Skip to main content
sharethis
ไพฑูรย์ยอมรับเสียความรู้สึกหลังถูกปรับออก
โพสต์ทูเดย์ (6 มิ.ย. 53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงการถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง เพราะที่ผ่านมาเคยเป็นส.ส. 11 สมัย และเป็นรัฐมนตรี 6 สมัย รวมทั้งอายุก็มากแล้ว แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียความรู้สึกตรงที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่มีการมาปรึกษาตนเลย
"ตอนนี้ก็สบายดี แต่ว่างงาน มีงานหน้าที่ ส.ส.อย่างเดียว ส่วนการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น คงยังก่อน ปล่อยเป็นเรื่องของอนาคต ผมยอมรับว่าเสียความรู้สึกนิดหนึ่งตรงที่ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในระดับผม ก็ควรจะมาปรึกษา แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ได้ซีเรียสมากมาย"นายไพฑูรย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายไพฑูรย์ ยอมรับว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้โทรศัพท์มาหาโดยเป็นการคุยกันธรรมดา บอกว่าเสียใจด้วย ส่วนการตั้งพรรคใหม่เพื่อดูแลการเลือกตั้งในภาคเหนือนั้น เป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้ ยังไม่มีอะไร ยังทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร เป็น ส.ส.ช่วยพรรคประชาธิปัตย์ดูแล ส.ส.ในกลุ่มต่อไป
ลูกจ้างเหยื่อม็อบราชประสงค์วอนช่วยเหลือด่วน ฉะรัฐเยียวยาไม่ทั่วถึง
แนวหน้า (
6 มิ.ย. 53) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ประชุมหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ แรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ พนักงานสถานบริการ นวดแผนโบราณ พนักงานร้านอาหาร บาร์เบียร์ บาร์อะโกโก้ เป็นต้น รวมทั้งแม่ค้าหาบเร่และคนงานก่อสร้าง ที่อยู่ในพื้นที่ศาลาแดง สีลม สุรวงศ์ ธนิยะ พัฒน์พงศ์ สาทร เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือ
ภายหลังการประชุม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท.แถลงว่า ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือใน 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยชดเชยรายได้เช่นเดียวกับที่ให้เจ้าของธุรกิจ 2.ให้ช่วยเหลือและส่งเสริมสวัสดิการสังคมอย่างต่อเนื่องต่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งความเสียหายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว 3.ปรับวิกฤติเป็นโอกาสโดยการจัดตั้งกองทุนทางสังคมช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เช่น คนงานก่อสร้าง 300 คนในย่านดังกล่าว รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
สารเคมีรั่วโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
เดลินิวส์ (
5 มิ.ย. 53) - ระทึก สารเคมีรั่วไหล คนงานสูดดม เป็นลมล้มพับ 22 ราย หนึ่งในนั้นอาการสาหัส โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร รับออเดอร์เพียบ เร่งเพิ่มการผลิต ทำงานทั้งกลางวัน-กลางคืน คาดความร้อนเป็นเหตุสารเคมีรั่วไหล สสจ.ชลบุรี เผยคนงานส่วนใหญ่เจ็บตา เยื่อโพรงจมูก พ่อเมืองสั่งสอบสวน
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 มิ.ย. พ.ต.ท. ณัฏฐ์ สุวรรณวัฒนะ สวญ.สภ.ดอนหัวฬ่อ จ.ชลบุรี รับแจ้งมีเหตุสารพิษรั่วไหลที่ บจก.สยาม คีปเปอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง เลขที่ 700/496 หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งเป็นบริษัท ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ จึงรายงานให้ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผวจ.ชลบุรี นายปรีดา สมบูรณ์ทรัพย์ นายอำเภอเมืองชลบุรี นายเลอสันต์ ศศิพงศ์ นายอำเภอพานทอง นายแพทย์วิชัย ธนาโสภณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ รีบไปตรวจสอบ พบคนงานหญิงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และเป็นลมจำนวนมาก จึงช่วยเหลือนำตัวส่ง รพ.พานทอง 14 ราย และ รพ.ศูนย์ชลบุรี 8 ราย มีอาการสาหัส 1 ราย เพราะได้รับสารเคมีไปจำนวนมาก สำหรับโรงงานดังกล่าว มีแรงงาน 150 คน และมีชาวญี่ปุ่นเป็นเจ้าของกิจการ
จากการสอบสวนพบว่า จุดเกิดเหตุเป็นห้องชุบสารเคมีอะไหล่รถยนต์ ปกติจะทำงานในช่วงกลางคืน แต่ในช่วงนี้มีการสั่งอะไหล่รถยนต์จำนวนมาก จึงต้องเร่งทำการผลิตทั้งกลางวันและกลางคืน ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นเพราะอากาศร้อนจัดทำให้สารเคมีรั่วไหลเข้าไปในห้องทำงานดังกล่าว ประกอบกับช่องระบายอากาศมีปัญหา ทำให้สารพิษวนเวียนอยู่ในห้อง มีคนงานสูดสารพิษเข้าไปจำนวนมากดังกล่าว
เครือข่ายแรงงานพอใจ ก.แรงงาน เดินหน้าผลักดันอนุสัญญา 87-98
สำนักข่าวไทย (4 มิ.ย. 53) - เครือข่ายแรงงานพอใจ ก.แรงงาน เห็นด้วยกับการรับรองอนุสัญญา 87-98 รองปลัดฯ เผย ส่งเรื่องให้ก.การต่างประเทศ พิจารณาเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ พร้อมเตรียมแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้อง
คณะทำงานให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เข้าหารือกับผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับโดยนางจิราภรณ์เกสรสุจริต รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการหารือว่า ก.แรงงาน ได้เห็นชอบในหลักการให้รับรองสัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับแล้ว ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาว่าอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ทั้งนี้หากกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 190 ก็จะต้องให้ ครม.เสนอไปที่รัฐสภา เพื่อทำประชาพิจารณ์ และเสนอกลับเข้า ครม.อีกครั้ง
นางจิราภรณ์ กล่าวอีกว่า แต่หากไม่เข้าข่ายมาตรา 190 สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และรัฐสภาหากได้รับความเห็นชอบก็สามารถส่งให้กระทรวงการต่างประเทศลงนามในสัตยาบันได้เลย ทั้งนี้ หากลงนามในสัตยาบันแล้ว ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาโดยมีผลบังคับใช้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในระหว่างนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่าจากการที่ได้รับความชี้แจงจากกระทรวงแรงงาน เป็นที่น่าพอใจ จากนี้จะต้องติดตามความคืบหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคณะทำงานจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลให้การรับรองสัตยาบันให้เร็วที่สุด เนื่องจากอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง รวมถึงเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งจากเดิมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เมื่อนายจ้างรู้ จึงมีการกลั่นแกล้ง จนถึงขั้นไล่ออกจากงาน แต่หากมีการรับรองและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คนงานสามารถรวมกลุ่มและมาแจ้งต่อกรมสวัสดิการฯ เพื่อจัดตั้งได้สหภาพได้ทันที
นายเสนีย์ ผวจ.ชลบุรีกล่าวว่า ได้สั่งให้ปิดโรงงาน จนกว่าทางสาธารณสุขจังหวัดจะตรวจสอบจนสามารถรับประกันความปลอดภัย ถึงจะอนุญาตให้ทำงานต่อไป พร้อม ทั้งกำชับให้ตำรวจสอบสวนเรื่องประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บอีกด้วย
ด้านนายแพทย์วิชัย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นส่วนใหญ่สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อเยื่อบุนัยน์ตา ทำให้แสบตา และเยื่อโพรงจมูกจะทำให้แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก อย่างไรก็ตาม สารเคมีที่พบในขณะนี้มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ สารเคมีและน้ำมัน โดยจะเร่งตรวจสอบว่าคนงานที่ได้รับบาดเจ็บ สูดดมสารพิษประเภทใดเข้าไปและจะรักษาตามอาการจนกว่าจะหาย
2 หน่วยงานร่วมถกป้องกันแรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน
สำนักข่าวไทย (4 มิ.ย. 53) -
กรรมการสิทธิฯ ร่วมหารือ ก.แรงงาน หวั่นแรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เผยปีนี้ไปได้ 3 ช่องทางในโควตา 4,000 คน พร้อมประกันรายได้ขั้นต่ำ 80,000 บาท ด้าน กก.สิทธิฯ ไม่เชื่อแก้ปัญหาได้จริง
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำคณะอนุกรรมการฯ ด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการประกอบอาชีพ เข้าพบนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหาร เพื่อหารือถึงปัญหาการส่งแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ซึ่งกำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้
นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ในปีนี้ทางการไทยและสวีเดนได้ร่วมกันวางมาตรป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา โดยให้สหภาพแรงงานของสวีเดนร่วมตรวจสอบสัญญาการทำงานว่าละเมิดกฎหมายของสวีเดนหรือไม่ ซึ่งในปีนี้คาดว่าแรงงานไทยจะได้โควตาไปทำงานไม่เกิน 4,000 คน ส่วนการเดินทางไปสามารถไปได้ 3 ช่องทาง คือ 1.เป็นญาติของคนไทยที่แต่งงานกับชาวสวีเดนรายละไม่เกิน 3 คน 2.บริษัทรับซื้อผลไม้ติดต่อตรงกับคนงาน แต่ต้องเสียภาษีรายได้จากการจัดเก็บให้สวีเดน และ 3.บริษัทรับซื้อผลไม้ติดต่อผ่านบริษัทไทยที่มีคนงานอยู่ โดยในกรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษีและมีการประกันรายได้ประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเชื่อว่าคนงานจะไปโดยวิธีที่ 3 มากที่สุด
ด้านนายปริญญา ศิริสารการ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ มีความเป็นห่วงในเรื่องของกติกาการจัดส่งคนงานในปีนี้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้วยการประกันรายได้ขั้นต่ำให้คนงานเดือนละประมาณ 80,000 บาท และทำงานวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่เชื่อว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริง เพราะเป็นเงื่อนไขที่บริษัทจัดหางานแจ้งว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ และอาจทำให้มีบริษัทบางแห่งหลอกคนงานไปทำงานจนเกิดปัญหาเหมือนในปีที่ผ่านมา ซึ่งกรรมการสิทธิฯ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ และเตือนรัฐบาลไม่ให้ปล่อยคนงานเหล่านี้ไปเป็นเหยื่ออีก หากยังมีผู้สนใจจะเดินทางไปทำงานต้องรู้ปัญหาและรับสภาพความเสี่ยงให้ได้
จับตุ๋นส่งคนงานไปเกาหลีใต้
ข่าวสด (
4 มิ.ย. 53) - เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 4 มิ.ย. ที่ บก.ปคม. พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผกก.1 บก.ปคม. ร่วมกับนายนิติชัย วิสุทธิพันธุ์ นักวิชาการแรงงาน 6ว. ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าจับกุม นายศิราดล หรือ ฟู่ ดาวรุ่งเรืองทรัพย์ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/5 หมู่ 6 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ฯ ได้ที่รัชดาออร์คิด คอนโดมิเนียม เลขที่ 129 ซ.หัสดิเสวี ถ.สุทธิสารวินิจฉัย แขวงและเขตห้วยขวาง
ทั้งนี้ก่อนจับกุมได้มีผู้เสียหาย 2 ราย ที่ถูกผู้ต้องหาหลอกว่าสามารถส่งไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 127,000-170,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดเดินทาง กลับไม่สามารถส่งไปทำงานได้ตามที่ตกลงกันไว้ จึงเข้าแจ้งความ เบื้องต้นผู้ต้องหาสารภาพว่า เคยทำงานอยู่กับบริษัทจัดหาแรงงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน แต่บริษัทเลิกกิจการไปเมื่อ 3 ปีแล้ว จึงออกมารับงานส่งคนงานไปทำงานโรงงาน และการเกษตรที่ประเทศเกาหลีใต้แทน มีหน้าที่จัดหาหนังสือเดินทาง และตั๋วเครื่องบิน ได้ค่าจ้าง 1-2 หมื่นบาทต่อราย ที่ผ่านมาได้ส่งแรงงานไปเกาหลีใต้มาแล้วหลายร้อยราย บางรายก็ไม่สามารถส่งไปได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ได้หลอกลวง เพราถือว่าเป็นการตกลงกันทั้งสองฝ่าย เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
ธ.ออมสินปล่อยกู้คนรง.ยาสูบ
เดลินิวส์ (
4 มิ.ย. 53) - นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามความมือร่วมมือกับโรงงานยาสูบ (รยส.) ปล่อยสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยเหลือพนักงานและแรงงานรัฐวิสาหกิจ รยส. ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน ให้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจยื่นขอกู้แล้ว 900 ราย รวมวงเงินกู้กว่า 1,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 1.5 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงานรัฐวิสาหกิจของ รยส. นี้ กรณีที่ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน จะขอกู้ได้ในวงเงิน 50 เท่าของเงินเดือน หรือไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผ่อนชำระนาน 15 ปีกรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้สูงสุด 5 ล้านบาท ผ่อนชำระได้ 30 ปี โดยออมสินคิดดอกเบี้ย 5.85% ต่อปี ทั้งนี้รวมเวลาผ่อนชำระหนี้แล้วต้องไม่เกิน 60 ปี ซึ่ง รยส. จะตัดบัญชี   เงินเดือนของพนักงานผ่อนชำระหนี้ให้แก่ออมสินทุกเดือนต่อไป เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เนื่องจากหัวหน้าหน่วยงานจะต้องคัดเลือกพนักงานที่มีความสามารถในการผ่อนชำระมาแล้วระดับหนึ่ง
“สินเชื่อดังกล่าวนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น และระยะยาวจะหารือเพื่อต่อยอดสินเชื่อด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก อาทิ สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาต่อยอดสินเชื่อที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันก่อน โดยรอลงรายละเอียดต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องดูความสามารถในการผ่อนชำระด้วย”
ทั้งนี้ธนาคารยังมีสินเชื่อคงค้างที่ ปล่อยกู้ให้รัฐวิสาหกิจอีกกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มปล่อยสินเชื่อให้พนักงานครู ทหาร ตำรวจเพิ่มเติมอีก โดยขณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้สินเชื่อออมสินเกือบ 300 แห่งทั่วประเทศแล้ว
นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ขณะนี้มีลูกค้าและประชาชนทั่วไปมาลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 40,000 ราย ซึ่งวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารได้นำร่องปล่อยกู้ให้พ่อค้าแม่ค้าย่านชุมชนบ่อนไก่ไปแล้ว 10 ราย รายละ 100,000 บาท ขณะเดียวกัน ธนาคารจะเร่งพิจารณาสินเชื่อให้ได้ทั้งหมด ทั้งพ่อค้าแม่ค้า ที่อยู่บริเวณการชุมนุมและท่องเที่ยว
ส่วนการที่ออมสินได้เข้ามาดูแลการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวงเงิน 25,000 ล้านบาทนั้น ยืนยันว่า ธนาคารพร้อมที่จะดำเนินการทันที
มูลนิธิกระจกเงาเผยค้ามนุษย์น่าจะแรงขึ้น
ไอเอ็นเอ็น (3 มิ.ย. 53) -
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า จากสถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2552 มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเหตุ เฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ในแรงงานประมงมากกว่า 138 กรณี หรือ มากกว่าปี 2551 ถึง 3 เท่า เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ในภาคประมงและประมงต่อเนื่อง ซึ่งแม้ในปี 2553 จนถึงปัจจุบันจะมีการรับแจ้งเหตุเพียง 7 ราย แต่มูลนิธิฯ ประเมินว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงานยังมีอยู่จำนวนมาก
นายเอกลักษณ์ กล่าวอีกว่า จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า ขบวนการนายหน้าในการจัดหาแรงงานเพื่อค้ามนุษย์ในภาคประมงยังคงใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีขนส่งหมอชิต สนามหลวง และสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นที่ล่อลวงผู้มาหางานทำในกรุงเทพฯ แต่ปรับรูปแบบจากวิธีเข้ามาตีสนิท เป็นการเปิดร้านอาหารบริเวณสถานีขนส่ง ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ในขั้นรุนแรง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ส่วนผู้กระทำผิดแม้จะมีการจับกุมตัวนายหน้าที่หลอกลวง แต่ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวและก่อเหตุซ้ำซาก และยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการได้
สำหรับสถานการณ์ค้ามนุษย์ในด้านอื่น จากรายงานระบุว่า ยังทรงตัว โดยพบในกรณี อาทิ ขอทานเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเด็กมาจากประเทศกัมพูชาและพม่า เพื่อมาขอทาน และมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการขอทานเป็นขายสินค้าหรือดอกไม้ ส่วนการลักพาตัวเด็กพบว่า ในปี 2552 มีการลักพาตัวเด็กทั้งหมด 7 ราย เด็กอายุเฉลี่ยเพียง 6 ปี ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำทางเพศและบังคับใช้แรงงาน และสุดท้าย คือ ขบวนการซื้อขายเด็กทารกที่พบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยซื้อเด็กจากหญิงขายบริการที่ตั้งครรภ์ หรือ ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อเด็กยังไม่แน่ชัด
พนักงานไทยคูลระยอง กว่า 400 คนชุมนุมหน้าศูนย์ราชการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน
โพสต์ทูเดย์ (3 มิ.ย. 53) -
พนักงานบริษัท ไทยคูล เวิลด์ไวด์กรุ๊ป (ประเทศไทย)จำกัด บริษัท ผลิตเหล็กแผ่น เหล็กเส้น เลขที่ 99 หมู่ 1 อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง กว่า 400 คน   นำโดยนายชัชวาล สมเพชร เดินทางมายื่นหนังสือ นายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง ให้ช่วยเจรจานายจ้างขอขึ้นเงินเดือนและโบนัสพนักงาน
หลังชุมนุมเรียกร้องอยู่บริเวณหน้าโรงงานฯ มานานกว่า 2 สัปดาห์ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากนายจ้างแต่อย่างใด ท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส.และเจ้าหน้าที่ปกครองจำนวน 50 นาย แต่เนื่องจากผวจ.ติดราชการไปต่างจังหวัด นายจิระศักดิ์ ตะปะโจทย์ ป้องกันจังหวัด ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว
นายชัชวาล   กล่าวว่า ข้อเรียกร้องหลัก นั้น ประกอบด้วย 1.ให้บริษัทปรับค่าจ้างประจำปีให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับ ในอัตรา 3.6 เปอร์เซ็นต่อคน 2.ให้บริษัท จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับ ในอัตรา 4 เดือน /คน / ปี 3.ให้บริษัทฯจ่ายเงินค่าเดินทางให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับ ในอัตราที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน โดยให้ยกเลิกเงื่อนไขการหักเงินค่าเดินทาง
4.ให้บริษัท ยกเลิกให้พนักงานเซ็นหนังสือยินยอมให้หักค่าจ้างและสวัสดิการในกรณีที่บริษัท ได้สั่งหยุดงาน โดยไม่มีเงื่อนไข 5.ให้บริษัท ปฎิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 พรบ.ประกันสังคม พรบ.กองทุนเงินทดแทน และกฏหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และ 6. สภาพการจ้างอื่นใดที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาในข้อเรียกร้องนี้ ให้คงสภาพไว้เหมือนเดิม
นายจิรศักดิ์ ตะปะโจทย์ ป้องกันจังหวัดระยอง กล่าวว่าจะนำข้อเรียกร้องเสนอผวจ.ระยอง พิจารณาดำเนินการต่อไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ
เชียงรายกวาดล้างต่างด้าวรวบได้ร่วม 100คน
ไอเอ็นเอ็น (2 มิ.ย. 53) -
แรงงานต่างด้าวชายหญิง อายุระหว่าง 16 - 25 ปี จำนวน 82 คน แบ่งเป็นชาวพม่า 30 คน ชาวลาว 47 คน และชาวเกาหลีเหนือ อีก 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำกองกำกับการ 11 กองบังคับการตำรวจน้ำ ควบคุมตัวมาสอบสวนดำเนินคดีที่สถานีตำรวจน้ำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หลังร่วมกับตำรวจภูธรเชียงราย และตำรวจท่องเที่ยวออกกวาดล้างจับกุม ได้ในพื้นที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ขณะลักลอบเข้ามาทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารและกรรมกรรับจ้างขายแรง งานกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ
โดย พ.ต.ท.สุลักษณ์ เสงี่ยมลักษณ์ สารวัตรตำรวจน้ำเชียงแสน กล่าวว่า แรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานใหม่ที่เคลื่อนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาในประเทศไทย หลังปริมาณน้ำโขงเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจการค้าและการลงทุนกลับมาคึกคัก ซึ่งเป็นกลุ่มไม่มีบัตรสัญชาติและไม่ได้แจ้งอนุญาตมาค้าแรงงานในพื้นที่ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มาในรูปขบวนการที่จะถูกส่งเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของประเทศ ซึ่งจะมีค่านายหน้ารายหัว และอีกกลุ่มคือแรงงานเถื่อนที่มาทำงานชั่วคราวตามแนวชายแดนที่มักพบเป็นประจำ ทางตำรวจน้ำจะมีการคุมเข้มต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มแรงงานเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในเรื่องของปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในอนาคตได้
ครม.เห็นชอบการจ่ายเงินขั้นต่ำให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ
สำนักข่าวไทย (
2 มิ.ย. 53) - นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจ เพื่อจ่ายผลตอบแทนให้กับลูกจ้างที่เกษียณอายุจากการทำงานในรัฐวิสาหกิจจำนวน 65 แห่ง ร่างประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ก.ย. 2552 เพื่อให้ลูกจ้างที่เกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย. 2552 ได้ปรับประโยชน์ตามประกาศนี้ด้วย โดยลูกจ้างต้องปฏิบัติงานก่อนเกษียณอายุครบ 15 ปี เพื่อรับเงินตอบแทน เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน จากเดิมได้รับค่าตอบแทนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ซึ่งจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ในงบประมาณปี 2552 มากขึ้นจำนวน 2,700 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 2,880 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 2,487 ล้านบาท
เตรียมตั้งกองทุนเงินทดแทนดูแลแรงงานต่างด้าวทั้งระบบกว่า 1 ล้านคน
สำนักข่าวไทย (2 มิ.ย. 53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคนเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ กลุ่มเอ็นจีโอได้ออกมาเรียกร้องให้เพิ่มความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้น เพราะแรงงานต่างด้าวมักถูกนายจ้างเอาเปรียบเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งที่ประชุมมีมติตามที่ สปส.เสนอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนของแรงงานต่างด้าวแยกจากกองทุนเงินทดแทนของคนไทย โดยนายจ้างต้องส่งเงินสมทบปีละ 500 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเงินชดเชย กรณีประสบอุบัติเหตุทั้งในหรือนอกงาน พร้อมเสนอให้บริษัทเอกชนเข้ามารับบริหารความเสี่ยงของกองทุนในรูปแบบการประกันชีวิต อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบได้ให้กรมการจัดหางาน และ สปส.ไปหารือกับนายจ้างและบริษัทประกันชีวิตเอกชน ถึงแนวทางความเป็นไปได้ จากนั้นให้นำข้อสรุปกลับเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
สนง.สถิติเผยแนวโน้มศก.ไทยดีขึ้น อัตราว่างงาน มี.ค.53 ลดลงเหลือ 1%
อินโฟเควส (2 มิ.ย. 53) -
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือนมี.ค.53 พบว่ามีผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.68 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 3.17 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 14.99 ล้านคน โดยในจำนวนผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคนนั้น ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.8% หรือเพิ่มขึ้น 1.03 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 5.5 แสนคน และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 4.8 แสนคน
สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนมี.ค. 53 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 3.68 แสนคนนั้น คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.43 แสนคน หรือลดลง 0.9%
หากพิจารณาอัตราการว่างงานเป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุด คือ 1.3% รองลงมาเป็นภาคกลาง 1.1%, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1%, กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากันคือ 0.7%
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าทุกภาคมีอัตราการว่างงานลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ, กรุงเทพฯ ส่วนภาคกลางและภาคใต้อัตราการว่างงานลดลงเท่ากัน
พัทลุงเผชิญวิกฤตแรงงานขาดแคลนร้องขอแรงงานต่างด้าว
โพสต์ทูเดย์ (2 มิ.ย. 53) - นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า   ได้ประชุมยามเช้ากับส่วนราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ธนาคาร และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในจังหวัดพัทลุง เพื่อเร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม  
ทั้งนี้เนื่องจากว่าแรงงานในพื้นที่พัทลุง จะไม่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องด้วยในช่วงระยะ เวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ราคายางพาราได้เขยิบตัวสูงขึ้น ทำให้แรงงานในพื้นที่ หันไปรับจ้างกรีดยางเสียส่วนใหญ่  
โดยในที่ประชุม ธุรกิจภาคอุสาหกรรม   ต้องการแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในสถานประกอบการของตน   แต่แรงงานเหล่านั้นจะต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย    เพราะแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะขยันทำงาน    พร้อมกันนี้ธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ยังต้องการให้สถาบันการเงิน ได้พิจารณาปล่อยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น   เพื่อให้สถานประกอบการที่ต้องการเงินทุน สามารถกู้เงินไปลงทุน หรือขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
นายวินัยกล่าวอีกว่า เรื่องของแรงงานต่างด้าว และแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ที่ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้อง    จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชน (กรอ.จังหวัด)    เพื่อเร่งหาทางช่วยเหลือต่อไป
เตรียมตั้งชุดเฉพาะกิจจับกุมแรงงานต่างด้าวหนีเข้าเมืองกว่า 300,000 คน
สำนักข่าวไทย (2 มิ.ย. 53) -
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งกลับคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรว่า ที่ประชุมวันนี้มีการหารือถึงการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจำนวนกว่า 300,000 คน โดยแรงงานเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของแรงงานกว่า 1.3 ล้านคน ที่ได้รับการผ่อนผันและอนุญาตทำงานในปี 2552 แต่ไม่ยอมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ
ดังนั้น จึงเตรียมตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อเร่งรัดปราบปรามจับกุมแรงงาน ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะสามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวชุดใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยในปีที่ผ่านมามีการกวดขันจับกุมนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปแล้วจำนวน 1,518 ราย และจับกุมแรงงานต่างด้าวจำนวน 11,436 ราย นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานอย่างถูกกฎหมายโดยรายได้มาจากการจัดเก็บเงินจากนายจ้าง ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน คนละ 2,400 บาท
เพื่อเป็นค่าดำเนินการส่งกลับแรงงานต่างด้าวเมื่อหมดอายุใบอนุญาตทำงาน สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบในช่วงบ่ายวันนี้ จะมีการพิจารณาเพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคมด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐ จับกุม 46 แรงงานต่างด้าว ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้ต้องหาสารภาพ รับค่าเหนื่อย 5,000 บาท
ไอเอ็นเอ็น (2 มิ.ย. 53) -
ร.ต.สมบัติ ทองจันทร์ หัวหน้าจุดตรวจเกาะสะระนีย์ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี พร้อมกำลังได้จับกุมหญิงสาวชาวพม่า จำนวน 46 คน อายุระหว่าง 20-25 ปี ตรวจสอบไม่มีเอกสารการเดินทาง ซุกซ่อนมาในเรือหางยาว บริเวณร่องน้ำ ด้านทิศตะวันตกเกาะสะระนีย์ หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ขณะขับมุ่งหน้าเข้าฝั่งจังหวัดระนอง เจ้าหน้าที่รัฐ ควบคุมตัวไว้พร้อมกับ คนขับเรือและผู้ช่วย ทราบชื่อ นายแวโซโม่ อายุ 24 ปี และนายอาก้า อายุ 24 ปี สารภาพรับค่าจ้าง 5,000 บาท เจ้าหน้าที่ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา นำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เป็นหญิงทั้ง 46 คน ดำเนินคดี ข้อหาเป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net