังมีส่วนพูดถึงเรื่องทางการเมืองอย่างเลวร้ายด้วย บทบรรณาธิการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายตั้งไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วในการลดคุณค่าของผลการสืบสวนเชิงสิทธิมนุษยชนต่อเรื่องการที่รัฐบาลไทยละเมิดกฏหมายอาชญากรรมสงครามในการใช้ความรุนแรงช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา

จริงผมไม่ค่อยเน้นถึงเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะจะทำให้ดูเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นที่สำคัญจริง ๆ แต่เรื่องดังกล่าวนี้ชวนให้ไตร่ตรองถึงผู้อ่านต่างชาติ ในฐานะที่มันได้แสดงให้เห็นแนวทางที่รัฐบาลใช้จัดการ การปั่นกระแส (spin) ของข้อเขียนดังกล่าวแสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจน (พวกเขาแม้กระทั่งใช้คำว่า "ชั่ว") [1] แต่น้ำหนักของมันออกไปในทางการหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นอย่างการกักขังโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ การสังหารโดยใช้ศาลเตี้ย และการใช้กำลังอย่างไม่เลือกเป้าหมายในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา นี่เป็นประเทศที่เพิ่งจะมีประชาชน 88 คนถูกสังหารโดยทหารบนท้องถนนไปหมาด ๆ แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กลับใช้เวลาไปกับการโจมตีทนายอย่างเป็นส่วนตัวและด้วยข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นมาเอง เวลาที่เหลือนอกจากนั้นพวกเขาอุทิศให้กับการโจมตี CNN อย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีที่ภาพแทนใด ๆ อีกแล้ว ทีจะแสดงให้เห็นธรรมชาติของรัฐบาลเผด็จการทหารได้น่าเศร้าไปกว่านี้

ก่อนที่จะนำเสนอบทบรรณาธิการเช่นนี้ออกมา นักข่าวหลายคนและบรรณาธิการควรหาแหล่งข้อมูลประกอบในเรื่องที่ตั้งคำถาม แต่ผมไม่เห็นมีการติดต่ออะไรเลย ทั้งนูปส์และผมไม่เคยได้รับโอกาสได้แสดงความเห็นกับ เดอะ เนชั่น ซึ่งอาจทำให้พวกเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจนเลยว่าจุดประสงค์ของพวกเราคือการแสดงให้เห็นถึงสิทธิโดยพื้นฐานของผู้ชุมนุม นปช. และพิสูจน์หลักฐานความจริงที่ถูกปิดกั้นไว้ กลุ่มเฝ้าระวังอย่างองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็เคยวิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ และการเรียกร้องของพวกเราก็ใกล้เคียงกันมาก พวกเราสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการเรียกร้องการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ และยินดีอย่างยิ่งหากมีการช่วยเหลือในการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตามพวกเรามีสิทธิโดยชอบธรรมในการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ ไม่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารปฏิเสธข้อเสนอเจรจาของ นปช. โดยไม่มีเงื่อนไขและเมื่อพวกเขาบอกปัดข้อเสนอให้มีตัวกลางในการเจรจา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ทำตัวเหมือนกำลังซ่อนอะไรบางอย่างอยู่ ผมเป็นผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งจากในที่ชุมนุมของเสื้อแดงวันสุดท้าย

พวกเราเริ่มตั้งคำถามเมื่อได้เห็นการโกหกอย่างหน้าด้าน ๆ ของสื่อรัฐ พวกเขากลัวว่าพวกเราจะเจออะไรหรือ? ถ้าหากมีความไม่แน่ชัดเกิดขึ้นมากมายเช่นที่เสียงของคนกลาง ๆ ว่าเอาไว้จริง ดังนั้นจะไปกลัวอะไรกับการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างอิสระ แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้นพวกเรากลับได้เห็นอะไรที่ดูเหมือนแสดงออกเกินจริง (Hysteria) จากการที่รัฐบาลพูดเน้นย้ำอย่างออกหน้าออกตาเรื่องความไม่สงบทุกครั้ง เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้ถูกความจริงที่เจ็บปวดทิ่มแทง พวกเขาไม่อาจทนรับกับการถกเถียงอย่างเสรีและเปิดกว้างได้ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่เสียงของคนชายขอบที่สุดไปจนถึงทนายความและผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่แค่ทำงานของตนเท่านั้น

แต่ก็โชคดีว่าทุกคนสามารถอ่านข้อเขียนเต็ม ๆ ของบทบรรณาธิการนี้ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลเผด็จการที่ไหนมาสั่งปิด โชคดีจริง ๆ ที่ทุกคนได้รับรู้ถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพวกกองทัพที่กำลังยิ้มร่าไปกับนักเรียนอ็อกฟอร์ตที่มาเป็นนายกฯ โดยไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครเลยที่ส่งข้อความข่มขู่ทนายของเขาและให้ที่อยู่ของพวกเขากับพวกกลุ่มเสียบประจาน จากที่เคยทำงานในรัสเซีย ไนจีเรีย และ เวเนซุเอลลามาแล้ว ผมก็ยังไม่เคยเห็นอะไรที่หยาบช้าเท่านี้มาก่อนเลย

ปัญหาก็คือ พอรัฐบาลเผด็จการทหารควบคุมสื่อและใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามแล้ว พวกชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ก็เริ่มสูญเสียความสามารถในการแยกแยะระหว่างความจริงที่แท้และสิ่งที่ดูสมจริงอย่างมาก (Hyperreality) [2] พวกเราเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อกรณ์ จาติกวาณิช คนเดียวกับที่เคยปฏิเสธมาตรฐานประชาธิปไตยแบบตะวันตก บอกว่า "ต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแน่นอน คือการที่กองกำลังติดอาวุธของเสื้อแดงจงใจยิงพวกเดียวกันเองเพื่อใส่ร้ายรัฐบาล" พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พวกเราถูกชวนเชื่อว่าเสื้อแดงยิงพวกเดียวกันเอง

ถ้าหากพวกชนชั้นนำกองทัพเชื่อคำโกหกเหล่านี้จริง ๆ พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมอย่างมากในการปกป้องปฏิบัติการของตนเองก่อนจะมีการสืบสวนอย่างอิสระเกิดขึ้น ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าพวกเขาจะคืนความน่าเชื่อถือให้ตัวเองได้อย่างไร เมื่อมีการพบเจอหลักฐานจากการปฏิบัติการของพวกเขา

 

เชิงอรรถ
[1] มาจากประโยค ....Furthermore, Thaksin's hiring of a lawyer (or a team of lawyers) to gather evidence to support his own case is one thing. Even the most evil person has that right....

"...นอกจากนี้แล้ว ทักษิณ ยังได้จ้างทีมทนายเพื่อเก็บหลักฐานสนับสนุนคดีของตัวเขาเอง แม้แต่คนที่ชั่วร้ายที่สุดก็มีสิทธิ์นั้น..."

[2] คำว่า Hyperreality (ไม่มีศัพท์เฉพาะในภาษาไทย) มาจากแนวคิดสัญวิทยาและปรัชญาหลังสมัยใหม่ อธิบายถึงการที่จิตสำนึกของคนเราอยู่ในสภาพไม่สามารถแยกแยะโลกความจริงกับโลกแฟนตาซีได้ โดยเฉพาะในภาวะหลังสมัยใหม่ คำว่า Hyperreality จึงหมายถึงวิธีการที่จิตสำนึกของเราเป็นผู้ให้ความหมายว่าอะไรคือ "ความจริง" ภายในโลกที่มีสื่อมากมายหลายระดับคอยดัดแปลงรูปร่างและกลั่นกรองเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

Jean Baudrillard นักคิดคนสำคัญของแนวคิดนี้ให้ความหมายของ Hyperreality ไว้ว่า "เป็นการจำลองบางสิ่ง ที่ไม่เคยมีอยู่จริง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net