Skip to main content
sharethis

นายกสมาคมสถาปนิกสยามเสนอตัวร่วมคนอุบลฯออกแบบศาลากลาง จังหวัดใหม่ให้มีอัตลักษณ์ความเป็นอุบลฯตามความต้องการของคนในจังหวัด  คนเมืองดอกบัวหนุนสุดตัวแต่ห่วงนักการเมืองหวังกินเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปได้ ยาก

นายนิกร วีสะเพ็ญ เครือข่ายภาคประชาชน แสดงความเห็นว่าสถาปัตยกรรม ศาลจังหวัด,ศาลแขวง สถานีอนามัย,ทำไมต้องเหมือนกันทุกจังหวัด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นหายไปไหน คนมาเที่ยวอีสานก็อยากซึมซับความเป็นอีสาน ไปเที่ยวเหนือก็อยากซึมซับความเป็นเหนือ ยกตัวอย่างโรงแรมแห่งหนึ่งที่จ.เชียงใหม่เขาทำไม่เหมือนที่อื่น ทำเหมือนบ้านธรรมดา มีที่นา ให้ดำนาได้ด้วย ลูกค้าอุดหนุนแน่น เพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง จ.อุบลฯยังไม่มี ถามว่าโรงแรมทุกโรงแรมในอุบลฯต่างอะไรกับต่างประเทศบ้าง ศาลากลางจังหวัดก็เช่นกันควรจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองไม่ใช่แบบเหมือนกันทั่วประเทศ

นายทวีจิต จันทสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวว่าสมาคมฯเป็นสมาคมวิชาชีพเก่าแก่ของประเทศ ภารกิจหลักคือส่งเสริมวิชาชีพเราเอง และสร้างประโยชน์สาธารณะ ก่อตั้งมานานก็มีความมั่นคง
จากเหตุวิกฤติบ้านเมืองที่ผ่านมาอยากจะมีส่วนร่วมที่จะช่วยเหลือบ้านเมือง ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ก็มีหลายเรื่องที่ไปช่วยตั้งแต่ชุมชนผู้ค้าที่เดือดร้อน จากไฟไหม้ โดยเราไม่แยกสี สีไหนก็ช่วยทั้งนั้น

มีกรรมการหลายคนเสนอว่า ศาลากลางคราวนี้ถูกเผาอยู่ 4 แห่ง ก็เลยมีความคิดว่าเราน่าจะทำประโยชน์อะไรตรงจุดนี้ได้ ก็มีความคิดว่าถ้าหากประชาชนมาจัดประกวดแบบ ซึ่งเขาจะสร้างอยู่แล้ว ให้ศาลากลางนั้นมีลักษณะความเป็นท้องถิ่น

ที่ทุกท่านทราบดีคือศาลากลางทุกแห่งเหมือนกันหมด คราวนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่ศาลากลางจะมีแบบที่คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมโดยการ ประกวดแบบ การดำเนินการทั้งหมดสมาคมจะจ่ายเอง ไม่ได้ขอเงินจากทางราชการหรือขอเรี่ยไร
เราเคยทำโครงการหนึ่งที่จ.นครสวรรค์ชื่อโครงการแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าในโลกนี้การทำอะไรที่เป็นอาคารสำคัญของเมืองเขามักจะให้ประชาชนมีส่วน ร่วม แม้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้สร้างแต่เราในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีน่าจะมีส่วน ร่วม

วิธีคิดของเราคือจะร่วมกัน 3 ประสาน คือภาคประชาชน ภาคราชการ และภาควิชาชีพ มีการออกความคิดเห็นกัน แม้ว่าตัวอาคารอาจมีการกำหนดประโยชน์ใช้สอยอย่างชัดเจนจากทางราชการแล้ว แต่อยากให้ภาคประชาชนไปเสนอเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นของจังหวัดเราอยากให้มีลักษณะเป็นอย่างไร อยากจะมีประโยชน์ใช้สอยอะไรเพิ่มเติมไหม แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้อยู่ในวงเงินที่รัฐบาลเขาตั้งไว้ แล้วจะเปิดให้สถาปนิกทั่วประเทศส่งแบบเข้ามา เป็นแบบแนวความคิด เหมือนอาคารรัฐสภา ไม่ใช่แบบก่อสร้างเมื่อมีคนส่งมาแล้ว ก็ใช้กรรมการ 3 ประสานคัดเลือกแบบให้เหลือ 3-5 ชิ้น ที่เราเห็นว่าตรงกับประโยชน์ใช้สอยที่ทางราชการอยากจะได้ ,อยู่ในวงเงินงบประมาณ ,สร้างได้จริง ,อยู่ในแนวของความเป็นอุบลฯ ก็นำมาเสนอแล้วให้ประชาชนโหวต อาจจะตั้งโชว์แล้วหย่อนบัตรก็ได้ แบบไหนได้เลือกเยอะก็นำไปใช้เป็นแบบก่อสร้างจริง นี่คือวิธีคิดเรา

นายจำนง จิตรนิรัตน์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองแสดงความเห็นว่าแต่ไหนแต่ไรมา ศาลากลางออกแบบมาจากส่วนกลาง ประชาชนในจังหวัดไม่เคยมีส่วนร่วม เขาก็จะไม่รู้สึกรักหวงแหน เสนอให้ศาลากลางแห่งใหม่ต้องมีสภาประชาชนด้วย จะได้เป็นที่พบปะแสดงความคิดเห็นจากเจ้าของประเทศ

สถานีวิทยุ cleanradio FM. 92.5 MHz จ.อุบลราชธานี ได้เปิดสายสอบถามความเห็นประชาชนคนอุบลฯในประเด็นนี้ ผลปรากฎว่า 100% ที่โทรศัพท์เข้ามาเห็นด้วยกับการออกแบบโดยมีอัตลักษณ์ของจังหวัด คนอุบลฯมีส่วนร่วม ไม่ต้องเหมือนกับที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ถ้าทำได้จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่อาคารสถานที่ออกแบบโดยคน ท้องถิ่นเอง เราจะภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แต่ส่วนใหญ่ก็มีความกังวลเกรงว่านักการเมืองไม่ได้เปอร์เซ็นต์จากการออกแบบ นี้จะไม่ยอมทำตาม

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวว่า ถ้าทำตามแบบปกติของกรมโยธาใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนก็เริ่มประมูล แต่หากผ่านกระบวนการดังกล่าวอาจล่าช้าไปอีกไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน การเมืองก็ยังไม่นิ่ง นักการเมืองต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด คิดว่าแนวคิดนี้คงประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะในความเป็นจริงนักการเมืองไม่เคยคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net