เปิดข้อกล่าวหา 8 เหตุการณ์ "โค่นอำมาตย์ องคมนตรี-บงการป่วนเมือง" แจ้งข้อหา 'ณัฐวุฒิ' คดีก่อการร้าย

มติชนออนไลน์เปิดเผยบันทึกลับดีเอสไอยก 8 เหตุการณ์โค่น "อำมาตย์ องคมนตรี-บงการป่วนเมือง" แจ้งข้อหา 'ณัฐวุฒิ' คดีก่อการร้าย

6 มิ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่า ภายหลังจากรัฐบาลปฏิบัติการณ์กระชับวงล้อมเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายขวัญชัย สาราคำ (ขวัญชัย ไพรพนา) นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก  นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นายนิสิต สินธุไพร  แกนนำ นปช. ได้เข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาบุคคลทั้งหมดถูกส่งตัวไปคุมขังที่ค่ายตำรวจตระเวณชายแดน (ค่ายนเรศวร)  อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ยกเว้นนายจตุพร ที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะใช้เอกสิทธิ์ในความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียงคนเดียว

ในค่ำวันเดียวกันทั้ง 5 คนถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ,135/2 ,135/3 ประกอบมาตรา 83, 84 , 85

"มติชนออนไลน์" เปิดบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ต่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อเวลา ประมาณ 20.40 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ดังนี้

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน  ที่ปรากฎตามรายชื่อท้ายบันทึกนี้  ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบว่า

 ....ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552 ถึง พฤษภาคม 2553 ได้มีกลุ่มบุคคลเรียกชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า กลุ่ม นปช. หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มคนเสื้อแดง โดยมี (1) นายวีระ มุสิกพงศ์ (2) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (3) นายจตุพร พรหมพันธุ์ (4) นายเหวง โตจิราการ (5) นายอริสมันต์ หรือ กี้ พงษ์เรืองรอง (6) นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน (7) พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ (8) นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา (9) พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง และบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมากเป็นแกนนำหลักทำหน้าที่ในการวางแผนควบคุม สั่งการ หรืออำนวยการ หรือสลับสับเปลี่ยน  กล่าวปราศรัยโจมตีฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามบนเวทีชุมนุม  เคลื่อนไหว ได้ร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นชุมนุมประท้วง โต้แย้ง เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาในทันทีโดยเร็ว ปลุกระดมมวลชนขับเคลื่อนการชุมนุมให้เข้าสู่ความขัดแย้ง หรือปลุกปั่น บิดเบือนความจริง หรือยุยุงส่งเสริมด้วยคำพูดที่รุนแรงก้าวร้าว สร้างปมขัดแย้ง อาฆาตมาดร้ายให้เกลียดชังรัฐบาล จนทำให้ไม่สามารถชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้ 

จากการสอบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ในระหว่างการชุมนุมหรือเคลื่อนไหว ได้มีกองกำลัง ของการ์ด นปช. หรือกองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้มีการกระทำผิดตามกฏหมาย โดยสั่งสมกำลังอาวุธสงคราม มีและใช้อาวุธปืน เครื่องอาวุธ และวัตถุระเบิด ก่อวินาศกรรม หรือใช้ความรุนแรง ในการตอบโต้ต่อต้านรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือฝ่ายตรงข้ามเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการชุมนุมเคลื่อนไหวให้บรรลุวัตถุประสงค์ในข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขต่างๆ ควบคู่ไปด้วย

โดยแกนนำหลักยอมรับอย่างเปิดเผยหรือโดยปริยายว่า  กองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือ หรือ สนับสนุนคนเสื้อแดง แท้จริงแล้วทั้งการ์ด หรือกองกำลังไม่ทราบฝ่ายก็เป็นกองกำลังติดอาวุธ ส่วนหนึ่งของกลุ่ม นปช.นั้นเอง

ผลจากการกระทำความดังกล่าวข้างต้นทำให้ มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัสจำนวนมาก มีทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์รุนแรงต่างๆ หรือทำให้ประชาชน ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการหรือของเอกชนตลอดทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหารสูญหายเสียหาย ก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เป็นความผิด เช่น

-วันที่ 12 มีนาคม 2553 มีการปิดถนนที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร กทม. โดยกลุ่ม นปช. และวันที่ 3 เมษายน 2553 เคลื่อนพลเข้ายึดสี่แยกราชประสงค์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานครทั้งเวทีชุมนุมกดดัน ขู่เข็ญ หรือบังคับให้รัฐบาลยุบสภา คู่ขนานไปกับการชุมนุมสะพานผ่านฟ้า โดยมีประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางเข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวจำนวนหลายหมื่นคนอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันนี้ยังคงมีเวทีชุมุนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว มีลักษณะเป็นศูนย์บัญชาการหรืออำนวยการ สั่งการไปยังกลุ่ม นปช. ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ผู้ชุมนุมบางส่วนแบบดาวกระจายไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมการขนส่งของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางที่กลุ่ม นปช. เคลื่อนที่ผ่าน  แจกจ่ายสติ๊กเกอร์ สีแดงให้ยุบสภา นำเลือดมนุษย์ไปเทราดตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง กล่าวโจมตีรัฐบาลว่ามีที่มาโดยไม่ชอบธรรม หรือมาจากการปฏิวัติรัฐประหารหรือจากเผด็จการ

กล่าวโจมตีหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐว่ากระทำหรือปฏิบัติต่อกลุ่ม นปช.อย่างสองมาตรฐาน ต้องการโค่นล้มอำมาตย์ หรือองคมนตรีซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ยุยง ปลุกปั่น บิดเบือนข้อมูลข่าวสารให้ผู้ชุมนุมให้เกลียงชัง อาฆาตมาดร้ายรัฐบาล ปลุกใจให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความกล้า ฮึกเหิมเพื่อจะต่อสู้กับรัฐบาลทุกรูปแบบ เช่น ประกาศว่าหากมีการสลายการชุมนุมให้คนเสื้อแดงทั่งประเทศฌาปนกิจศาลากลางทันที

-วันที่ 19 มีนาคม 2553 กลุ่ม นปช.ได้บุกรุกไปที่สถานีดาวเทียมไทยคมที่ตำบลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และต่อเชื่อมสัญญาณโทรทัศน์  PTV ได้สำเร็จ ทั้งๆที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการตามกฏหมายปิดชั่วคราวแล้ว 

-วันที่ 7 เมษายน 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงได้บุกเข้าไปในรัฐสภา แขวงอู่ทองใน เขตดุสิต กทม.ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และใช้กำลังทำร้ายร่างกายทหารที่สวมเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งได้ยึดอาวุธประจำกายที่รัฐสภา

-เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 รัฐบาลได้มีการสั่งการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจผลักดันกลุ่ม นปช.เพื่อขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร และที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างฝ่ายทหารหรือตำรวจกับกลุ่ม นปช.โดยการปลุกระดม ยุยงของแกนนำบนเวทีให้ผู้ชุมนุมช่วยกันต่อต้านและขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเอาฟื้นที่คืนไปได้ และมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายแฝงตัวอยู่กลับกลุ่ม นปช.ได้ใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารและประชาชนทั่วไปเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

กลุ่ม นปช.ได้ถอดชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถหุ้มเกราะจนไม่สามารถใช้ปฏิบัติการได้ มีการสกัดกั้นรถยนต์ของทางราชการ ยานพาหนะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์บรรทุกทหารจนไม่สามรถใช้การได้ที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าและสี่แยกคอกวัว ยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการทหารไปจำนวนมาก และรถยนต์พาหนะไปบางส่วน ส่วนที่เป็นอาวุธยุทธภัณฑ์บางส่วนยังไม่ได้คืนมา นอกจากนี้ยังมีการจับกุมทหารไปเป็นตัวประกัน

-วันที่ 16 เมษายน 2553 กลุ่ม นปช.ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมแกนนำตามหมายจับของศาล ที่โรงแรม เอสซี ปาร์ค แขวง/เขตวังทองหลาง กทม. เพื่อช่วยเหลือแกนนำคนดังกล่าวไม่ให้ถูกจับและตำรวจถูกสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บ มีการควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมไปเป็นตัวประกันด้วย ปัจจุบันได้รับการปล่อยตัวแล้ว

 -วันที่ 22 เมษายน 2553 เกิดการปะทะกันบนถนนสีลม เขตบางรัก กทม. ระหว่าง นปช. กับชาวสีลม ที่ไม่เห็นด้วยกับ นปช. และซึ่งได้รวมตัวกันประท้วงและสนับสนุนรัฐบาล ในการปะทะดังกล่าวได้มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ประมาณ 5 ลูก จากกลุ่มบุคคลที่แฝงตัวอยู่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก

 -วันที่ 28 เมษายน 2553 แกนนำกลุ่ม นปช. ได้นำผู้ชุมนุมบางส่วนไปตามถนนวิภาวดี รังสิต โดยอ้างว่าจะไปให้กำลังใจแก่กลุ่ม นปช. อีกส่วนหนึ่งที่ได้กระทำการปิดถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าและตรวจค้นยานพาหนะของประชาชน จนเกิดการปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือตำรวจที่เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลได้รับความเสียหาย

-วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าตรวจค้นและยึดอาวุธปืนอาร์ก้า จำนวน 5 กระบอก อาวุธปืน เอ็ม 16  จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนคาร์บิน 1 กระบอก เครื่องกระสุนปืนอาวุธดังกล่าวตลอดจนทั้งลูกระเบิดเอ็ม 67 ,เอ็ม 26,เอ็ม 79 รวม 12 ลูก  ประทัดยักษ์อีกจำนวนหนึ่ง แก็สน้ำตา พร้อมทั้งสัญลักษณ์ของกลุ่ม นปช. และรถยนต์ฮอนด้ารุ่น ซีอาร์วี 1 คันที่ซอยอ่อนนุช แขวงสวนหลวง กทม.

ตามพฤติกรรมต่างๆ ดังกล่าวของกลุ่ม นปช. จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการชุมุนุมเคลื่อนไหวที่มีเจตนาร่วมกันบังคับขู่เข็ญรัฐบาลเพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการตามวัตถุประสงค์ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือสร้างความปั่นป่วนโดยทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนที่จะดำเนินชีวิตตามปกติสุข

โดยมีผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในแกนนำหลักของกลุ่มในฐานะเป็นตัวการร่วมหรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริมหรือกด้วยวิธีการอื่นใดหรือโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กระทำผิดกฎหมาย โดยมีการร่วมกันเป็นขบวนการหรือเป็นเครือข่าย มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แบ่งหน้าที่กันทำ แต่มีอุดมการณ์และวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือ กระทำการโดยการตระเตรียมหรือสมคบหรือสนับสนุนการก่อการร้าย

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดในข้อหา...ร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ,135/2 ,135/3 ประกอบมาตรา 83, 84 , 85 

เหตุเกิดที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง เมื่อระหว่างเดือนพฤศจิกายน  2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนให้ทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิตามกฎหมายคือ

1.สิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

2.สิทธิที่จะมีทนายความ

3.สิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

4.สิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้

5.ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อหาและสิทธิให้ผู้ต้องหานี้ทราบก่อนเริ่มสอบสวนปากคำโดยมิได้มีการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใดๆ ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจดีแล้ว ได้อ่านบันทึกนี้ให้ผู้ต้องหาฟังแล้ว รับว่าถูกต้อง จึงให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ลงชื่อ  นายณัฐวุฒิใสยเกื้อ  ผู้ต้องหา

ลงชื่อ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผู้แจ้งข้อกล่าวหา

ลงชื่อ พ.ต.ท.เสกสรร ศรีตุลากร ผู้ร่วมแจ้งข้อกล่าวหา /บันทึก/อ่าน

ลงชื่อ พ.ต.ต.แดนชัย ทูลอ่อง ผู้ร่วมแจ้งข้อกล่าวหา

ลงชื่อ ร.ต.อ.ณัฐพงษ์ น้อยน้ำค ผู้ร่วมแจ้งข้อกล่าวหา

ลงชื่อ นายธเนศ พ่วงพูล ทนายความผู้ต้องหา

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท