Skip to main content
sharethis

ถึงวันนี้คำว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ซึ่งหมายถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กลายเป็นคำคุ้นหูและติดปากคนไทยไปเสียแล้ว เพราะมีถึง 24 จังหวัดทั่วประเทศที่รัฐบาลประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ ไม่นับรวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศมาก่อนล่วงหน้าถึง 5 ปี

การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 24 จังหวัดทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน นำไปสู่การจับและประกาศจับบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ (บาล) ทั้งแนวคิดและการกระทำ กระทั่งคลี่คลายเป็นหมายจับในข้อหา “ก่อการร้าย”

ขณะที่สถานการณ์ฉุกเฉินที่ชายแดนภาคใต้ เป็นการใช้อำนาจผ่านชุดความคิดความเข้าใจของรัฐต่อขบวนการที่ว่าคนเหล่านั้น มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไทย โดยไล่เรียงมาตั้งแต่ “แผนปฎิบัต ิการ 7 ขั้น” ของกลุ่มองค์กรที่รัฐเชื่อว่าเป็น "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" โดยเรียกขานกลุ่มคนเหล่านี้ว่า "กลุ่ม ก่อความไม่สงบ" หรือ "กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง"

แต่ไม่ว่าจะเป็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดต่างๆ หรือที่ชายแดนใต้ ผลของมันดูจะไม่ต่างกัน คือการมุ่งจับกุมบุคคลที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ (บาล) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซักถาม สอบเค้น และมีบุคคลทั้งที่เป็น “ตัวจริง” และ “ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” ต้องสิ้นอิสรภาพ

ทว่าที่ชายแดนใต้ ณ วันนี้ดูจะรุดหน้าไปกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะมีการตายเกิดขึ้นระหว่างการคุม ขังผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ซ้ำยังเป็นการตายถึงใน "ค่ายทหาร" อย่างค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วย

เขาคือ นายสุไลมาน แนซา เด็กหนุ่มวัย 25 ปี

สุไลมานถูกพบกลายเป็นศพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.2553 ในสภาพมีผ้าขนหนูผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่าง ในห้องควบคุมตัวภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร จากการชันสูตรศพเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ สรุปว่าสุไลมานฆ่าตัวตายเอง โดยใช้ผ้าเช็ดตัวที่ญาติฝากมาให้ใช้เป็นอุปกรณ์ในการปลิดชีพ ซึ่งได้สร้างความสงสัยและความคลางแคลงให้กับบรรดาญาติพี่น้องและองค์กรภาค ประชาสังคมในพื้นที่ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

หลังจากเพื่อนพ้องกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่ได้เก็บภาพการเสียชีวิตของสุไล มานและส่งกระจายไปทั่ว ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตอย่าง “ไม่แน่ใจ” และ “ไม่เชื่อ” ว่าสุไลมานฆ่าตัวตายเอง เช่น ศพมีรอยช้ำหลายจุด ลิ้นของสุไลมานก็ไม่ได้จุกปากเหมือนคนที่ผูกคอตาย ที่อวัยวะเพศมีคราบเลือด ที่คอและต้นขามีร่องรอยบางอย่าง และที่สำคัญคือขาของนายสุไลมานติดพื้น ไม่ได้ลอยเหนือพื้นอย่างที่น่าจะเป็น

ยิ่งไปกว่านั้น การฆ่าตัวตายของคนมุสลิมถือว่าเป็นการ “บาป ใหญ่” และจะไม่ได้กลิ่นอายของสรวงสวรรค์ตามความเชื่อทางศาสนา น่าสังเกตว่า หากสุไลมานเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ (ญิฮาด) ที่ยอมทุ่มเทพลังกายและพลังใจให้กับขบวนการถึงขั้นยอมเสี่ยงชีวิตของตนเอง เพื่อความเป็นธรรม (ในสายตาของขบวนการ) ก็ยิ่งทำให้เหตุผลของการฆ่าตัวตายแทบจะไม่มีเลย

เพราะหลักการที่เชื่อกันของขบวนการฮิญาดทั่วโลก ถือว่าการตายจากการกระทำของฝ่ายศัตรูย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการตายในหนทาง ศาสนา (ชาฮีด)

ด้วยเหตุนี้ในทัศนะของหลายคนๆ ในพื้นที่จึงยังไม่ตัดทิ้งประเด็นเรื่อง "การซ้อมทรมาน" ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การเสียชีวิตของ อิหม่ามยะผา กาเซ็ง (มี.ค.2551) อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่เจ้าหน้าที่อ้างในเบื้องต้นว่าเสียชีวิตจากโรคประจำตัว แต่ภายหลังผลชันสูตรทางการแพทย์ก็ชัดเจนว่า อิหม่ามยะผาถูกทำร้ายจนตาย

หากมองสาเหตุการฆ่าตัวตายของสุไลมาน ผ่านทฤษฎีของ อี มิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ทำการศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตาย จะพบว่า เดอร์ไคม์เชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นผลจากสาเหตุรวม ไม่ใช่สาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว แต่ทั้งหมดมีสาเหตุหนึ่งที่เหมือนกัน คือความรู้สึกเป็นคนแปลกถิ่น เป็นคนนอกสังคม และความรู้สึกเป็นคนละพวกกับคนกลุ่มใหญ่

เดอร์ไคม์ แบ่งการฆ่าตัวยตายออกเป็น 3 กลุ่ม กล่าวคือ

1. Egoistic Suicide หมายถึงการฆ่าตัวตายที่เกิดจากบุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ สังคม เป็นคนนอกกลุ่ม มีความสัมพันธ์และผูกพันกับคนในสังคมน้อย เป็นผู้ที่ถูกตัดขาดจากกลุ่ม

2. Altruistic Suicide เป็นการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก คือจะมีความผูกพันกับกลุ่มมากเกินไปจนขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถแยกตัวออกจากกลุ่มได้ การฆ่าตัวตายจึงเป็นการเสียสละเพื่อกลุ่มและสังคม เช่น การอดอาหารประท้วง การระเบิดพลีชีพของนักรบชาวตอลีบัน หรือซามูไรที่ทำฮาราคีรี เป็นต้น

3. Anomic Suicide หมายถึงการฆ่าตัวตายที่เกิดจากการตัดขาดจากกลุ่มที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอ่อนแอลง เช่น นักธุรกิจผู้เคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเกิดภาวะขาดทุน ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำ เขาจึงแยกและถอนตัวออกจากกลุ่มหรือสังคมเดิม แล้วการฆ่าตัวตายจะเกิดภายหลังการแยกตัว

คำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดการฆ่าตัวตายของ อีมิล เดอร์ไคม์ หากพิจารณาเทียบกับกรณีของสุไลมานแล้ว จะพบข้อมูลที่ลักลั่นพอสมควร โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า สุไลมานเป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวอยู่ใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เคยร่วมก่อเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง หากพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนี้ ถ้าสุไลมานเลือกที่จะตายจริงๆ ก็น่าจะมีสาเหตุตามข้อ 2 ในทฤษฎีของเดอร์ไคม์ คือต้องการตอบสนองทั้งตนเองและศาสนา จึงน่าจะเลือกต่อสู้อย่างถึงที่สุดมากกว่าการยอมให้จับกุม หรือพาเจ้าหน้าที่กลับไปค้นวัตถุพยานในหมู่บ้านของตนเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พิจารณาประกอบกับทฤษฎีและข้อมูลต่างๆ จึงชวนให้เราขบคิดและเกิดคำถามที่หนักแน่นขึ้นว่า ทำไมสุไลมานจึงเลือกที่จะฆ่าตัวตาย?

 

--------------------------------------------------------------------

* เอกรินทร์ ต่วนศิริ เป็นนิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

**เผยแพร่ครั้งแรกที่ ศูนย์ข่าวอิศรา  http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=372:2010-06-04-19-12-51&catid=21:2009-11-21-16-38-50&Itemid=5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net