‘จากนี้ไปเราต้องอยู่กับความรุนแรง’ 2 ทัศนะจากเหลือง–แดงปักษ์ใต้

ทัศนะทางการเมืองไทยของ  2 แกนนำเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปักษ์ใต้ ต่อมุมมองสถานการณ์หลังเหตุการณ์เมษา – พฤษภาวิปโยคที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งปี 2553 ที่ผ่านมานั้น เส้นทางความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไรและมีจุดบรรจบอย่างไร นี่คือมุมมองจาก 2 ฟากฝั่งอุดมการณ์ที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกัน

เอกชัย  อิสระทะ
ระยะยาวจะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์

ในห้วงแห่งความขัดแย้งทางการเมืองตลอด  4 ปีกว่า “เอกชัย อิสระทะ” เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่มีบทบาทอยู่ในระดับนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา

เมื่อความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง 2 ซีกฝ่าย ยกระดับความรุนแรง จนนำไปสู่การเข่นฆ่ากันกลางกรุงเทพมหานคร จนมีผู้บาดเจ็บและล้มหายตายกันไปมากมายมหาศาล

ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  ของคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง  ในท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ย่อมมิอาจมองข้ามได้

ต่อไปนี้  เป็นความคิดความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง ผ่านสายตาและความคิดของ “เอกชัย  อิสระทะ”

……………………………………………….. 
 

เราต้องเตรียมใจยอมรับความขัดแย้งทางความคิด  ที่จะอยู่กับเราไปอีกนับ  10 ปี อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจจะรุนแรงกว่าคราวนี้ คงต้องดูปัจจัย 2 – 3 ตัวประกอบ

ข้อแรก  ความขัดแย้งทางความคิดที่เริ่มชัดเจนขึ้นระหว่าง 2 ชุดความคิด

ชุดความคิดแรก เป็นความคิดของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในกลุ่มคนที่สมาทานชุดความคิดนี้  มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันอยู่

ชุดความคิดที่สอง  เป็นประชาธิปไตยในอีกแบบที่ยังแลเห็นรายละเอียดไม่ชัด แต่จะพัฒนาก้าวข้ามพ้นจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนนี้เรายังไม่รู้ว่า เขาออกแบบรายละเอียดอย่างไร โครงสร้างสังคมไทยใหม่จะเป็นแบบไหน

การปะทะกันของสองชุดความคิดนี้ มีลักษณะที่ก้าวหน้ากว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยของนักเลือกตั้ง กรอบคิดของนักการเมืองทั้งหมด เป็นแบบทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ รายละเอียดทางความคิดของนักการเมืองแต่ละพรรคไม่แตกต่างกันคือ นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม

หลังจากนี้รูปแบบประชาธิปไตยที่แต่ละกลุ่มเสนอมา จะมีกรอบชัดเจนมากขึ้น จะเป็นชุดความคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมสนับสนุนทุนข้ามชาติ หรือจะเป็นสังคมนิยมตะวันออกแบบพอเพียง หรือประชาธิปไตยสีเขียวกินได้ หรือประชาธิปไตยที่เป็นธรรม นี่คือรายละเอียดของการต่อสู้ที่จะชัดเจนขึ้น

บทบาทของนักการเมืองชุดเก่าจะลดลง  เฉพาะหน้าจำนวนก็น่าจะลดลงถึงร้อยละ 50 ที่เหลืออยู่ในสภา จะมีทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง และฝ่ายเสื้อแดง

ภาคประชาชนเอง กรอบคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงจะชัดเจนขึ้น  ในส่วนของกลุ่มคนเสื้อเหลือง  รวมทั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวกับพรรคการเมืองใหม่ กรอบคิดก็จะชัดเจนขึ้นเช่นกัน ผมคิดว่าคนส่วนนี้น่าจะก้าวข้ามพ้นการเมืองแบบเก่าไปได้ ทิศทางการเมือง จะเปลี่ยนแปลงพอสมควร

หลังจากนี้  การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสงบจะลำบากมากขึ้น เพราะคู่ความขัดแย้งจะใช้ความรุนแรงตอบโต้ ถ้าแต่ละฝ่ายลดความเคืองแค้นลงได้ เหตุการณ์อาจจะสงบ แต่เป็นไปได้ยาก  เพราะฉะนั้นการชุมนุมทางการเมืองแบบเดิมๆ ตั้งเครื่องเสียงขึ้นเวทีปราศรัย เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

ในส่วนการเคลื่อนไหวเรื่องปากท้องของชาวบ้าน  ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง  น่าจะยังใช้รูปแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ต่อไปได้

ผมคิดว่า  การหลีกเลี่ยงความรุนแรงในช่วง  10 ปีนี้ยากมาก เพราะความแค้นถูกฝังเอาไว้ลึกเกินกว่าจะพูดคุยกันได้ด้วยดี

คนภาคใต้เราที่มีสีสันทางการเมืองติดตัวอยู่  คงไม่สามารถไปเยี่ยมเยียนพี่น้องทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคเหนือ แบบสบายอกสบายใจได้อีกต่อไปแล้ว

ผมได้แต่หวังว่า เราจะข้ามผ่านความรุนแรง  ก้าวข้ามผ่านความคิดเดิมๆ ไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราต้องร่วมกันยกการเมืองไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าก้าวผ่านไม่ได้ ก็เป็นชะตากรรมของประเทศ

ส่วนจะก้าวข้ามผ่านไปได้หรือไม่  อาจจะผ่านไปได้ หรืออาจจะติดกับดัก อันนี้ยังดูไม่ออก ใจลึกๆ ยังอยากเห็นทิศทางที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ความพยายามที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ นับว่ายากลำบากมาก เพราะขณะนี้ความเคียดแค้นชิงชังสูงมาก แต่คนไทยอาจจะลืมง่ายก็ได้

เฉพาะหน้าควรจะเรียกร้องให้กระบวนการศาลยุติธรรม  เข้ามาเป็นกลไกในการสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย  ถ้าทำได้ปัญหาอาจจะคลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง  ยกตัวอย่างการปิดสื่อ ควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา ไม่ควรปล่อยให้รัฐใช้อำนาจปิดสื่อ โดยไม่ผ่านศาล

ประการต่อมา ต้องกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น  ลดอำนาจ หรือยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคลง  ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น  จะได้แก้ที่ท้องถิ่น ปัญหาจะได้ไม่ต้องไปกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง นักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ จะหายไป

ถ้ากลไกศาลยุติธรรม  และการปกครองท้องถิ่นเป็นจริง ความตึงเครียดในสังคมน่าจะลดลง  เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองลดลง  การต่อสู้ทางการเมืองจะไปอยู่ที่การต่อสู้ทางความคิด ไม่ออกมาในรูปของความขัดแย้ง  ที่จะนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง

ความผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา  อยู่ตรงความไม่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นอิสระ  ศาลซึ่งเป็นกลไกที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้  ถูกมองว่าโดนแทรกแซงจากอำนาจภายนอก  โดยเฉพาะจากนักเลือกตั้ง

สื่อ  80 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถยกระดับความคิดความอ่านให้กับสังคมได้ แถมยังนำสังคมไปติดกับดักของทุน สื่อมีข้อมูลมากก็จริง แต่ไม่สามารถนำออกมาเสนอให้สังคมมีสติปัญญาแยกแยะอะไรได้เลย

กระบวนการการศึกษาทั้งระบบก็เป็นปัญหา  เพราะไม่สามารถสร้างคนให้วิเคราะห์แยกแยะอะไรได้ ไม่สามารถสร้างนักคิด สร้างผู้นำที่มีขีดความสามารถนำพาสังคมได้ การศึกษาในทุกระดับ จึงเป็นปัญหาใหญ่อีกโจทย์หนึ่งในขณะนี้

ผมคิดว่าการต่อสู้ขณะนี้ถูกยกระดับไปเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์แล้ว อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง  แต่ผมไม่ได้หมายความว่าแกนนำการต่อสู้ที่ผ่านมาทุกคน จะออกมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์  ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ต้องการล้มระบบอำมาตย์จริงๆ คนส่วนนี้ก้าวข้ามพ้นการต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองไม่รู้ตัว

ผมคิดว่า  จนถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ยังเชื่อว่าเงินกำกับทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยได้

ถึงกระนั้นชุดความคิดเชิงอุดมการณ์ ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าไปกุมการนำ เพื่อนำพาขบวนก้าวข้ามพ้นการเคลื่อนไหวเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้

ผมเชื่อว่าภาพของพรรคเพื่อไทย  ไม่ได้เป็นภาพฝันของกลุ่มคนเสื้อแดงในซีกอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นในอนาคต กลุ่มคนเสื้อแดงจะแตกเป็น 2 กลุ่มความคิด ตอนนี้ยังมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน เพราะทั้งสองฝั่งยังต้องพึ่งพากันและกัน

อีก 10 ปีข้างหน้า ระบบอำมาตย์จะหายไปจากประเทศนี้อยู่แล้ว มันต้องหมดไปจากประเทศไทยโดยธรรมชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ระบบอำมาตย์แบบเดิมหายไปแล้ว ระบบอำมาตย์ในรูปแบบใหม่จะไม่เกิดขึ้นมาแทนที่ เป็นไปได้มากว่า ระบบอำมาตย์ในรูปแบบใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก ถึงแม้กลุ่มเสื้อแดงซีกอุดมการณ์ จะชนะจนสามารถสถาปนาขึ้นครองอำนาจได้เองก็ตาม

ทำไมผมคิดเช่นนี้  เพราะเท่าที่ดูๆ แล้ว สังคมไทยโดยรวมยังก้าวข้ามไม่พ้นกรอบคิดเดิม ล้มอำมาตย์แบบเดิมไปได้ ก็เป็นไปได้ว่าจะเรียกหาอำมาตย์หน้าใหม่ขึ้นมาอีก

การจะก้าวข้ามพรมแดนตรงนี้ไปได้  นับว่าเป็นเรื่องยากมาก

เฉพาะหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อาจจะคุมสถานการณ์ได้ แต่กลุ่มคนเสื้อแดงจะกลับมาอีก  ตรงนั้นอาจจะเกิดความรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งอาจจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมืองของไทยก็ได้

ถึงแม้คราวนี้ ดูเหมือนคนจะยอมรับความรุนแรงได้  แต่ไม่ได้หมายความว่า คนจะยอมรับความตายของผู้คนได้ เหตุที่คราวนี้ยอมรับกันได้ เพราะความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมีไม่มากพอ

วันนี้  การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยชูพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชูพรรคเพื่อไทยจบลงโดยสิ้นเชิงแล้ว กลุ่มคนเสื้อเหลืองถ้าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ก็ต้องชูอุดมการณ์ที่ชัดเจน พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องบอกให้ได้ว่า จะนำพาสังคมไทยไปสู่ทิศทางไหน

การต่อสู้ในระยะยาว  จะเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์
 

000

 

สัมพันธ์  ละอองจิตต์
นับจากนี้ไปเราต้องอยู่กับความรุนแรง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองกว่า  4 ปี ถึงแม้ภาคใต้จะถูกมองว่า เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ในภาคใต้เช่นกัน

“สัมพันธ์ ละอองจิตต์” เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดสงขลา ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในชื่อย่อ “นปช.” ที่กรุงเทพมหานครฯ

แม้ในระหว่างการชุมนุม จะเดินทางไปทำภารกิจที่กรุงเทพมหานครฯ นานหลายวัน  ก็ไม่ยอมเฉียดกรายไปยังสถานที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง  ซึ่งในที่สุดก็ลงเอยที่ความรุนแรง จากการเผชิญหน้าระหว่างผู้กุมอำนาจรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อไปนี้  เป็นความคิดความเห็นต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากบุคคลที่หน่วยงานความมั่นคงระบุว่า เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงภาคใต้  นาม “สัมพันธ์ ละอองจิตต์”

……………………………………………………..

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ น่าจะใช้เวลาพอสมควรถึงจะลงเอยกันได้ แต่คงจะไม่ถึง 10 ปี

ถ้านำไปเปรียบเทียบกับความขัดแย้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนมาถึงสถานการณ์ที่ราชประสงค์ นับเป็นปฐมบทของความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งสำคัญของสังคมไทย

เนื่องจากนัยสำคัญของความขัดแย้งครั้งนี้ เกิดจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นความขัดแย้งที่นำพาปริมณฑลทางเศรษฐกิจ มาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปริมณฑลทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง

ความขัดแย้งในระดับนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี  2475 ระหว่างขุนนางสมัยใหม่กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ครั้งต่อมาคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ระหว่างนักศึกษา ปัญญาชน กับเผด็จการทหาร

รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทย ที่ยาวนานกว่า 30 ปี

ความขัดแย้งครั้งล่าสุด  มีลักษณะที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะแตกต่างกันอย่างมาก  เมื่อนำไปเปรียบเทียบความขัดแย้งในอดีต

เนื่องจากฐานความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา  มีลักษณะแคบ อย่างปี 2475 ฐานความขัดแย้งเป็นแค่ขุนนางกลุ่มหนึ่ง ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความขัดแย้งเมื่อวันที่  14 ตุลาคม 2516 ฐานความขัดแย้งจำกัดอยู่ที่ปัญญาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา กับเผด็จการทหาร

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  สถาปนาตัวเองเป็นแค่ตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ขณะที่ความขัดแย้งหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ฐานความขัดแย้งกระจายตัวออกสู่วงกว้าง ตั้งแต่คนอ่านหนังสือไม่ออก หรือพออ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ไปจนถึงคนที่มีการศึกษาสูง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ ผนวกรวมกับผู้ใช้แรงงาน ชาวนาชาวไร่ ไปจนถึงมหาเศรษฐี มีทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางการเมือง ผนวกรวมเข้าด้วยกัน

กระทั่งยกระดับความคิดทางการเมืองขึ้นมา  ถึงขั้นอุดมการณ์

ต้องยอมรับว่า ในรอบไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มทุนใหม่ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก  คนกลุ่มนี้เข้ามามีบทบาท ทั้งในพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ทางการเมือง รุกเข้ามาแทนที่กลุ่มทุนเก่า เช่น ทุนน้ำเมา ทุนป่าไม้ ทุนธนาคาร ที่ทำธุรกิจโดยอาศัยการคุ้มครองจากอำนาจรัฐเดิม ที่บัดนี้บทบาทค่อยๆ หมดไป หลีกทางให้กลุ่มทุนใหม่ในภาคสื่อสารและภาคบริการ เข้ายึดพื้นที่ไปเกือบหมด

เห็นได้จากบทบาททางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่เหล่านี้ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

การเติบโตของกลุ่มทุนใหม่  ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มทุนเก่า หลังปี 2540 เป็นต้นมา กลุ่มทุนเก่าสูญเสียทั้งอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว

ในด้านการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม  2535 ส่งผลให้ภาคประชาสังคมเติบโต มีพัฒนาการด้านจิตสำนึกทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540

รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กระทั่งรัฐไม่สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ได้ ทำให้ความไม่ชอบมาพากลของการรัฐประหาร ได้รับการเปิดเผยอย่างกว้างขวาง ส่งผลลึกซึ้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จุดนี้ทำให้เกิดภาวะก้าวกระโดดครั้งสำคัญในทางการเมือง กระทั่งนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ถึงขั้นปรับรื้อโครงสร้างสังคมไทย ภายใต้คำขวัญล้มระบบอำมาตย์ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อันที่จริงความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง  ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนานนับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา จนคาดการณ์กันว่าสักวันหนึ่งสังคมไทยจะเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ถึงขั้นมีการปะทะกันครั้งใหญ่ ซึ่งก็มาถึงแล้ว

แนวโน้มจะจบลงอย่างไร  คงคาดเดาได้ยาก เพราะความขัดแย้งจะจบก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ่อนกำลัง ความขัดแย้งคราวนี้ มิอาจจบลงด้วยความสมานฉันท์ โดยละเลยข้อเท็จจริงทางภววิสัย

จากนี้เป็นต้นไป เราจะเข้าสู่บรรยากาศความรุนแรง เนื่องจากความขัดแย้งหนนี้  ถูกยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ทุกอย่างจึงไม่ได้เรียบง่ายเหมือนอย่างแต่ก่อน

วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าระบบอำมาตย์ เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นต้องจำกัดอำนาจของระบบอำมาตย์ ซึ่งเขามองไม่เห็นวิธีอื่น  นอกจากต้องใช้ความรุนแรง

ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์เองก็มองว่า  ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นศัตรูหลักที่ต้องกำจัดให้สูญสิ้น

เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูสำคัญ ต้องกำจัดให้หมดไป ความรุนแรงขนานใหญ่จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก เห็นได้จากขณะนี้มีการดึงบางสถาบันในสังคมไทยมาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างโจ่งแจ้ง

ถึงแม้ชนชั้นนำในสังคมไทย จะมีความขัดแย้ง ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีผลต่อกันมากนัก ที่สำคัญสังคมไทยสามารถพึ่งพาตัวเองด้านอาหารได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงพ่อค้านำเข้า ผู้คนในท้องถิ่นจึงน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คงจะเป็นด้านการเมืองมากกว่า

อันดับแรก ความไม่มั่นคงของรัฐจะสูงขึ้น คนจะเคารพกฎหมายน้อยลง  อาชญากรรมโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งจะพุ่งสูงขึ้น

ในส่วนของภาคใต้ น่าจะได้รับผลกระทบน้อยมาก  เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่ขัดแย้งรุนแรง เศรษฐกิจภาคใต้พึ่งพาการส่งออก ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากเศรษฐกิจศูนย์กลาง

ทางออกจากความขัดแย้งครั้งนี้  คงต้องเรียกร้องให้ประชาชนออกมาคัดค้านการใช้ความรุนแรง  ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร การปราบปราม การตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีการรุนแรง

เราต้องปล่อยให้การเมืองดำเนินไปตามกระบวนการ เปิดให้มีการเลือกตั้งโดยทุกฝ่ายต้องยอมรับผลที่ออกมา เพื่อให้รัฐสภาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

ภาคประชาชนเอง ต้องยุติการเรียกร้องใดๆ  ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพราะไม่มีใครฆ่าฝ่ายใดได้หมด ถ้าปล่อยให้ฆ่ากันต่อไป บ้านเมืองจะเกิดกลียุค

การปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อาจจะเป็นทางออกที่ดีก็ได้  ถ้าทุกคนยอมรับกติกา อย่าเอาปัญหาเล็กมาเป็นปัญหาใหญ่  มาถึงขั้นนี้แล้ว มีทางออกเดียวเท่านั้นคือ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไว้วางใจได้ โดยทุกฝ่ายยอมรับผลที่ออกมา ทางออกอื่นไม่มี ถ้าไม่ยอมรับทางออกนี้ ก็ต้องยอมรับสภาพกลียุค เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ข้อเรียกร้องนี้อาจจะเป็นไปได้ยาก  แต่ก็เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท